หารือร่วมสภาทนายความจังหวัดเกาะสอง และทนายความ NGOs ที่จ.ระนอง



ทนายความพม่าจากสภาทนายความจังหวัดเกาะสองเข้ามาพูดคุยกับกลุ่มทนาย NGOs ไทยตามคำเชิญของ FED โดยกลุ่ม CBO เป็นผู้ประสานงานเพื่อเข้ามารับรู้สถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติ เพื่อประสานงานร่วมมือช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในอนาคตมีกลุ่ม NGOsไทย 3 องค์กรเข้าร่วม คือ FED, CEIA และ DISAC และทนายความระนองอีก 1 คน

การพูดคุยจัดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 9.30-15.00 น. โรงแรมไฮเฟล ทั้ง CEIA และ DISAC ไม่ได้ชักชวนใคร ผมเองในฐานะตัวแทนของ DISAC ก็ขอเข้าร่วมกับทาง CEIA เพราะสนใจเป็นพิเศษจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะชักชวนใครเข้าร่วม อีกอย่างไม่ทราบรายละเอียดใด ๆ ว่าทางทนายพม่าต้องการทราบสิ่งใด 2 หัวข้อหลัก คือสถานการณ์ และความร่วมมือช่วยเหลือทางกฎหมาย ผมก็เลยต้องจัดเต็มตามความต้องการความเข้าใจของผมเป็นหลักที่จะเสนอสถานการณ์แรงงาน และขอความร่วมมือในอนาคต

 

แรกพบเจ้าหน้าที่ผู้จัดในช่วงเช้าบอกว่า “คุยกันอย่างสบาย ๆ เป็นการพบปะครั้งแรก” ผมก็คิดไปตามนั้นแต่พอทีมทนายพม่ามาครบ 14 คน ไม่รวมคนอื่น ๆ ที่มาด้วย ทนายผู้หญิงที่มาในชุดชาวพม่าหวานและสวยหลากสีสัน เปลี่ยนไปทันที เมื่อใส่เสื้อคลุมสีดำ ทนายชายก็ใส่เสื้อคลุมสีดำ ผมคิดในใจ “ไม่คุยแบบสบาย ๆ แล้วมั้ง” และเมื่อนับจำนวนทนายความของไทย 5 คน มีคนเดียวที่แต่งหล่อแล้ว ผมรู้สึกทันทีเลยว่า“ฉันจะรับไหวไหมเนี่ย 3:1”

 

แนะนำตัวกันเสร็จ ออกนอกประเด็นไปที่ผู้จัดน่าจะเชิญสภาทนายความจังหวัดระนองเข้าร่วมด้วย การซักถามทนายความพม่าเกี่ยวกับการค่าตอบแทนให้กับทนายความในคดีอาญาว่ามีเหมือนในประเทศไทยหรือไม่ ซักถามถึงความเป็นอิสระของทนายพม่าว่าเป็นทนายของรัฐหรือไม่ ตอบข้อซักถามหอมปากหอมคอ เวลาเลยไปประมาณ 10.30 น.
ผมขอไมค์แย่งพูดก่อนที่จะหลุดประเด็นและเสียเปล่าในสิ่งที่เตรียมมา ไม่ได้อะไรเลยในวันนั้น

 

โดยการพูดคุยนั้นเป็นภาษาพม่ามีล่ามคือคุณมาวเว ของ FED เป็นผู้แปล

 

ตามหัวข้อที่ผมจัดไว้เป็น Mind Map 1แผ่น

1.การขอ C of I กับทางสถานทูตพม่า

เมื่อมองจากมุมมองจากกฎหมายไทยตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้วระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องปฏิบัติตามคำขอของประชาชนภายใน 90 วัน จากมุมมองนี้นับแต่วันที่ขอความอนุเคราะห์จากทางสถานทูตพม่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ยังไม่ถือว่าช้าไป ผมก็ถามทางสภาทนายความพม่าว่าเราจะดำเนินการฟ้องร้องรัฐบาลพม่าได้ไหม หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานล่าช้า เพราะตามกฎหมายปกครองไทยสามารถฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐได้ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีว่าการกระทรวง กระทั่งถึงเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้น้อย

 

ทนายความชาวพม่าบอกเลยว่าประเทศไทยโชคดีที่มีกฎหมายแบบนี้ออกมาเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน
ในส่วนของการตรวจสอบสัญชาติของเด็กนั้นหน้าที่โดยตรงเป็นของฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองและทะเบียนราษฎร
อย่างไรก็ขอให้ใจเย็น ๆ ได้อย่างแน่นอนจะช้าหรือเร็วเท่านั้น ผมก็เลยบอกว่าเมื่อเด็กได้ C of I แล้วก็จะนำเด็กกลับไปที่ประเทศพม่าเพื่อให้เด็กได้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านและทำบัตรประชาชนพม่าต่อไปซึ่งขั้นตอนนี้ทางสภาทนายความพม่าเกาะสองจะช่วยได้เนื่องจากเด็กบางคนเกิดในประเทศไทยมานานแล้ว และผมไม่ทราบว่าจะยุ่งยากเพียงใดเพราะยังไม่ทราบกฎหมายของพม่า ทางทนายความชาวพม่าก็ขอบคุณที่ทางผมจะนำเด็กกลับไปประเทศพม่า

 

2.การจดทะเบียนสมรสของชาวพม่ากับคนไทย

เรื่องการขอหนังสือรับรองความเป็นโสดกับทางสถานทูตพม่า เมื่อไม่สามารถขอมาได้จะทำเช่นไรได้บ้าง ทางทนายความพม่าบอกว่าถ้าคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศพม่าต้องการแต่งงานกับคนพม่าจะต้องไปยื่นคำร้องขอต่อศาลในประเทศพม่า(ศาลที่จังหวัดใดของพม่าก็ได้) เพื่อให้ศาลไต่สวนถึงสถานะภาพการสมรส อายุ และเงื่อนไขอื่น ๆ จนกระทั่งเป็นที่พอใจเพื่อให้นำคำสั่งศาลที่อนุญาตให้แต่งงานกันไปจดทะเบียนกับฝ่ายทะเบียนเพื่อให้ทางรัฐบาลทราบส่วนคนพม่าที่ต้องการสมรสที่ต่างประเทศก็ต้องไปยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อนำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนสมรสต่อไป

 

3.การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

มีทั้งคนไทย คนพม่า คนไร้สัญชาติที่ต้องการจดทะเบียนรับลูกคนที่มีเชื้อสายพม่าเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อเด็กได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นคนพม่าแล้ว Law on conflict of law ของไทย (พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481) ในส่วนที่เกี่ยวกับเด็กจะต้องบังคับตามกฎหมายพม่า ซึ่งทนายความพม่าบอกว่า The
registration of Kittima Adoption Act 1939 และ Customary law ยังบังคับใช้อยู่ในประเทศพม่าคนที่จะรับบุตรบุญธรรมคนที่เป็นพลเมืองพม่าแล้วจะรับบุตรบุญธรรมง่ายกว่า

 

ทางสถานทูตพม่าไม่สามารถที่จะระบุหรือตัดสินในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติของเด็กได้ จะต้องนำเด็กไปพิสูจน์กับทางตรวจคนเข้าเมืองและทะเบียนราษฎรพม่า

 

4.การจัดการทรัพย์สินของแรงงานชาวพม่า

เนื่องจากแรงงานชาวพม่าในประเทศไทย ส่วนหนึ่งจะมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ไทยเพื่อเป็นบัญชีเงินเดือน
มีรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตนเอง เมื่อไม่สามารถจัดการทรัพย์สินได้เนื่องจากสภาพร่างกายเป็นอัมพาต รวมทั้งเมื่อถึงแก่ความตาย จะต้องมีผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์หรือผู้จัดการมรดกแล้วแต่กรณี ตามกฎหมายขัดกันของไทย ให้ใช้บังคับตามกฎหมายพม่า จำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือจากทางทนายความพม่าซึ่งทนายความพม่าการจัดการทรัพย์สินของคนตายในประเทศพม่าก็ต้องใช้คำสั่งศาลเหมือนกัน

 

5.เงินสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคม

ตามกฎหมายไทยแรงงานข้ามชาติเมื่อเข้าเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมแล้ว การขอใช้สิทธิเงินสงเคราะห์บุตรส่วนที่เป็นฝ่ายชายเป็นผู้ขอจะต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หากชายชาวพม่ามิได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงก็มิอาจใช้สิทธิได้ ซึ่งตามกฎหมายขัดกันของไทยความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต้องเป็นไปตามกฎหมายของพ่อเด็กซึ่งก็คือกฎหมายพม่า และประเทศพม่ามีกฎหมายจารีตประเพณีในส่วนของการแต่งงานโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสซึ่งชอบด้วยกฎหมายเช่นกันจะทำเช่นไร

ทางทนายความพม่าบอกว่ากรณีนี้การยื่นคำร้องต่อศาลพม่า เพื่อให้ศาลไต่สวนความเป็นสามีภรรยากันตามจารีตประเพณีแล้วนำคำสั่งของศาลพม่าไปแสดงก็จะเป็นทางออกได้ทางหนึ่ง

การร่วมมือกันในอนาคตที่ออกมาเป็นข้อเสนอจากทางฝ่ายพม่าก็คือการนำกฎหมายการค้ามนุษย์ที่ UN ออกมาพิจารณาเพื่อบังคับใช้ร่วมกันเพราะเกี่ยวข้องทั้งคนที่ถูกขาย และผู้ที่ขาย

 

หมายเลขบันทึก: 544701เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท