ปิดเทอมเติมฝัน


การคิดอย่างง่ายๆในมุมของเด็กจะเป็นทุนสำคัญที่สร้างสรรค์ต่อการพัฒนางานจิตอาสาในระดับเยาวชน

ปิดเทอมเติมฝัน

 

          เส้นทางของงานพัฒนาอันมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบที่หอมหวนชวนหลงไหล กลับโรยด้วยหนามกุหลาบที่คอยขวางทางเท้าทุกครั้งไป การพูดคุยเป็นกระบวนการสำคัญของการทำงาน “ถ้าพูดคุยได้อย่างมีหลัก  จะสามารถทำให้งานสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี” พูดคุยงานกันก่อนทำ  พูดคุยงานกันในขณะทำ และพูดคุยงานกันหลังทำ ด้วยความไม่เคร่งเครียดจนเกินไปโดยมีการนำเรื่องราวนานามาคอยสอดแทรก หรือ “การคุยนอกเรื่องที่ทำให้สามารถคุยงานกันได้ไม่เครียดจนเกินไป”... จากบทบาทของกลุ่มเยาวชนกลายมาเป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มเยาวชนซึ่งโจทย์สำคัญของการเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชนเป็นการคอยแนะนำและคอยพาน้องๆลงดำเนินงาน  ลงพื้นที่ในชุมชน เพราะชุมชนเป็นงานใหญ่ต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อนจึงต้องมีพี่เลี้ยงที่คอยพาน้องทำงานและคอยแนะนำให้ในระยะแรก...น้องๆทุกคนมีใจ  พี่เลี้ยงมีใจ  ครูที่ปรึกษามีใจ ทุกคนในกลุ่มมีใจ ซึ่งการทำงานจิตอาสาสิ่งที่สำคัญที่สุดคงจะหนีไม่พ้น “ความมีใจ” แต่การที่จะได้มาซึ่งใจนี้ต้องผ่านกระบวนการนานา  เครื่องมือนานา และการสั่งสมจากงานนานานับประการ  การจะได้มาซึ่งใจในการทำงานนั้นกระบวนงานต่างๆของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันไป แต่วีถีอีกหนึ่งทางจะเป็นการพูดคุยงานระหว่างกันโดยที่ในครั้งนี้  ข้าพเจ้ามีบทบาทเป็น “พี่เลี้ยง” ซึ่งตอนนี้มีเด็กประมาณ 10 คนที่มีใจและมีแววตาที่เปล่งประกายบอกว่า “มีใจของงานการพัฒนา” แล้วเขามีความสนใจตั้งแต่เมื่อครั้งที่ผมอยู่ในบทบาทของกลุ่มเยาวชน โดยที่เมื่อครั้งหนึ่ง แอนและป๊อป (กลุ่มเยาวชนฮักนะเชียงยืนรุ่น 2 ) ได้ถามผมว่า “พี่ทำงานนี้เป็นอย่างไร  ทำแล้วได้อะไร” ผมตอบว่า “พอพี่ได้เข้ามาทำงานแบบนี้แล้วพี่รู้สึกว่าพี่เป็นผู้เป็นคนมากยิ่งขึ้น แล้วงานจิตอาสานั้นเป็นงานของการพัฒนาที่พร้อมจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งที่ได้ คือ การพัฒนาเป้าหมาย” แล้วเขาถามต่อว่าแล้ว”ยากมั้ยค่ะ” ซึ่งผมตอบว่า “มันไม่ยากถ้าเรามี จิตวิญาณ” ทั้งสองคนนิ่งหยุกคิดไปสักครู่ แล้วถามผมต่อไปอีกว่า “แล้วจิตวิญาณมันคืออะไรหรอค่ะ” ผมตอบเขาไปว่า “สักวันเมื่อได้เข้ามาทำงานแบบนี้ก็จะรู้เอง” เขายิ้มแล้วพูดคุยกันในเรื่องราวต่างๆซึ่งผมในตอนนั้นก็เดินจากไปแบบให้เด็กเขาคิดตามและคุยกันสองคน   หลังจากนั้นไม่นานเขาได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในโครงการนี้อย่างจริงจัง ด้วยเขาเข้ามาทำงานจริงๆแล้วผมกลับรู้สึกถึงพลังใจที่มีในตัวของเขา เนื่องเพราะเขามีความกระตือรือล้นในความสนใจในงานจิตอาสา  แววตาที่เปล่งประกายในระยะแรกที่สอบถามกลับฉายแสงดุจตะวันที่ร้อนแรงในแสงของแววตา...

         การปิดเทอมในครั้งนี้เป็นการปิดที่มีระยะเวลาเพียงน้อยนิดประมาณ 2 สัปดาห์ แต่เป็นระยะเวลาที่ทรงคุณค่าของการพัฒนางาน การทำงานย่อมมีการสืบทอดงานเพราะเป็นการพัฒนางานอยู่บนฐานของทัศนคติของบุคคลเมื่อรุ่นที่หนึ่งได้ทำงานผ่านพ้นไป รุ่นที่สองย่อมเข้ามามีบทบาทแทนที่เพราะด้วยภาระต่างๆจากภายนอกและภายที่เข้ามาพร้อมทั้งต้องเตรียมน้องเข้ามาดำเนินงานต่อไปจึงต้องหาความลงตัวจากรุ่นพี่ที่มีภาระและรุ่นน้องที่มีแววตาเป็นประกาย...การพูดคุยผ่านเครื่องมือจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญต่อทัศนะในการมองเห็นภาพจากรุ่นพี่สื่อถึงรุ่นน้องได้อย่างชัดเจน แล้วนอกจากนี้ยังต้องพูดคุยงานกันในเรื่อง “ค่ายเรียนรู้สู่การพัฒนาโครงการ วันที่ 23 – 26 ตุลาคม 2556” ที่กำลังจะมาถึงจึงเป็นลักษณะของกิจกรรมเล็กๆจากพี่สู่น้องใน “อาศรมพอเพียง” ณ โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม  โดยเน้นที่พี่กับน้องเป็นหลักสำคัญ

 

 

         การคุยงานกันก่อนอย่างนุ่มลึกจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องโดยข้าพเจ้ามีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงที่คอยชวนคุยในการดึงความคิดของทุกคนออกมาร่วมกัน เมื่อครั้งวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ซึ่งการพูดคุยในครั้งนั้นเป็นวงคุยกันเล็กๆในโรงเรียนที่  “พี่เลี้ยงฝึกหัด” ได้ถ่ายทอดเครื่องมือและกระบวนการให้” แล้วยังเป็นการวางทิศทางของงานในรุ่นที่สองที่ควรจะเป็นโดยทิศทางที่เขาได้วางในตอนนั้นเป็นการวางที่ยังไม่ชัดเจนแต่เป็นแนวทางที่เหมาะควรต่ออัตภาพของตัวตนเราเอง ในครั้งนั้นได้ยินการพูดคุยกันในระหว่างกลุ่มเพื่อนๆในกลุ่มบอกว่า “กิจกรรมนี้เหมาะสมกับเราไหม  แล้วเราจะทำได้ไหม” ซึ่งเขาจะมีฐานคิดของความพอเพียงอยู่ในตัวตนของหลายๆคนในกลุ่มเพียงต้องเพิ่มเสริมให้เขาได้มองภาพนั้นกว้างขึ้นแล้วชัดเจนขึ้น  ซึ่งเมื่อเขาได้มองในมุมที่สูงและกว้างนั้น  ความมั่นใจในการที่มองว่าทำได้หรือไม่ได้ เขาจะมีความมั่นใจสูงขึ้นที่ได้มองในมุม (นกอินทรีย์) แล้วเครื่องมือที่ พี่เลี้ยงฝึกหัดได้ถ่ายทอดให้คิดนั้นเป็น  แผนที่ชุมชน  แมปต้นไม้จากรากสู่ผล  ซึ่งแผนที่ชุมชนเป็นเครื่องมือที่จะสามารถทำให้น้องๆได้มองภาพชุมชนของตนเองอย่างชัดเจนว่าในชุมชนของเราเป็นอย่างไร  จุดเด่นและจุดด้อยอยู่ที่ไหน  ทุนในชุมชนที่เราสามารถร้องขอความช่วยเหลือในงานของเรานั้นมีหน่วยงานใดบ้าง  แล้วจุดโฟกัสจุดอันตรายของพื้นที่อยู่จุดใด ซึ่งจะทำให้เขาสามารถมองเห็นภาพชุมชนของตนเองได้อย่างนุ่มลึก แล้วอีกหนึ่งเครื่องมือเป็น แมปต้นไม้ ซึ่งเป็นการมองจากสาเหตุไปสู่ผลกระทบของปัญหาที่ออกมาซึ่งเขาจะมองภาพได้ชัดเจนขึ้นในบริบทของปัญหา จากรากสู่ผล แล้วยังมีการคุยงานกันไปเรื่อยๆจากรุ่นพี่สู่รุ่น้อง...

 

 

        ซึ่งจากกิจกรรมนี้ได้ข้อคิด คือ การเป็นพี่เลี้ยงจะต้องให้จังหวะน้องๆได้คิดโดยที่ช่วงจังหวะนั้นต้องไม่เครียดจนเกินไปเพราะเมื่อความเครียดเข้ามาจะทำให้คิดอะไรไม่ออก แล้วคอยบอกน้องว่าไม่มีผิดและไม่มีถูก  ซึ่งขึ้นอยู่ในมุมของแต่ละคน เขาจะเกิดปฏิกิริยาเล็กๆที่อยากตอบและตอบได้ง่ายขึ้น แล้วคอยย้ำเตือนเขาเสมอว่าไม่ควรยึดหน้าที่ของตนเอง “จนสุดโต่งเกินควร” เพราะเราได้ทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง  การแบ่งแยกหน้าที่กันนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่เราทุกคนไม่ควรยึดหน้าที่ของตนเองอย่างเดียวเพราะเราจะบินไปเป็นกลุ่มเหมือนกับผูกนก  ซึ่งในการบินของฝูงนกนั้นจะบินเป็นรูปตัว V ที่ตัวที่อยู่ด้านหน้าเป็นจ่าฝูงที่คอยเสียสละตัดลมให้ตัวอื่นๆบินได้อย่างสบายแต่การบินของนกนี้เมื่อตัวที่อยู่ด้านหน้านั้นหมดแรงลงไปตัวที่อยู่ด้านหลังจะเปลี่ยนเข้ามาแทนที่ให้ตัวที่อยู่ด้านหน้าได้พักแล้วจะเปลี่ยนตำแหน่งเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆจนทำให้สามารถบินข้ามมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลได้...นกทุกตัวช่วยกันบิน  เราทุกคนจะทำงานดุจนกที่ช่วยกันทำงานอย่างเป็มทีม...

 

 

         ออกเดินทางสู่ค่ายการเรียนรู้สู่การพัฒนาโครงการ ของมูลนิธิกองทุนไทยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 – 26 ตุลาคม 2556 ที่วีเทรนอินเตอร์เนชั่นแนลเฮาส์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งล้อรถเลื่อนจากมหาสารคามเป็นเวลา 22 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันกีฬาสีวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันที่โรงเรียนเลิกช้าเพราะต้องประกาศผลรางวัลทางกีฬาต่างๆนานาโดยที่ล้อรถเลื่อนเวลาประมาณ 3 ทุ่มทุกคนมากันพร้อม “เพราะมีใจ” ต่อการตรงเวลาของการร่วมกิจกรรมกับค่ายปลูกใจรักษ์โลกเป็นครั้งแรก   “ข้าพเจ้าถามเขาว่า  เขารู้สึกอย่าไร  เขาตอบว่ารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งในครั้งแรกที่ได้มาแล้วรู้สึกกลัวๆนิดๆในการเข้าร่วมกิจกรรม” เนื่องเพราะเด็กบางคนมีความคิดมุมมองตัวเองดีมากแต่เขามีกลัวที่จะแสดงมุมมองนั้นไป เดินทางมาถึงวีเทรนเวลาประมาณตี 4 เศษๆ แล้วทุกคนเข้าห้องพักเพื่อพักผ่อน...จวบจนเช้าของวันรุ่นขึ้นที่เป็นวันแรกของกิจกรรมน้องๆมีความตื่นเต้นต่างๆนานาในครั้งแรกของตนเอง แต่เมื่อได้เข้าสู่กระบวนการของโครงการปลูกใจรักษ์โลก ความรู้สึกกลัวต่างๆนานาเหล่านั้นกลับลดทอนลงไปเรื่อยๆทำให้ความกล้าผุดขึ้นมาเรื่อยๆ เขามีความกล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้นซึ่งจากเวทีนี้เองที่ทำให้ข้าพเจ้าพบว่า เกมส์ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มฮักนะเชียงยืนรุ่นที่สอง มีความคิดที่พอเพียงพอสมควรแล้วมีความกล้าแสดงออกพอสมควร  โดยคำพูดต่างๆที่พูดออกมาผ่านโสตวิญาณของพี่เลี้ยงฝึกหัดจึงสามารถสังเกตได้ซึ่งลักษณะเฉพาะตัวและความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคนสามารถนำมาเป็นแนวทางการดำเนินงานได้อย่างมีการปูพื้นฐานนั้นมาก่อนแล้วผ่านการสั่งสมจากภายในและภายนอก...

        ความคิดของแกนนำแต่ละคนสะท้อนมุมของตนเองออกมาได้อย่างเหมาะสม  สะท้อนการวางทิศทางของงานได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เนื่องเพราะการได้คุยงานกันก่อนจะทำให้ทุกคนมองเห็นภาพของงานแล้ววิเคราะห์งานได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาแล้วมีการยอมรับและสรุปทิศทางของงานเป็นแนวทางเดียวกัน

 

 

          เครื่องมือการคิดต่างๆที่ถูกปรับปรุงทำให้ง่ายต่อการวิเคราะห์แล้วผลจากการพูดคุยงานกันก่อนทำให้สามารถดึงแนวทางของการทำงานได้ค่อยข้างรวดเร็ว แล้วได้ตั้งเป้าหมายของการดำเนินงานแล้วทิศทางของการดำเนินงาน  “สามารถเก็บตก”  งานของรุ่นพี่ขึ้นมาพัฒนาต่อเกิดกลายเป็นวงจรที่ไม่สิ้นสุด...ข้าพเจ้าพยายามย้ำเตือนน้องๆเสมอว่า “งานนี้ไม่ใช่งานของพี่  ไม่ใช่งานของครู  ไม่ใช่งานของโรงเรียน แต่เป็นงานของเราเอง” ซึ่งเมื่อเขาได้ฟังคำพูดนี้เขาจะรู้สึกเล็กๆคอยย้ำว่าตนเองเป็นเจ้าของงานนี้แล้วจะเกิดพลังเล็กๆของการคิดขึ้นมา...”พี่เป็นพี่เลี้ยงฝึกหัด พี่ก็รู้เท่าๆกับน้องแล้วเรามาเรียนรู้ร่วมกันดีกว่า”  ซึ่งเมื่อพูดประโยคนี้ไปเขาจะรู้สึกในมุมเล็กๆว่าเรามีความเป็นกันเอง พี่เลี้ยงสามารถเป็นเพื่อนเราได้” ซึ่งเป็นการลดช่องว่างระหว่างพี่เลี้ยงกับน้องให้มากที่สุด ให้เป็นกันเองมากที่สุด ซึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ในบทบาทของพี่เลี้ยงแล้วข้าพเจ้าเปรียบเหมือนเท้าแต่น้องๆเขาเปรียบเหมือนหัว... สิ่งที่น้องๆแสดงออกมาให้พี่เลี้ยงฝึกหัดได้เห็นและสิ่งที่พี่เลี้ยงฝึกหัดแสดงออกมาให้น้องๆได้เห็นเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มของการทำงาน “ทุกคนเป็นนักเรียนรู้” ที่จะพร้อมเรียนรู้ไปพร้อมกัน ซึ่งการการได้เข้าค่ายพัฒนาโครงการในครั้งนี้มีข้อคิดสำคัญ คือ เมื่อได้พัฒนาโครงการด้วยความคิดของเด็กจะเป็นศิลปะที่ดีเยี่ยมที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนางานแล้วงานที่แทรกด้วยศิลปะนั้นเด็กๆมองว่าสามารถทำได้ด้วย “การทำให้ง่าย” ในศักยภาพของเขาเอง   ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนางานของน้องๆนั้นเมื่อข้าพเจ้าได้ย้อนเข้ามามองในอีกมุมหนึ่งจะมองว่า  “เด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นนั้นคิดได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ” ซึ่งเป็นความคิดที่คล่องสำหรับเด็กที่ได้ฝึกคิดอยู่เป็นประจำ  สิ่งที่เด็กมองเห็นในบางมุม เป็นมุมที่เหมาะควรแก่การพัฒนางาน อาทิ การนำศิลปะเข้ามาช่วยในการทำงานจะสามารถทำงานได้อย่างมีจุดสนใจที่จะสามารถดึงดูดชาวบ้านให้เข้ามาอย่างมีส่วนร่วม   มุมเล็กๆของน้องอาจเป็นมุมใหญ่ๆของพี่เลี้ยงฝึกหัดที่คอยคิดให้เป็น 2 เท่าของเด็กเพื่อที่จะได้ตามน้องได้อย่างเหมาะควร  แล้วกระบวนการต่างๆของโครงการปลูกใจรักษ์โลกในค่ายพัฒนาโครงการเป็นเวลา 3 วัน 2คืนด้วยกัน จบลงด้วยมิตรภาพดีดีแห่งความทรงจำที่ฝังด้วยความมีใจอาสาของทุกๆคนเมื่อถึงวันลาจากพี่เลี้ยงฝึกหัดได้แต่งเพลงขึ้นมาหนึ่งเพลงให้น้องๆทุกคนได้ร่วมกันฟังบทเพลงแห่งความฝันที่ถอดมาจากกิจกรรมทั้ง 3 วัน 2 คืน จากการเดินทาง จากกระบวนการต่างๆ และความรู้สึกของทุกๆคน

 

http://www.youtube.com/watch?v=DD4R22rq6Rw

 

ซึ่งจากการได้เข้าร่วมค่ายในครั้งนี้ได้มีสิ่งที่ได้รับ ดังนี้

1.การคิดอย่างง่ายๆในมุมของเด็กจะเป็นทุนสำคัญที่สร้างสรรค์ต่อการพัฒนางานจิตอาสาในระดับเยาวชน

2.การที่เราได้ลงไปมีส่วนร่วมด้วยอย่างชัดเจนเด็กจะมีพลังใจในการทำงานแต่เราต้องรำลึกเสมอว่าเขาต้องได้ประสบการณ์มากที่สุดถ้าพี่เลี้ยงเข้าไปมีบทบาทจนเกินไปนั้นเด็กจะได้ประสบการณ์หรือบทเรียนเหล่านั้นน้อยมากหรือไม่ได้เลย

3.พี่เลี้ยงควรเปรียบเหมือนเท้าแล้วเด็กควรเหมือนสมองโดยที่สมองจะสั่งการเท้าให้เท้าขยับ ซึ่งเมื่อน้องๆที่เป็นสมองคิดมาแล้วจะมีการพูดคุยกันแล้วพี่เลี้ยงซึ่งเปรียบเหมือนเท้าจะอำนวยความสะดวกต่างๆให้ซึ่งให้พี่เลี้ยงนั้นหัดน้องๆเดินไปในทีละก้าวๆจนน้องๆสามารถเดินเองได้

4.คำพูดต่างๆของพี่เลี้ยงถือเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่คอยเป็นแรงกระตุ้นให้น้องๆมิลืมเป้าหมายของตนเองและเป้าหมายของกลุ่มในการดำเนินงาน

 

 

         หลังจากกลับมาจากการเข้าร่วมค่ายพัฒนาโครงการแล้วต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่งเพราะการพูดคุยนั้นสำคัญอย่างยิ่งจึงก่อเกิดเป็นอีกค่ายกิจกรรมเล็กๆ ณ อาศรมพอเพียงอีกครั้งโดยเป็นการถ่ายทอดเครื่องมือให้กับสมาชิกในกลุ่มทุกคนให้ได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมแล้วยังเป็นการวางทิศทางของงานร่วมกันโดยเครื่องมือต่างๆนานาที่มูลนิธิกองทุนไทยได้ให้หลักคิดมานั้นจะถ่ายทอดให้สมาชิกในกลุ่มทั้งหมด ได้แก่ แผนภาพต้นไม้  แผนภาพชุมชน ภูเขาสามลูก  และจุดโฟกัสต่างๆนานา ซึ่งคนถ่ายทอดนี้จะเป็นน้องๆแกนนำ 3 คนเข้ามาถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆสมาชิกในกลุ่ม โดยที่พี่เลี้ยงฝึกหัดและครูที่ปรึกษาจะคอยอยู่ด้วยตลอดเวลาเพราะงานนี้ต้อง “คอยชง” ให้เข้มข้นเพราะเป็นวางทิศทางของงานโดยการมีส่วนร่วมของทุกคน ที่ต้องเน้นถึงศักยภาพทั้งหมด  ทุนทั้งหมด ที่มีอยู่ให้สามารถไต่ข้ามภูเขาทั้งสามลูกได้อย่างเหมาะสมกับศักยภาพของตัวเราเอง..เพราะเครื่องมือการทำงานนี้ เป็นโจทย์ที่ค่อนข้าง “ปวดหัว” สำหรับทุกๆคนในกลุ่มเพราะนับเป็นครั้งแรกที่เขาได้มาวิเคราะห์ร่วมกัน “เสียงจากน้องสองสามคนบอกว่าปวดหัว” แต่เนื่องด้วยงานนี้เป็นงานที่ค่อนข้างหนักจึงต้องมีกิจกรรมคลายเครียดก่อนที่จะเข้าสู่เครื่องมือการพัฒนา เมื่อได้วิเคราะห์ร่วมกันงานไปได้เกินครึ่ง “เกิดภาวะของสมองคิดอะไรไม่ออก” เนื่องเพราะการใช้ความคิดมากจนเกินไปประกอบทั้งเป็นจังหวะเวลาของการรับประทานอาหารจึงหยุดพักสมองเพื่อรับประทานอาหาร จากนั้นเข้ามาสู่งานของตนเองในส่วนที่หลงเหลือจนเสร็จงาน  เสร็จการถ่ายทอด  เสร็จการวางทิศทางของงาน  และเสร็จเค้าโครงงานที่พร้อมออกสู่ภายนอกเป็นรูปธรรม  แต่ความเป็นรูปธรรมนี้จำต้องพัฒนาและพูดคุยกันเรื่อยๆเพื่อมิให้ขาดช่วงขาดตอนของงานหรือพี่เลี้ยงฝึกหัดเรียกว่า “สมาธิของงาน” ที่เป็นการคุยงานโดยมิหลงลืมงานที่ทำ มิลืมกลุ่มที่ทำ และมิลืมตนเองในการทำงาน

 

 

 

         ข้อคิดที่ได้รับจากกิจกรรมนี้ คือ จังหวะที่เป็นจุดสำคัญของการคิดวิเคราะห์งานซึ่งจังหวะนี้เป็นช่วงเวลาของการคิดโดยถ้าเราเน้นหนักเกินไปจะทำให้น้องๆเกิดภาวะของการคิดอะไรไม่ออกเพราะเนื่องด้วยการคิดและจดจ้องในประเด็นการคิดจนเกินไปแล้วเมื่อเกิดภาวะนั้นขึ้นมาสิ่งที่ถือว่าเป็นเครื่องช่วยได้ดี คือ อาหารหรือขนมขบเคี้ยวต่างๆนานาที่สามารถใช้ได้ผลอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะพี่เลี้ยงฝึกหัดเคยเกิดภาวะนี้อยู่หลายๆครั้ง เมื่อพี่เลี้ยงรู้สึกว่าเคยเกิดนั้นก็จำต้องพักสมองด้วยการรับประทานอาหารและพูดคุยกันในเรื่องราวต่างๆนานาที่เป็นความบันเทิง พูดเรื่องละครประจำวันบ้าง  พูดเรื่องเพลงบ้าง  พูดเรื่องภาพยนต์บ้าง  และพูดเรื่องความรักบ้าง ซึ่งเมื่อได้พูดเรื่องเหล่านี้ทุกครั้งเขาจะรู้สึกสนใจเพราะเขาได้พบสิ่งนี้อยู่ในทุกๆวันโดยเฉพาะเรื่องของ “ความรัก” ที่วัยรุ่นทุกๆคนมีอยู่ทุกขณะแล้วเมื่อได้เปิดประเด็นในเรื่องนี้ขึ้นมา พี่เลี้ยงฝึกหัดจึงถือโอกาสอันดีนี้สอนเขาในทางที่ดี  ทางที่เหมาะที่ควร...ฉะนั้นแล้วจังหวะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พี่เลี้ยงฝึกหัดต้องเข้าใจให้ถ่องแท้เพราะความรู้สึกนี้จะเป็นพลังที่คอยกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมได้  ซึ่งนอกจากจังหวะแล้วยังต้อมีโอกาสที่เป็นการเปิดโอกาสให้กับทุกคนโดยที่ทุกคนมีโอกาสทัดเทียมกัน  ทุกคนเปิดรับคำเสนอแนะแล้วยอมรับซึ่งกันและกัน ถึงบทบาทของแต่ละคนไม่เหมือนกันแต่ทุกคนมีบทบาทหนึ่งที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือกัน...

 

         การพูดคุยงานก่อนเป็นภูมิคุ้มกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาวก่อนที่จะไต่ขึ้นไปสู่การพูดคุยที่เน้นย้ำและวิเคราะห์สิ่งที่ได้พูดคุยมาก่อนที่เป็นงานคุยงานกันในระหว่างทำและแล้วเมื่อผลผลิตจากการพูดคุยกันทั้ง 2 กระบวนการจะเข้าสู่กระบวนการสำคัญ คือ การสรุปงานร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม...ทั้งนี้เพราะการพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถดึงใจเขาให้เข้ามาสู่ใจของงานมากยิ่งขึ้นแล้วยังเป็นการดำรง “สมาธิของงาน” อย่างมั่นหมายด้วยความมีใจของทุกๆคน...ความเป็นครั้งแรกของบทบาทพี่เลี้ยงที่เรียกตนเองว่าเป็นพี่เลี้ยงฝึกหัดกับน้องผู้เป็นนักเรียนรู้ในทุกๆคน ยังเดินไปด้วยความมิจนใจและมิจนปัญหา   ผู้คิดเป็นน้องส่วนพี่เลี้ยงฝึกหัดคอยอำนวยความสะดวกให้กับน้องและพาน้องหัดเดิน...ยังต้องเผชิญกับเส้นทางที่มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอันหอมหวน..แต่กลับโรยด้วยหนามกุหลาบที่คอยทิ่มแทงเท้าให้เจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา... แต่การดำรงสมาธิของงานการพัฒนาจะนำพาให้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง

       

            บทเรียนที่ได้รับในปิดเทอมที่คอยเติมฝันให้น้องๆ มีดังนี้

1.การคิดอย่างง่ายๆในมุมของเด็กจะเป็นทุนสำคัญที่สร้างสรรค์ต่อการพัฒนางานจิตอาสาในระดับเยาวชน

2.การที่เราได้ลงไปมีส่วนร่วมด้วยอย่างชัดเจนเด็กจะมีพลังใจในการทำงานแต่เราต้องรำลึกเสมอว่าเขาต้องได้ประสบการณ์มากที่สุดถ้าพี่เลี้ยงเข้าไปมีบทบาทจนเกินไปนั้นเด็กจะได้ประสบการณ์หรือบทเรียนเหล่านั้นน้อยมากหรือไม่ได้เลย

3.พี่เลี้ยงควรเปรียบเหมือนเท้าแล้วเด็กควรเหมือนสมองโดยที่สมองจะสั่งการเท้าให้เท้าขยับ ซึ่งเมื่อน้องๆที่เป็นสมองคิดมาแล้วจะมีการพูดคุยกันแล้วพี่เลี้ยงซึ่งเปรียบเหมือนเท้าจะอำนวยความสะดวกต่างๆให้ซึ่งให้พี่เลี้ยงนั้นหัดน้องๆเดินไปในทีละก้าวๆจนน้องๆสามารถเดินเองได้

4.คำพูดต่างๆของพี่เลี้ยงถือเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่คอยเป็นแรงกระตุ้นให้น้องๆมิลืมเป้าหมายของตนเองและเป้าหมายของกลุ่มในการดำเนินงาน

5.จังหวะที่เป็นจุดสำคัญของการคิดวิเคราะห์งานซึ่งจังหวะนี้เป็นช่วงเวลาของการคิดโดยถ้าเราเน้นหนักเกินไปจะทำให้น้องๆเกิดภาวะของการคิดอะไรไม่ออก

6.การคอยเปิดประเด็นที่น่าสนใจเมื่อยามสมองล้าจากการคิดโดยเฉพาะเรื่องที่เราพบเห็นอยู่ในทุกๆวัน จะทำให้เขามีความสนใจแล้วลดความล้าของสมองได้อีกมุมหนึ่ง

7.การคอยเปิดโอกาสให้ทุกๆคนได้มีส่วนร่วมอยู่เสมอเพราะการมีส่วนร่วมนั้นจะสามารถทำให้งานขับเคลื่อนได้ง่ายผ่านการพูดคุยอย่างมี “สมาธิของงาน” ...

 

 

 

พี่เลี้ยงฝึกหัด น้องๆผู้เป็นนักเรียนรู้

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 553569เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2013 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2013 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ชื่นชม นักลิขิตประสบการณ์ ล่าท้าฝัน

 

ชื่นชมกิจกรรมที่ดี สร้างสรรค์ และมีประโยชน์นะคะ

ขอชื่นชมน้องๆที่มีความคิดดีๆพร้อมจิตอาสา เป็นตัวอย่างที่ดีให้เยาวชนค่ะ

ชื่นชมน้องๆที่มีกิจกรรมดีๆแบบนี้ค่ะ 

ขอขอบคุณมากๆ... สำหรับคำติชมข้างต้นครับ...

เหมาะจะเป็นนักเขียนนะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท