ความงามในการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารการศึกษาในสถานศึกษา


บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์จริงจากการดำรงตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอและผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัด หลังจากผ่านหลักสูตรการอบรมผู้บริหารทั้งสองตำแหน่งจากสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ(วัดไร่ขิง) รวม ๔๖ วันทำการ(หลักสูตรละ ๒๓ วันทำการ)

การบริหารจัดการศึกษาในสถานศึกษาหรือนอกสถานศึกษา มีลักษณะเดียวกันคือเป็นศาสตร์และศิลป์แห่งการบริหารจัดการ หลายคนเข้าใจว่าการบริหารจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นการบริหารจัดการที่ต้องอาศัยผู้บริหารที่มาจากวิชาชีพผู้สอนหรืออาจารย์ ซึ่งไม่ต่างกันกับการบริหารจัดการศึกษาสำนักงานศึกษาธิการ(สมัยก่อน) หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ในปัจจุบัน)ที่ต้องมาจากผู้บริหารเคยผ่านการเป็นครู อาจารย์มาแล้วเช่นกัน เพียงแต่ว่าวิธีการ/ที่มาของผู้บริหารต่างกันเท่านั้นเอง ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยใช้วิธีการสรรหาหรือเลือกจากอาจารย์ภายในและหรือบุคคลภายนอก ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นการสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง

แต่ประเด็นที่นำเสนอนี้ เป็นแนวคิดเพื่อเสนอแนะให้แก่บุคคลที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งใหม่หรือย้ายไปดำรงตำแหน่งในสถานที่แห่งใหม่ควรจะมีท่าทีหรือลีลาความงามในการบริหารจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

ในสถานศึกษาหรือหน่วยงานหลายแห่ง เรามักจะเห็นผู้บริหารที่ขึ้นดำรงตำแหน่งใหม่หรือย้ายเข้าไปบริหารจัดการศึกษาในที่แห่งใหม่ประสบความล้มเหลวในการบริหารจัดการ เพราะเร่งรีบที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตามความรู้ประสบการณ์ความต้องการของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงบริบทหรือวัฒนธรรมองค์กร ขาดการศึกษาความต้องการของคนในองค์กร และหรือขาดความเข้าใจธรรมชาติขององค์กรทางการศึกษาได้ดีพอ เราจึงเห็นปรากฏการณ์หรือกระแสต่อต้านการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากและรุนแรงจากคนที่ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงที่ผู้บริหารได้ตัดสินใจ

โดยแท้จริงการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เป็นสิ่งที่ดีหากได้ศึกษา วิเคราะห์ถึงผลที่จะกระทบต่อสิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยความละเอียดรอบคอบ และให้เวลากับสิ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง

ผู้เขียนถูกสอนและได้รับการถ่ายทอดมาจากสถาบันวัดไร่ขิงโดยนักบริหารการศึกษาหลายท่านที่มีชื่อเสียง จำได้และนำมาปฏิบัติเสมอมาคือ หากเมื่อใดที่ได้รับตำแหน่งเข้าไปบริหารจัดการในหน่วยงานทางการศึกษาแห่งใดก็ตาม ให้จำไว้เลยว่าอย่างเพิ่งจัดการกับสิ่งใด ๆ ในทันที ถึงแม้เราต้องการหรืออยากจะทำเต็มที่ ต้องให้เวลา ศึกษากับสิ่งที่เราต้องการจะทำ และให้ความสำคัญกับคน ศึกษาธรรมชาติของคนให้ถ่องแท้เสียก่อน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ใกล้ตัวมาก(มหาวิทยาลัย)ในขณะนี้คือ ความต้องการเปลี่ยนแปลงระบบที่ผู้บริหารคิดกันว่าสิ่งที่มีอยู่เดิมไม่ดีหรือล้มเหลว/ที่ปฏิบัติมานั้นไม่ถูก ผู้บริหารจึงพยายามจะเปลี่ยนแปลงให้เกิดอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างระเบียบ ประกาศ กฎเกณฑ์ให้ต่างไปจากที่มีอยู่เดิมจนเกิดผลกระทบต่อคนในองค์กร (นักศึกษา อาจารย์ พนักงานรวมไปถึงผู้ปกครอง)ขออนุญาตยกตัวอย่างในปีการศึกษา ๒๕๕๖ เรื่องการสั่งให้นักศึกษารักษาสภาพกรณีไม่ชำระค่าธรรมเนียมการศึกษา(ค่าเล่าเรียน) ทำให้การเรียนมาทั้งปีหรือตลอดปีการศึกษาของนักศึกษาที่ผ่านมาเป็นโมฆะ หรือการสั่งให้พ้นการเป็นนักศึกษาด้วยเหตุไม่ชำระค่าเล่าเรียน เชื่อว่าผลกระทบสะท้อนกับจะเป็นไปในเชิงลบ จะได้รับการต่อต้านและไม่ยอมรับจากนักศึกษา ผู้ปกครองค่อนข้างมาก ถึงแม้จะจัดทำเป็นประกาศให้ทราบแล้วก็ตาม

ซึ่งโดยแท้จริง ในหลักการบริหารที่กล่าวไป ช่วงของการจะทำในเรื่องนี้ควรต้องให้เวลาหรือมีการศึกษาผลกระทบก่อน ๆ ที่จะประกาศหรือบังคับใช้กับนักศึกษา เวลาเพียงเดือนสองเดือนคงจะไม่เพียงพอที่จะทำให้นักศึกษาและผู้ปกครองกว่าสองสามหมื่นคนได้เข้าใจหรือรับทราบวิธีการอย่างทั่วถึง เพราะคนตั้งตัวไม่ทัน ยิ่งลักษณะองค์กรทางการศึกษา(มหาวิทยาลัยของรัฐ)เป็นองค์กรหรือสถาบันทางสังคมที่ต้องบริการประชาชนเป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงโดยขาดการศึกษาผลกระทบก่อนย่อมเกิดปัญหา คนจะเกิดความวิตกกังวลเมื่อได้รับสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการต่อต้านและการไม่ยอมรับต่อสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในที่สุด

บทความนี้ จึงเป็นเพียงชี้แนะที่อาจจะมองว่าเข้าข้างผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ขอให้ผู้บริหารทุกระดับสบายใจได้ว่า ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนายุยงหรือปลุกกระแสให้เกิดการต่อต้านใด ๆ เพียงต้องการปลูกปัญญาให้เกิดแก่คนในสถาบันการศึกษาและสังคมด้วยวิญญาณของความเป็นครูในคาบของนักบริหารการศึกษาคนหนึ่งที่ต้องการเห็นความงามในการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารการศึกษาในสถานศึกษาเท่านั้นเองครับ

คำสำคัญ (Tags): #อุดมศึกษา
หมายเลขบันทึก: 550087เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท