เทคนิคและวิทยาการจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้


เทคนิคและวิทยาการจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้

เทคนิคและวิทยาการจัดการเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้ในปัจจุบันนี้ค่อนข้างที่จะมีความแตกต่างจากในอดีตที่มีครูเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้แต่ในปัจจุบันได้เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ครูจะเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ โดยจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล สื่อและสิ่งแวดล้อม ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้

เทคนิคในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ได้แก่

1.เทคนิคการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตัวเอง เทคนิคนี้ไม่ใช่การที่ครูปล่อยให้นักเรียนหาความรู้เองแล้วเขียนรายงานส่ง แต่ครูมีหน้าที่ในการจัดกิจกรรมที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ ผู้เรียนต้องรู้เป้าหมายของงานที่ครูสั่งให้ทำ ครูจะเป็นผู้แนะแนวและสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลการพัฒนาการของนักเรียนและปัญหาที่เกิดขึ้นจากวิธีการสอนดังกล่าวเพื่อปรับปรังในการสอนครั้งต่อๆไป

2.เทคนิคการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกับคนอื่น ในการทำงานกลุ่มนั้นควรจัดที่นั่งรวมกันเพื่อให้ผู้เรียนได้ทำงานกลุ่มได้สะดวกเนื่องจากต้องมีการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม ควรจัดเป็นกลุ่มย่อยๆประมาณกลุ่มละ4-5คน โดยสมาชิกในกลุ่มมีระดับความสามารถที่แตกต่างกัน ครูควรดูแลให้สมาชิกภายในกลุ่มทุกคนมีบทบาทในการทำงานกลุ่ม ผู้เรียนได้มีโอกาสรับผิดรับชอบในการทำงานกลุ่มร่วมกัน ได้พัฒนาทักษะทางสังคมและกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม

3.เทคนิคการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ครูเป็นผู้จัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนแก้ปัญหา นำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่างๆ โดยครูควรจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ความสามารถทั้ง8ด้านตามทฤษฎีพหุปัญญาของGardnerได้แก่ ด้านภาษา ตรรกะและคณิตศาสตร์ ภาพมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ การเข้าใจตนเองและการเข้าใจสภาพธรรมชาติ โดยครูอาจให้ผู้เรียนวาดภาพรายละเอียดที่เรียนรู้จากวรรณคดี จัดนิทรรศการและจัดทำโครงการ (สมาชิกทุกคนจะได้ร่วมกันทำงานทุกขั้นตอนตั้งแต่การวางแผน ดำเนินการตามแผน สรุปผลงาน ซึ่งผู้เรียนแต่ละคนจะเลือกแสดงศักยภาพความสามารถในด้านที่ตนเองถนัดเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนตัวครูเองควรกระตุ้นผู้เรียนโดยการตั้งคำถามว่าทำไมถึงสนใจทำเรื่องนี้ แนะนำแนวทางการจัดทำและหาคำตอบ) นอกจากนี้ครูยังสามารถนำเทคนิคในด้านของการบูรณาการมาใช้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเชื่อมโยงความรู้ในทุกด้าน ทุกวิชาที่ได้เรียนมา ซึ่งถ้ายิ่งมีการบูรณาการเข้ากับชีวิตจริงโดยการเรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัวของผู้เรียนก็จะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น หลังจากนั้นแล้วค่อยขยายวงของการเรียนรู้ให้กว้างออกไป

สิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้

การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสภาพแวดล้อมของโรงเรียนถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อชีวิต จิตใจ ความเป็นอยู่ สุขนิสัยและการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างมาก ผู้เรียนจะได้รับการถ่ายทอดสิ่งต่างๆจากสภาพแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการจัดการบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในบริเวณโรงเรียนจึงมีส่วนช่วยสร้างเสริมความเจริญงอกงามทางร่างกาย จิตใจและสติปัญญา และสังคมให้เกิดกับนักเรียนเป็นอย่างมาก

องค์ประกอบของการจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษามีทั้งหมด5ด้าน ได้แก่

1.การกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

2.การวางแผนการดำเนินงานสิ่งแวดล้อม

3.การดำเนินการและการปฏิบัติการ

4.การตรวจสอบและการปฏิบัติงานแก้ไข

5.การทบทวนการจัดการ

การจัดการสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลหลายฝ่ายของทั้งโรงเรียนและชุมชนตั้งแต่ผู้บริหาร ครูอาจารย์ นักเรียน เจ้าหน้าที่และผู้นำชุมชนร่วมกันอย่างจริงจัง โดยเราควรจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางตัวบุคคล ทางกายภาพ ได้แก่ ในห้องเรียน (การจัดการจราจรในห้องเรียน วัสดุอุปกรณ์ต่างๆในห้องเรียน) นอกห้องเรียน (อาคารสถานที่ ห้องน้ำ ร้านอาหาร สร้างบรรยากาศให้เย็นสบาย ร่มรื่น ใกล้ชิดกับธรรมชาติ) ทางตัวบุคคล ได้แก่ บุคลิกภาพของครู การจัดชั้นเรียนของครู การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียน

คำสำคัญ (Tags): #11
หมายเลขบันทึก: 549861เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2013 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2013 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท