จากหน่อเล็ก สู่ต้นกล้า และไม้ใหญ่ ของประชาธิปไตย 2


แม้ว่าทั้งเพลโตและอริสโตเติลจะส่งเสริมการปกครองในลักษณะราชาธิปไตย (ซึ่งไม่ได้มีลักษณะแบบเดียวกับราชาธิปไตยในยุคต่อมา) และดูจะหวาดระแวงต่อความอ่อนแอของระบอบการปกครองในลักษณะประชาธิปไตยอยู่เหมือนกัน แต่สิ่งที่อริสโตเติลได้นำเสนออีกขั้นคือ การไม่ไว้ใจต่อการปกครองของ "บุคคลที่ดีที่สุด" เสมอไป

อริสโตเติลเรียกร้องให้ระบอบการปกครองทั่งมวลตั้งอยู่บนหลักการ "ความยุติธรรม" และความยุติธรรมนั้นย่อมมาจากความสมบูรณ์แบบที่มีอยู่ในโลกอันเป็นอุดมคติ ผู้ปกครองทั้งปวงจึงต้องเป็นปราชญ์ผู้สามารถแสวงหาหนทางไปสู่โลกอุดมคตินั้นให้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด และในเมื่อโลกอันเป็นอุดมคตินั้นมีอยู่แล้ว ความยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่ต้องคงทนดั่งศิลา ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามใจผู้ปกครอง ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของข้อเสนอทางการปกครองที่ดีที่เรียกกันว่า "rule of law" ซึ่งทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองต่างอยู่ภายใต้กฎกติการ่วมกัน เป็นกติกาที่เป็นเหตุเป็นผลและอ้างอิงถึงคุณงามความดีมากกว่าความชอบหรือไม่ชอบของผู้ปกครอง

ข้อเสนออันนี้ของอริสโตเติล จะกลายมาเป็นหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในอีก 2,000 ปีต่อมา


แต่ในระยะเวลาอันสั้นกว่า ข้อเสนอนี้ ได้ทำให้การปกครองในระบอบราชาธิปไตยได้รับการยอมรับและเกิดความชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง และเป็นที่มาของการอ้างอิง "สิทธิธรรม" "กฏแห่งธรรมชาติ" และ "กฎแห่งพระผู้เป็นเจ้า" ในการปกครองในระยะราว 1,500 ปีที่ผ่านมา

 

อภิธานศัพท์

rule of law นั้น ภาษาไทยใช้ว่า หลักนิติธรรม ซึ่งหากจะให้ความหมายให้สั้นที่สุดแล้ว ก็คือหลักการที่ผู้ออกกฎหมาย ผู้ใช้กฎหมาย และผู้อยู่ในบังคับของกฎหมาย ให้ความเคารพต่อกฎหมายและปฏิบัติตามกฎ กติกา ของกฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด แต่ไม่ได้หมายความว่า กฎหมายนั้นจะต้องบังคับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน (ซึ่งเป็นเรื่องของนิติรัฐ ที่โดยนัยแล้วก็คือรัฐที่ออกกฎหมายมาจำกัดอำนาจตนเองไม่ให้กระทบต่อสิทธิและศักดิ์ศรีของประชาชน) เพียงแต่เมื่อมีการออกกฎหมายมาแล้ว ย่อมไม่มีข้อยกเว้นให้เกิดการละเมิด ไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ๆ  ตัวอย่างที่ขอยกมาเปรียบเทียบ เช่น กฎหมายตราสามดวง กับ กฎมณเฑียรบาล ใช้บังคับกับคนต่างชนชั้นกัน แต่กฎหมายทั้งสองก็มีสภาพบังคับต่อคนในชนชั้นนั้น ๆ อย่างเคร่งครัดเสมอ

 

rule by law หรือที่ภาษาไทยใช้ว่า หลักนิติวิธี หากจะให้ความหมายให้สั้นที่สุด หลักนิติวิธีคือการใช้กฎหมายเป็นกลไกในการควบคุมบังคับสังคม ซึ่งไม่จำเป็นว่า รัฐที่มีกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่ดีจะต้องมีหลักนิติธรรม ตัวอย่างเช่น รัฐเผด็จการโดยบุคคลส่วนใหญ่นั้น มักมีการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดมาก แต่ผู้ใช้กฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเป็นสมาชิกชนชั้นปกครองมักจะอยู่เหนือการบังคับของกฎหมายทั้งหมด

หมายเลขบันทึก: 553694เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2013 01:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2013 01:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท