ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ร้อยเอ็ด
ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ด

การเก็บรักษาไข่ไหม


การเก็บรักษาไข่ไหม

ความรู้ที่ 2   การเก็บรักษาไข่ไหมชนิดฟักออกตลอดปีตามธรรมชาติ (Polyvoltine หรือ Multivoltine)

               ไข่ไหมชนิดฟักออกตลอดปีตามธรรมชาติ เป็นไข่ไหมที่ได้จากพันธุ์ไหมที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน มีสีครีมอ่อน และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนเมื่ออายุไข่ไหมเพิ่มมากขึ้น เมื่อวางไข่ไหมชนิดนี้ในอุณหภูมิห้องปกติจะสามารถฟักออกเป็นตัวได้ภายใน 10 วัน สำหรับวิธีการเก็บรักษาไข่ไหมชนิดฟักออกตลอดปีตามธรรมชาติ เพื่อชะลอการฟักออกหรือให้มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น สามารถทำได้โดยการเก็บไข่ไหมที่มีอายุ 20 ชั่วโมงหลังจากเวลาวางไข่ (20.00 น.) ไปไว้ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75 – 80 เปอร์เซ็นต์ นาน 20 วัน

ความรู้ที่ การเก็บรักษาไข่ไหมชนิดฟักออกปีละ 2 ครั้ง ตามธรรมชาติ (Bivoltine)

ไข่ไหมชนิดฟักออกปีละ 2 ครั้ง ตามธรรมชาติ เป็นไข่ไหมที่ได้จากพันธุ์ไหมที่มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาว โดยธรรมชาติไข่ไหมชนิดนี้จะต้องผ่านการเก็บไว้ในสภาพที่มีอากาศหนาวเย็นและเมื่ออุณหภูมิของอากาศสูงขึ้น จึงจะสามารถพัฒนาจนฟักออกเป็นตัวหนอนไหม วิธีการเก็บรักษาและช่วยเร่งกระบวนการพัฒนาไข่ไหมดังกล่าว โดยสามารถดำเนินการได้ดังนี้

1.   การฟักเทียมไข่ไหมแบบฟักทันที (Common acid treatment/Sokushin)

      หลังจากผีเสื้อวางไข่ไหม 15 - 20 ชั่วโมง นับจากเวลา 20.00 น. ของวันวางไข่ ให้นำไข่ไหมไปฟักเทียม (เวลา 11.00 16.00 น. ของวันถัดไป) ถ้าหากเป็นไข่ไหมแผ่นให้นำไข่ไหมจุ่มฟอร์มาลีน 2 เปอร์เซ็นต์ นาน 3 - 5 นาที เพื่อให้ไข่ไหมติดกับกระดาษวางไข่ดียิ่งขึ้น แล้วนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม

               การฟักเทียมไข่ไหม ทำได้ 2 วิธี

               1.1 ด้วยสารละลายกรดเกลือที่อุณหภูมิสูง (Heated acid treatment) วิธีการนี้ใช้เวลาในการฟักเทียมสั้น หากอุณหภูมิของสารละลายกรดเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้การฟักออกมีความแปรปรวนสูงได้

ถ.พ. ของสารละลายกรดเกลือ 1.075 (ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส)

อุณหภูมิสารละลายกรดเกลือ 46 องศาเซลเซียส

เวลาที่ใช้จุ่มไข่ไหมนาน 5 - 6 นาที

      หลังจากฟักเทียมแล้ว นำไข่ไหมไปล้างในน้ำไหลที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 20 - 30 นาที จนตรวจดูว่าหมดฤทธิ์กรด (สามารถใช้วิธีการชิมว่าไม่มีรสเปรี้ยว) จึงนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม

1.2 ด้วยสารละลายกรดเกลือที่อุณหภูมิปกติ (Room temperature acid treatment)     ก่อนการฟักเทียมปฏิบัติเหมือนกับข้อ 2.1.1 แต่แตกต่างที่อุณหภูมิของกรดเกลือและเวลาในการจุ่มกรด

 -       ถ.พ. ของกรดเกลือ 1.110 (ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส)

 -       อุณหภูมิสารละลายกรดเกลือ 27 - 29 องศาเซลเซียส

 -       เวลาที่ใช้จุ่มไข่ไหมนาน 50 - 60 นาที

หลังจากนำไข่ไหมขึ้นจากกรดเกลือแล้ว ถือปฏิบัติในการล้างไข่ไหม เช่นเดียวกับข้อ 2.1.1

สำหรับการประวิงเวลาในการเก็บรักษาไข่ไหม หลังจากฟักเทียม ผึ่งไข่ไหมให้แห้งแล้ว นำไข่ไหมเก็บในห้อง 25 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง จึงย้ายเข้าห้อง 15 องศาเซลเซียส นาน 6 - 12 ชั่วโมง จากนั้นย้ายไข่ไหมเข้าห้อง 5 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถเก็บได้นาน 20 วัน ในช่วงเวลาที่เก็บไข่ไหมในห้อง 5 องศาเซลเซียส หากมีความต้องการจะเลี้ยงไหม ให้นำไข่ไหมออกจากห้อง 5 องศาเซลเซียส โดยผ่านห้อง 15 องศาเซลเซียส นาน 6 -12 ชั่งโมง แล้วจึงนำไปกกที่ห้องกก

2.  การฟักเทียมไข่ไหมหลังจากเก็บในห้องเย็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง (Acid treatment after chilling/Reishin)

หลังจากแม่ผีเสื้อวางไข่ไหมแล้วเก็บที่ห้อง 25 องศาเซลเซียส นาน 45 - 48 ชั่วโมง (นับจากเวลา 20.00 น. ของวันวางไข่) แล้วย้ายไข่ไหมไปห้อง 15 องศาเซลเซียส นาน 6 - 12 ชั่วโมง จึงย้ายไข่ไหมไปเก็บที่ห้อง 5 องศาเซลเซียส นาน 60 - 100 วัน เมื่อไข่ไหมครบอายุการเก็บรักษาให้นำมาฟักเทียมโดยนำไข่ไหมออกมาห้องปกติเป็นเวลานาน 3 - 6 ชั่วโมง ก่อนการฟักเทียม เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนอุณหภูมิโดยกะทันหัน

วิธีปฏิบัติก่อนการฟักเทียม ใช้วิธีการเช่นเดียวกับข้อ 2.1 และการฟักเทียมสามารถปฏิบัติได้ 2 วิธี คือ

               2.1         การฟักเทียมโดยใช้สารละลายกรดเกลือที่อุณหภูมิสูง

 -    ถ.พ. ของกรดเกลือ 1.10 (ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส)

 -    อุณหภูมิสารละลายกรดเกลือ 48 องศาเซลเซียส

 -    เวลาที่ใช้จุ่มไข่ไหมนาน 5 - 6 นาที

                                      2.2 การฟักเทียมโดยใช้สารละลายกรดเกลือที่อุณหภูมิปกติ

-  ถ.พ. ของกรดเกลือ 1.13 (ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส)

-  อุณหภูมิสารละลายกรดเกลือ 27 - 29 องศาเซลเซียส

-  เวลาที่ใช้จุ่มไข่ไหมนาน 50 - 60 นาที

 

 ทั้งสองวิธีดังกล่าวหลังจากฟักเทียมเสร็จแล้ว นำไข่ไหมไปล้างแล้วปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 2.1.1

หมายเลขบันทึก: 547371เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2013 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2013 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท