รู้ทัน “ฮอร์โมน”แบบฉบับ "นครพนมวัยใสห่วงใยสุขภาพ"


ครู-เด็ก ร่วมเปิดใจไขอารมณ์วัยรุ่น

ความว้าวุ่นแบบ “วิถีวัยรุ่น” ที่มีทั้งเรื่องความรัก เพศสัมพันธ์ ความสุ่มเสี่ยงที่จะท้องก่อนแต่ง ยาเสพติด ความรุนแรง ฯลฯ ใช่จะมีแต่ใน “ฮอร์โมน”ละครซีรีส์ ที่กำลังโด่งดังและถูกพูดถึงกันอย่างครึกโครมเท่านั้น เพราะในชีวิตจริงความซับซ้อนของอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับคนในวัยนี้ก็ว้าวุ่นไม่ต่างอะไรกับที่ตัวละครนำเสนอ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ “ครูเย็น” น.ส.สุพรรณี แสนเขื่อน ครูฝ่ายปกครอง ส่วนกิจกรรมและธุรการ โรงเรียนนครพนม วิทยาคม จ.นครพนม ผู้รับผิดชอบโครงการ "นครพนมวัยใสห่วงใยสุขภาพ" ซึ่งเคยเป็นข่าวใหญ่ในสื่อมวลชนหลายสำนักเมื่อไม่นานมานี้ว่าด้วยเรื่องของเยาวชนผู้ผ่านประสบการณ์ที่สมควรถูกบันทึกเป็นบทเรียน ซึ่งแน่นอนว่า 


“ฮอร์โมน”ที่อยู่ในตัวของพวกเขาสับสนไม่แพ้ใคร “ครูเย็น” เล่าว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเปิดกว้างแก่เด็กทุกกลุ่ม ทีมงานจึงแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มเด็กติดยา และกลุ่มเด็กท้องไม่พร้อม ซึ่งมีวิธีการดำเนินการที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจในการพูดคุย โดยเด็กติดยาสังเกตง่าย ส่วนมากเป็นเด็กผู้ชาย ครูและผู้ปกครองสามารถสังเกตได้จากการหนีเรียน หากมาเรียนก็จะกวนคนอื่น ทำตัวเป็นอันธพาลในห้อง กวนนักเรียนคนอื่นตลอดเวลา พูดคุยไม่ฟัง งานไม่ส่ง บางคนซึม ไม่มาโรงเรียน “สิ่งเหล่านี้คือลักษณะของเด็กที่มีปัญหาแน่นอน วิธีที่เลือกใช้จะเริ่มจากถามเพื่อนสนิทก่อน 


ซึ่งผู้ปกครองก็สามารถสังเกตได้หากลูกของเขาผิดปกติ เช่น ง่วงนอน หรือไม่ค่อยกินข้าว ออกนอกบ้านบ่อยๆ เท่าที่พบคือผู้ปกครองสังเกตได้ แต่ส่วนมากจะไม่กล้าถาม ถึงถามเด็กก็ไม่ตอบตรงๆ แต่ถ้าจับได้ 1 คนก็จับได้ทั้งกลุ่ม” ครูเย็นอธิบายขั้นตอนการสังเกตพฤติกรรม  ส่วนการเริ่มต้นพูดคุย ครูเย็นว่า อาจดูยากไปสักหน่อยที่จะทำให้เด็กกลุ่มเสี่ยงยอมรับในสิ่งที่เขากำลังเดินพลาดไปแต่เมื่อได้ใจเด็กแล้วก็จะทำให้มีข้อมูลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกรณียาเสพติด ครูเย็น ยอมรับว่าต้องใช้เวลาเพราะจากสถิติพบว่า เมื่อฝ่ายปกครองเรียกผู้ปกครองมารับทราบและส่งตัวไปบำบัดแล้ว ส่วนใหญ่คนที่ติดหนักมากๆ ต้องส่งเข้ารับการบำบัดไม่ต่ำกว่า 3 รอบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กด้วย 


“การดำเนินงานเรื่องท้องไม่พร้อมก็ดำเนินการคล้ายกัน หลายแห่งอาจประสบปัญหาว่าหาเจอกรณีเช่นนี้แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งโครงการนครพนมวัยใสยึดหลักช่วยเหลือเด็กให้ได้มากที่สุด ด้วยการให้โอกาสกลับมาเรียนใหม่เมื่อคลอดแล้ว ซึ่งถ้าเป็นกรณีเฉพาะ เช่น ข่มขืน จะดำเนินการอีกรูปแบบหนึ่ง แต่การให้ความรู้นักเรียนก็มีข้อจำกัดเพราะเยาวชนมักเบื่อการบรรยายที่ซ้ำซาก จึงต้องมีรูปแบบกิจกรรมใหม่ๆ ให้เยาวชนได้เรียนรู้ไปพร้อมกับการเล่น”“การพาเด็กแกนนำไปอบรม เขาก็ได้ประสบการณ์ในการถ่ายทอดความรู้ กลับมาก็พัฒนาเป็นเกมส์ต่างๆ ที่สามารถสอดแทรก ความรู้เรื่องเพศและยาเสพติดเข้าไปได้ เช่นการจัดกิจกรรมฐาน ด้วยการตั้งคำถามและให้เด็กเลือกข้างซ้าย-ขวา เช่นตั้งคำถามว่า การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางเสี่ยงต่อโรคเอดส์หรือไม่ เสี่ยงให้อยู่ทางขวา ไม่เสี่ยงให้อยู่ทางซ้าย เป็นต้น ซึ่งยังมีกิจกรรมอีกมากเพื่อให้ความรู้ ซึ่งเกาะเกาะป้องกันที่ดีที่สุด คือคนที่บ้านควรเปิดใจพูดเรื่องเพศให้ความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งเริ่มได้จากการเข้าหาลูกและสังเกต หาเวลาว่างนั่งคุยกัน เด็กส่วนมากจะไม่พูดคุย ถ้าเขาไม่ตอบ 


ไม่พูดไม่คุย แปลว่าเขาไม่ไว้ใจ เราสอบถามจากคนที่เขาสนิทและไว้ใจมากที่สุดได้ ซึ่งก็คือเพื่อนของเขานั่นแหละ” ครูเย็น กล่าวทิ้งท้าย  ทั้งนี้หลังจากที่มีสื่อนำเสนอโครงการ “นครพนมวัยใสห่วงใยสุขภาพ” ไป โรงเรียนนครพนม วิทยาคม จ.นครพนม ก็มีทิศทางการดำเนินงานที่เริ่มเข้มแข็งขึ้น มีโรงเรียนหลายแห่งเริ่มติดต่อเข้ามาเพื่อขอดูงาน นอกจากนี้ในเร็ววันจะมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อีกด้วยความผิดพลาดทางอารมณ์ที่ว่ากันว่าถูกส่งตรงมาจาก “ฮอร์โมน”จนเป็นที่มาของเรื่องท้องก่อนวัยอันควร หรือเรื่องยาเสพติด จึงน่าจะเริ่มหาทางออกด้วยการผู้เปิดใจยอมรับและร่วมกันหาทางแก้ไข ซึ่งดีกว่าการชี้นิ้วด่าทอโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเป็นไหนๆ 


ล้อมกรอบ             

ป.ล. ครูเย็นกระซิบว่า วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดทั้งเรื่องยาเสพติดและท้อง คือการให้ความรู้ ร้อยละ 99 ของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมก็จะเป็นผู้หญิงที่เรียบร้อยและป้องกันไม่ถูกวิธี เช่นนับหน้าเจ็ดหลังเจ็ดผิด กินยาคุมไม่ถูกวิธี ส่วนเรื่องยาเสพติดส่วนมากเป็นเรื่องของวัยรุ่นอยากรู้อยากลอง แต่ถ้ามีประสบการณ์ชีวิตจริงของคนหนึ่งคนไปคุย คนที่กำลังจะลองบางคนก็ไม่ลอง แต่บางก็ยังอยากลองอยู่ ซึ่งเมื่อลองไปแล้วไม่ดีเราก็ต้องรีบทำให้เขารู้ว่าไม่ดี ไม่เหมาะ ไม่ควรที่จะทำ ไม่ควรที่จะลอง ซึ่งการดึงรุ่นพี่เข้ามาทำงานถือว่าเป็นผลสำเร็จที่ดี


หมายเลขบันทึก: 544803เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2013 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2013 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท