ภาษาอังกฤษกับการอ่านสัมพันธ์กันอย่างไร


           

              หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดไว้ว่านักเรียนที่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 6  จะต้องสามารถปฏิบัติตามคำสั่ง คำขอร้องคำแนะนำที่ฟังและอ่าน อ่านออกเสียงประโยค ข้อความ นิทานและบทกลอนสั้นๆ ถูกต้องตามหลักการอ่านเลือกหรือระบุประโยคและข้อความตรงตามความหมายของสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่อ่าน บอกใจความสำคัญและตอบคำถามจากการฟังและอ่าน บทสนทนา นิทานง่ายๆ และเรื่องเล่าได้

             การอ่านเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ   ซึ่งถือเป็นภาษา ต่างประเทศที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ก่อให้เกิดแนวทางการเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ การเมือง การค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งภาษาอังกฤษได้ปรากฏในสื่อต่าง ๆ ของชีวิตประจำวันของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์   ป้ายชื่อถนน ป้ายโฆษณา แบบฟอร์มราชการ สลากยา การ์ตูน เป็นต้น  คนที่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ดีกว่าย่อมสืบค้น และพัฒนาทุกด้านได้มากกว่านั้นหมายความว่า การศึกษาหาความรู้ เพื่อประกอบอาชีพในอนาคตย่อมมีแนวโน้มที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มต้นพัฒนาทักษะ การอ่านภาษาอังกฤษตั้งแต่วัยเยาว์ จึงถือได้ว่าวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่ต้องพัฒนาทักษะการอ่านควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงจะทำให้การเรียนรู้และการดำเนินชีวิตประสบผลสำเร็จสูงสุด(บัณฑิต  ฉัตรวิโรจน์,2549)                                                       

             การอ่าน เป็นทักษะทางภาษาที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการศึกษาหาความรู้และ ความบันเทิงใจให้กับตนเอง  การอ่านจึงเป็นประโยชน์ให้แก่มนุษย์โดยตรงในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะนักเรียนระดับประถมศึกษาต้องมีทักษะที่จำเป็นต้องใช้การอ่าน เพื่อศึกษาหาความรู้จากหนังสือและจากตำรา ผู้ที่มีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้จึงได้เปรียบและสามารถติดต่อสื่อสารทั้งเรื่องส่วนตัวและส่วนรวมได้ผลดีกว่าผู้อื่นที่อ่านหนังสือไม่ออก และเขียนไม่ได้  การอ่านเป็นทักษะทางภาษาที่สำคัญ และจำเป็นมากในการดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เพราะในชีวิตประจำวันจะต้องอาศัยการอ่านจึงจะสามารถเข้าใจ และสื่อความหมายกันได้ถูกต้อง   การอ่านเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการแสดงหาความรู้ ดังนั้นผู้ที่มีทักษะในการอ่านหรือมีความสามารถในการอ่าน คือสามารถอ่านได้มาก อ่านได้เร็ว อ่านได้ถูกต้อง และอ่านได้หลายภาษาจึงมีโอกาสประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพและด้านสังคม  ด้านการศึกษาหาความรู้  ตลอดจนด้านข่าวสารข้อมูลได้กว้างไกล และทันสมัยกว่าผู้อื่นที่ขาดทักษะในด้านการอ่าน

             สรุปได้ว่า ในปัจจุบันคนที่มีความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษย่อมมีโอกาสในการแสวงหาความรู้ได้มากกว่าคนที่ไม่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาหาความรู้  การประกอบอาชีพ  การดำรงชีวิตประจำวัน เป็นต้น 

ที่มา:บัณฑิต  ฉัตรวิโรจน์.(2549) การสอนอ่านภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา.กรุงเทพมหานคร

       กรมวิชาการ. (2553). การจัดสาระการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศตาม

           หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่ง

            ประเทศไทย.

 

หมายเลขบันทึก: 551994เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท