บึงพลาญชัย


บริเวณที่ตั้งจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน เดิมชื่อว่าเมืองสาเกตนครหรืออาณาจักรกุลุนทะนครมีเจ้าผู้ครองนครเรียกว่า พระเจ้ากุลุนทะ เมืองสาเกตเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งมีเมืองขึ้นถึง11เมือง จากหลักฐานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ขุดพบแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ1,800-2,500ปีมาแล้ว ต่อมาอิทธิพลของพุทธศาสนา ภายใต้วัฒนธรรมทวารวดีได้แผ่ขยายเข้ามาเมื่อปลาย พุทธศตวรรษที่12-15มีหลักฐานที่สำคัญ เช่น กลุ่มใบเสมาบริเวณหนองศิลาเลข ในเขตอำเภอพนมไพร พระพิมพ์ดินเผาปางนาคปรกที่เมืองไพร ในเขตอำเภอเสลภูมิ คูเมืองร้อยเอ็ด เจดีย์เมืองหงษ์ในเขตอำเภอจตุรพักตรพิมาน

ในพุทธศตวรรษที่16วัฒนธรรมจากอาณาจักรขอมได้แพร่เข้ามา ปรากฏหลักฐานให้เห็นอยู่มาก เช่น ปรางค์กู่กาสิงห์ ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย ปรางค์กู่ในเขตอำเภอธวัชบุรี กู่พระโกนาในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ และประติมากรรมที่เป็นรูปเคารพทางศาสนา ที่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ ทำจากหินทรายและโลหะเป็นจำนวนมาก แต่หลักฐานเกี่ยวกับเมืองร้อยเอ็ดขาด หายไปประมาณ400ปี จนถึงประมาณปี พ.ศ.2231เมืองเวียงจันทน์เกิดความไม่สงบ พระครูโพนสะเม็ด พร้อมผู้คนประมาณ3,000คน ได้เชิญเจ้าหน่อกษัตริย์อพยพลงมาตามแม่น้ำโขง แล้วมาตั้งมั่นอยู่ที่บริเวณเมืองจำปาศักดิ์ ผู้ปกครองเมืองจำปาศักดิ์มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระครูโพนสะเม็ด จึงได้นิมนต์ให้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและปกครองเมืองจำปาศักดิ์

ต่อมาเจ้าหน่อกษัตริย์ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทร พุทธางกูร ได้ขยายอิทธิพลไปในดินแดนต่าง ๆ เหนือสองฝั่งแม่น้ำโขง ได้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นหลายแห่งและส่งบริวารไปปกครอง เช่น เมืองเชียงแตง เมืองสีทันดร เมืองรัตนบุรี เมืองคำทอง เมืองสาละวัน และเมืองอัตตะปือ เป็นต้น

ในปี พ.ศ.2450เมืองร้อยเอ็ดได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นบริเวณร้อยเอ็ด โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น5เมือง คือ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคาม เมืองกมลาไสย และเมืองกาฬสินธุ์ ในปี พ.ศ.2453สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอของเทศาภิบาลข้าหลวงมณฑลอีสานว่า ควรแยกมณฑลอีสานออกเป็น2มณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานีและมณฑลร้อยเอ็ด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นไปตามที่เสนอ มณฑลร้อยเอ็ดจึงมีเขตปกครอง3จังหวัด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์

บึงพลาญชัย

ในปี พ.ศ.2469อำมาตย์เอกพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ข้าหลวงจังหวัดร้อยเอ็ดเห็นว่า บึงพลาญชัย (เดิมใช้ว่าบึงพระลานชัย) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ดตื้นเขิน ถ้าปล่อยทิ้งไว้บึงก็จะหมดสภาพไป จึงได้ชักชวนชาวบ้านจากทุกอำเภอ มาขุดลอกบึงเพื่อให้มีน้ำขังอยู่ได้ตลอดปี ได้ดำเนินการขุดลอกบึงทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่2ปี มีชาวบ้านมาร่วมขุดลอกบึงถึง40,000คน ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จนเป็นมรดกที่สำคัญของจังหวัดร้อยเอ็ดมาตราบเท่าทุกวันนี้

บึงพลาญชัย

ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองร้อยเอ็ด ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด ลักษณะเป็นเกาะอยู่กลางบึงน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 2 แสนตารางเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ตกแต่งด้วยสวนไม้ดอกขนาดใหญ่ มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ร่มรื่น และในบึงน้ำมีปลาชนิดต่าง ๆ หลายพันธุ์ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลของจังหวัด รวมทั้งจัดมหรสพต่าง ๆ
ภายในบึงพลาญชัยยังมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจคือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นของคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวร้อยเอ็ดเคารพนับถือ และเชื่อว่าเจ้าพ่อจะช่วยดลบันดาลให้ชาวเมืองมีความสุข คิดสิ่งใดสมปรารถนา จึงเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ชาวเมืองร้อยเอ็ด มากราบนมัสการขอพรเป็นประจำ พระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ กลางสวนดอกไม้ พานรัฐธรรมนูญ นาฬิกาดอกไม้ ภูพลาญชัย มีลักษณะเป็นน้ำตกจำลอง และรูปปั้นสัตว์ต่าง ๆ คล้ายสวนสัตว์ สนามเด็กเล่น และสวนสุขภาพ เป็นสวนออกกำลังกาย เพื่อให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย อันเป็นการเสริมสร้างพลานามัยแก่ชาวร้อยเอ็ด

บึงพลาญชัยยามค่ำคืน

ประตูสาเกตนคร

คำสำคัญ (Tags): #บึงพลาญชัย
หมายเลขบันทึก: 549948เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 12:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท