ความตายจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม (X) : ภาพสะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว


ความตายจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม (X) : ภาพสะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

โมไนย พจน์


          จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม  เป็นที่รู้จักและทราบถึงบทบาทที่มีอย่างต่อเนื่องยาวนานในฐานะนักกีฬายิงปืนทีมชาติ เรียกว่าคอกีฬาไม่มีใครจะไม่รู้จักชื่อเขากับบทบาทนักกีฬาทีมชาติ  จนกระทั่งเมื่อมีข่าวภายในครอบครัว และเสียชีวิตไปด้วยการถูกลอบสังหารเมื่อกว่าเดือนที่ผ่านมา  แต่ที่ประเด็นที่น่าสนใจคือความรุนแรงของผัวเมีย ที่อาจเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา ในวิถีชีวิตไทยว่าแค่นี้เองทำไมถึงขนาดเอากันตาย   แต่ที่น่าสนใจและมองลึกไปอีกเล็กน้อยว่าวัฒนธรรมความเชื่อ หรือค่านิยมเล่านี้ได้กลายเป็นการสะสมความรุนแรง จนเป็นชื้อปะทุที่รอวันเกิดขึ้นอย่างนั้นหรือไม่ ? ดังกรณีความตายของ X จักรกฤษณ์   จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ตั้งแต่ปี 2550 – 2554 มีเด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงและเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล จำนวน 117,506 ราย เฉลี่ยปีละ 23,501 ราย หรือก่อเหตุทุก 20 นาที โดยล่าสุดปี 2554 มีเด็กและสตรีเข้ารับบริการจำนวน 22,565 ราย (เป็นเด็ก 11,491 ราย เป็นสตรีอายุ 18 ปีขึ้นไป 11,074 ราย) ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลใกล้ชิด เกิดขึ้นในครอบครัวซึ่งมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และจากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว พบว่า การกระทำความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่ปี 2553 – 2555 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2553 จำนวน 714 ราย จำนวน 811 ราย และจำนวน 833 รายตามลำดับ  [ข่าว : การรณรงค์ยุติความรุนแรงเด็ก-สตรี-ครอบครัวปี 2556]

(ภาพจากเน็ต)

(ภาพจากเน็ต)

          จากสถิติความรุนแรงสะท้อนข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือความรุนแรงยังเกิดขึ้นมีขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยผู้กระทำความรุนแรงกับผู้ถูกกระทำเป็นผู้ใกล้ชิดและอยู่ในครอบครัวเดียวกัน จากกรณีตัวอย่างของครอบครัวนักกีฬาทีมชาติท่านนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า  

                1. ความรุนแรงที่ผู้ชายกระทำ จากภาพข่าวผู้ชายเป็นผู้ใช้ความรุนแรง จะด้วยเหตุผลในเรื่องบุคลิกภาพ  การบ่มเพาะ สั่งสม และอื่น ๆ  เนื่องต่อจนกลายเป็นผู้ใช้ความรุนแรงกระทำต่อสมาชิกในครอบครัว  เป็นเรื่องปกติ หรือมีปกติต่อความรุนแรง เช่นการใช้กำลังประทุษร้าย การใช้อาวุธคุกคามผู้อื่น การใช้วาจาที่รุนแรงก้าวร้าวต่อสมาชิกรอบข้างในเชิงข่มขู่ คุกคาม  จึงปรากฏว่าแม่แท้ ๆ และลูกสะใภ้ไปแจ้งความเพื่อหลีกหนีความรุนแรงในครอบครัว โดยเลือกที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมาย ตำรวจ และสื่อเป็นเครื่องป้องกัน การตกเป็นผู้ถูกกระทำ จากความรุนแรงนั้น จนกระทั่งยอมที่จะหนีไปอยู่ที่อื่น คัดค้านการให้ประกันตัว เพื่อที่ยุติความรุนแรงเฉพาะหน้าจากผู้กระทำในฐานะเป็นชาย ?

                2.ความรุนแรงที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้กระทำ ภาพต่อเนื่องความตายของจักรกฤษณ์ หลังจากที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ จนกระทั่งปัจจุบัน มีภาพข่าวว่าแม่ภรรยา และภรรยาเป็นผู้จ้างวานฆ่า ซึ่งเป็นเพียงเบื้องต้นในกระบวนการทางกฎหมาย และการสอบสวน ส่วนจะเป็นอย่างไรคงเป็นไปตามกระบวนกฎหมายอันว่าด้วยหลักฐานและพยาน  แต่เหตุการณ์นี้น่าสนใจที่เป็นความรุนแรงที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กระทำ  มีพัฒนาการและสะสม จนอีกฝ่ายหนึ่งกระทำคืนจะด้วยเหตุผลแรงจูงใจ และความรุนแรงที่อยู่ในจิตก็ตามแต่ได้สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อถึงที่สุดกระบวนการทางจิตและความคิดได้ก่อความรุนแรงเกิดขึ้น   ความตายของจักรกฤษณ์ จึงเป็นภาพสะท้อนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว เป็นความรุนแรงจากความโกรธ  กระทั่งกลายเป็นอาฆาตพยาบาท  สะท้อนย้อนกลับความรุนแรงนั้น ด้วยการฆ่า หรือกระทำความรุนแรงต่ออีกฝ่ายหนึ่งคืนกลับ ส่วนสาเหตุอาจมาจากความกลัวต่อความรุนแรง หวังต่อผลได้จากเหตุที่คาดการณ์ล่วงหน้า เช่นทรัพย์สิน หรือการสิ้นพันธนาการของความรุนแรงที่เกิดขึ้น หรือเรียกว่าหนีความรุนแรงด้วยการใช้ความรุนแรงยุติ ดังนั้นความรุนแรงแบบนี้จึงเกิดขึ้นได้ด้วยเงื่อนไขที่เป็นเหตุผลสะสม ต่อเนื่อง จนกลายเป็นการทะลักส่วนเกินเป็นความรุนแรง ซ้อนเข้ามา

                ดังนั้นภาพความรุนแรงภายในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นต่อเด็ก สตรี ภรรยา  ผู้สูงอายุ สะท้อนปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของครอบครัวไทยได้เป็นอย่างดีว่านี่คือความจริง ที่ต้องสะท้อนออกมา ทั้งหาทางออกพร้อมแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ   ความตายของจักรกฤษณ์ จึงอาจสะท้อนได้ว่า เมื่อวันหนึ่งผู้หญิงหรือผู้ถูกกระทำ ลุกมาเป็นผู้กระทำเสียเองด้วยการใช้ความรุนแรงแฝงเร้นที่อยู่ในใจ สะสมเป็นตะกอนอันเนื่องด้วยความโกรธ แค้น ชิงชัง และประสงค์ก่อความรุนแรงคืนกลับ จึงกลายเป็นความรุนแรงที่ไม่เฉพาะการทะเลาะ ตบตี ทำร้ายร้างกาย ไปจนประสงค์ต่อชีวิตและทรัพย์สินหลังจากความตายนั้น  

                ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องไป เพราะความรุนแรงเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่แฝงเร้นอยู่ในจิตใจของมนุษย์ถ้าไม่ได้รับหักห้าม พัฒนา ขัดเกลา บ่มเพาะเสียแล้วโอกาสที่จะก่อความรุนแรง ย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา กระทั่งคืนกลับโดยผ่านกระบวนการไตร่ตรอง วางแผน และกระทำการอย่างแยบยลในหลาย ๆ ครั้งดังข่าวที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นกรณีครอบครัว “ธรรมวัฒนะ” ที่เป็นตำนานของการแย่งชิงทรัพย์สมบัติโดยมีความตายของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ  และความเสียหายชื่อเสียงของพี่น้อง  (ข่าว : ศึกมรดกธรรมวัฒนะยก 1 พินัยกรรม)   ตระกูล “วิญญูรัตน์” ต่อการเสียชีวิตของ นายไกรลาศ  วิญญรัตน์ หรือ ซาเสี่ย อดีต ผจก.หจก.ไทยเทพรส หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ “ซอสภูเขาทอง” มูลค่านับหมื่นล้าน รวมไปถึงการหายตัวไปอย่างลึกลับของ นางวรรณราตรี วิญญรัตน์ หรือ “ซ้อ 7” ที่เชื่อว่าเป็นผู้จ้างวานฆ่า เป็นเวลาหลายปีกระทั่งปัจจุบัน (manager online : 31 ก.ค.2547)   หรือกรณีการฆ่าชำแหละศพหมอผัสพร บุญเกษมสันติ ของนพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ อดีตสูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลจุฬา  ก็เป็นเหตุการณ์ของคนในครอบครัวสามีและภรรยา (ข่าวออนไลน์ : นักโทษแดนประหาร)   รวมไปถึงพี่น้องตระกูล “เลาวหวัฒนะ” ที่เป็นความรุนแรงในครอบครัว พี่ น้อง แม่ ด้วยประสงค์ต่อทรัพย์สิน เป็นต้น ภาพเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวที่มีลักษณะแตกต่างกันไป ตามเงื่อนไขปัจจัยและแรงเร้าต่อความรุนแรงนั้น ๆ แต่มองมุมหนึ่งครอบครัว ในฐานะเป็นเบ้าหลอมและจุดเริ่มต้นอันทรงค่าของสถาบันทางสังคม เมื่อครอบครัวสะสมความรุนแรงเสียเอง ซึ่งจะส่งผลเป็นแรงกระทบต่อสังคมในภาพกว้าง

  

ความรุนแรงในตระกูล "ธรรมวัฒนะ"  

(ภาพจากเน็ต)

                   ภาพสะท้อนความรุนแรงเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็น

                ความรุนแรงแฝงเร้นที่อยู่ในจิต (กุศลมูล) เป็นพื้นจิตที่สะสมความรุนแรงเหล่านี้ กลายเป็นความรุนแรงที่แฝงเร้น รอปะทะตีโต้ ออกมา ในพุทธศาสนากรณีวิฑูทภะ ถูกกระทำความรุนแรงทางโครงสร้างทางสังคมด้วยความเชื่อว่ากระทำได้  ความรุนแรงทางกาย วาจา (ใจ) อาฆาต พยาบาท จึงเป็นพฤติกรรมสะสม เมื่อมีโอกาสความรุนแรงนั้นจึงมาในรูปของการ รัฐประหารพ่อตัวเองเพื่อแย่งชิงตำแหน่งพระราชา  จนกระทั่งพระเจ้าปเสนทิโกศลสวรรคตอยู่นอกเมือง เมื่อมีอำนาจก็นำอำนาจนั้นไปก่อสงคราม ยกทัพรุกรานบรรพบุรุษของตัวเองที่เมืองกบิลพัสดุ์ เรียกว่า  ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ด้วยสาเหตุของการดูถูกดูแคลนว่าเป็นเพียง “ลูกทาส” ในระบบโครงสร้างทางสังคม เมื่อหันกลับมาพิจารณาร่วมความรุนแรงในครอบครัว  เป็นภาพสะท้อนความอ่อนแอ อาจสัมพันธ์กับระบบสังคม ประหนึ่งว่าเป็นใบสั่ง ใบเบิกให้กระทำได้ เช่น การใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจต่อภรรยาได้ หรือไม่ได้ แต่ในมุมหนึ่งกลายเป็นการสะสมความรุนแรง จนกลายเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง พร้อมทะลัก ตีกลับกระทั่งกลายเป็นความรุนแรงดังที่ปรากฏในภาพข่าว

                พระพุทธศาสนาจัดมองฐานเกิดของความรุนแรงมาจาก 3 ฐาน คือ โลภ โกรธ หลง เพราะสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดพฤติกรรมทางกาย โลภเพราะประสงค์ต่อทรัพย์ จึงกระทำความรุนแรง หรือความเชื่อต่อความเชื่อว่าทำได้ จึงเกิดความรุนแรง หรือเพราะโกรธ   กลายเป็นอาฆาต พยาบาท จนกระทั่งคิดและวางแผนก่อความรุนแรงที่ซับซ้อนและแยบยลขึ้นจนกระทั่งนำไปสู่การก่อความรุนแรงต่อความตาย เพราะอยากได้ตำแหน่งจึงฆ่าเพื่อตำแหน่งแปลว่าโลภอยากได้ เช่น วิทูฑภะ ยึดอำนาจพระราชบิดา ปิดประตูเมืองจนสิ้นพระชนม์อยู่นอกเมือง พระพุทธศาสนาสอนเรื่องสติ แปลว่าให้เท่าทันต่อความรู้สึก หรือสภาพอารมณ์ที่เข้ามากระทบ  สอนเรื่องปัญญาคือให้รู้ มีความรู้ต่อสิ่งรู้ว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เข้าใจ และมีความเท่าทันต่อเหตุการณ์นั้นจนกระทั่งนำไปสู่การแก้ไขหรือป้องกันความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นได้  สรุปง่าย ๆ พระพุทธศาสนาสอนว่า

          “พึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ 

          พึงเอาชนะความร้าย ด้วยความดี 

          พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้ 

          พึงเอาชนะคนพูดพล่อย ด้วยคำสัตย์ 

                พระพุทธศาสนาอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยแบ่งเบา ที่จะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เพียงแต่กระบวนการทางพระพุทธศาสนาเน้นไปที่รากของการเกิดภายใน ถ้าภายในพัฒนา จนกระทั่งไม่ให้เกิด หรือกำลังจะเกิดพัฒนาเป็นความก้าวหน้าไปสู่การไม่เกิดได้ ความรุนแรงก็จะเป็นเพียงคลื่นที่เข้ามากระทบและถูกซัดคลื่นกลับไปก็เท่านั้นแล้วเราเองก็เป็นแต่เพียงผู้ดู รู้ตามว่าสิ่งใดเกิดขึ้น แล้วแปรเปลี่ยนไปเป็นภาคส่วนที่ลดความรุนแรงได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์โดยส่วนหนึ่งด้วย  

                ตกลงใครจะฆ่าหรือถูกฆ่าคงเป็นเหตุผลในเชิงของมนุษย์กับสังคมในขณะนี้  ส่วนความผิดความถูกคงเป็นกลไกของระบบ คือกฎหมาย และตำรวจ  แต่ภาพสะท้อนของชีวิตจริงต้องการสื่อเพียงว่าความรุนแรงชนิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัวเป็นความรุนแรงที่แฝงเร้นและเกิดขึ้นเป็นตัวกัดเซาะสถาบันครอบครัวให้เสื่อมทรุดด้วยเหตุผลของชีวิต

          ความรุนแรงแฝงเร้นในลักษณะต่าง ๆ ในชื่อว่า “ครอบครัว” เราคงห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ หรือตัดขาดไม่ได้ แต่คงหาทางป้องกัน และสร้างความเข้าใจ หรือหาเครื่องมือในการแก้ปัญหาหรือทางออกของครอบครัวได้ ส่วนวิธีการคงคงต้องหลายฝ่ายช่วยกันคิด กันทำคนละนิดละหน่อย คาดว่าพอจะเป็นช่องทางในการแก้ปัญหาได้ เพราะในโลกนี้คงไม่มีอะไรเป็นสูตรสำเร็จชนิดที่จับวาง สอดยัดแล้วแก้ปัญหาได้ แต่ต้องช่วยกันคนละเล็กละน้อยแล้วทุกอย่างจะผ่านไปได้

          ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น

                 [WB,11 พ.ย.56]



ข่าวเกี่ยวเนื่อง

  1. โยน "แม่ยาย" จ้างฆ่า "เอ็กซ์ จักรกฤษณ์" : เนชั่นแชนแนลสถานีข่าว 24 ชม. 

หมายเลขบันทึก: 553217เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2013 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2013 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สังคมควรจะเรียนรู้จากกรณีนี้เช่นกัน วันหนึ่งเมื่อผู้ถูกกระทำพยายามอดทน หาวิธีดูแลตนเองโดยการปฏิเสธ หลบเลี่ยง หลีกหนี แล้วไม่เป็นผลสำเร็จ เมื่อความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นถึงจุดๆ หนึ่ง ผู้ถูกกระทำหมดความอดทนก็อาจกระทำในสิ่งที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมได้ .. เห็นด้วยกับสิ่งที่วิเคราะห์มา และยังสามารถวิเคราะห์ได้อีกหลายมุมมอง

.. สิ่งที่ดิฉันห่วงมากกว่าคือความรุนแรงที่เราชาชิน หลายคนไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงแต่ก็มานั่งเฝ้ารอดูอยู่หน้าทีวีทุกสัปดาห์ มันเป็นการสะสมภาพประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวให้แก่ลูกหลานโดยเราไม่รู้ตัว แค่ทราบว่านำมาทำบทละคน version ใหม่ ดิฉันก็รู้สึกสะเทือนใจแลัว บ้านดิฉันไม่ดูละครเรื่องนี้ค่ะ. 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท