ส่งเสด็จพระปิยมหาราชสู่สวรรคาลัย


ส่งเสด็จพระปิยมหาราชสู่สวรรคาลัย

                ตลอดระยะเวลา ๔๒ ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการอันนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของประเทศอย่างใหญ่หลวง ส่งผลให้ให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ และสามารถดำรงอธิปไตยได้อย่างมั่นคงสืบมา
             ดินแดนประเทศไทยได้รอดพ้นจากการสูญเสียอธิปไตยให้แก่มหาอำนาจจักรววดินิยมตะวันตก ก็เพราะพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้มีอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณ ที่ทรงสามารถประเมินภัยจากการเมืองโลกได้ถ่องแท้ และได้มีพระวิสัยทัศน์ที่หยั่งลึกถึงการเตรียมรับเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ ได้ทรงเร่งพัฒนาการศึกษาของพลเมือง โปรดการเลิกทาสเพื่อสร้างความเสมอภาคภายในพระราชอาณาจักร ปฏิรูปการเมืองการปกครองให้สอดคล้องกับระบบสากล
             พัฒนาการสื่อสารและสาธารณูปโภค รวมความเป็นเอกภาพในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ทรงมีขันติธรรมกล้าแกร่งในการแก้ไขวิกฤติการณ์และมีพระวิริยานุภาพในการสร้างมิตรประเทศที่อยู่ไกลถึงถึงในทวีปยุโรป เพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ทุกวิถีทาง จนยั่งยืนตราบถึงทุกวันนี้ พระราชภาระที่ยิ่งใหญ่สุดประมาณดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยเป็นชาติเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รอดพ้นจากภัยของมหาประเทศนักล่าอาณานิคมในสมัยนั้น
           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ปิยมหาราชทรงพระประชวรด้วยพระโรคพระธาตุพิการ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓  ต่อมามีพระโรคทางพระวักกะพิการเข้าแทรก ทำให้เครื่องกรองพระบังคนเบาเสีย มีพระบังคนเบาตลอดวันที่ ๒๑ ตุลาคม เพียง ๓ ครั้งๆ ละเพียง ๑ ช้อนชา แพทย์ได้ถวายเครื่องสวน แต่ไม่ได้ผลไม่มีพระบังคนเบาเลย วันที่ ๒๒ พระอาการเซื่องซึม แต่เช้าจนเย็นไม่มีพระบังคนหนักพระบังคนเบาเลย พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภบันทึกไว้ในจดหมายเหตุ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรว่า"เวลาย่ำคำ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่งขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการข้าพเจ้าได้ขึ้นไปด้วย เห็นหายพระทัยดังยาว ๆ และหายพระทัยทางพระโอษฐ์ พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุไหวได้แต่ไกล สังเกตดูพระเนตรไม่จับใครเสียแล้ว ลืมพระเนตรค้างอยู่อย่างนั้น"
 สมเด็จพระปิยมหาราชของชาวไทย  เสด็จสู่สวรรคาลัยบนชั้น ๓ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต  เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ เวลา  ๒๔๔๕ น.  สิริรวมพระชนมพรรษา ๕๗ พรรษา ๓๓ วัน เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ ๔๒ ปี  ๒๒ วัน
       ครั้นวันที่  ๒๓  ตุลาคม  รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙ เจ้าพนักงานให้จัดการตกแต่งในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมุขตะวันออก  ตั้งพระแท่นรองโต๊ะหมู่ เชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาประดิษฐานและตั้งเครื่องนมัสการพระแท่นทรงกราบเบื้องขวาซ้ายตั้งโต๊ะจีนลายคราม  มุขตะวันตกตั้งแว่นฟ้าทองคำ ๓ ชั้น บนฐานพระบุพโพมีฐานเขียงกั้นพระฉากผูกพระสูตร  มุขเหนือตั้งพระแท่นเป็นเตียงพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม  ทางข้างผนังด้านตะวันออกด้านตะวันตกตรงกันเป็น ๒ เตียงและตั้งอาสน์สงฆ์ข้างผนังมุขตะวันออกเลี้ยวมาถึงมุขด้านเหนือ และที่ตรงหน้าพระฉากอีกอาสน์หนึ่งสำหรับสดับปกรณ์และผูกพระสูตรที่มุขเด็จหน้าพระที่นั่งไว้พร้อมเสร็จ
      เวลาบ่าย ๔ โมงเศษสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายน้ำสรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วพระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดี สรงพระบรมศพตามลำดับไป เจ้าพนักงานประโคมแตร สังข์ กลองชนะ มโหรทึก เมื่อสรงเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานกรมพระภูษามาลามีพระยาราชโกษา พระยาเทพาภรณ์ เป็นต้น ถวายเครื่องทรงอย่างบรมขัตติยาธิราชเสร็จแล้ว เชิญประดิษฐานในพระลองเงินแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายพระมหากฐินทรงแล้ว เจ้ากรมพระตำรวจเชิญพระลองลงจากพระที่นั่งอำพรสถาน ขึ้นพระเสลี่ยงหิ้วมาประดิษฐานบนพระที่นั่งสามคานมีพระมหานพปฎลเศวตฉัตรคันดาลกั้น ทหารมหาดเล็กที่ตั้งแถวอยู่ในสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งอัมพรสถานพร้อมด้วยแตรวงถวายวันทยาวุธบรรเลงเพลงแตรสรรเสริญพระบารมี เจ้าพนักงานประกอบพระโกศทองใหญ่เสร็จแล้ว
             เวลาทุ่มหนึ่งเดินกระบวนแต่หน้าพระที่นั่งอัมพรสถานมาตามถนนข้างพระที่นั่งสีตลาภิรมย์ เลี้ยวมาทางถนนข้างพระที่นั่งออกหน้าพระลานพระราชวังสวนดุสิต  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเต็มยศทหารมหาดเล็ก ทรงพันผ้าดำทุกข์เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทรงพระราชดำเนินตามกระบวนพระบรมศพต่อท้ายเครื่องสูง มีนายทหารเชิญธงบรมราชธวัชตามเสด็จ  ต่อมาพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเครื่องเต็มยศบ้าง  ทรงเครื่องผ้าทรงขาวบ้าง   ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามพระบรมศพ  หยุดหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เจ้าพนักงานเชิญพระโกศเสด็จขึ้นมาพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  เข้าในมุขฉากตะวันตกเชิญประดิษฐานบนแว่นฟ้าทองคำ  ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวฉัตร  แวดล้อมด้วยเครื่องสูงชุมสายบังแทรกต้นไม้ทองเงินและตั้งครื่องราชูปโภคเครื่องนมัสการ ในเวลานี้นางร้องไห้ร้องอยู่ในพระฉากมุขด้านใต้ เมื่อประดิษฐานพระลอง ประกอบพระโกศ เสร็จแล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าไตร และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดผ้าไตร ผ้าขาวพับต่อไปรวมไตร ๑๒ ไตรผ้าขาวพับ ๒๔๐ พับ พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิราญาณวโรรสเป็นประธานแล้วถวายอนุโมทนาเสร็จแล้ว เวลา ๕ ทุ่มเศษ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นประทับแรม ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ส่วนที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมีพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมทั้งกลางคืนกลางวัน รับพระราชทานฉันเช้า ๓๒ รูป เพล ๑๖ รูป
 อนึ่ง เมื่อเวลาถวายน้ำสรงพระบรมศพ แต่เวลาบ่าย ๔ โมงเศษนั้น กรมทหารบก ทหารเรือยิงปืนใหญ่ถวายคำนับทุกนาที ตลอดมาจนเชิญพระบรมศพเข้าสู่พระบรมมหาราชวังประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเสร็จแล้ว เวลา ๔ ทุ่มเศษ จึงหยุดยิงปืนใหญ่
       ต่อไปนี้เป็นสำเนาประกาศโปรดเกล้าฯ ให้เลิกการโกนผมแทนการไว้ทุกข์ ในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคต และประกาศโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมพระบรมศพได้ดังนี้
     
"มีรับสั่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชซึ่งได้สำเร็จราชการแผ่นดิน ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรพระโรคพระธาตุพิการมาแต่ ณ วันที่ ๑๖ ตุลาคม พระโรคกลายไปในทางพระวักกะพิการ แพทย์ได้ประกอบพระโอสถถวายพระอาการหาคลายไม่ ถึง ณ วันเสาร์ที่  ๒๒  ตุลาคม เสด็จสวรรคตเวลา ๓ ยาม กับ ๔๕ นาที จะได้เชิญพระบรมศพสู่พระโกศ แห่จากพระราชวงดุสิตไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม
       ความเศร้าโศกสาหัสอันบังเกิดขึ้นในพระบรมมหาราชวังครั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงแน่ในพระหฤทัยว่า จะเป็นความเศร้าโศกแก่ประชาชนทั้งหลายทั่วไปในพระราชอาณาจักร เพราะเหตุที่สมเด็จพระบรมชนกาธิราชได้ทรงพระกรุณาทำนุบำรุงมาทั่วกัน
 อนึ่งตามโบราณราชประเพณีในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรณคต พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการราษฎรทั้งหลายต้องโกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วทั้งพระราชอาณาจักรแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงมีพระราชดำรัสรับสั่งว่า การไว้ทุกข์ดังเช่นที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมเป็นเรื่องเดือดร้อนอยู่เป็นอันมาก ให้ยกเลิกเสียทีเดียว" 

  ประกาศมา ณ  วันที่ ๒๓ ตุลาคม  รัตนโกสินทร์  ศก ๑๒๙

 "เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรางนครบาล ขอประกาศให้ราษฎรทั้งหลายจงทราบทั่วกัน"     
 ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่า  ได้สังเกตเห็นราษฎรทั้งหลายไม่เลือกว่าชั้นใดชาติใด เมื่อทราบข่าวว่า สมเด็จพระบรมชนกนาถพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเสียแล้ว ต่างพากันเศร้าโศกโศกาดูรด้วยความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  จนถึงเวลาเมื่อเชิญพระบรมศพมาสู่พระบรมมหาราชวังก็อุตส่าห์พากันมาร่ำร้องไห้เสียงเซ็งแซ่ตลอด ๒ ข้างทางบางหมู่ก็พากันเดินตามพระบรมศพมาจนถึงพระบรมมหาราชวัง เจ้าพนักงานจะห้ามปรามสักเท่าใดฯ ก็ไม่ฟัง เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นความสวามิภักดิ์อันหนักแน่นลึกซึ้งของราษฎรทั้งหลายปรากฏเฉพาะพระพักตร์เช่นนี้มีพระราชหฤทัยเต็มตื้นไปด้วยความสงสารและทรงแน่ในพระราชหฤทัยว่า ราษฎรทั้งหลายคงจะมี ความปราถนาอยู่เป็นอันมากที่จะได้  มากราบถวายบังคมพระบรมศพโดยความกตัญญูกตเวที และความเสน่หาอาลัย
 เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศมาว่า ถ้าราษฎรทั้งหลายไม่เลือกว่าชั้นใดชาติใดภาษาใด ชายหรือหญิงแม้มีความประสงค์จะมาแสดงความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามาได้เดือนละครั้งตามกำหนดวันเวลา ดังนี้คือ
             วันที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เดือนพฤศจิกายนตรงกับวัน ๓ ฯ ๑๑ ค่ำ วัน ๔ ๑ ๑๒ ค่ำ
                                                                                  ๑๔               ฯ
วัน ๕ ๒ ๑๒ ค่ำ วัน ๖  ๓  ๑๒ ค่ำ วัน ๗  ๔  ๑๒ ค่ำ  ตั้งแต่เวลาบ่ายโมงไปจนถึงเวลาบ่าย ๕ โมง
       ฯ                  ฯ                   ฯ
 ครึ่งส่วนเดือนธันวาคมและเดือนต่อๆ ไป ก็คงมีกำหนดวันที่ ๑ ที่ ๒  ที่ ๓ ที่ ๔  ที่ ๕ เวลาเดียวกัน จนกว่าจะได้ถวายพระเพลิง แต่ผู้ที่มากราบถวายบังคมพระบรมศพนั้นควรแต่งตัวให้เรียบร้อยอย่างธรรมเนียมไว้ทุกข์ คือ ผู้ชายนุ่งขาว สวมเสื้อขาว ผู้หญิงนุ่งขาวสวมเสื้อขาวห่มขาว ถ้าเป็นชาติที่มีธรรมเนียมไว้ทุกข์ดำ ก็แต่งตามลัทธิแห่งตนฯและถ้าจะมีดอกไม้ธูปเทียนหรือพวงมาลัยมากระทำสักการบูชาด้วยก็ยิ่งดี จะมีเจ้าพนักงานคอยเป็นธุระจัดการให้ผู้ที่มานั้นได้กราบถวายบังคมพระบรมศพตามความปราถนา
 ประกาศมา ณ วันที่..............เดือน...................ร.ศ.  ๑๒๙"  
            
วาระวันเสด็จสวรรคต เวียนมาบรรจบครบปีที่  ๙๖ ข้าพระพุทธเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐาน ขอพระองค์จงเสด็จสู่สวรรคาลัยและมีพระนิพพานเป็นที่สุด ขอให้แผ่นดินไทยและประชาชนชาวไทยอันเป็นที่รักของพระองค์ จงมีความสงบร่มเย็นตลอดไปชั่วกาลนาน ได้รับรู้และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงทุ่มเทประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งไว้แก่แผ่นดิน เพื่อจะได้บังเกิดความรักและหวงแหนชาติอันเป็นแนวทางในการช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองให้ยั่งยืนสืบไป                               

              : พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดย ศาสตราจารย์ น.อ. สมภพ  ภิรมย์ ร.น. ราชบัณฑิต พิมพ์ที่อมรินทร์การพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๘
              :งานพระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์  โดยนายยิ้ม ปัณฑยางกูรและคนอื่นๆ กรุงเทพ ๒๕๒๘ 

               

หมายเลขบันทึก: 55324เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2006 07:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท