การพัฒนาอุตสาหกรรมสารสนเทศ เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน


สรุปจากการไปฟังสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมสารสนเทศเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2556 ณ ห้องประชุม 5209 อาคารสัมมนา 1 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดโดยแขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การบรรยายพิเศษเรื่อง การศึกษากับการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟแวร์ โดย ดร. มนู อรดีดลเชษฐ กรรมการบริหารมูลนิธิ C&C เพื่อการศึกษา

ผู้บรรยายกล่าวถึงความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมซอฟแวร์และบริการไอซีทีของประเทศ โดยยึดหลัก Diamond Model ของ Michael Proter เพื่อช่วยให้เข้าใจศักยภาพการแข่งขัน จาก 4 มุมมอง คือ 1) ปัจจัยการผลิตในประเทศ ซึ่งเน้นทรัพยากรมนุษย์หรือคุณภาพของบุคลากรด้านซอฟแวร์ 2) อุปสงค์ (demand) ภายในประเทศ ซึ่งมีปัญหาเพราะองค์กรมักซื้อซอฟแวร์ขนาดใหญ่มาจากต่างประเทศ 3) อุตสาหกรรมสนับสนุนและเกี่ยวเนื่องภายในประเทศ ซึ่งยังคงมีจุดอ่อนมากและขาดการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมข้างเคียง 4) กลยุทธ์ โครงสร้าง และสภาพการแข่งขันในประเทศของกลุ่มบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีเงินทุนน้อย ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟแวร์ และหามาตรการต่างๆ ในการแก้ไขจุดอ่อนทั้ง 4 ด้าน

นอกจากนั้น ผู้บรรยายยังได้กล่าวถึงปัญหาช่องว่างระหว่าง demand และ supply ด้านพัฒนาทักษะไอซีที ที่หลักสูตรการผลิตบัณฑิตด้านไอซีทีในมหาวิทยาลัยประเทศไทย ยังไม่ปรับตัวตามความต้องการของตลาดอุตสาหกรรม และเห็นว่าประเทศไทยควรสนับสนุนการฝึกทักษะทันสมัยและส่งเสริมการสร้างงานที่ทันสมัย โดยเน้นเรื่อง service-oriented computing เป็นหลัก มีการออกแบบระบบซอฟแวร์ที่รองรับ service driven business ให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตนักไอซีทีไปทำงานด้าน back office เท่านั้น แต่ต้องสนใจที่จะพูดคุยกับนักธุรกิจเพื่อเอาทักษะไอซีทีที่ทันสมัยไปสร้างผลกำไรและ value added ให้อุตสาหกรรม ต้องเปลี่ยนแนวคิดจาก mass production คือผลิตสินค้าจำนวนมากโดยทำให้ต้นทุนต่ำ ซึ่งมีผลเสียตามมาคือการบริโภคเกินความจำเป็น ควรหันมาใช้แนวความคิดของ value creation หรือการสร้างคุณค่า เป็นการซื้อขายข้อเสนอตามโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช้เฉพาะแค่ตัวสินค้าเท่านั้น และต้องคำนึงถึงการสร้างเครือข่าย customer driven service value network ด้วย แนวโน้มของระบบซอฟแวร์จะเป็น service-oriented design และ cloud computing service model ภาษาที่ใช้พัฒนาซอฟแวร์ต้องเป็นภาษาภาพ business process ที่คอมพิวเตอร์เข้าใจได้ เช่น BPMN 2.0 เป็นต้น

การบรรยายพิเศษเรื่อง อุตสาหกรรมสารสนเทศในโลกยุคดิจิทัล โดย ดร. กษิติธร ภูภราดัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยนโยบาย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ผู้บรรยายได้นำเสนอไว้ 4 ประเด็น คือ 1) บทบาทของไอซีทีกับสารสนเทศและความรู้ 2) แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านไอซีที 3) การเปลี่ยนแปลงของสารสนเทศ และการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสารสนเทศ 4) นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

แผนพัฒนาฯฉบับที่ 9 และกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ IT2010 ได้กล่าวถึงความสำคัญของการผลิต การแพร่กระจาย และการใช้สารสนเทศและความรู้ แต่ไม่ได้กำหนดบทบาทของไอซีทีในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้บรรยายได้แสดงข้อมูลและสถิติจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญระดับโลกบนอินเทอร์เน็ต เพื่อชี้ให้เห็นว่าไอซีทีมีบทบาทในการเข้าถึงสารสนเทศ การแพร่กระจายของคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสารสนเทศ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เปลี่ยนจาก PC มาเป็น smart phone หรือ tablet มากขึ้น ผู้ประกอบการผลิตโทรศัพท์มือถือ ในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนการรับส่งสารสนเทศจาก text มาเป็น moving image เปลี่ยนจาก voice มาเป็น data communications ปริมาณสารสนเทศมีจำนวนมากขึ้น มีการสร้างและใช้สารสนเทศอยู่ตลอดเวลาทุกนาที เป็น fast production / fast consumption

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ให้บริการเริ่มมี package ที่ผสมผสานระหว่าง voice และ data มากขึ้นแต่ที่ควรคำนึงคือ ในโลกนี้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนมากยังใช้เพียงแค่ฟังก์ชั่นธรรมดา บางประเทศเช่นอินเดียยังคงใช้ simple function ค่อนข้างมาก เพราะราคาของ smart phone ยังค่อนข้างแพงสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ แม้อัตราการเติบโตของ smart phone เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่บางประเทศใช้ smart phone มาก เช่น ญี่ปุ่น พฤติกรรมผู้ใช้เปลี่ยนไป ไม่ได้พูดโทรศัพท์ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้ใช้โทรศัพท์ เพราะหันมาใช้ messaging เช่น WhatsApp, LINE แทนสะดวกขึ้น แต่ก็อันตรายมากขึ้น เพราะข้อมูลส่วนตัวอยู่ในโทรศัพท์มือถือทั้งสิ้น ปัจจุบันข่าวที่เกิดขึ้นสามารถแพร่ได้รวดเร็วทันที แต่บางครั้งอาจเร็วเกินไป ขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข่าวขัดแย้งกันเอง รวมทั้งอาจมีการใช้เทคโนโลยีในการตกแต่งปลอมแปลงข่าวและภาพได้

เทคโนโลยีที่สำคัญในอุตสาหกรรมสารสนเทศในปัจจุบันคือ cloud computing องค์กรต่างๆไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่อง server แต่หันมาใช้ cloud computing และ public cloud ต่างๆ แทน เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน การที่สารสนเทศไหลเวียนมากและมีการบริโภคสารสนเทศมาก จึงทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมด้าน storage of data มีการเจริญเติบโตมาก รวมทั้งธุรกิจการขายโฆษณาสินค้าและทำ SEO บน search engines ต่างๆ โดยเฉพาะ google ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในปัจจุบัน

สำหรับนโยบายภาครัฐ ประเทศไทยมีกรอบนโยบาย ICT 2020 ซึ่งเน้น Smart Thailand / Smart government มีเป้าหมาย ตัวชี้วัด กลยุทธ์และมาตรการต่างๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีที โดยเน้นไปที่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และโทรคมนาคม แต่ไม่ค่อยพูดถึงสารสนเทศ มีแต่การพูดถึง digital content รูปแบบใหม่ เช่น DTV, IPTV, e-learning เท่านั้น

กรอบแนวคิดนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ของ สวทน. ได้จำแนก strategic sectors ออกเป็นด้านต่างๆ เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจและสังคมแบบ sustainable economy และหนึ่งใน sector เหล่านั้นคือ Creative and digital contents

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา digital content industry มีความหมายเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมซอฟแวร์ SIPA ประเทศไทยเน้น digital content เฉพาะเรื่องของ animation, games, e-learning แต่ OECD เห็นว่า digital content เป็นส่วนขยายของอุตสาหกรรม content แบบดั้งเดิม นั่นคือ อะไรก็ตามที่สามารถถูก digitize ได้ จะถูก digitize หมด นอกจากนั้น ประเด็นที่ต้องขบคิดเพิ่มเติมสำหรับนโยบายไอซีทีของประเทศไทยคือ อุตสาหกรรมสารสนเทศควรคำนึงถึงการแพร่ภาพกระจายเสียง (broadcasting) เช่น ดิจิทัลทีวี เนื่องจากต่อไปจะมีช่องแลของไทยะรายการทีวีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น content จะมากขึ้นตามไปด้วย

การอภิปรายเรื่อง ผู้ประกอบการกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสารสนเทศของไทย โดย อาจารย์ ดร. อดิศักดิ์ สุกุล อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และที่ปรึกษาบริษัท Best Book Online จำกัด คุณกิตติพงษ์ ทรัพย์คงดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บุ๊ค โปรโมชั่น แอนด์ เซอร์วิส จำกัด — ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ชำนาญ เชาวกีรติพงศ์

ดร. อดิศักดิ์ สุกุล แนะนำหน่วยงานที่มีชื่อว่า EIFL (Electronic Information for Libraries) ซึ่งทำงานร่วมกับห้องสมุดต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 60 ประเทศ มีเว็บไซต์อยู่ที่ http://www.eifl.net  สำหรับประเทศไทย มีห้องสมุดที่เป็นสมาชิกของ EIFL–Thailand จำนวน 98 แห่ง เช่นกลุ่ม PULINET

โครงการของ EIFL มี 5 กลุ่ม ได้แก่
EIFL-Licensing (Free and discounted resources) รวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองเรื่องค่าบอกรับวารสารและฐานข้อมูล ขอส่วนลดหรือให้บริการฟรีสำหรับประเทศด้อยพัฒนา
EIFL-FOSS (free and open source software) ผลิตซอฟแวร์เสรี
EIFL-PLIP (public library innovation program) ช่วยเหลือพัฒนาโปรแกรมสำหรับห้องสมุดประชาชน
EIFL-IP (intellectual property / copyright) เจรจาต่อรองเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญากับงานห้องสมุด
EIFL-OA (open access) ส่งเสริมการจัดทำวารสารวิชาการแบบเสรี

ดร. อดิศักดิ์ แนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ชื่อว่า “2ebook Digital Library” http://www.2ebook.com  และยกตัวอย่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ห้องสมุด TK Park ซึ่งในยุคเริ่มแรกใช้ DRM solutions ของบริษัท Adobe ต่อมาบริษัท Best Book ได้พัฒนา DRM solutions ขึ้นมาเอง โดยอ้างอิงซอฟแวร์จากต่างประเทศ ซึ่งทำให้ราคาถูกลงและตรงความต้องการของลูกค้าในประเทศมากกว่า

การใช้ระบบ 2eBook จะเป็นรูปแบบทางธุรกิจแบบ win-win คือได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย สำนักพิมพ์ผู้ผลิตหนังสือจะสามารถแปลงตัวเล่มทั้งหมดให้กลายเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้รวดเร็วและลดต้นทุนในการจัดเก็บสินค้า รวมทั้งสามารถติดตามสถิติต่างๆที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตได้ดีกว่า

ผู้บรรยายได้กล่าวถึงการเข้าไปช่วยพัฒนา Digital Library ของห้องสมุดรัฐสภาซึ่งมีการ digitize เอกสารต่างๆ ของรัฐสภาจำนวนมาก อีกทั้งเป็นเอกสารที่มีโครงสร้าง metadata ไม่เหมือนเอกสารวิชาการอื่นๆ การพัฒนาระบบไม่จำเป็นต้องสร้างโปรแกรมเองทั้งหมด แต่อาจประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น ใช้โปรแกรม Dspace ซึ่งเป็น open source ในการสร้างระบบห้องสมุดดิจิทัล ส่วนการสืบค้นสามารถใช้ Google search engine ห้องสมุดมารวยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เดิมใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS ของบริษัท Book Promotion แต่ต้องการเสริมเรื่องห้องสมุดดิจิทัลเข้าไป นอกจากนั้นทางบริษัทยังช่วยพัฒนาโครงการระบบ ผลิตเอกสารคำสอน STOU Publisher Management System ของ มสธ ด้วย

ผู้บรรยายได้แนะนำ Apps ของ 2eBook สำหรับให้บริการผ่าน mobile ชนิดต่างๆ เช่น iPad, iPhone, Android ตามความนิยมของผู้ใช้บริการ และแนะนำระบบ http://library.pressdisplay.com  ของบริษัท NewspaperDirect ซึ่งใช้ซอฟแวร์จัดทำหนังสือพิมพ์ดิจิทัลจำนวนมากกว่า 2,200 ชื่อ สามารถสืบค้นข่าวต่างๆ จากทั่วโลกได้

ผู้บรรยายได้แสดงความคิดเห็นต่อการทำธุรกิจสารสนเทศในยุคของ AEC ว่ามีประเด็นสำคัญคือ การใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย ความพร้อมของ infrastructure ทางด้านไอซีทีของประเทศ การสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมขึ้นมาใช้เองภายในหน่วยงานโดยไม่ต้องซื้อ การใช้บริการ cloud services ของบริษัทต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มี data center อยู่ที่สิงคโปร์ (ทำให้หน่วยงานภาครัฐบางหน่วยงานอาจไม่ไว้วางใจในการนำข้อมูลของภาครัฐ ไปไว้ใน data center ต่างประเทศ) และควรใช้ประโยชน์จากหน่วยส่งเสริมการลงทุน BOI ซึ่งจะช่วยสนับสนุนธุรกิจอุตสาหกรรมสารสนเทศได้ เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้า เป็นต้น

คุณกิตติพงษ์ ทรัพย์คงดี พูดถึงแนวโน้มของการพัฒนา eBooks ของทางบริษัท บุ๊ค โปรโมชั่น แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งใช้ซอฟแวร์ในการทำระบบที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าสมัยก่อน และมีทีมงานที่ตรวจสอบความถูกต้อง (human proof) ปัจจุบันผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆเริ่มมีความต้องการสารสนเทศในเรื่องอื่นๆ ด้วย นอกเหนือจากงานห้องสมุดและผู้ใช้บริการ เช่น เรื่องของการผลิตวารสารวิชาการของสถาบันให้มีมาตรฐานสากล การพัฒนามหาวิทยาลัยในการแข่งขันระดับนานาชาติ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก Times Higher Education (THE) โดยบรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศสามารถมีส่วนช่วยได้ การพัฒนาสารสนเทศจะวางแผนในระยะยาว ต้องวางแผนเรื่องการ outsources เพื่อให้ทีมงานสามารถทำงานได้ทันตามกำหนดเวลา งบประมาณเป็นสิ่งสำคัญแต่ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่สุด สามารถทำได้ ถ้าวางแผนเป็นระบบ แต่ต้องครบวงจรทั้งมหาวิทยาลัย คือ ผู้ใช้ เทคโนโลยี การบริหารจัดการ นโยบายและงบประมาณของมหาวิทยาลัย และทรัพยากรสารสนเทศ IR ต่างๆ เช่น ผลงานวิจัย วิทยานิพนธ์ หนังสือ วารสาร และเอกสาร จากทั้งห้องสมุดและบัณฑิตวิทยาลัย

การให้บริการข้อมูลในอนาคต จะมีการใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีการใช้ mobile deviceมากขึ้น ธุรกิจสารสนเทศจึงมุ่งเน้นการจัดกลุ่มข้อมูลที่มีอยู่มากมายบนอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้น การจัดอบรมและจัดสอบให้ได้ใบรับรองมาตรฐาน (cerificate) ทางด้านไอซีที ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อวิชาชีพการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินค่าสอบให้ต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง ธุรกิจการสร้าง online courses การทำ KM และการสร้างคลังข้อมูล IR ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของสถาบัน เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

การบรรยายพิเศษเรื่อง การพัฒนานวัตกรรมทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตร โดย นางสิริกร โคตรนนท์ นักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตร ชำนาญการพิเศษ กรมทรัพย์สินทางปัญญา

ผู้บรรยายได้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาชนิดต่างๆ ได้แก่ สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ (ซึ่งมี 9 ประเภท) การคุ้มครองพันธุ์พืช เครื่องหมายการค้า (เช่น สัญลักษณ์รูปดอกจำปีของสายการบินไทย) ความลับทางการค้า (เช่น สูตรน้ำมัน) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (เช่น ส้มโอนครชัยศรี ไข่เค็มไชยา ข้าวสังข์หยด) แบบผังภูมิวงจรรวม และภูมิปัญญาท้องถิ่น (เช่น สูตรน้ำพริกเผาของกลุ่มแม่บ้าน)

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์เป็นสิทธิบัตร ซอฟแวร์เป็นลิขสิทธิ์ ส่วนโลโก้บริษัทเป็นเครื่องหมายการค้า

ประเทศไทย มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามากกว่าสิทธิบัตร และผู้ยื่นสิทธิบัตรที่เป็นคนไทยมีแค่ 15% ส่วนใหญ่มีแต่คนต่างชาติ 85% ส่วนอนุสิทธิบัตร (petty patent) หรือผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ มีคนไทยยื่น 90% เนื่องจากเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก หรือเป็นการประดิษฐ์คิดค้นเพียงเล็กน้อย จึงรับจดทะเบียนด้วยขั้นตอนที่เร็วกว่า แบบผังภูมิวงจรรวม มีผู้ขอจดทะเบียนเพียง 10 คำขอเท่านั้น (ส่วนใหญ่เป็นของ สวทช.) ส่วนการจดแจ้งข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น สูตรอาหาร สูตรทำขนม กลุ่มแม่บ้านสามารถนำใบรับรองไปขอกู้ยืมเงินลงทุนจากธนาคารได้

นวัตกรรมคือสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกไปจากเดิม ดังนั้นนวัตกรรมจึงสนับสนุนให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าคิดอะไรได้ควรมายื่นจดก่อนไปทำขาย มิฉะนั้นจะถูกลอกเลียนแบบ ไม่ควรเผยแพร่หรือทำขายก่อนมายื่น เพราะจะถูกคัดค้าน (บางครั้งเป็นปัญหาขัดแย้งผลประโยชน์กันในครอบครัวหรือบริษัทเดียวกัน ตกลงกันไม่ได้ มีการฟ้องร้องกัน หรือปล่อยให้ขายไปแล้วฟ้องทีหลัง) – ควรไกล่เกลี่ยและแบ่งผลประโยชน์กัน ซึ่งสามารถขอให้เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาช่วยเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยก็ได้

สิทธิบัตรจากทั่วโลกสามารถสืบค้นได้จาก EPO–Espacenet ที่ http://www.epo.org ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลสิทธิบัตรจำนวนประมาณ 80 ล้านฉบับ สิทธิบัตรของไทยมักเป็นเรื่องของซอฟแวร์ เทคโนโลยีชีวภาพ และยา คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าจดสิทธิบัตรแล้วช้า ความจริงเมื่อยื่นแล้วสามารถผลิตขายได้เลยไม่ต้องรอเพราะขั้นตอนใช้เวลานาน ผู้อยู่ต่างจังหวัดสามารถยื่นเรื่องผ่านพาณิชย์จังหวัดซึ่งได้รับการฝึกอบรมจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในอนาคตจะสามารถยื่นเรื่องผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้

ความร่วมมือด้านสิทธิบัตรในอาเซียน (ASPEC) สามารถใช้ผลการตรวจสอบจากประเทศหนึ่งไปใช้ประกอบการพิจารณาในอีกประเภทหนึ่ง สามารถยื่นคำขอในประเทศที่ต้องการขอรับความคุ้มครองโดยตรง หรือยื่นผ่านระบบ PCT (Patent Coorperation Treaty) ระหว่างประเทศก็ได้ รายละเอียดดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา http://www.ipthailand.go.th

หมายเลขบันทึก: 546730เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 07:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท