ข้อสอบอัตนัย การฝึกอบรมวิชาว่าความภาคทฤษฎี รุ่น 35


เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 ท่านซึ่งเป็นทนายความประจำบริษัท ประกันภัยแสนดี จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่เลขที่ 11 ถนนจันทน์ แขวงสาทร เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ซึ่ง นายชอบ ยุติธรรม ได้รับโทรศัพท์จากนายจันทร์ มกรา อยู่บ้านเลขที่ 11 ถนน ลาดพร้าว แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เจ้าของรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน งง. 2233 กรุงเทพมหานคร ราคา 1,500,000 บาท ซึ่งได้เอาประกันภัยคุ้มครองกรณีรถสูญหายไว้ในวงเงิน 1,000,000 บาท กับบริษัท ประกันภัยแสนดี จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ เอ 2345678 แจ้งว่าในวันดังกล่าวเวลาประมาณ 13.00 นาฬิกา นายจันทร์ มกรา ได้ขับรถคันดังกล่าวไปจอดไว้ที่ลานจอดรถของห้างเทรดเซ็นเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนจันทน์ แขวงสาทร เขตสาทร กรุงเทพมหานคร และเข้าไปซื้อของในห้างฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อกลับออกมาปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวหายไป นายจันทร์ มกรา ได้แจ้งกับพนักงานซึ่งทำหน้าที่จ่ายและเก็บบัตรจอดรถและผู้จัดการของห้างฯ แต่คนทั้งสองกลับแสดงท่าทางไม่เชื่อว่ารถยนต์ของนายจันทร์ มกรา หายไปโดยอ้างระเบียบที่พิมพ์ไว้หลังบัตรจอดรถมีข้อความว่า ผู้ที่จะนำรถเข้ามาจอดและนำรถออกจากลานจอดรถจะต้องรับบัตรและคืนบัตรจอดรถให้พนักงานตรวจสอบและจ่ายค่าจอดให้กับพนักงานเก็บเงินค่าจอดรถ เมื่อนำรถออก ถ้าตรวจสอบแล้วทะเบียนรถในบัตรไม่ตรงกับทะเบียนรถหรือไม่มีบัตร จะนำรถออกไปไม่ได้ นายจันทร์ มกรา จึงแสดงบัตรจอดรถซึ่งได้รับจากพนักงานเมื่อตอนที่นำรถมาจอดให้กับคนทั้งสองดูว่าบัตรยังอยู่กับนายจันทร์ มกรา แต่คนทั้งสองกลับอ้างว่าถึงรถจะหายไปห้างฯ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบเพราะมีข้อความแจ้งไว้ชัดเจนหลังบัตรว่า การออกบัตรนี้ไม่ใช่เป็นการรับฝากรถ ห้างฯ จะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น

ท่านตรวจสอบพบว่ากรมธรรม์ประกันภัย มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2552 จนถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2553 จึงแนะนำให้นายจันทร์ มกรา มาพบท่านก่อนที่จะไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และท่านได้ทำคำร้องทุกข์เป็นหนังสือให้นายจันทร์ มกรา ลงชื่อนำไปยื่นต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจยานนาวาในวันนั้น (20 พฤษภาคม 2553) และนายจันทร์ มกรา นำสำเนาบันทึกประจำวันมามอบให้ท่านเพื่อเป็นหลักฐานขอรับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ฯ

ต่อมาในวันที่ 1 มิถุนายน 2553 บริษัท ประกันภัยแสนดี จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย กรณีรถยนต์สูญหายให้แก่นายจันทร์ มกรา ไปเป็นเงิน 1,000,000 บาท และมอบให้ท่านทวงถามและแต่งตั้งให้ท่านเป็นทนายความฟ้องร้องผู้ต้องรับผิดทางแพ่งต่อบริษัทฯ ทุกคน

ท่านตรวจสอบพบว่าห้างเทรดเซ็นเตอร์ เป็นของบริษัท เทรดเซ็นเตอร์ จำกัด ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า เป็นเจ้าของอาคารและลานจอดรถ และเป็นผู้ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัท ปลอดภัย จำกัด เป็นผู้บริหารควบคุมดูแลความปลอดภัยและป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินต่างๆ ทั้งหมดของห้างเทรดเซ็นเตอร์และของลูกค้าและบริษัท ปลอดภัย จำกัด เป็นผู้ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัท ซีเคียว จำกัด เป็นผู้บริหาร ควบคุม ดูแล รักษาความปลอดภัยและป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินในบริเวณลานจอดรถของห้างเทรดเซ็นเตอร์และของลูกค้า

วันที่ 5 สิงหาคม 2553 ท่านทำหนังสือทวงถามส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอนรับถึงผู้ที่ต้องรับผิดให้ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่บริษัท ประกันภัยแสนดี จำกัด (มหาชน) จ่ายให้กับนายจันทร์ มกรา ไปพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ ผู้ต้องรับผิดทุกคนได้รับหนังสือทวงถามแล้วเพิกเฉย

วันที่ 31 สิงหาคม 2553 ท่านจึงยื่นฟ้องคดีแพ่งผู้ต้องรับผิดทุกคน ตามที่ท่านหนังสือทวงถามไป (ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18, 750 บาท) เป็นคดีหมายเลขดำที่ 11/2553 พร้อมกับคำแถลงขอส่งหมายเรียกคดีแพ่งสามัญให้จำเลยทุกคนทางไปรษณีย์ไปพร้อมกัน

ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2553 นายจันทร์ มกรา แต่งตั้งให้ท่านเป็นทนายความยื่นฟ้องผู้ที่ต้องรับผิดกรณีรถยนต์ของนายจันทร์ มกรา หายไป ให้ชดใช้ค่ารถในส่วนที่เกินจากค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจาก บริษัท ประกันภัยแสนดี จำกัด (มหาชน) อีก 500,000 บาท ในวันที่ 2 กันยายน 2553 ท่านจึงยื่นฟ้องผู้ต้องผู้ต้องรับผิดทุกคนเป็นคดีหมายเลขดำที่ 15/2553 ซึ่งเป็นจำเลยคนเดียวกันที่ศาลเดียวกันกับที่ท่านได้ยื่นฟ้องไปในคดีก่อน และยื่นคำร้องขอให้ศาลรวมพิจารณาโดยนำคดีของนายจันทร์ มกรา ไปรวมกันคดีที่ท่านได้ยื่นฟ้องไปก่อน ศาลอนุญาตให้รวมคดี โดยให้เรียกบริษัท ประกันแสนดี จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ที่ 1 และเรียกนายจันทร์ มกรา เป็นโจทก์ที่ 2 และนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 20 ตุลาคม 2553 เวลา 9.00 นาฬิกา

จำเลยทุกคนแต่งตั้งให้ทนายความเข้ามาดำเนินคดีในคดีที่ศาลสั่งให้รวมพิจารณา และได้มาเจรจากับท่าน ในที่สุดสามารถตกลงกันได้ ดังนั้นวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ท่านและทนายความจำเลยจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปยื่นต่อศาล พร้อมกับร่วมกันทำแถลงขอให้ศาลออกนั่งพิจารณาและมีคำพิพากษาในวันนั้น

คำสั่ง ให้ทำคำตอบทุกข้อ ดังต่อไปนี้ ข้อใดที่ต้องใช้แบบพิมพ์ของศาลให้ทำเฉพาะเนื้อหา ข้อใด ที่ไม่ต้องใช้แบบพิมพ์ของศาลให้ทำตามรูปแบบของหนังสือนั้นๆ

ข้อที่ 1. คำร้องทุกข์เป็นหนังสือ 10 คะแนน

ข้อที่ 2. หนังสือทวงถามจากผู้รับประกันภัย

ถึงผู้ต้องรับผิดทุกคนในฉบับเดียวกัน 12 คะแนน

ข้อที่ 3. คำฟ้องคดีแพ่งและคำขอท้ายคำฟ้อง

(เฉพาะในคดีที่ผู้รับประกันภัยเป็นโจทก์) 36 คะแนน

ข้อที่ 4. คำแถลงขอให้ส่งหมายทางไปรษณีย์ 6 คะแนน

ข้อที่ 5. คำร้องขอรวมคดี ทำในคดีที่นายจันทร์ มกรา เป็นโจทก์ 8 คะแนน

ข้อที่ 6. คำแถลงขอให้ศาลออกนั่งพิจารณา 6 คะแนน

หมายเลขบันทึก: 548230เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2013 08:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2013 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท