พาป้าอรนาถไปใช้สิทธิในบัตรผู้พิการ


                                                                                                วันพุธที่ 4 กันยายน 2556

          ป้าอรนาถถูกตัดขาข้างขวาเนื่องจากโรคเบาหวานเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 ทำให้ป้ากลายเป็นผู้พิการมาได้เกือบจะสองปีแล้ว แม้ป้าจะเป็นผู้พิการแต่ก็ไม่ไปติดต่อทำบัตรผู้พิการทำให้เวลาป่วยป้าต้องเดินทางไปรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลที่ป้ามีสิทธิบัตรทอง โรงพยาบาลที่ป้ามีสิทธิไกลจากบ้านของป้าอรนาถมา ลำพังช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันยังลำบากมาก การเดินทางไปรักษาพยาบาลที่ไกลๆดูจะเป็นไปไม่ได้เลย แม้ว่าป้าจะมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวานซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อรับยาและตรวจดูอาการทุกเดือน ป้าก็ไม่เคยไปพบแพทย์เลยอาศัยนำตัวอย่างยาที่แพทย์เคยจ่ายให้ตนไปซื้อตามร้านขายยามากิน เพราะความพิการและไม่มีทั้งขาเทียมและรถเข็น ทำให้ไม่สามารถที่จะเดินทางไปพบแพทย์ได้และแม้ป้าจะอาศัยอยู่กับลูกสาวและหลานสาวทั้งสองคนก็ไม่สามารถพาป้าไปโรงพยาบาลได้ เนื่องจากลูกสาวของป้าต้องขายของทุกวันเพื่อนำเงินมายังชีพตนเองและครอบครัว ส่วนหลานสาวก็มีอายุเพียง 11 ปีจะให้พยุงป้าก็คงจะไม่ไหว

          จนกระทั่งเมื่อเดือน สิงหาคม 2556 นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ออกมาทำงานช่วยเหลือสังคม น้องๆกลุ่มนี้ได้พาป้าอรนาถไปทำบัตรผู้พิการ ปัจจุบันป้าอรนาถจึงมีบัตรประจำตัวผู้พิการแล้วทำให้ป้าสามารถไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ เนื่องจากบัตรผู้พิการให้สิทธิแก่ผู้พิการที่ถือบัตรสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล หลังจากได้บัตรผู้พิการมาแล้วป้าขอให้ผู้เขียนพาไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจตาเพราะป้าสามารถมองเห็นได้เพียงเลือนรางป้ากลัวว่าอาจจะเป็นเพราะโรคเบาหวานจึงต้องการไปตรวจให้แน่ใจ ที่ป้าขอร้องให้ผู้เขียนพาไปเนื่องจากไม่มีใครพาป้าไปโรงพยาบาลและป้าก็ไม่มีขาเทียมจึงไม่สามารถนั่งรถไปเองได้ประกอบกับป้ากลัวว่าทางโรงพยาบาลจะปฏิเสธสิทธิของป้า

          ผู้เขียนตัดสินใจนัดว่าจะพาป้าอรนาถไปโรงพยาบาล ป้าอรนาถเลือกไปโรงพยาบาลกลางเพราะใกล้ที่พัก ตอนประมาณเจ็ดโมงเช้าผู้เขียนไปรับป้าอรนาถที่บ้านพัก ป้าอรนาถได้ไปยืมรถเข็นของเพื่อนบ้านมาเพื่อนเพื่อความสะดวกในการเดินทาง ก็ไม่ค่อยสะดวกมากนะคะเพราะผู้เขียนตัวเล็กมากเข็นไม่ค่อยจะไหว พอไปถึงโรงพยาบาลก็มีเจ้าหน้าที่มาช่วยผู้เขียนเข็นป้าขึ้นไปที่แผนกตา ผู้เขียนไปติดต่อเรื่องการทำบัตรโรงพยาบาลทางโรงพยาบาลก็ได้แจงว่าป้ามีบัตรอยู่แล้วเพราะเคยมาทำไว้และไม่ได้ปฏิเสธสิทธิในการรักษาพยาบาลของป้าอรนาถเลย พอติดต่อเรื่องทำบัตรเสร็จผู้เขียนก็ต้องเข็นป้าขึ้นลงไปมาระหว่างชั้นสองกับชั้นไปห้องโน้นทีห้องนี้ที ที่นี่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุทุกคนก็ต้องทำเหมือนผู้เขียนและป้าอรนาถค่ะคือต้องไปไปชั้นนั้นนั้นนี้ ไม่เข้าใจเลยค่ะว่าจะทำให้มากขั้นตอนทำไมคุณตาคุณยายที่มาหาหมอที่นี่คงจะเหนื่อยน่าดูนะคะ กว่าป้าจะได้พบแพทย์ก็เทียงบวกเวลารับยาและรอใบนัดก็เกือบบ่ายโมง ผู้เขียนลุ้นมากเพราะต้องเข้าร่วมประชุมตอนบ่ายโมงครึ่ง ระหว่างทางกลับมาส่งป้าอรนาถที่บ้าน ผู้เขียนได้สอบถามป้าอรนาถว่าพอจะใครมาเป็นเพื่อนเวลาที่ต้องมาโรงพยาบาลได้ไหมและป้าต้องการอะไรเพิ่มรึเปล่า ป้าอรนาถตอบผู้เขียนว่าต้องการขาเทียมส่วนเรื่องหาคนที่จะพาป้าไปหาหมอนั้นคงไม่มี ผู้เขียนจึงบอกป้าอรนาถไปว่าจะทำจดหมายถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อขอขาเทียมและให้จัดหาคนเพื่อมารับป้าอรนาถไปโรงพยาบาล เพราะผู้เขียนคงจะพาป้าไปโรงพยาบาลตลอดไม่ได้ การเขียนจดหมายไปขอความช่วยเหลือจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องดูแลผู้พิการคงจะเป็นวิธีช่วยเหลือที่ดีและยั่งยืนที่สุด

 

          ไปโรงพยาบาลวันนี้ทั้งที่ไม่ป่วยบรรยากาศก็ทำให้แทบจะหมดแรงนึกถึงคนที่ป่วยนะคะคงจะเหนื่อยน่าดู

หมายเลขบันทึก: 547444เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2013 01:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 01:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้าใจครับ

ปีกว่าๆที่ต้องเทียวเข้ารพ.รัฐใหญ๋่ๆ จะประมาณนี้ครับ แรกๆ ก็รู้สึกท้อมาก แต่นานไปก็เข้าใจและทำใจได้

เป็นกำลังใจให้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท