การพัฒนาตนเองด้วยการศึกษาหาความรู้เพื่อวางแผนการวิจัย


การพัฒนาตนเองด้วยการศึกษาหาความรู้

เพื่อวางแผนการวิจัย

โดย.......เผชิญ  อุปนันท์

               การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคน ประเทศที่มีการจัดการศึกษาที่ดีประชาชนก็จะมีคุณภาพ ส่งผลให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณธรรมและจริยธรรม ทั้งนี้หากมีวิธีการศึกษาด้วยตนเองอย่างมีระบบขั้นตอน วางแผนตารางเวลาการศึกษาเพื่อถือปฏิบัติได้อย่างชัดเจน ก็จะสามารถรวบรวมความรู้ที่ได้ศึกษาหาความรู้มาใช้สำหรับการทำวิจัยที่มีคุณภาพได้  เมื่อมีงานวิจัยจำนวนมาก ก็จะนำผลการวิจัยไปพัฒนาประเทศชาติให้จะเจริญรุ่งเรื่องตามไปด้วย

               วิธีการศึกษามีมากมายหลายวิธี แต่การศึกษาด้วยตนเองหรือการเรียนเพียงคนเดียวเป็นวิธีหนึ่ง   ที่จะประสบความสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ซึ่งในหลักการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองจะต้องมีการวางแผนตารางเวลา การใช้ตารางเวลาในช่วงที่มีสมาธิดีที่สุดเพื่อให้เราได้งานมากแต่ใช้เวลาน้อย การหาเวลาที่เหมาะสมในการอ่านว่าควรมีเวลาใดบ้าง และต้องมีการประเมินเวลาเมื่อผ่านไป การทำเครื่องหมายวันที่ส่งงานก่อนหลังก็เป็นสิ่งจำเป็นจะทำให้รู้ลำดับการทำกิจกรรม ทั้งนี้จะต้องมีการจัดระบบการจัดเก็บเอกสารที่ดีด้วย ถ้ามีการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ดีก็จะสามารถระดมสมองในระดับกลุ่มได้เป็นอย่างดี และหากมีวินัยในการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองก็จะประสบผลสำเร็จในที่สุด

               การศึกษาด้วยตนเอง ประการสำคัญอย่างหนึ่ง คือ จะต้องเรียนรู้ด้วยการอ่านที่มีประสิทธิภาพ โดยการอ่านให้ตรงวัตถุประสงค์ อ่านหัวเรื่องใหม่ ๆ ที่เป็นเรื่องหลัก  การอ่านบทนำ ย่อหน้าแรกและย่อหน้าสุดท้าย มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ผู้อ่านสรุปใจความได้อย่างรวดเร็ว และหากมีเวลาน้อยก็ควรอ่านเฉพาะหัวเรื่องในสารบัญ ทั้งนี้จะต้องบันทึกเรื่องที่อ่านสรุปสั้น ๆ และต้องทบทวนโดยการอ่านบันทึกเป็นประจำ ด้วย 

               อนึ่งนอกจากการสรุปใจความจากเรื่องที่อ่านได้แล้ว การจดบันทึกจากเรื่องที่ฟังก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้ผู้จดบันทึกมีกรอบแนวคิดที่ชัดเจน สามารถนำความรู้ที่บันทึกไว้ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เมื่อมีการทบทวนประเด็นที่เกี่ยวข้อง ในการจดบันทึกควรใช้ตัวอักษรย่อให้มากที่สุด โดยใช้ให้เหมือนกันทุกครั้งในคำหรือกลุ่มคำเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน ทั้งนี้หากไม่เขียนตัวย่อก็ควรเขียน    เป็นวลี แทนที่จะเขียนเป็นประโยค  อย่าจดบันทึกทุกคำพูดทุกคำพูด เพราะจะทำให้พลาดประเด็นถัดไป   และการสะท้อนความคิดเห็นส่วนตัวของผู้จดบันทึกที่มีต่อการฟังก็จะเป็นการดีเพราะเท่ากับเป็นการสรุปการฟังอีกครั้งหนึ่ง

     เมื่ออ่านเรื่องทั่วๆไปแล้วจะต้องฝึกอ่านงานวิจัยซึ่งมีอยู่มากมายหลายเรื่องตามห้องสมุดประชาชนหรือห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้เราได้องค์ความรู้ที่หลากหลายในทุกแง่มุม และจะต้องมีบันทึกจากการอ่านงานวิจัย โดยก่อนอ่านต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า ทำไมต้องอ่าน สิ่งที่ค้นหาคืออะไร  จะทำความเข้าใจอย่างไรจึงจะชัดเจนในเรื่องที่อ่าน โดยจะต้องบันทึกเป็นเอกสารประกอบการตอบคำถามที่ตั้งไว้ด้วย และไม่ลืมที่จะบันทึกบรรณานุกรมให้อย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อทำวิจัย

     ดังนั้นเมื่อศึกษางานวิจัยอย่างเพียงพอสำหรับการทำวิจัยแล้ว จะต้องวางแผนการวิจัย โดยการกำหนดหัวเรื่องที่จะวิจัย  รูปแบบ กระบวนการการวิจัย ประกอบกับต้องศึกษาระเบียบวิธีวิจัยให้เข้าใจอย่างละเอียด ทั้งนี้การทำวิจัยจะต้องคำนึงถึงว่าการวิจัยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและนักการศึกษา อื่น ๆ อย่างไร แม้แต่การคำนึงถึงว่าจะทำอย่างไรจึงจะเผยแพร่งานวิจัยให้กว้างขวางมากที่สุด และอย่าลืมว่าการวิจัยในแต่ละครั้งถือว่าเป็นการลับสมอง ไม่ใช่เพื่อการวิจัยเพียงอย่างเดียว

               การศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง อย่างมีระบบแบบแผนและหลักการที่ถูกต้อง โดยการอ่าน ที่มีตารางการอ่านที่ชัดเจน และการใช้ตารางการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ การบันทึกสรุปการอ่าน   รวมทั้งการศึกษางานวิจัยและรูปแบบการวิจัยอย่างหลากหลาย ส่งผลให้ผู้อ่านสามารถวางแผนการวิจัย และดำเนินการวิจัย    ได้อย่างมีคุณภาพ

 

           

หมายเลขบันทึก: 548258เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2013 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2013 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท