ค่านิยมของคนข้างบ้าน


          “ บางครั้งสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง สิ่งที่คิดว่าดี สำหรับตัวเรา แต่เมื่อมันถูกกลืนกินด้วยค่านิยมของ        คนข้างบ้าน  มันจะกลายเป็นตัวทำลายค่านิยมของตัวตนไปในทันที” 

แม่: หยะก๋านหยะงานเก็บตังค์ไว้ผ่องหน๋าลูก

ผม:  ก่อเก็บผ่องกิ๋นผ่องครับ

แม่: เก็บไว้หลายๆคนอื่นเปิ้ลจะบ่ได้เอาไปเล่าขวัญฮู้ก่อ

พ่อ: เห็นลูกข้างบ้านก่อ เปิ้ลเพิ่งออกรถยนต์มาใหม่กันหมดแล้ว

น้า: กึดถึงอนาคของตั๋วเก่าผ่อง ดูคนอื่นๆเปิ้ลมีรถขับกั๋นหมดแล้วตั๋วเก่า มีอะหยั๋งผ่องบ่เดี่ยวนี้….

 

การสนทนายังไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้หรอกครับ เมื่อผมได้โต้ตอบเรื่องของคนข้างบ้าน ไม่ขอกล่าวถึงแล้วกัน ผมแค่รู้สึกและต่อต้านเท่านั้นเอง(ในความหวังดีของครอบครัว)

วัฒนธรรมของคนที่มันกำลังเกิดขึ้นอยู่นั้น ต่างก็มีปัจจัยที่มาจากการแข่งขัน การแย่งชิง จนเกิดการเลียนแบบ   และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การเอาคนนอกมาตัดสินตัวตนของตัวเอง

 เราเติบโตมาโดยการถูกปลูกฝังเรื่องราวต่างๆอยู่ตลอด เริ่มก่อเกิดที่ครอบครัว อยากให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ เป็นเช่นว่า ทำไมเอ็งไม่ทำตัวเหมือนเด็กคนหนึ่ง (ที่มักจะถูกนำมาเปรียบเปรยอยู่เสมอ)    เมื่อเติบและโตพอจะเข้าไปถูกคุรุ(โรงเรียน) ปลูกฝังสิ่งๆต่างโดยอัตโนมัติ ขาดเหตุผลโต้แย้งอย่างสิ้นเชิง ซึ่งก็ส่งผลทำให้ค่านิยมของคนข้างบ้านเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนก่อเป็นการฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึกกลายเป็นกรอบความคิดที่ปฏิเสธความเป็นอิสระของตัวตน

เมื่อความคิดเริ่มเติบโตมันจึงเกิดปัญญาทางความคิด เกิดคำถาม? การต่อต้านก็ตามโดยตัวของมัน  แต่พอเมื่อความฉงนขุ่นคิดนั้นได้กลายออกเป็นอาการแสดงหรือคำพูดออกไป  มันก็จะถูกกำจัดโดยอิทธิพลทางมายาคติของคนข้างบ้านและมันก็จะเกิดขึ้นเป็นอยู่อย่างนั้นไม่สามารถจะหนีหรือว่าทำลายมันลงได้จนบางครั้งสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง สิ่งที่คิดว่าดี สำหรับตัวเรา แต่เมื่อมันถูกกลืนกินด้วยค่านิยมของคนข้างบ้าน  มันจะกลายเป็นตัวทำลายค่านิยมของตัวตนไปในทันที 

ในเมื่อค่านิยมของคนข้างบ้านมันส่งผลต่อการกำหนดตัวตนที่เป็นตัวเองได้ขนาดนี้ เมื่อคิดต่างก็จะถูกผลักออกไปและจะถูกดูดกลืนเข้าไปโดยกลไกที่มันเป็น    ผมเคยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องที่ว่า การสะท้อนตัวเองโดยคนอื่น โดยเหตุผลของบุคคลท่านนั้นกล่าวไว้ว่า “คนเรายืนอยู่กับตัวเอง จึงมองไม่เห็นมัน ต้องให้คนรอบข้างช่วยมองเพื่อแก้ไขและช่วยเติมเต็มให้กับตัวเรา” ผมไม่ได้ถกหรือเถียงหากแต่ว่ายอมรับหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้  ทว่าผมกลับคิดในสิ่งที่สะท้อนออกมานั้นมันกลับกลายเป็นด้านลบซะมากกว่า…

ด้วยองค์ประกอบต่างๆที่ทำให้เราเอาคนอื่นมาเปรียบเปรยกับตัวเอง เอาคนนอกเข้ามาใส่ในตัว เอาคนหลายๆคนมาชี้วัดตัวเอง ผมไม่เข้าใจในสิ่งๆนั้น  มันผิดด้วยหรือที่ผมไม่อยากได้และอยากมีอย่างเช่นคนข้างบ้าน  แต่เมื่อนำเหตุผลต่างๆมาย้อนแย้งกลายเป็นความผิดของผมที่ไม่ตะเกียกตะกายเพรียกหาอนาคต ค่านิยมของตัวผมกลายเป็นสิ่งที่ผิดไปโดยระบบของมัน  กลายเป็นความผิดของผมโดยการตัดสินจากของคนข้างบ้าน  แล้วอะไรละที่เป็นตัวการ? หากผมทำตามค่านิยมคนข้างบ้านมันก็จะไม่มีการเปรียบเทียบจริงหรือ?   หากว่าค่านิยมของคนข้างบ้านไม่จำเป็นสำหรับตัวผมละ? ผมจะยังสามารถอยู่กับโลกของคนอื่น(สังคม)ได้อยู่หรือเปล่า?  หรือว่าผมต้องอยู่และเป็นอย่างนี้?

กลับกันฉันใด ผมก็กลายเป็นคนข้างบ้านเสียเองในบางที

 

นายดิน

คำสำคัญ (Tags): #อิสระนิยม
หมายเลขบันทึก: 552156เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2013 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2013 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท