แก๊สโซฮอล์


ความเป็นมาของ "แก๊สโซฮอล์" ในประเทศไทย

เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2528 ที่ทรงเล็งเห็นว่าประเทศไทยอาจประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมันและปัญหาพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ จึงทรงมีพระราชดำริให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ศึกษาถึงการนำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ โดยการนำแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้นี้มาผสมกับน้ำมันเบนซินผลิตเป็นน้ำมัน "แก๊สโซฮอล์" (Gasohol) เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ปี พ.ศ. 2529 ทางโครงการส่วนพระองค์ได้เริ่มผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย หลังจากนั้นได้มีหน่วยงานรัฐและเอกชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาแอลกอฮอล์ที่ใช้เติมรถยนต์อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อปี พ.ศ. 2539 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) และโครงการส่วนพระองค์ ได้ร่วมกันปรับปรุงคุณภาพแอลกอฮอล์ที่ใช้เติมรถยนต์ โดยการนำแอลกอฮอล์ที่โครงการส่วนพระองค์ผลิตได้ที่มีความบริสุทธิ์จากเดิม 95% ไปกลั่นซ้ำเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% แล้วจึงนำมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ออกเทน 91 ในอัตราแอลกอฮอล์ 1 ส่วน กับเบนซิน 9 ส่วน เป็นน้ำมัน "แก๊สโซฮอล์" ทดลองเติมให้กับรถเครื่องยนต์เบนซินของโครงการส่วนพระองค์  ปัจจุบัน รถเครื่องยนต์เบนซินของโครงการส่วนพระองค์ ได้เติมแก๊สโซฮอล์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจากสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา รวมทั้ง ปตท. เริ่มเปิดจำหน่ายอย่างเป็นทางการให้กับประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2544 ณ สถานีบริการ ปตท. บริเวณที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ ปตท. 

 

แก๊สโซฮอล์ คืออะไร 

"แก๊สโซฮอล์" ที่ ปตท. ออกจำหน่ายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้ จากการผสมระหว่าง เอทานอล หรือที่เรียกว่า เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) ซึ่งเป็น แอลกอฮอล์ บริสุทธิ์ 99.5% โดยปริมาตร ผสมกับน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วออกเทน 91 (ชนิดที่มีคุณสมบัติบางตัวต่างจากเบนซิน 91 ที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน) ในอัตราส่วนเบนซิน 9 ส่วน เอทานอล 1 ส่วน จึงได้เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมธุรกิจพลังงานกระทรวงพลังงาน การผสมแอลกอฮอล์ลงในน้ำมันเบนซินในข้างต้น เป็นในลักษณะของสารเติมแต่งปรับปรุงค่า Oxygenates และออกเทน (Octane) ของน้ำมันเบนซิน ซึ่งสามารถใช้ทดแทนสารเติมแต่งชนิดอื่นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ Methyl-Tertiary-Butyl-Ether (MTBE) 

** อนึ่ง เอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ เป็น แอลกอฮอล์ ที่ได้จากการแปรรูปจากพืชจำพวกแป้งและน้ำตาล เช่น อ้อย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ 

 

คุณสมบัติของแก๊สโซฮอล์ 

แก๊สโซฮอล์ ที่ ปตท. ออกจำหน่ายขณะนี้มีออกเทน 95 (สีส้ม) และมีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน มีความเหมือนกันในด้านการใช้งานกับรถยนต์ที่ต้องการออกเทน 95 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทุกรุ่นที่มีระบบเชื้อเพลิงแบบหัวฉีด (ไม่แนะนำให้ใช้กับรถยนต์รุ่นเก่าที่มีระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบคาร์บูเรเตอร์) แก๊สโซฮอล์ยังยังคงมีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ข้อกำหนด ได้แก่ 

1. ค่าออกเทน ไม่ต่ำกว่า 95.0 ค่าออกเทนของน้ำมันเบนซินจะบ่งถึงคุณภาพในการต้านทานการน็อค หรือ ความสามารถของน้ำมันเบนซินที่จะเผาไหม้โดยปราศจากการน็อคในเครื่องยนต์ 

2. ค่าความดันไอ ไม่สูงกว่า 65 kpa. ค่าความดันไอเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความสามารถในการระเหย ซึ่งจะมีผลต่อการสตาร์ทเครื่องยนต์ 

3. สำหรับคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงนี้ แก๊สโซฮอล์จะมีคุณสมบัติเหมือนกับน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ทุกประการ ยกเว้นสาร Oxygenate Compound ที่กำหนดให้มีการเติมในน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว

ออกเทน 95 ในปริมาณ 5.5 - 11% Vol. ซึ่งโดยทั่วไปในน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ที่ใช้ในตลาดปัจจุบัน จะเติม MTBE (Methyl tertiaryl Butyl Ether) แต่ในแก๊สโซฮอล์จะใช้ Ethyl Alcohol 99.5% ทดแทนในปริมาณ 10-11 % ซึ่งจะยังคงทำให้คุณสมบัติในการใช้งานกับเครื่องยนต์เหมือนกันกับน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ทุกประการ 

* รถยนต์สามารถเติมแก๊สโซฮอล์ผสมกับน้ำมันที่เหลืออยู่ในถังได้เลย โดยไม่ต้องรอให้น้ำมันในถังหมด และผู้ใช้รถไม่ต้องดำเนินการปรับแต่งเครื่องยนต์แต่อย่างใดเพราะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และมีคุณสมบัติทำให้เกิดการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่สมบูรณ์ 

 

ข้อดีของการใช้แก๊สโซฮอล์ 

ผลดีต่อเครื่องยนต์

-ช่วยประหยัดเชื้อเพลิง เช่นเดียวกับน้ำมันเบนซินออกเทน 95  

-ไม่มีผลกระทบต่อสมรรถนะการใช้งานและอัตราการเร่งดีกว่าหรือไม่แตกต่าง จากน้ำมันเบนซิน 95 

-ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับแต่งเครื่องยนต์ 

-สามารถเติมผสมกับน้ำมันที่เหลืออยู่ในถังได้เลย โดยไม่ต้องรอให้น้ำมันในถังหมด 

ผลดีต่อประเทศ

ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ลดการขาดดุลทางการค้า 

ใช้ประโยชน์จากพืชผลทางการเกษตรสูงสุดและยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตร 

เครื่องยนต์มีการเผาไหม้ที่ดีขึ้นทำให้ช่วยลดมลพิษไอเสียทางอากาศและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม 

โดยสามารถลดปริมาณไฮโดรคาร์บอนและคาร์บอนมอนอกไซด์ลง 20-25%ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนในประเทศ 

ทำให้เกิดการลงทุนที่หลากหลายทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม 

 

การทดสอบมาตรฐานคุณภาพของแก๊สโซฮอล์

ปตท. มีการทดสอบมาตรฐานคุณภาพของแก๊สโซฮอล์ อย่างสม่ำเสมอ โดยหลังจากเก็บน้ำมันไว้ในถังที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. จะมีการเก็บตัวอย่างแก๊สโซฮอล์มาตรวจสอบภายใน 2-3 วัน โดยทดสอบการปนเปื้อนของโลหะและการกัดกร่อนถัง การปนเปื้อนของคราบสกปรกจากถังและการปนเปื้อนจากน้ำในถังเก็บ 

หากไม่พบปัญหา เมื่อเวลาผ่านไปทุกๆ 1-2 เดือน จะทำการเก็บตัวอย่างแก๊สโซฮอล์ก่อนที่จะมีการ Refueling เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของน้ำมันอื่นและการระเหยหายไปของเอทานอล หากปริมาณเอทานอลลดลงจะทำให้ค่าออกเทนต่ำลงด้วย ทดสอบการปนเปื้อนจากน้ำในถังเก็บ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแยกชั้นของแก๊สโซฮอล์ และดูค่าความเป็นกรดของน้ำมัน ซึ่งอาจเพิ่มเนื่องจากเกิดการกัดกร่อนและปนเปื้อนของน้ำ

จากการวิเคราะห์โดยวิธี t- test จะเห็นว่า ปริมาณ THC ถือว่า การใช้ gasoline และ gasohol ให้ปริมาณ THC ที่ไม่แตกต่างกันปริมาณ NOX พบว่าการใช้ gasohol จะให้ปริมาณ NOX น้อยกว่าการใช้ gasoline ประมาณ 21.5 - 38.1 % อย่างมีนัยสำคัญ  ปริมาณ CO พบว่า การใช้ gasohol จะให้ปริมาณ CO น้อยกว่าการใช้ gasoline ประมาณ 10.5 - 21.9 % อย่างมีนัยสำคัญ  การสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง พบว่า การใช้ gasohol จะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ประมาณ 0.8 - 1.4 % อย่างมีนัยสำคัญ  ผลการวิเคราะห์โดยวิธี t-test พบว่า การใช้ gasoline และ gasohol ให้อัตราเร่งที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ  สรุปผลการศึกษา (เรื่อง ผลกระทบต่อระบบจ่ายเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์)  การเติม Ethanol ในน้ำมันเบนซิน มีผลต่อคุณสมบัติบางประการของวัสดุประเภทยางที่ใช้เป็นระบบเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์มากกว่า การเติม MTBE ในน้ำมันเบนซินเล็กน้อยแต่ไม่มีผลกระทบต่อระบบการจ่าย น้ำมันเชื้อเพลิงเข้าเครื่องยนต์ (Fuel Supply) 

การเติม Ethanol ในน้ำมันเบนซิน มีผลต่อคุณสมบัติบางประการของวัสดุประเภทพลาสติก ที่ใช้เป็นระบบเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ โดยให้ผลใกล้เคียงกับการเติม MTBE ในน้ำมันเบนซินการเติม Ethanol ในน้ำมันเบนซิน ไม่มีผลต่อคุณสมบัติของโลหะทดสอบ ยกเว้นสีพื้นผิวของทองแดง และทองเหลือง แต่ไม่มีผลการใช้งาน 

 

คัดลอกจาก

http://www.pttplc.com/th/ptt_core.asp?page=ps_pr_fu_gs_08

คำสำคัญ (Tags): #แก๊สโซฮอล์
หมายเลขบันทึก: 548961เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2013 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2013 12:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท