การพัฒนาอุตสาหกรรมสารสนเทศเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน (ต่อ)


สรุปรายงานการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมสารสนเทศเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน วันที่ 27 สิงหาคม 2556 ณ ห้องประชุม 5209 อาคารสัมมนา 1 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดโดยแขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การอภิปรายเรื่อง ทิศทางความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และ e-publishing เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในเชิงนโยบาย โดย คุณวรพันธ์ โลกิตสถาพร กรรมการผู้จัดการบริษัท สถาพรบุ๊ค จำกัด ดร. พลภัทร์ อุดมผล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อุ๊คบี จำกัด ดำเนินรายการโดย รศ. สำรวย กมลายุตต์

คุณวรพันธ์ได้รายงานสถานการณ์หนังสือ การอ่าน และการศึกษาในประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งพบว่ายังไม่พัฒนานักและมีปัญหาร่วมบางอย่างที่คล้ายกัน เช่น ขาดงบประมาณส่งเสริมการอ่าน ขาดแคลนทรัพยากรหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ไม่ให้ความสำคัญแก่การอ่าน ระบบการศึกษามุ่งแตให้อ่านหนังสือสำหรับเรียนเท่านั้นทำให้โลกทัศน์แคบ เด็กขาดนิสัยรักการอ่าน ประเทศที่มีปัญหาค่อนข้างมากคือกัมพูชาและลาว ส่วนอินโดนีเซียชอบพูดมากกว่าอ่านและมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นงบประมาณด้านการศึกษา ในขณะที่เวียดนามส่งเสริมการศึกษาอย่างเต็มที่ เมียนมาร์พยายามส่งเสริมการอ่านโดยพัฒนาห้องสมุดประชาชน

ส่วนประเทศไทยมีสำนักพิมพ์ประมาณ 500 แห่ง ร้านหนังสือกว่า 3,000 แห่ง คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง มีคนไทย 19 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดที่ไม่เคยใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือเลย ผู้บรรยายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์เพื่อแก้ปัญหา คือ รัฐบาลควรจัดตั้งองค์กรยุทธศาสตร์การพัฒนาการอ่านและหนังสือที่ถาวรและมีกฎหมายรองรับ อาจเรียกว่า สถาบันหนังสือและส่งเสริมการอ่านแห่งชาติ ก็ได้ ควรมีแผนงานการผลิตหนังสือของประเทศและส่งสัญญาณผ่านนโยบาย/มาตรการของรัฐ มีการควบคุมการแข่งขันด้านราคา กำหนดทิศทางของการค้า ebook และที่สำคัญคือการผลักดันให้ ebook ไม่ต้องเสีย VAT หรือเข้าสู่ระบบ VAT 0% เช่นเดียวกับหนังสือที่เป็นตัวเล่ม

การเชื่อมโยงระหว่างนโยบายด้านการศึกษา ภาครัฐต้องส่งเสริมการรักการอ่าน (ทั้งหนังสือและ e-books) อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงวัฒนธรรม ต้องมีนโยบายและมีกฎหมายรองรับโดยเฉพาะ ไม่ใช่เฉพาะหนังสือเรียนหรือหนังสือที่ต้องอ่านแต่ต้องรอบรู้ในเรื่องรอบตัวด้วย การแจก tablet ตามนโยบายของรัฐบาลเป็นการแจกอุปกรณ์ แต่ไม่ได้เตรียมเรื่องเนื้อหา (content) และการอบรมครูให้ดีพอ เรามีปัญหาเรื่องความไม่พร้อม แตกต่างจากเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเตรียมเรื่องเนื้อหาให้พร้อมก่อน

ปัจจุบันเป็นสงครามช่วงชิงเวลาของการใช้เวลาว่าง อุปกรณ์ต่างๆมีขนาดเบาและเล็กลง มีการใช้สื่อออนไลน์ตลอดเวลาแต่กลับไม่สนใจในการอ่านหนังสือ การซื้ออุปกรณ์ tablet ไม่ได้เป็นเพื่อการอ่านหนังสือ คนไทยยังมีปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือ ทำให้ขนาดตลาดหนังสือเล็กลง

เรื่องของการสร้าง e-books มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ร้านหนังสือโดยทั่วไปมักขับเคลื่อนด้วยหนังสือใหม่ คนมักสนใจหนังสือใหม่ที่ขายดีเป็นหลัก ถ้าร้านหนังสือมัวไป digitize หนังสือเก่าอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ถึงแม้จะต้องการเอาหนังสือที่เป็นตัวเล่มมาแปลงเป็นดิจิทัลทั้งหมด แต่ขั้นตอนดัวกล่าวจะใช้เวลานานหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ นอกจากนั้น ยังมีปัญหาอุปสรรคเรื่องลิขสิทธิ์ การขอลิขสิทธิ์จากผู้แต่งจะครอบคลุมเฉพาะหนังสือเป็นเล่ม หากต้องการ digitize จะต้องไปไล่ตามขอลิขสิทธิ์ใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาและต้องลงทุนมาก และต้องยอมรับว่า e-books จะทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของนักเขียนลดลง ที่ประเทศจีนนักเขียนจะเขียนบนอินเทอร์เน็ตหรือบนบล็อกมาก่อน เมื่อได้รับความนิยมมากจึงจะพิมพ์หนังสือโดยโฆษณาว่าประสบความสำเร็จบนออนไลน์มาก่อนแล้ว สำหรับค่าตอบแทนนักเขียนสำหรับ e-books จะจ่ายตามยอดการ download ส่วนใหญ่ราคา e-books จะถูกกว่าตัวเล่มเล็กน้อย

วิธีการทำ ebook มี 2 รูปแบบคือ PDF และ EPUB ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป PDF เหมาะสำหรับหนังสือที่มีภาพประกอบมาก และจะไม่สูญเสียการจัดวางเมื่อขยาย font ให้ใหญ่ขึ้นเวลาอ่าน ส่วน EPUB เหมาะสำหรับหนังสือที่มีข้อความมาก ใช้กับอุปกรณ์ smart phone และ tablet เพราะสามารถปรับหน้าจอตามอุปกรณ์ได้

การอภิปรายเรื่อง ทิศทางความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และ e-publishing เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในมุมมองธุรกิจ โดย คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และคุณทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด ดำเนินรายการโดย รศ.ดร. น้ำทิพย์ วิภาวิน

คุณระริน ได้แนะนำบริษัทอมรินทร์ว่า ในปัจจุบันผลิตสิ่งพิมพ์และสื่ออื่นๆ อย่างครบวงจร ทั้งในรูปแบบ e-books, e-magazines, broacasting ทีวี สื่อออนไลน์ เฟสบุ๊ค การจัดกิจกรรมและงานแฟร์ต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางนำสาระความรู้ไปสู่ผู้คนด้วยรูปแบบหลากหลาย แล้วแต่ความสะดวกของผู้อ่าน ทำให้คนไทยในต่างประเทศและชาวต่างชาติจากทั่วโลกสามารถอ่านหนังสือและนิตยสารของบริษัทได้ มีการขายลิขสิทธิ์ให้ต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่ในความสนใจของตลาดอาเซียน ได้แก่ เรื่องสุขภาพ อาหาร ธรรมะ และนิยาย และขณะนี้มาเลเซียได้ซื้อลิขสิทธิ์นิตยสารบ้านและสวน ไปผลิตเป็นนิตยสารของมาเลเซีย (มีชื่อว่า BAAN) เป็นการใช้นโยบายที่เรียกว่า brand engagement

แนวคิดการทำธุรกิจ คืออยากให้คนไทยมีความรู้ ทำงานเพื่อความสุขและประโยชน์ของผู้อ่านและความรุ่งโรจน์ของสังคม ทางบริษัทมีการตั้งรางวัลให้แก่ผู้ที่ทำผลงานซึ่งมีผลกระทบในเชิงบวกกับสังคมด้วย เรื่องคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ลูกค้าซึ่งมีทั้งผู้อ่านและ sponsor ผู้ลงโฆษณาเกิดความเชื่อมั่น มีบริษัทในเครือที่ครบวงจร ได้แก่ บริษัทจัดจำหน่ายหนังสืออมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ ร้านหนังสือนายอินทร์ ร้านออนไลน์ naiin.com และมี App ชื่อ Naiin Pan สำหรับให้บริการบน mobile devices

คุณทนง ได้แนะนำบริษัท Se-Ed ว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่เริ่มต้นด้วยการผลิตหนังสือประเภท How to ต่อมากลายเป็นร้านหนังสือที่มีสาขาทั่วประเทศกว่า 400 สาขา ต่อมาเมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป จะจับเรื่องออนไลน์ มีร้านขายหนังสืออนไลน์ se-ed.com มี e-books จำหน่ายมากกว่าแสนปก มีร้านหนังสือบน App ที่ชื่อว่า Se-Ed ให้บริการบน IOS และ Android และมีเว็บ m.se-ed.com ที่ใช้บริการได้ทุก platform


อย่างไรก็ตาม ผู้บรรยายทั้งสองเห็นพ้องต้องกันว่า ธรรมะเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตประจำวัน และทางบริษัทมีการจัดกิจกรรมสนับสนุน เช่น บริษัมอมรินทร์ ทำโครงการนำพนักงานฝึกปฏิบัติธรรม ออกนิตยสารแนวธรรมะที่ชื่อว่า Secret ส่วนบริษัท Se-Ed มีการแจก CD ธรรมะฟรีที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ และเนื่องจาก การศึกษาในบ้านเราไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น บริษัท Se-Ed จึงสร้างโรงเรียนทางเลือกระดับอนุบาล ถึงมัธยมปลาย ชื่อว่าโรงเรียนเพลินพัฒนา เปิดมา 10 กว่าปีแล้ว ใช้งบมากถึง 300 ล้านบาท สร้างให้เด็กมีแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ คิดค้นนวัตกรรม แสวงหาความรู้ได้เอง สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ เอาโจทย์ในชีวิตจริงมาเรียนรู้ มีกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ได้ด้วยตัวเอง และก่อตั้งมูลนิธิคนไทยเก่งขึ้น รับบริจาคเงินเพื่อสร้างเด็กไทยในอนาคต

คุณทนง ให้แนวคิดว่า ยอดขายของตลาด e-books เคยมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น แต่ในปีนี้ที่อเมริกา e-books กำลังเจอปัญหา ยอดขาย e-books และ e-book readers เริ่มชะลอตัวลง และอาจ zero growth หรือติดลบได้ นั่นหมายความว่า คนไม่อ่านทั้งตัวเล่มและ e-books แต่เสพสื่อสังคมออนไลน์ประเภทอื่นแทน พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป เวลาในการอ่านน้อยลง สมาธิในการอ่านสั้นขึ้น ไม่อ่านแต่ดูภาพและวิดีแทน ดังนั้น บริษัทไม่ควรแข่งกันเองระหว่างตัวเล่มและ e-books แต่ต้องหาทางให้คนเปิดอ่านหนังสือหาความรู้ ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตามให้มากขึ้น ปัจจุบันผู้ผลิต content อิสระมีจำนวนมากขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งเขียนบล็อกหรือบันทึกวิดีโอ แล้วเผยแพร่ได้ทันที ทุกคนมีส่วนร่วมในการให้ content ด้วยตนเองโดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์อีกต่อไป เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากซึ่งอาจทำให้บริษัทขาดทุนได้

การสอนนักเรียนไทยยุคใหม่ ต้องสอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์และรู้เท่าทัน เพื่อให้แข่งขันได้เมื่อเข้าสู่อาเซียน มิฉะนั้นคนไทยอาจเสียเปรียบในการทำงานเมื่อเปิดเสรี ปัจจุบันคนต่างชาติที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทย สามารถเรียนภาษาไทยและพูดภาษาไทยได้แล้ว ในขณะที่เรายังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ คุณภาพคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งสำคัญต่ออนาคตของประเทศ ซึ่งสถานการณ์ของประเทศไทยน่าเป็นห่วงมาก ต่อไป content ทั้งหลายจะถูกผลิตโดยคนต่างชาติ เพราะระบบและเทคโนโลยีของเขาพร้อมกว่า

คุณระริน ให้ความเห็นว่า อเมริกามี market share e-books ที่สูง แต่ญี่ปุ่นไม่สูงมากนักเพราะคนยังชอบตัวเล่มอยู่ อาจเป็นเพราะวัฒนธรรม คนอ่านหนังสือจาก smart phone มากกว่า tablet เพราะสะดวกในการพกพา และคนที่ชอบอ่าน e-books มีแนวโน้มจะซื้อหนังสือเพิ่มมากขึ้น ภาวะตลาดบ้านเรายังอยู่ในช่วงเรียนรู้และเติบโต ในฐานะสำนักพิมพ์ เราตั้งโจทย์เริ่มต้นที่ content ต้องดีพอที่จะยอมเสียเงินซื้อ ส่วนรูปแบบไม่สำคัญ เพราะจะเปลี่ยนแปลงไปตามไลฟ์สไตล์ของคนอ่านสมัยใหม่ เช่น ที่เกาหลีนิยมจ่ายค่าอ่านนิยายเป็นตอนๆ หรือบอกรับเป็นรายปี เป็นต้น

ปัจจุบันมี blogger เกิดขึ้นเยอะมาก แม้ปล่อยให้อ่านฟรีบนอินเทอร์เน็ต แต่นักเขียนส่วนใหญ่มักมีความฝันที่จะเห็นหนังสือของตนพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มจับต้องได้ ธุรกิจทุกอย่างมีทั้งภัยคุกคามและโอกาสเสมอ ความรู้ในอดีตไม่สามารถพยากรณ์อนาคตได้อีกต่อไปแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ เราต้องมีจินตนาการ ทำอย่างไรให้นักเรียนไทยคิดเป็น และประยุกต์ใช้เป็น ต้องช่วยกันสร้างเด็กให้มีคุณภาพให้ได้ เราต้องเริ่มต้นจากตัวเอง ต้องมี commitment กับตัวเอง ไม่ต้องไปรอคนอื่นหรือโทษคนอื่น ต้องช่วยกันสร้างคนเก่ง คนดี และมีความรู้เพื่ออนาคตของสังคมไทย

คุณทนง ให้แนวคิดว่า หนังสือตัวเล่มยังไปได้อีกสักระยะหนึ่ง แต่พอเปลี่ยน generation ไปเป็นคนอีกยุคหนึ่ง อาจหายวับไปเหมือนเทป กล้องถ่ายรูป หรืออุปกรณ์อื่นๆ ก็ได้ ต่อไปคนไม่อ่านหนังสือแต่ใช้การ load และแบ่งปันกันใช้ฟรี มีการเอาหนังสือทั้งเล่มไป scan และ share กัน หรืออาจช่วยแปลภาษาให้ด้วย หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นกำลังเจอปัญหานี้ (ที่ญี่ปุ่นนิยมขายหนังสือการ์ตูนโดย load ผ่าน smart phone) เรื่อง share และ free เป็นแนวโน้มที่กำลังแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย MIT เอาหลักสูตรมาทำ online course ให้ download ได้ฟรีและ share ไปทั่วโลก สำนักพิมพ์วารสารวิชาการ เกิดการ flip business model อย่างรุนแรง กลายเป็น open access งานแสดงหนังสือประจำปีของเกาหลีเริ่มซบเซา แม้แต่การขาย e-books เพราะถูกคุกคามโดย e-library ของเกาหลี ซึ่งทำได้ดีมากจนมีผลกระทบทั้งประเทศ แม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่คนอ่านหนังสือมาก ปัจจุบันพบว่าไม่มีสำนักพิมพ์ใดเลยที่ทำกำไรได้มาก ขณะนี้ประเทศไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่เราเริ่มมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบการศึกษา ทำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งประเทศ ทำแบบโครงการ CyberHome ของประเทศเกาหลี ให้คนสร้าง content เองและ share กัน ทำ micro content ออกมามากๆ ให้คนไทยเรียนรู้ได้ฟรี มหาวิทยาลัยอาจต้องทบทวนวิธีการสอนใหม่ ให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองจาก micro content ที่มีอยู่

การอภิปรายเรื่อง ทิศทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมบริการสารสนเทศและห้องสมุด โดย คุณรุจิพันธ์ อัสสะรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายเศรษฐกิจจุลภาค 3 บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รศ.ดร. สมพร พุทธาพิทักษ์ผล สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี หัวหน้าศูนย์ข้อมูล หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร. ทัศนา หาญพล

คุณรุจิพันธ์ ได้กล่าวถึงเทรนด์ของสารสนเทศและห้องสมุดในยุคดิจิทัล ได้แก่ 1) Digitization เช่น โครงการแปลงและเผยแพร่หนังสือหายาก โครงการหนังสือเก่าชาวสยาม 2) Crowdsourcing การมีส่วนร่วมสร้างสรรค์เนื้อหาโดยมวลชน ตรวจความถูกต้องกันเอง เช่น Wikipedia 3) E-library ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ และ 4) M-library ห้องสมุดที่เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งยุคดิจิทัล

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อปี 2556 พบว่าคนไทยส่วนใหญ่เข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อรับส่งอีเมล (54.4%) ค้นหาข้อมูล (52.5%) การใช้งานเครือข่ายสังคม (33.2%) อ่านข่าวและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (31.7%) และดูโทรทัศน์/ฟังวิทยุออนไลน์ (21.0%)

รศ.ดร. สมพร ได้กล่าวถึงบทบาทของห้องสมุดว่าเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญระหว่างผู้ใช้และทรัพยากรสารสนเทศ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ห้องสมุดจึงต้องปรับตัว ผลการสำรวจทัศนคติของผู้ใช้บริการห้องสมุดโดย OCLC พบว่าผู้ใช้ค้นข้อมูลจาก google search engine มากที่สุด ตามมาด้วย wikipedia ส่วนเว็บไซต์ห้องสมุดใช้น้อยมาก ข้อมูลสำรวจของ Pew Internet http://www.pewinternet.org พบว่าในปี 2012 มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก อุปกรณ์ mobile devices เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้มากขึ้น สารสนเทศในสื่อออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา ข้อมูลจาก ACRL ปี 2012 พบว่าเทรนด์ใหม่ๆสูงสุด 10 อันดับแรกที่จะส่งผลกระทบต่อห้องสมุดมหาวิทยาลัยคือ 1) Communicating value 2) Data curation 3) Digital preservation 4) Higher education 5) Information technology 6) Mobile environments 7) Patron driven e-book acquisition 8_) Scholarly communication 9) Staffing 10) User behaviors and expectations (http://crln.acrl.org/content/73/6/311.full)

การเตรียมตัว AEC ห้องสมุดต่างๆ นิยมตั้งมุมอาเซียนในห้องสมุด แต่ไม่ได้สะท้อนอะไร ไม่ได้ตอบโจทย์ ห้องสมุดมีภารกิจสนับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย จึงควรดูว่ามหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตรหรืองานวิจัยอะไรบ้างเพื่อรองรับอาเซียน ซึ่งอาจจะเหมาะกับบางประเทศในอาเซียนเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด 10 ประเทศ ในศตวรรษที่ 21 การบริการมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ของผู้ใช้บริการ ต้องมีแผนและการเตรียมการเพื่ออนาคตอย่างมีทิศทาง บทบาทบรรณารักษ์ คือ พยายามช่วยผู้ใช้ให้เข้าถึงสารสนเทศที่มีคุณภาพดีได้อย่างไร และทำให้ผู้ใช้สามารถนำสารสนเทศไปใช้ประโยชน์ได้

คุณชวรงค์ ได้แนะนำศูนย์ข้อมูลหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งขณะนี้ไทยรัฐกำลังเปลี่ยนผ่านจากหนังสือพิมพ์ไปออนไลน์ และใช้ออนไลน์เป็นสะพานเชื่อมไปเป็นทีวี ดังนั้นต่อไปต้องคิดถึงศูนย์ข้อมูลทีวี ต้องจัดเก็บภาพเคลื่อนไหวและใช้ metadata ในการจัดการข้อมูล เดิมศูนย์ข้อมูลให้บริการนักข่าวเกือบ 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทันวางแผง แต่ปัจจุบันปิดบริการเร็วขึ้น มีผู้ใช้บริการน้อยลงเพราะหันไปใช้ google อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการใช้น้อยลงแต่ศูนย์ข้อมูลยังจำเป็น เพราะประวัติภาพบุคคลสำคัญในอดีต กฤตภาคข่าวเก่า ข้อมูลนาม-ตำแหน่งจะแม่นยำ ครบครันและละเอียดกว่า ไม่สามารถค้นได้จาก Google นอกจากนั้นการที่นักข่าวไปเอาภาพจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ อาจเจอปัญหาลิขสิทธิ์และถูกฟ้องได้ โดยเฉพาะการเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ซึ่งจะแพร่กระจายต่อๆกันได้รวดเร็วมาก ต้องระวัง การใช้บริการศูนย์ข้อมูลจะทำให้ข้อมูลนั้นเชื่อถือได้

สำหรับประเด็นอาเซียน เห็นว่าอุตสาหกรรมสื่อที่เป็นข่าวหนังสือพิมพ์ไทยยังไม่มีผลกระทบ แต่โจทย์ใหญ่คือ เราต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องประชาคมอาเซียน เพราะส่วนใหญ่ยังมีความรู้ไม่ถูกต้อง ยังมีความเข้าใจผิดอยู่มาก ตัวอย่างเช่น มีคนจำนวนมากที่ไม่ทราบว่า AEC เป็นแค่ 1 ใน 3 ขององค์ประกอบของประชาคมอาเซียน (AEC เป็นเรื่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ยังมีประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนด้วย) ในฐานะศูนย์ข้อมูลของสื่อ เราต้องพยายามให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องเหล่านี้ นอกจากนั้น นักข่าวประเทศไทยมีความตื่นตัวในเรื่องประชาคมอาเซียนมากกว่าประเทศอื่น และปัจจุบันมีการตั้งชมรมนักข่าวอาเซียนขึ้นมาด้วย

หมายเลขบันทึก: 546820เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

- เก็บเกี่ยว สาระเรื่องราว  ได้ครบถ้วน 

- อ่านแล้ว  เหมือนได้เข้าร่วมสัมมนาด้วย

- ของคุณ ที่นำมา Update เกี่ยวกับ  แนวทาง E-Book และ อื่นๆ นะคะ

ชื่นชมค่ะ

ได้ข้อมูลครบถ้วน ดีมากค่ะ เป็นการแบ่งปันความรู้ให้กับคนที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วม

ขอแชร์ให้กับนักศึกษาสารสนเทศด้วยค่ะ  ขอบคุณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท