รูปแบบการเรียนรู้และการพัฒนาแบบการเรียนการสอน


ครู-อาจารย์ควรเน้นการเรียนการสอนเชิงรุก

การเรียนรู้มีหลายวิธี: อ่านหนังสือ ฟังเทป ฟังผู้สอนเล่า บรรยาย ดูภาพยนต์ มองรูป มองดูสิ่งที่ต้องการเรียนรู้.. เหล่านี้.. ผมขอเรียกว่า เรียนรู้แบบเชิงรับ (passive) คือผู้เรียนมีการกระทำน้อยมาก ถ้าผู้เรียนมีการกระทำมากๆ เช่น พูด อภิปราย โต้ตอบ ถกเถียง แลกเปลียนความคิดเห็นกับคนอื่น ทำแบบฝึกหัด ฝึกทักษะ ค้นหา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย ลงมือทดลอง ทำกิจกรรม ผลิตชิ้นงานขึ้นมา นำความรู้ไปสอนคนอื่น.. อย่างนี้.. ผมขอเรียกว่า เรียนรู้แบบเชิงรุก (active)

สถานศึกษาทั่วไปมีการเรียนการสอนทั้งสองแบบอยู่แล้ว แต่แบบเชิงรุกนั้น ผมมีความรู้สึกว่า ยังค่อนข้างจะน้อยไป ถ้าผู้สอน ผู้มีอาชีพครู สอนแบบเชิงรุกให้มาก เขาจะเห็นความกระตือรือร้น และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของศิษย์สูงขึ้น

การเรียนรู้ที่แท้จริงและถาวร

จากการวิจัย มนุษย์เรียนรู้โดยการรับรู้ผ่านสัมผัสทั้งห้า: ตา หู จมูก ปาก สัมผัส แต่ผลการเรียนรู้ที่ได้ จะอยู่คงทน (retain/ไม่ลืม) เพียงใดหรือไม่ ย่อมแตกต่างกันDale Edgarได้ให้ตัวเลขอัตรา (%) ความคงทน ความไม่ลืม ไว้ดังนี้

Cone of Experience
Dale Edgar: Cone of Experience (กรวยแห่งประสบการณ์)

ดังนั้น การสอนโดยให้ศิษย์(1)ได้อภิปราย (ระดับอุดมศึกษามีวิชาสัมมนา: สัมมนาการบัญชี สัมนาการจัดการ สัมมนาการตลาด ฯลฯ)(2)ได้ทำกิจกรรม/ฝึกงาน(3)ได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือนำความรู้ไปสอนผู้อื่น สามประการนี้ ศิษย์จะจำเนื้อหาวิชาที่ตนเรียนรู้ได้แม่น ไม่ลืมง่ายๆ (ความคงอยู่ของความรู้ 55%, 75% และ 95% ตามลำดับ) แม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายๆ ปีแล้วก็ตาม แต่ถ้าลืมไปบ้าง ก็สามารถฟื้นความรู้กลับมาได้ง่าย ไม่ยาก.. หลายท่านหัดปั่นจักรยานเมื่ออายุราว 10 ขวบ จนป่านนี้ในวัยทอง ก็ยังปั่นจักรยานได้ ทั้งๆ ที่ทิ้งไปหลายสิบปี.. มันน่าจะลืม แต่ไม่ลืม! เพราะอะไร? เพราะหัดปั่นจักรยาน (ว่ายน้ำด้วย) เป็นกิจกรรม หรือประสบการณ์จริง มีความคงทนถึง 75% ถ้าลืมไปก็ฟื้นกลับมาได้ง่ายมาก กะย็อกกะแย็ก 2-3 ครั้งก็ปั่นได้ปร๋อเหมือนเมื่ออดีตตอน 10 ขวบ

ตัวเลข % ของ Dale Edgar ในรูปกรวยข้างบน ชี้ให้เห็นว่า การปฏิบัต(active) มีประสิทธิภาพประสิทธิผลต่อการเรียน มากกว่าการอ่าน และการฟัง (passive).. เมื่อกว่า 2500 ปีมาแล้ว บรมครูของจีนขงจื๊อก็เคยสอนไว้ว่า "ท่านฟังแล้วท่านลืมท่านอ่านแล้วท่านจำท่านทำแล้วท่านเข้าใจ"

ท่านอ่านแล้วท่านจำแต่ความจำแบบนี้อยู่กับท่านก็เพียง 10% เท่านั้น (ตาม Dale Edgar) ขงจื๊อจึงเน้นว่าท่านทำแล้วท่านเข้าใจเพราะว่า อะไรที่ท่านรู้ในขณะนี้ แต่ไม่เข้าใจถ่องแท้ ไม่แน่ใจ ก็ย่อมจำยาก จำไม่ได้นาน ถ้าลงมือทำจะเข้าใจความเข้าใจช่วยให้จำแม่น ความคงทนของความรู้ที่ได้มาจะถึง 75% - 95% ทีเดียว

งานของขงจื๊อ, Haward GardnerและDale Edgarมีอิทธิพลต่อการสอนของผม นอกจากการบรรยาย อธิบายแล้ว ผมมักจะให้นักศึกษาทำแบบฝึกหัด ฝึกปฏิบัติ มอบหมายชิ้นงานให้ทำแล้วให้ส่งในวันกำหนด (หลายครั้ง ผมนำชิ้นงานของนักศึกษาไปโชว์/อวด) นักศึกษาต้องเหนื่อย (active) สบายๆ (passive) ไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมคนสั่งจะสบายขึ้น ไม่ใช่.. ผมต้องออกแรงมากขึ้น กล่าวคือต้องวางแผนให้ดี เตรียมเอกสาร คู่มือ แผ่น CD.. ต้องเอาใจใส่ ดูแล อำนวยความสะดวก ตรวจงานของศิษย์ทุกคน ช่วยแนะนำ แก้ปัญหา..

โชคดีที่ศิษย์ส่วนมากสนใจ กระตือรือร้น ขยันทำงานที่ได้รับมอบหมาย และ์ทำได้ดี น่าปลื้มใจ

หมายเลขบันทึก: 549852เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2013 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2013 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท