สร้างความหวังด้วยพลังใจ


 สร้างความหวังด้วยพลังใจ

ซัลวานี  ตีมุง

                   ยามเช้าวันหนึ่ง ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเพหลา ฟ้ามืดครึ้ม เสียงฝนโปรยปราย พร้อมความสุขกับการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคน  สักพักมีเสียงแทรกผ่านใบหูของเราทุกคน  “สวัสดีจ๊ะทำไรกันนั้นโบ๋ซู(พวกเธอ)”   เรามองไปยังต้นเสียง  ภาพหญิงสาว รูปร่างสันทัด ผิวขาว แต่งกายเรียบร้อย เสียงแหลมมาตั้งแต่ไกล เดินเข้ามาใน รพ.สต.ด้วยหน้าตายิ้มแย้ม กล่าวทักทายด้วยวาจาอันร่าเริง เธอผู้นั้นเป็นใครไม่ได้นอกจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานวัณโรคจากโรงพยาบาลคลองท่อม  เธอมาเพื่อแจ้งรายชื่อและส่งต่อผู้ป่วย จำนวน 1 รายจากโรงพยาบาลให้เข้ารับบริการต่อที่ รพ.สต.พร้อมข้อมูลผู้ป่วยและถุงยา บอกรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ป่วยคนดังกล่าว ให้ฉันได้รับทราบและดูแลต่อได้อย่างต่อเนื่อง จากที่เคยดูแลผู้ป่วยก่อนหน้านี้ ทำให้ฉันมีประสบการณ์การในการดูแลผู้ป่วยรายต่อไป จึงนำข้อมูลที่ได้มาขึ้นทะเบียนผู้ป่วยใน รพ.สต.และนัดรับยาที่นี่ต่อในสัปดาห์หน้า

               หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปกับเช้าวันใหม่ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเพหลา มีหญิงวัย 55 ปี ใส่ Mask ปิดจมูกและปาก เดินเข้ามาใน รพ.สต. ฉันเดินผ่านมาเห็นจึงทักทายเป็นปกติเหมือนผู้รับบริการทั่วไป แต่เห็นแล้วนึกในใจว่าต้องเป็นผู้ป่วยที่ได้รับแจ้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา   ฉันจึงทักไปว่า... “สวัสดีค่ะ โรงพยาบาลส่งตัวมารักษาต่อที่นี่ ใช่มั้ยค่ะ”    ผู้ป่วยตอบ... “สวัสดีค่ะ ใช่ค่ะ” ด้วยสีหน้าหม่นหมอง ยิ้มน้อย พูดน้อย ภาพของผู้ป่วยตรงหน้าของฉัน เมื่อเห็นแล้วก็คิดในใจว่าจะทำอย่างไรต่อหากผู้ป่วยยังมีสภาพเป็นเช่นนี้

               ฉันจึงพยายามพูดคุยกับผู้ป่วย ในเรื่องทั่วไปก่อน เมื่อเห็นว่าผู้ป่วยพูดมากขึ้น จึงถามไถ่อาการของโรคที่ป่วยอยู่ ผู้ป่วยตอบฉันด้วยเสียงแผ่วเบา... “ก็ปกติดี ไม่มีอะไร” แต่สีหน้าของผู้ป่วยช่างตรงกันข้ามกับคำตอบของเธอเหลือเกิน ฉันแอบสังเกตบนใบหน้าเธอเม้มริมปากตลอดเวลาที่พูดคุย สายตาตกมองลงที่พื้น ดวงตาแดงเรื่อๆน้ำตาคลอ ไม่สบตาฉัน ทำให้รับรู้ความรู้สึกในใจของผู้ป่วย ฉันนิ่งเงียบให้เวลาผู้ป่วยทำใจ 2-3 นาที ฉันจึงถามขึ้น...“มีอะไรให้ช่วยมั้ยค่ะดูสีหน้าไม่ค่อยดีเลย” ผู้ป่วยตอบรับทันที... “ไม่มีอะไรค่ะ”         ฉันเข้าใจว่าผู้ป่วยไม่พร้อมที่จะระบายความในใจออกมา อาจเป็นเพราะเรายังไม่คุ้นเคยกัน ผู้ป่วยทานยาต่อหน้าฉัน (DOT) รับฟังคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวเมื่อป่วยและผลข้างเคียงของยาด้วยอากัปกริยาเฉยเมย ไม่มีปฏิกริยาโต้ตอบต่อเรื่องที่พูดคุยกันอยู่ จากนั้นขอตัวกลับบ้านก่อน พรุ่งนี้เจอกันใหม่

              วันรุ่งขึ้นผู้ป่วยมาทานยาต่อหน้า (DOT)ตั้งแต่เช้า ขี่มอเตอร์ไซด์มาเพียงลำพัง  ด้วยหน้าตาซึมเศร้าอย่างที่เคยเป็น และทุกครั้งที่มาทานยาไม่ว่าจะชวนพูดคุยมากน้อยแค่ไหน สีหน้าของผู้ป่วยก็ยังเป็นเช่นเดิม จนฉันอดใจไม่ไหวที่ต้องขอคำปรึกษาจากพี่ๆเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วยกันว่าจะทำเช่นไรกับผู้ป่วยรายนี้  

              แรกที่เราเจอหน้ากันที่หน้าบ้านอันเงียบเหงา ยกมือไหว้และยิ้มให้กัน ผู้ป่วยพูดน้อย ถ้อยคำเบาแรงแผ่วเบา ถามไถ่ทุกข์สุข การปฏิบัติตัวเมื่อป่วย เรื่องการทานยา ให้คำแนะนำเรื่องการดูแลตนเองและการป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น โดยการให้ใส่ Mask ปิดปากและจมูก ให้กำลังใจผู้ป่วย ผู้ป่วยพูดคุยตอบและปฏิบัติได้ถูกต้อง แต่สีหน้าเคร่งเครียด ซึมเศร้า เหมือนมีเรื่องกังวลใจ ฉันจึงไม่รีรอ ถามต่อจนได้ความ “ป้ามีเรื่องทุกข์ใจไม่สบายใจใช่มั้ยค่ะ” ผู้ป่วยอ้ำอึ้ง จึงบอกต่อว่า“คุยกันได้ ไม่บอกต่อ ฉันจะเก็บความลับไว้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยมองหน้าฉันด้วยสายตาเชื่อมั่น และเชื่อใจ

               เธอเล่าด้วยน้ำเสียงที่ดังพอได้ยิน...“ตอนแรกที่หมอบอกว่า ป้ามีเชื้อวัณโรค ติดมาจากพ่อตาของป้าที่เข้ามารักษาเมื่อปีที่แล้ว ป้ารู้สึกหมดแรงทันทีที่ได้ยิน คิดในใจว่าตัวเองต้องตาย ป้าเริ่มหนักใจและกังวลกับโรคที่ป้าป่วยอยู่  จากเดิมป้าก็มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว คือ โรคเบาหวาน ลูกก็พอรู้ใช่ม่าย? มันทำให้ป้าเริ่มรู้สึกแย่ลง มีเจ้าหน้าที่จาก รพ.คนหนึ่งบอกให้ป้าเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่ป้ากำลังเป็นอยู่ เขาก็พยายามทำให้ป้าเข้าใจและให้กำลังใจป้า  เขาบอกว่าวัณโรคเป็นโรคติดต่อ ที่สามารถแพร่กระจายเชื้อสู่อากาศเมื่อผู้ป่วยพูดคุย ไอ หรือจาม เมื่อคนอื่นหายใจเอาอากาศนี้เข้าไป จิตใจของป้าก็หดหู่ ยอมรับไม่ได้ เพราะป้าเองก็เคยได้ยินว่าวัณโรคเป็นโรคติดต่อที่ผู้คนรังเกียจ ป้าไม่ยอมบอกใคร มันทำให้ป้าเปลี่ยนไปมาก จากที่เคยอยู่ร่วมกันกับเพื่อนข้างบ้าน กลับทำให้ป้าไม่กล้าเจอหน้าใคร เพราะป้ารู้สึกอายและกลัวเพื่อนจะรังเกียจ และอีกอย่างหลังจากได้ทานยาวัณโรคแล้ว มีอาการหน้าบวม ปวดมึนศีรษะ ป้าก็กลัวว่าจะรักษาไม่หาย ก่อนหน้านี้ก็เข้านอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลกระบี่เป็นว่าเล่น บ่อยมากจนเคยชิน ป้าคิดว่าป้าดูแลตนเองดีแล้ว โรคเบาหวานที่เป็นอยู่ก็ไม่ดีขึ้นเลย แล้วมาเป็นโรควัณโรคอีกก็กลัวจะเป็นอย่างนั้น”

               จากที่ได้พูดคุยกันเป็นเวลาพักใหญ่ ทำให้รู้ว่าผู้ป่วยรู้สึกหมดหวัง เศร้าใจ ไม่กล้าพบปะกับเพื่อนร่วมบ้านกลัวผู้คนรังเกียจตนเองจากโรคที่ตนป่วยอยู่และกลัวว่าโรคที่เป็นอยู่จะรักษาไม่หายขาด มีโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นอีก ขาดกำลังใจในการดูแลรักษา    ฉันจึงได้พูดคุยกับผู้ป่วยให้เข้าใจว่า โรควัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงกินยาให้ต่อเนื่อง 6 เดือน ไม่ได้เป็นโรคที่น่ารังเกียจอย่างที่ตนเองคิด เพียงแค่โรคดังกล่าวสามารถติดต่อได้ง่ายจากการหายใจ ไอ จาม ใส่กัน จึงต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้ออย่างเคร่งครัด โรคนี้มีระยะเวลาแพร่เชื้อ (ระยะเข้มข้น) ในช่วง 2 เดือนแรก หลังจากนั้นก็สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ปกติ ส่วนอาการที่เป็นจากการทานยา เป็นผลข้างเคียงของยา ทานยาแก้ปวดก็หายปวดศีรษะ หากมีอาการหนักก็ให้ทานยาช่วงก่อนนอน เปลี่ยนเวลาทานยา เพื่อบรรเทาอาการปวด หากยังมีอาการอยู่ให้แจ้งมาเพื่อจะเข้ารับการปรึกษาจากโรงพยาบาล และได้กล่าวกับผู้ป่วยว่า   “ยาวัณโรค ให้นึกถึงยาโรคเรื้อรังที่ต้องทานติดต่อกันทุกวัน แต่ยาวัณโรค ดีกว่าที่ว่าทานเพียง 6 เดือนก็หยุดไป แต่ยาโรคเรื้อรังต้องทานต่อไปเรื่อยๆ การรักษาในครั้งนี้กำลังใจจากตัวเองสำคัญที่สุด รองลงมา คือกำลังใจจากครอบครัว หากป้าเก็บเรื่องเครียดๆไว้คนเดียว ทำให้เราเครียดและกังวลใจไร้ที่ระบายความรู้สึก และขาดกำลังใจจากครอบครัว เนื่องจากครอบครัวไม่รู้เรื่องเลย หากเราพูดคุยกับคนในครอบครัว เขาอาจให้กำลังใจ และให้การดูแลเราได้เป็นอย่างดี ”

                หลังจากที่ได้คุยกัน ผู้ป่วยเริ่มมีสีหน้าดีขึ้น ฉันเข้ามาในบ้านของผู้ป่วยพร้อมแนะนำการดูแลรักษา ทำความสะอาด ของใช้ส่วนตัว เปิดประตู หน้าต่างให้ ให้มีอากาศถ่ายเท ลมพัดผ่านเย็นสบาย บอกให้เข้าใจว่าต้องทำเช่นนี้ เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคภายในบ้านและของใช้ส่วนตัว อีกอย่างทำให้ลมพัดสบายคลายความตึงเครียดได้  ก่อนจากลากันไป มีสองมืออันอบอุ่นมากุมมือฉันทั้งสองข้าง เสียงแพรวเบาจากปากผู้ป่วยว่า  “ขอบใจมากๆนะลูก ที่มาเยี่ยมถึงบ้าน มาพูดคุยกัน ดูแลเอาใจใส่กันถึงที่ ทั้งที่เราไม่ได้เป็นเครือญาติกัน ทำให้ป้ารู้สึกดีขึ้น ป้าคิดว่าจะพูดคุยกับคนในครอบครัว เพราะป้าไม่อยากอยู่ในสภาพแบบนี้”  

                ผู้ป่วยยื่นขนมติดมือกลับบ้านแทนคำขอบคุณ ฉันตอบ “ขอบคุณค่ะป้า ป้ามีเรื่องอะไรปรึกษากันได้ตลอด ได้ทุกเรื่องด้วย ส่วนเรื่องเยี่ยมบ้านเป็นหน้าที่ที่หนูต้องมาเยี่ยม ดูแล อีกอย่างหนูเห็นใบหน้าเศร้าใจของป้าแล้วอดใจสงสารป้าไม่ได้ ยิ้มให้มาก ให้กำลังใจตนเองมากๆนะคะ”   เธอปล่อยมือฉันลงอย่างช้าๆแล้วยิ้มด้วยสีหน้าที่ดีกว่าก่อนมาพูดคุยกัน ทำให้ฉันรู้สึกดีที่ได้ช่วยหญิงคนหนึ่งให้พ้นจากความตึงเครียด และฉันก็ได้มา จนทำให้เราคุ้นเคยกัน

                 นอกจากฉันได้ไปเยี่ยมทุกสัปดาห์ ในช่วงสองเดือนแรก เยี่ยมทุกเดือน ในช่วง 4 เดือนหลัง ให้คำแนะนำ และให้กำลังใจทุกครั้งที่เยี่ยมแล้ว ฉันได้ให้คำแนะนำ และให้คำปรึกษากับคนในครอบครัวของผู้ป่วย ให้เข้าใจ ให้ช่วยเป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วย เพราะตอนที่ได้พูดคุยกับป้า ป้าขาดกำลังใจในการดูแลตนเอง คิดมากจนถึงขั้นว่า ต้องเสียชีวิตในไม่นาน

                 จนวันหนึ่ง....“ตอนนี้ป้ามีกำลังใจในการรักษามากขึ้น หลังจากที่ป้าได้พูดคุยกับคนในครอบครัว ญาติๆก็มาเยี่ยมป้าบ่อยครั้ง ทุกคนให้กำลังใจป้า จนป้ามีกำลังใจและตั้งคติกับตัวเองว่า...ต้องหาย คนเราต้องรักตัวเอง ทำใจให้สบาย เชื่อในตัวเราว่า...ต้องหาย กินยาต้องหาย ถ้าไม่กินไม่หาย และสิ่งสำคัญคือ กำลังใจจากตัวเราเอง ขอบใจหนูมากน่ะ ที่คอยให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และให้กำลังใจป้า เพียงแค่หนูเข้ามาโอบกอดป้าทุกครั้งที่เจอหน้า ถามทุกข์สุข มันเป็นอะไรที่สื่อได้ถึงความจริงใจ ทุกอย่างนี้ทำให้ป้ามีความหวังในการรักษาตัวมากขึ้น จนป้ามีพลังต่อสู้กับโรคร้ายต่อไป” ยิ้มแก้มพองโต สายตามีสุข แล้วเดินจากไป

                  ผู้ป่วยรายนี้มีกำลังใจในการรักษาโรคครบ 6 เดือน ขณะนี้หายเป็นปกติกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติและมีความสุข

                 การทำงานไม่ใช่เพราะหน้าที่การงาน แต่เริ่มต้นจากการดูแลผู้ป่วยด้วยความจริงใจ เอาใจใส่ดูแล พูดคุยด้วยความอ่อนหวาน คิดว่าผู้ป่วยเป็นหนึ่งในเครือญาติของเรา ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้ใจ ประทับใจในการดูแล เป็นการบริการที่เกิดความสุข พึงพอใจ และสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ให้และผู้รับบริการทั้ง 2 ฝ่าย ดูแลทั้งที่มีการเจ็บป่วยและที่ไม่เจ็บป่วย ดูแลในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ทั้งที่มารับบริการที่สถานบริการและที่ได้รับการดูแลที่บ้าน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาความเจ็บป่วย ให้ประชาชนมีสุขภาพดี

                  ฉันได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงพลังทางใจให้เพิ่มพูนไปด้วยการลงมือทำงาน ทำให้รู้ถึงความสำคัญของหน้าที่ที่เราปฏิบัติอยู่ ทำให้คนหนึ่งคนเปลี่ยนแปลงชีวิต ให้มีชีวิตใหม่ สร้างความหวังให้คนทั้งคน อีกหนึ่งภารกิจที่ฉันได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยนั้น ก็คือ การเพิ่มมูลค่าของงานที่ทำอันหมายถึงการบันทึกและเก็บไว้เปี่ยมไปด้วยคุณค่าจากการงาน

 

หมายเลขบันทึก: 553605เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2013 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2013 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท