คำจำกัดความของเกษตรอินทรีย์


หลักการพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์นั้นแตกต่างจากเกษตรปลอดสารเคมี ตรงที่เกษตรอินทรีย์เน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ด้วยการไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการผลิต (รวมถึงไม่ใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์) การปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ และเน้นการฟื้นฟูระบบนิเวศ การเกษตรในขณะนี้เกษตรปลอดสารเคมีจะสนใจแต่การควบคุมปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีการให้คำจำกัดความของเกษตรอินทรีย์ที่หลากหลายจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ แต่มีทิศทางไปทิศทางเดียวกัน 2 สรุปว่า

เกษตรอินทรีย์ เป็นการเกษตรที่ใช้หลักการพึ่งพิงความสมดุลตามธรรมชาติอย่างเป็นองค์รวม เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดระบบนิเวศการเกษตรที่ยั่งยืน สามารถให้ผลผลิตที่ดีในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืนผสมผสานระบบการเกษตรทุกระบบที่ส่งเสริมและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อผลิตอาหารและปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีพที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ โดยใช้หลักการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศเกษตรให้เกิดการผสมผสานเกื้อกูลกันและกันอย่างเป็นองค์รวม มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลีกเลี่ยงการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกระบบนิเวศเกษตร และใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นชีวภัณฑ์และสารอินทรีย์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิต รวมทั้งสารอินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ปฏิเสธการใช้ปัจจัยที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ รวมทั้ง พันธุ์ที่ผ่านการปรับเปลี่ยนทางพันธุวิศวกรรม

เกษตรอินทรีย์มีประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้ผลิต ผู้บริโภคและต่อประเทศ โดยสรุปได้ว่า (1) เกษตรอินทรีย์เป็นการอนุรักษ์และปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้สมบูรณ์ ทำให้ห่วงโซ่อาหารที่ถูกทำลายไปโดยสารเคมีกลับฟื้นคืนมา เป็นการลดต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรที่ยากจนสามารถปลดเปลื้องหนี้สินให้ลดลงและหมดไปได้ และทำให้ประชาชนมีอาหารที่เกิดจากธรรมชาติบริโภค (2) สามารถขายผลผลิตในราคาสูงกว่าผลผลิตจากการผลิตโดยใช้สารเคมีทั้งในตลาดในและต่างประเทศ ประสิทธิภาพการผลิตต่อพื้นที่เพิ่มมากขึ้นในระยะยาว เพราะดินได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (3) ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทำให้อัตราการป่วยไข้และเสียชีวิตของประชาชนทั้งประเทศลดจำนวนลงและประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ทำให้รัฐสามารถประหยัดเงินงบประมาณในการรักษาพยาบาลลงได้ (4) สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชประหยัดเงินตราต่างประเทศ และสามารถสร้างงานและรายได้ให้กับคนไทยที่ผลิตปุ๋ยชีวภาพและสารธรรมชาติกำจัดศัตรูพืชได้ด้วย (5) แก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าการเกษตรที่มีสารเคมีเป็นพิษเจือปนและถูกประเทศผู้นำเข้าตั้งข้อกีดกันการนำเข้าสินค้าการเกษตรจากประเทศไทย และ (6) ลดภาระงบประมาณของรัฐในการดำเนินการควบคุมตามกฎหมายและตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผลผลิตการเกษตรลงหลายพันล้านบาทต่อปี

 

กระบวนการและขั้นตอนการปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรอินทรีย์ เริ่มจาก 1) ปรับไปสู่เกษตรผสมผสานเพื่อให้มีความหลากหลายและฟื้นฟูระบบนิเวศการผลิต ลดการซื้อปัจจัยการผลิตเคมี และลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร จากนั้น 2) เข้าสู่ระบบเกษตรปลอดสารพิษ โดยงดการใช้สารเคมีสังเคราะห์กำจัดวัชพืชและฮอร์โมนสังเคราะห์ และใช้ปุ๋ยเคมีได้ไม่เกิน 20 กก./ไร่ 3) เปลี่ยนไปสู่ระบบเกษตรปลอดสารเคมี หรือระบบเกษตรอินทรีย์ จึงนำไปสู่ 4) การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 5) จัดตั้งองค์กรเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และระบบสหกรณ์ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ประหยัดและมีพลังในการต่อรอง และพัฒนาไปสู่ระดับสากล และ 6) ดำเนินธุรกิจในการแปรรูปผลผลิต เพื่อขายในประเทศและต่างประเทศ

คำสำคัญ (Tags): #เกษตรอินทรีย์
หมายเลขบันทึก: 548609เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2013 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2013 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท