ความผิดครั้งแรก : ผู้หญิงมีสิทธิตัดสินใจ2


          ในเรื่องการสร้างตัวละคร ผู้วิจารณ์มีความเห็นว่าดอกไม้สดสามารถทำได้ดีเยี่ยม แม้จะไม่ใช่ตัวละครที่มีความซับซ้อนทางจิตใจมากนัก หากแต่ก็มีความสมจริง เป็นปุถุชนที่มีทั้งดีและเลวปะปนกัน ที่สำคัญคือมีนิสัยที่แน่นอน กล่าวคือ มีการกระทำที่สอดคล้องกับนิสัย ไม่ทำให้ผู้อ่านแปลกใจว่าเหตุใดตัวละครนั้นจึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผู้อ่านจะเข้าใจการตัดสินใจของตัวละครได้เป็นอย่างดี
จะมีแปลก ไม่สมเหตุสมผลบ้างก็ตอนท้ายเรื่อง ที่วไลคิดว่า

“... ความผิดครั้งแรกที่เคยทำ ก็คือการแต่งงานกับพ่อของเด็กคนนี้ หักล้างสิทธิของหญิงคนหนึ่ง ข่มเหงน้ำใจเขา...”

        ไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงอย่างวไลจะคิดว่าตนเอง “หักล้าง” สิทธิของภรรยาเก่าหลวงปราโมทย์ได้ จะว่าเป็นพัฒนาการทางจิตใจของตัวละครก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะไม่ปรากฏว่าก่อนหน้านั้นวไลจะมีความคิดเช่นนี้

        ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของการสร้างตัวละครแต่ละตัวของดอกไม้สดก็คือ ลักษณะที่ขัดแย้งเพื่อเปรียบเทียบ ความขัดแย้งหรือการเปรียบเทียบในเรื่องก็จะมีตั้งแต่ การเปรียบเทียบระหว่างนิสัยตัวละคร ระหว่างเพศ ระหว่างวัย และระหว่างยุค

        วไลเป็นผู้หญิงที่มีเสน่ห์ ฉลาดพูด รู้จักการวางตัว และแสดงออกอย่างเหมาะสม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้หญิงที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ชอบเอาชนะ และใจเด็ด ในขณะที่อมราดูจะตรงข้ามกับวไลแทบทุกอย่าง น้องสาวของวไลเป็นคนตรงไปตรงมาจนเกือบจะเรียกได้ว่าแข็งกระด้างในบางครั้ง ฉุนเฉียวง่าย แม้จะเป็นคนฉลาดคิด มีนิสัยและความประพฤติเป็นผู้ใหญ่จนเกินอายุ แต่ก็ไม่ฉลาดพูด วาจาของเธอจึงไม่รื่นหู
         นิสัยที่แตกต่างกันมีส่วนทำให้ทั้งสองมีความรักที่ต่างกันด้วย วไลหยิ่งในความงามและเชื่อมั่นว่าหลวงปราโมทย์จะซื้อสัตย์ จึงตัดสินใจแต่งงานด้วย ทั้งที่ใช้เวลาคิดไม่นานนัก ส่วนอมราซึ่งไม่สวย ไม่มีความทะนงเช่นนั้น และมีความรอบคอบกว่ากลับมีชีวิตการแต่งงานที่มีความสุขกว่า อมราไม่ได้รักอำนวยด้วยความรู้สึกเพียงอย่างเดียว แต่เธอมีเหตุผลประกอบ

... ทุกคราวที่พบตัวเขา อมราได้พบสิ่งที่น่าสรรเสริญในอุปนิสัยเขาด้วย เขาเป็นคนสุภาพและอ่อนโยนอยู่เป็นนิจ อารมณ์เย็นเรื่อยไม่มีเปลี่ยนแปลงจะพูดเล่นก็ซื่อๆ เรียบๆ ไม่โลดโผน อำนวยเป็นคนเปิดเผย อ่านง่าย ดูง่าย ทุกอิริยาบถเป็นตัวของเขาเองไม่มีการตบแต่งลวงตา นอกจากอัธยาศัยเรียบร้อยเขายังเป็นคนมีน้ำใจอันดียิ่ง เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเพื่อนแต่เป็นศัตรูกับใครไม่เป็น...
... ความรู้สึกของอมราที่มีต่ออำนวยนั้น แรกทีเดียวเป็นความประหลาดใจที่ชายหนุ่มอายุอานามไล่เลี่ยกับพี่ชายของหล่อนมีความคิดและความประพฤติเป็นหลักฐานเห็นปานนี้ ต่อมาความประหลาดใจกลายเป็นความนิยม และเปลี่ยนเป็นความนับถือ ในที่สุดเข้าก็กลายเป็นนับถือ และชอบรวมกัน หล่อนชอบมากขึ้นทุกๆ วัน...

           แม้เรื่องจะจบลงเพียงการแต่งงานของอำนวยและอมรา แต่ผู้อ่านก็พอจะคาดเดาต่อไปได้ว่า ชีวิตแต่งงานของทั้งสองคงราบรื่นและผาสุก เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องของวไล เรื่องของอมราแตกต่างกับพี่สาวทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนิสัยใจคอ หรืออุปสรรค ความรักและการแต่งงานของวไลเกิดขึ้นโดยไม่มีอุปสรรค แต่ชีวิตหลังแต่งงานกลับล้มเหลว ในขณะที่ความรักของอมรามีอุปสรรคมากมาย จึงพอจะคาดเดาได้ว่าชีวิตหลังแต่งงานน่าจะราบรื่น ทั้งนี้ผู้เขียนเองก็ได้บอกเป็นนัยผ่านคำพูดของวไลที่ว่า

“รับประกันว่าไม่มีการพลาดพลั้ง เธอจะอยู่กับนายอำนวยโดยความสุขจนกว่าจะตายจากกัน เธอเป็นคนมีญาณพิเศษน้องอมรา และเธอไม่รู้ตัว เมื่อคราวหลวงปราโมทย์เธอทายว่าเขาจะเป็นอย่างไร เขาก็เป็นอย่างนั้นไม่มีผิด คราวนี้เธอรักนายอำนวย เธอทายว่าเขาจะดีจริง เขาก็จะดีได้จริงเหมือนเธอทายด้วย!”

           อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวไลจะหยิ่ง มีความเชื่อมั่น และใจเด็ดเพียงไหน หรืออมราจะตรงไปตรงมา และค่อนข้างยึดมั่นในความคิดของตนเองมากเท่าใด ทั้งสองก็ยังอยู่บนพื้นฐานของความเป็นกุลสตรีที่ดีงาม ไม่ทำอะไรที่เสื่อมเสีย หรือผิดจากการเป็นผู้หญิงที่ดี ทั้งยังมีความกตัญญู และเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ นี่เป็นลักษณะตัวละครเอกฝ่ายหญิงของดอกไม้สดในผลงานทุกเรื่อง

           ในด้านตัวละครฝ่ายชาย แม้จะไม่เด่นชัดเท่ากับฝ่ายหญิง หากแต่ก็มีการเปรียบเทียบระหว่างหลวงปราโมทย์กับอำนวย และหลวงปราโมทย์กับหลวงนฤบาล
หลวงปราโมทย์นั้นเจ้าชู้ ปากหวาน ค่อนข้างรักความสบาย รักสนุก สมัยใหม่ในเรื่องการกิน เที่ยว เต้นรำ การสมาคมต่างๆ แต่มีความคิดแบบผู้ชายไทยสมัยก่อนในเรื่องการมีภรรยา ขาดความรับผิดชอบ และตัดสินใจเร็ว ไม่ค่อยตรึกตรองให้รอบคอบ หลงใหลในความสวยและกิริยาวาจาของวไลก็บอกรัก และขอแต่งงานอย่างรวดเร็ว ไม่เคยคิดว่าจะสามารถทำตามคำของของวไล คือซื่อสัตย์ต่อเธอได้จริงๆ หรือไม่ ไม่คิดจะศึกษานิสัยใจคอของผู้หญิงที่ตนคิดว่ารัก เมื่อแต่งงานไปแล้วและค่อยๆ รู้ว่านิสัยที่แท้จริงของวไลเป็นอย่างไรจึงค่อนข้างแปลกใจ เมื่อชายหนุ่มถามว่าเธอจะใจเด็ดพอที่จะหย่าขาดกับเขาหรือหากเขามีผู้หญิงอื่น และวไลตอบว่า

“เด็ดซีคะ ถึงตรงนั้นต้องเด็ดจริงทีเดียว อย่างอื่นละก็พอทน แต่ถ้าถึงตรงนั้นวันใดก็วันนั้นแหละ น้องเป็นคนขี้อิจฉาค่ะคุณพี่ อิจฉาอย่างร้ายกาจทีเดียว”
นับตั้งแต่วันแรกที่หลวงปราโมทย์ได้พบวไลมาจนถึงวันนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่วไลกล่าวถึงนิสัยของหล่อนเองอย่างเปิดเผย น้ำเสียงของหล่อนหนักแน่นขึงขังจนเขารู้สึกพิศวง

แตกต่างกับอำนวยที่เอาการเอางาน ไม่เจ้าชู้ พูดตรงไปตรงมา สุขุม คิดและตัดสินใจอย่างรอบคอบ เมื่อตัดสินใจจะทำอะไรแล้วก็ไม่ยอมถอยหลังง่ายๆ ในเรื่องความรัก ก่อนที่จะบอกรักอมรา ชายหนุ่มก็ตรึกตรองอย่างรอบคอบมาก่อนแล้ว

“ผมไม่หมายจะพูดว่าเธอดีพร้อมด้วยประการทั้งปวง ไม่มีมนุษย์ใดในโลกที่จะเป็นเช่นนั้นได้ เว้นเสียแต่พระอรหันต์ หญิงคนที่ผมกำลังกล่าวขวัญอยู่นี้ เป็นผู้มีคุณสมบัติหลายประการ ถึงกระนั้นเธอก็มีส่วนเสียอยู่บ้าง”
พูดมาถึงเพียงนี้อำนวยก็หยุดนิ่งคล้ายกับจะมีความเกรงใจในการที่จะพูดต่อไป แต่แล้วก็กล่าวต่ออย่างหนักแน่น แสดงว่าได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว
“ส่วนที่เสียจะยกขึ้นกล่าวได้ว่าเธอค่อนข้างฉุนเฉียว แต่เมื่อผมรู้นิสัยเธอแล้ว จะแก้ความฉุนเฉียวของเธอได้โดยไม่ยาก ผมเองก็มีนิสัยเสียหลายประการ ซึ่งเธอจะต้องพยายามแก้ไขให้ค่อยยังชั่วขึ้นจนได้ สันดานจริงของเราดีอยู่แล้ว เมื่อฝ่ายใดพบส่วนเสียของอีกฝ่ายหนึ่งก็จะได้ช่วยแก้ไขและอะลุ้มอะล่วยกันได้ดี ผมพูดเช่นนี้คุณเห็นด้วยไหม?”

             ดังนั้น ความรักที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายก่อนจะสมหวังจึงเป็นความรักที่มั่นคง ต่างจากความรักที่สมหวังง่ายๆ ซึ่งอาจพังทลายลงมาง่ายเช่นกัน นี่อาจเป็นทัศนคติของดอกไม้สดที่มีต่อความรักและการแต่งงานในเรื่องความผิดครั้งแรกนี้ แต่อาจไม่เป็นความจริงเสมอไป และไม่ใช่ความคิดเห็นหลักที่มีอยู่ในทุกผลงานเรื่องของเธอ
หลวงปราโมทย์ยังมีนิสัยแตกต่างจากหลวงนฤบาลอย่างมาก หลวงนฤบาลนั้นทั้งเป็นผู้ใหญ่กว่า มีความคิดมากกว่า มีน้ำใจ มีความเสียสละ และดีกว่าหลวงปราโมทย์ในหลายๆด้าน ยกเว้นเรื่องความปากหวาน และการเอาอกเอาใจ การทำให้ผู้หญิงชอบเท่านั้น หลวงนฤบาลด้อยกว่าในส่วนนี้ทำให้ไม่ได้แต่งงานกับวไล
วไลเป็นตัวแทนของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ชอบคำหวานและการเอาอกเอาใจ ส่วนหลวงนฤบาลก็เป็นตัวละครที่ทำให้ผู้อ่านทราบว่า ความดีไม่จำเป็นต้องมาเป็นอันดับหนึ่งในเรื่องของความรัก

            นอกจากการเปรียบเทียบตัวละครแล้ว การเปรียบเทียบระหว่างเพศ วัย และยุค ก็มีให้เห็นอยู่บ้าง
ความคิดเรื่องการมีภรรยาหลายคนของผู้ชาย ของหลวงปราโมทย์ต่างจากของวไล ผู้ชายอย่างหลวงปราโมทย์เห็นว่าการมีภรรยาหลายคนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผู้หญิงอย่างวไลทนรับไม่ได้ นี่เป็นความขัดแย้งทางความคิดระหว่างหญิงกับชาย แต่หากจะกล่าวกันตามจริงแล้ว น่าจะเป็นเรื่องของยุคสมัยด้วย ในสมัยนั้น ความคิดเห็นของหลวงปราโมทย์เป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในสังคม

“ก็เรามันดีอยู่นักน่ะซี” อำนวยกล่าวอย่างไม่เกรงใจ
หน้าของหลวงปราโมทย์เริ่มเปลี่ยนสี แต่เขาเป็นคนระงับความรู้สึกได้ดีคนหนึ่ง เอื้อมมือหยิบหีบบุหรี่มาเปิดแล้วปิดเปิดอยู่อีกหลายครั้ง แล้วจึงถามเรื่อยๆ
“”การดีหรือไม่ดีน่ะ มันอยู่ที่อะไร?”
“อยู่ที่การมีเมียไม่รู้จักอิ่ม มีแล้วมีอีกของเราน่ะซี” อำนวยตอบโดยเร็ว
หลวงปราโมทย์หัวเราะครั้งหนึ่ง แล้วตอบเสียงเดิม
“มติของเมืองไทย”

               แม้แต่ผู้หญิงในสมัยนั้นก็คิดเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงศรีศุภเวท สม (พี่สาวของวไล) หรือประมวล (น้องสาวของหลวงปราโมทย์) ก็ล้วนแต่เห็นว่าผู้ชายมีภรรยามากเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ และคาดหวังว่าผู้หญิงทุกคนควรจะยอมรับได้

                ดอกไม้สดเขียนให้วไล(และอมรา) ประณามการมีภรรยาหลายคนของผู้ชายว่าเป็นความผิด เพราะดอกไม้สดเป็นผู้หญิงที่ค่อนข้างนำสมัย ตัวละครฝ่ายหญิงของเธอมักกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงค่านิยมที่มีมาแต่เดิม อาจคิดได้ว่านี่เป็นเสียงเรียกร้องของผู้เขียนที่มีต่อสังคม ผ่านตัวละครในงานเขียนของเธอ
ความต่างทางความคิดที่เกิดจากวัยก็พอมีให้เห็นบ้างในเรื่องความรักและการแต่งงาน เช่น คนหนุ่มสาว(อำนวย) เห็นว่าความรักเป็นสิ่งสำคัญในการแต่งงาน

อำนวยสั่นศีรษะช้าๆ และยิ้มเศร้าๆ ขณะที่พูดว่า
“ผมรักคนหนึ่งเสียแล้ว จะไปแต่งงานกับอีกคนหนึ่งอย่างไรได้”

แต่คนรุ่นพ่อแม่ (พระยาศรีศุภเวทและภรรยา) เห็นว่า ความเหมาะสมทางสังคมสำคัญกว่า

“เออ! เข้าใจแล้ว แกรักแม่อมรา” เจ้าคุณพูดซ้ำ “แต่ผู้หญิงคนนี้เขาดีพร้อม ถูกใจพ่อ ถูกใจแม่ สวยก็สวย เงินก็มี ความประพฤติก็ดี การบ้านการเรือนก็เก่ง แกจะว่ายังไง?”

                ความต่างยุคต่างสมัยมีให้เห็นในเรื่องการแต่งงานของอำนวย ตามประเพณีนั้นฝ่ายชายต้องให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอผู้หญิงให้ แต่อำนวยไปสู่ขออมราจากบิดาของเธอด้วยตนเอง แสดงให้เห็นถึงความเคร่งครัดทางประเพณีที่คลายลง และการที่พระยาธรรมสาส์นบอกว่าไม่ห้าม แต่ไม่เกี่ยวข้องด้วยก็แสดงให้เห็นว่าท่านรับรู้ เข้าใจ และยอมรับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้พอสมควร รวมถึงเป็นเพราะความรักที่มีต่อลูก อยากให้ลูกมีความสุขด้วย
แม้จะมีความขัดแย้งเนื่องจากยุคสมัยไม่มาก และไม่ค่อยเห็นเด่นชัดนัก แต่ความผิดครั้งแรกก็สะท้อนให้เห็นภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด มีวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามาผสมผสาน และมีอิทธิพลต่อสังคมไทยไม่น้อย มีค่านิยมส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ มีการจัดงานวันเกิด การเต้นรำ การสังสรรค์ สมาคม การอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ อ่านนิยายภาษาอังกฤษ(อมรา) เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 546276เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท