คณะเกษตรฯ มข.บูรณาการองค์ความรู้ ช่วยเกษตรกรเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ


คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บูรณาการงานวิจัย การเรียนการสอนและงานบริการวิชาการ นำนักศึกษาติดตามผลการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ ชั่งน้ำหนัก ถ่ายพยาธิภายใน และให้คำปรึกษาปัญหาการเลี้ยงสัตว์ปีกแก่เกษตรกร

          ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บูรณาการงานวิจัย การเรียนการสอนและงานบริการวิชาการแก่สังคม โดยนางสาวนริศรา สวยรูป นักวิชาการเกษตร หัวหน้าโครงการ นางสาวสุกัญญา เจริญศิลป์ นักวิจัยศูนย์เครือข่ายและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) และนายพิชิต วงษ์ทรงยศ ผู้ช่วยหัวหน้าหมวดสัตว์ปีก นำนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 13 คน ลงพื้นที่ติดตามเกษตรกร กว่า 30 ราย ที่นำไก่ประดู่หางดำ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยไปเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2556 ณ ศาลาประชาคมบ้านบึงสวาง หมู่ 11 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น
          นางสาวนริศรา สวยรูป กล่าวว่า กิจกรรมบูรณาการงานวิจัย การเรียนการสอนและงานบริการวิชาการแก่สังคมครั้งนี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาฝึกงานทางด้านสัตว์ปีก ได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม โดยลงพื้นที่ออกติดตามการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก บริการถ่ายพยาธิภายในทั้งไก่ประดู่หางดำและไก่บ้านทั่วไป และให้คำปรึกษาปัญหาการเลี้ยงสัตว์ปีกแก่เกษตรกร โดยเกษตรกรมีความสนใจเป็นอย่างมากและได้นำไก่ประดู่หางดำและไก่บ้านอื่นๆที่ตนเลี้ยงออกมารับบริการ และจากการสัมภาษณ์เกษตรกร พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อยู่ในระดับดีมาก (ระดับ 5 จาก 5 ระดับ) แต่ปัญหาที่เกษตรกรพบทั่วไปและเป็นเรื่องที่ยังคงต้องการการฝึกอบรมอยู่คือ โรคไก่และการให้วัคซีนไก่ โดยโครงการ จะได้ดำเนินการติดตามผลการเลี้ยงและให้บริการทำวัคซีนตามโปรแกรมทำวัคซีนต่อไป
          นางสาวนริศรา กล่าวต่ออีกว่า ในเรื่องพยาธิไก่นั้น มีทั้งพยาธิภายนอกได้แก่ หมัด ไร และพยาธิภายในไก่ ที่พบบ่อยได้แก่ พยาธิตัวตืด และพยาธิไส้เดือน โดยส่วนใหญ่ไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงในชนบทจะเลี้ยงแบบปล่อยให้หาอาหารกินเอง ไก่จึงไปกินน้ำโสโครก กินหอย แมลง ฯลฯ ที่มีพยาธิอยู่ ทำให้พยาธิเข้าสู่ตัวไก่ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรถ่ายพยาธิภายใน ทุกๆ 3 เดือน โดยเลือกยาถ่ายพยาธิชนิดที่สามารถฆ่าไข่พยาธิได้ด้วยจะเป็นการดี หรือใช้ชนิดที่กำจัดพยาธิออกนอกร่างกายก็ได้ แต่ต้องถ่ายพยาธิสม่ำเสมอ หรือสามารถใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นได้แก่ ผลหมากสด อัตราส่วน ¼ ผล นำมาตำให้ละเอียดและคลุกกับน้ำมะขามเปียกและป้อนไก่ในขณะท้องว่าง จากนั้นขังไก่ไว้ 2 ชั่วโมง ให้กินแค่น้ำ และคอยสังเกตว่าไก่จะถ่ายพยาธิออกมา การกำจัดพยาธิภายนอกสามารถใช้ ใบน้อยหน่ามาบดให้ละเอียดและเติมน้ำ หลังจากนั้นนำไปอาบให้ไก่และฉีดพ่นโรงเรือนก็สามารถกำจัดหมัดและไรไก่ได้เช่นกัน
          นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวโดยสรุปว่า “จากการฝึกงานที่ผ่านมาทำให้ทราบถึงการเลี้ยงและการจัดการสัตว์ปีกทั่วไปและมีความมั่นใจว่าสามารถตอบคำถามและให้บริการแก้ไขปัญหาทางด้านสัตว์ปีกได้ และเมื่อได้ลงพื้นที่ในหมู่บ้าน ทำให้ทราบถึงปัญหาการเลี้ยงไก่แบบชนบทด้วยตัวเอง ทำให้ทราบได้ว่าความรู้ที่ได้มานั้นบางอย่างไม่มีอยู่ในตำรา ต้องหาจากประสบการณ์ตรง และสามารถประเมินตนเองว่ามีความพร้อมออกสู่สังคมในระดับใด และจากประสบการณ์ครั้งนี้ ก็จะนำไปต่อยอดความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์ปีกต่
อไป”              

          นริศรา สวยรูป ข้อมูลข่าว/ภาพ
          กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

 

หมายเลขบันทึก: 547895เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2013 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2013 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นภาพแล้วคิดถึงลูกสาวครับ เรียนสัตวศาสตร์ที่ ม.เกษตร กำแพงแสน

ดูท่าทางจะสนุกกับการเรียนครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท