การสร้างองค์ความรู้


การสร้างองค์ความรู้ของดุษฎีบัณฑิต

“ดุษฎีบัณฑิต” สิ่งที่หลายๆคนใฝ่ฝัน การให้ความสำคัญกับเวลาในการเรียนเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ของการเรียนในระดับดุษฎีบัณฑิต รองลงมาคืองานตามตำแหน่งหน้าที่ซึ่งล้วนแตกต่างไปตามบทบาทของแต่ละบุคคล ดังนั้นต้องมีการวางแผนบริหารเวลาที่ดี ให้สามารถใช้เวลากับการเรียนได้อย่างเต็มที่และควรให้ความสำคัญกับการเรียนให้มากที่สุดในทุกๆด้าน โดยเฉพาะการเรียนรู้ด้วยตนเอง การอ่าน การอ่านงานวิจัย การจดบันทึกจากการบรรยายในชั้นเรียน สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการเริ่มต้นของการสร้างองค์ความรู้ของดุษฎีบัณฑิต 

นักศึกษาทุกคนมีโอกาสที่จะสำเร็จการศึกษาได้หากสามารถบริหารจัดการเวลาได้ดี การบริหารเวลาเป็นการสร้างตารางการทำงานขึ้นมาหรือการบันทึกกำหนดการต่างๆ ลงในสมุดบันทึกประจำวันโดยจะต้องพิจารณาลำดับสิ่งสำคัญว่าสิ่งใดที่จำเป็น สำคัญ ปรารถนา เป็นกลางๆ หรือไม่จำเป็น การกำหนดเป้าหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักศึกษาสามารถขจัดปัญหาต่างๆในชีวิตประจำวันเพื่อให้มีเวลาสำหรับการเรียนได้อย่างเต็มที่ เช่น การใช้เวลานานในการทำงาน การทำงานอย่างหักโหม ความสับสนวุ่นวายเมื่อเวลาจวนเจียนจะถึงกำหนด เป็นต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาจะต้องมีรูปแบบหรือสไตน์การทำงานของตนเองซึ่งจะต้องเป็นไปตามสภาพจริงและสามารถปฎิบัติได้ สำหรับการวางแผนเวลาเรียนเป็นสิ่งจำเป็นที่นักศึกษาต้องทำเพราะการเรียนในระดับดุษฎีบัณฑิตจะเน้นการศึกษาด้วยตนเองซึ่งจะต้องศึกษาหาความรู้ประกอบการเรียนในวิชานั้นๆด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่

          การศึกษาด้วยตนเองเป็นวิธีการศึกษาที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งในการพัฒนาผู้เรียนเพราะเป็นการเปิดโลกกว้างให้กับผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างอิสระในเรื่องหรือประเด็นที่ตนสนใจ เริ่มตั้งแต่การกำหนดประเด็นปัญหาและดำเนินการแสวงหาความรู้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายเช่น อินเตอร์เน็ต ห้องสมุดฯลฯ โดยการอ่านแล้วนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุปเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองเพื่อนำความรู้มาเป็นข้อมูลประกอบการเรียนในชั้นเรียนและสามารถนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รับรู้ในสิ่งที่ตนได้ค้นคว้ามาโดยการแบ่งปันความรู้ผ่านช่องทางต่างๆได้หลายช่องทาง เช่น การนำเสนอในชั้นเรียน การนำเสนอผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งการศึกษาด้วยตนเองส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับงานวิจัยในประเด็นที่ตนเองสนใจเพื่อนำไปประกอบการทำวิจัย การอ่านจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาด้วยตนเอง        

การอ่านเป็นทักษะสำคัญของนักศึกษา การอ่านอย่างมีประสิทธิภาพมีกระบวนการสำคัญอยู่ 4 ขั้นตอน ขั้นแรกคือ การอ่านออก อ่านได้ หรืออ่านออกเสียงได้ถูกต้อง ขั้นที่สองการอ่านแล้วเข้าใจ ความหมายของคำ วลี ประโยค สรุปความได้ ขั้นที่สามการอ่านแล้วรู้จักใช้ความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์และออกความเห็นในทางที่ขัดแย้งหรือเห็นด้วยกับผู้เขียนอย่างมีเหตุผล และขั้นสุดท้ายคือ การอ่านเพื่อนำไป ประยุกต์ใช้ในเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้นผู้ที่อ่านได้และอ่านเป็นจะต้องใช้กระบวนการทั้งหมด ในการอ่านที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการถ่ายทอด ความหมายจากตัวอักษรออกมาเป็นความคิด และจากการคิดที่ได้จากการอ่านผสมผสานกับประสบการณ์เดิม และสามารถนำความคิดนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ การอ่านจึงมีความจำเป็นต่อการศึกษาในระดับดุษฎีบัณฑิต คนที่เรียนหนังสือเก่งมักจะเป็นคนที่อ่านหนังสือเก่ง เพราะการอ่านช่วยให้ได้รับความรู้และความเข้าใจ โดยเฉพาะการอ่านงานวิจัยและการจดบันทึก

 การอ่านงานวิจัยหลาย ๆ เล่ม เป็นการค้นคว้าหาความรู้เพื่อใช้ประกอบการเรียนและการทำวิจัยในระดับดุษฎีบัณฑิต ก่อนอ่านงานวิจัยต้องถามตัวเองก่อนว่าเราอ่านงานวิจัยทำไม สิ่งที่เราจะค้นหาคืออะไรและทำอย่างไรถึงจะเข้าใจข้อมูลนั้น เมื่อเราตั้งคำถามสำหรับตัวเองได้แล้ว ก็ทำการบันทึกจากการอ่านงานวิจัยโดยเลือกที่จะบันทึกข้อมูลโดยการวิเคราะห์หัวข้อเรื่องและจุดมุ่งหมายตามที่เราต้องการโดยการระบุข้อมูลที่เจาะจงตามความต้องการที่จะบันทึก สิ่งที่เราบันทึกจะต้องสะท้อนความคิดเกี่ยวกับหัวเรื่องและต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถแปลความหมายและใช้ข้อมูลในการตอบคำถามของเราได้และการบันทึกต้องสามารถปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมความคิดเห็นในประเด็นหลักและนอกจากนี้ต้องสามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจตามที่เราบันทึกได้ด้วย นอกจากการอ่านวิจัย การศึกษาค้นคว้าจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆเพื่อประกอบการทำวิจัยแล้วการเรียนในชั้นเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญที่นักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตจะต้องทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่สำคัญประกอบการสอบตอนปลายภาคเรียน

การจดบันทึกจึงเป็นส่วนสำคัญของการเรียนในชั้นเรียนและเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องจดเนื้อหาให้ชัดเจนและถูกต้องเพื่อใช้ในการอ่านสอบ วิธีหรือเทคนิคง่ายๆในการจดบันทึกให้ได้ข้อมูลครบถ้วนและง่ายต่อการใช้งานคือ ก่อนการเข้าเรียนต้องทำการบ้าน  อ่านหนังสือตามหัวข้อและเนื้อหาที่อาจารย์จะสอนก่อนทุกครั้งและระหว่างเรียนควรตั้งใจฟังอย่างมีสมาธิ  จดเฉพาะหัวข้อที่เป็นเรื่องหลักและหัวใจสำคัญและควรจดตัวอย่างรวมถึงประเด็นที่เข้าใจยากไว้ด้วยเพื่อเวลากลับมาดูใหม่จะได้ไม่ลืมและง่ายต่อการทำความเข้าใจ ในช่วงท้ายถ้ามีการสรุปเนื้อหาทั้งหมดควรตั้งใจฟังเพราะเป็นสิ่งที่สามารถช่วยเช็คดูว่าบันทึกที่จดมีประเด็นสำคัญครบถ้วนหรือไม่และควรถามประเด็นที่ไม่เข้าใจในช่วงท้ายของการเรียนพร้อมทั้งจดคำตอบไว้เพื่อทำให้สามารถเข้าใจในบันทึกได้มากยิ่งขึ้น  เพราะฉะนั้นการจดบันทึกจึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการเรียนซึ่งผู้เรียนทุกคนจะต้องทำไม่ว่าจะเรียนในชั้นเรียนหรือการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อเป็นกรอบแนวคิด สามารถนำความรู้ที่ได้จากการจดบันทึกมาอ่านทบทวนในประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญอีกครั้ง

 

ดังนั้น การเรียนในระดับดุษฎีบัณฑิตและการได้มาซึ่งองค์ความรู้จริง ๆ ก็คือการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองตลอดเวลาที่เรียน กระบวนการที่ใช้ในการเรียนระดับดุษฎีบัณฑิตนอกจากการบริหารเวลาแล้วสิ่งที่อาจารย์แทบทุกท่านใช้ คือ เน้นการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เน้นการอ่านงานวิจัย การเข้าถึงแก่นแนวคิด ซึ่งแก่นของแนวคิดการเรียนดุษฎีบัณฑิตคือ กรอบแนวคิดและวิธีการที่เป็นระบบการศึกษาเรื่องใดก็ตามต้องอาศัยการอ่าน การจดบันทึกและทำความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ไปให้ถึงที่สุดจนเข้าใจ  เมื่อเข้าใจเรื่องที่ศึกษาครบถ้วนก็จะพบว่าสิ่งที่เรียนรู้เหล่านั้นเป็นการสร้างความรู้ด้วยตนเองทั้งหมด และนี่ก็คือกระบวนการเริ่มต้นแห่งการสร้างองค์ความรู้ของดุษฎีบัณฑิตทั้งหลาย

หมายเลขบันทึก: 547772เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2013 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กันยายน 2013 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท