deawche
เดี่ยวเช คมสัน deawche หน่อคำ

กำแพงเมืองแพร่สร้าง ปางบรรพ์


กำแพงเมืองแพร่สร้าง ปางบรรพ์
เป็นขอบเขตคูคัน โอบล้อม
พูนดินก่อเป็นสัน เสริมอิฐ
บรรพบุรุษเตรียมการพร้อม ปิดกั้นอันตราย
นอกเมืองทิศเหนือตก ยามอุทกภัยไหลล้นฝั่ง
น้ำยมเซาะตลิ่งพัง ถาโถมถั่งหลั่งเนืองนอง
บ่อาจท่วมเมืองได้ น้ำไหลคืนสู่คูคลอง
กำแพงเป็นเขตป้องกัน น้ำหลากเวียงพ้นภัย
แม้มีไพรีรุก มิอาจบุกเข้าเมืองได้
คงยากจะชิงชัย สมัยโบราณประโยชน์มี
หลักฐานประวัติศาสตร์ สมบัติชาติอย่าย่ำยี
กำแพงเมืองเป็นศักดิ์ศรี คูเมืองชี้แหล่งอารยธรรม
(วรพร บำบัด ......ประพันธ์)
สถานที่ตั้ง อยู่ในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

ประวัติความเป็นมา
ไม่ปรากฎแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่มีอายุมากกว่า ๑,๑๐๐ ปี คือมีหลักฐานจากประวัติวัดหลวง ที่กล่าวว่า " ....พ.ศ. ๑๓๗๔ ท้าวพหุสิงห์ ราชโอรสของพ่อขุนหลวงพล ขึ้นครองเมืองพลทรงรับสั่งให้ขุนพระวิษณุวังไชย เป็นแม่งานทำการบูรณะอารามวัดหลวง มีการหุ้มทองพระเจ้าแสนหลวงทั้งองค์ ขยายกำแพงวัดออกไปถมกำแพงเมือง ก่ออิฐให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำขุนยมไหลเอ่อท่วมเวียง แล้วฉลองสมโภช ๕วัน ๕ คืน..." แสดงว่ากำแพงเมืองมีการสร้างมาก่อนแล้ว

ลักษณะทั่วไป
กำแพงเมืองแพร่เป็นกำแพงชั้นเดียว ขนาดความสูงประมาณ ๗ เมตร ความกว้างของฐานกำแพงประมาณ ๑๕ เมตร ยาวรอบตัวเมือง ซึ่งมีรูปร่างรีคล้ายหอยสังข์ เป็นระยะทางประมาณ ๔,๐๐๐ เมตร ตัวกำแพง ภายในเป็นอิฐก้อนโบราณขนาดใหญ่และหินเรียงกันอยู่ แต่ดูจากภายนอกจะเป็นเนินดิน มีประตูเมือง ๔ ประตู ได้แก่ ประตูใหม่อยู่ทางทิศเหนือ ประตูชัยอยู่ทางทิศตะวันออก ประตูมารอยู่ทางทิศใต้และประตูศรีชุม อยู่ทางทิศตะวันตก ระยะจากประตูศรีชุมก่อนถึงประตูใหม่ประมาณ ๒๐๐ เมตร จะมีประตูเล็กๆ สำหรับนำสัตว์ออกไปเลี้ยงนอกเมือง เรียกว่า ประตูเลี้ยงม้า ทุกประตูจะมีป้อมปราการ ถัดจากกำแพงออกไปด้านนอกจะมีคูน้ำกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ส่วนด้านในกำแพงมีถนนสายรอบเวียง ซึ่งบางช่วงเป็นถนนอยู่บนสันกำแพง ได้แก่ถนนทางด้านทิศตะวันตกตั้งแต่ถนนศรีชุมไปจนถึงประตูใหม่

หลักฐานที่พบ
ในปัจจุบันยังมีแนวกำแพงเมืองปรากฎหลักฐานให้เห็นอย่างเด่นชัดและมีความสมบูรณ์อยู่มาก ช่วยป้องกันน้ำแม่ยมท่วมในเมืองไว้ได้จนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้ว่าบางส่วนจะถูกบุกรุกตัดเป็นถนน และมีการสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่บ้าง ปัจจุบันชาวบ้านเรียกคูน้ำว่า "คือเมือง" หรือ "น้ำคือ" และเรียกกำแพงเมืองว่า"เมก"

ประตูเมืองแพร่

ในอดีตการเข้าออกนอกเมืองแพร่ต้องผ่านประตูเมืองซึ่งมีมาแต่เดิม 4 ประตู คือ ประตูชัย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมือง ประตูศรีชุม อยู่ตรงข้ามกับประตูชัย ติดวัดศรีชุม เป็นประตูสำหรับเดินทางเข้าเมืองของบรรดาเจ้าเมือง หรือการออกรบ ประตูยั้งม้าหรือประตูเลี้ยงม้า เป็นประตูเล็ก ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง เดิมเรียกว่าประตู(หัว)เวียง อาจจะเอาคำว่าหัวไปไว้กับหัวข่วงก็ได้ “ยั้ง” ภาษาเหนือ แปลว่า เลิก หรือหยุด เมื่อใครเดินทางเข้าเมืองต้องนำม้าไปผูกไว้รอบๆ บริเวณนี้ให้ม้ากินหญ้า จึงมีคอกม้า และเกือกม้าหลงเหลือให้เห็นกันรวมทั้งมีร้านรับทำเกือกม้า และซ่อมเกือกม้าด้วย ประตูมาร (แม่มาน, หญิงมีครรภ์,มาร,พญามาร,มัจจุราช) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง เป็นประตูออกไปสุสาน ป่าช้า สมัยก่อนเป็นลานประหารนักโทษ เมื่อตายก็จะทิ้งศพไว้ แร้งจะลงมาจิกกินจนหมด จนเมื่อประมาณ พ.ศ.2483 ถูกเปลี่ยนให้เป็นฌาปนสถาน ด้วยการเผาเส้นทางที่ไม่ให้คนตายผ่าน คือถนนคุ้มเดิมหน้าโรงเรียนนารีรัตน์ หน้าโรงเรียนป่าไม้ และให้ผ่านมาทางถนนคำลือแล้วตัดตรงขึ้นประตูมานเลย ต่อมาเมืองแพร่เจริญขึ้น มีการสร้างทางเข้าออกเมืองเพิ่มขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือใกล้กับประตูมาร โดยเรียกว่า ประตูใหม่ สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2482 เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างตัวเมืองแพร่กับถนนยันตรกิจโกศล สำหรับกำแพงอิฐบริเวณประตูใหม่ที่เห็นในปัจจุบันนั้น สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2523 โดยเทศบาลเมืองแพร่ได้ปรับปรุงพื้นที่บนกำแพงเมือง ซึ่งกำแพ งเมืองโบราณของจังหวัดแพร่นับได้ว่ามีความสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองโบราณในภาคเหนือของประเทศไทย และคูเมืองด้านประตูใหม่ โดยจำลองแบบจากประตูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นประตูเมืองแพร่เพียงด้านเดียวที่มีกำแพงอิฐอยู่สองข้างคู่ประตูเมือง

โดย ขี้เล่า


หมายเลขบันทึก: 544772เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2013 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2016 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เสียดาย..ที่..บ้านเรา..ไม่มี..ระบบ..รัก..ษา..ผังเมืองเดิม...ปนเป..เป็นเมืองใหม่..เละๆ..กันทุกเมือง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท