รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แรกมีหอพักชาย ปี 2497


รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แรกมี หอพักชายปี 2497

(จรินทร์ กาญจโนมัย (508/ร)อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี : ”หอพักชาย” อนุสรณ์รัฐศาสตร์ 30 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2521 น. 13)

       ชีวิตของคนไม่เคยอยู่โรงเรียนประจำ ก็อยากอยู่ เพียงแต่คิดว่าจะอยู่ก็ตื่นเต้นเสียแล้ว ยิ่งจะได้อยู่ประจำในระดับมหาวิทยาลัยยิ่งเกิดตัณหามาก แต่กว่าจะสนองความต้องการตามความฝันได้ ก็เล่นเอาเหงื่อตกยางออกกันทีเดียว

ผมสอบเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

       คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2497 นั้น บังคับให้นักศึกษาทุกคนต้องอยู่หอพัก รับนักศึกษาจำนวนจำกัด เพราะมีงบประมาณจำกัด ความจริงงบประมาณไม่ว่าสมัยไหนๆ ก็จำกัดทั้งนั้นปีหนึ่งๆ รับได้ประมาณ 40 คนเศษ จึงต้องออกแรงสอบแข่งขันกันเข้าจองเตียงนอน ห้องน้ำ และโต๊ะเรียน
คณะอื่นในมหาวิทยาลัยในขณะนั้นยังไม่ต้องสอบเข้า

       “ประกาศผลสอบแล้วไม่มีชื่อ“ ข้อความในโทรเลขฉบับหนึ่งจากกรุงเทพฯไปถึงมือญาติกันคนหนึ่งเขาช่วยดูผลสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ให้ ความรู้สึกในขณะนั้นเหมือนกับเอาน้ำแช่น้ำแข็งราดจากอวัยวะเบื้องสูงสู่เบื้องต่ำ เคลื่อนไหวไปไหนไม่ได้เลย เพราะตัวมันเบาหวิวไปหมด และก็เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ชวนเพื่อนสนิทบางคนนั่งเรือออกกลางทะเล ไปก๊งปลอบใจกันที่เกาะ(เด็กอายุสิบแปด) เพราะถ้าไม่ใช่ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ไม่อยากเรียนที่ไหนอีกแล้ว ไม่ได้สมัครสอบไว้ที่ไหนอีกเลย เล่นเอาทางบ้านวุ่น ออกติดตามกันเป็นการใหญ่ นึกว่าลูกชายคงจะไปตายกลางทะเลเสียแล้วเพราะหายไปทั้งคืน หารู้ไม่ว่า เมื่อเด็กดัดจริตก๊งก็ต้องไปคายยางเหนียวๆ อยู่ที่เกาะทั้งวัน เมื่อพักฟื้นรักษาจิตใจพอสมควรก็หอบข้าวหอบของเข้ากรุงเทพฯ เพื่อวางแผนเรียนอะไรก็ได้ต่อไป
เพราะหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตเสียแล้ว ถึงกรุงเทพฯ ก็แวะไปดูประกาศผลทันที เพราะไม่รู้ว่าจะไปไหน เข้าที่พักก็คงจะโดดเดี่ยวอ้างว้าง สิ้นหวัง ถึงใจจะเหี่ยวก็อยากจะรู้ว่าเพื่อนๆ ใครสอบได้บ้างอ่านประกาศผลแวบแรกเห็นชื่อเพื่อนๆ หลายคน ดูประกาศจบไปแล้วก็หาชื่อตัวเองไม่เจอ เศร้าจริงๆ เศร้าเหมือนกับจะเป็นลม แต่เมื่อหมุนตัว

       ผละจากประกาศแล้ว ก็ยังอดเสียดายประกาศไม่หายอยากจะให้มีชื่อตัวเองเหมือนคนอื่นเขาบ้าง ตอนนี้ที่เป็นเสี้ยววินาทีวิกฤต หางตาเกิดชำเลืองเห็นนามสกุลของตัวเองบนแผ่นประกาศเข้า ทำให้หัวใจเต้นแรงสุดขีด เพราะนามสกุลนี้ก็มีเรามาสอบเข้า “รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์” คนเดียวนี่นา จึงต้องหันกลับตั้งตาอ่านแต่นามสกุลอย่างเดียว เหมือนพระมาโปรด! เป็นนามสกุลของเราจริงๆ นี่ แต่ชื่อกลายเป็นชื่อของคนอื่น ขึ้นต้นเป็นชื่อของคนอื่น ขึ้นต้นด้วยตัว “จ” เหมือนกัน ดวงเราควรจะไม่ตกต่ำถึงกับไม่ได้เรียนตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่เด็กน่า เอ ? เขาจะพิมพ์ชื่อหรือนามสกุลผิดก็ไม่รู้ จำไม่ได้ว่าวิ่งหรือเดินขึ้นไปที่ทำการของคณะรัฐศาสตร์บนชั้นสองตึกโดม ถามหาอาจารย์ผู้ปกครอง เจอหน้าอาจารย์ พ.ต.ต.ยุทธพงษ์ พงษ์สวัสดิ์ (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย ต่อว่าอาจารย์เสียฟังไม่ทัน “อาจารย์รู้ไหมครับผมแทบเสียคน เมื่อรู้ว่าสอบเข้ารัฐศาสตร์  ธรรมศาสตร์ ไม่ได้เพราะผมไม่ได้สอบไว้ที่ไหนเลย”  “อาจารย์เล่นพิมพ์ชื่อผิดอย่างนี้ใช้ไม่ได้” ฯลฯ จนกระทั่งอาจารย์บอกว่า  “เอาละ เอาละ เข้าได้แล้วขอโทษที” สวรรค์ก็ยังคงเมตตาเราอยู่ 

การเตรียมตัวเข้าหอพัก
        ผมต้องตื่นกับรายการยาวเหยียด ของเครื่องใช้ไม้สอย  นับแต่รองเท้าหนัง รองเท้าผ้าใบสีขาว  ถุงเท้า ผ้าเช็ดตัว  กางเกงนอน กางเกงใน เสื้อนอก เสื้อใน  ผ้าเช็ดหน้า เสื้อแขนยาวเสื้อกล้าม  เสื้อกีฬา เสื้อใส่เล่น  เนคไท ขัน สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน รองเท้าแตะ ฯลฯ สามสี่หน้าพิมพ์ เล่นเอาเหงื่อตกกว่าจะได้ครบ กลัวอาจารย์จะไม่ให้เข้าหอพัก บ้างก็นั่งเป็นทุกข์ว่าอาจารย์จะตรวจของใช้ตามที่กำหนดให้หรือเปล่าครั้นจะซื้อเพิ่มเติมในตอนนี้ก็ขาดปัจจัยแม่ให้มาไม่พอ เราเริ่มรู้จักกันบ้าง จากการปรับทุกข์สุขในเรื่องเหล่านี้ วันแรกๆ ก็เริ่มมี “นั่งตาลอย” กันบ้างแล้ว เกิดความวิตกกังวลไปต่างๆ นาๆ ที่วิตกกันมากที่สุดก็ระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์ จะถูกกักขังมากขนาดไหน จะแว๊บไปตามนัดยาใจอย่างเก่าได้หรือไม่ หรือจะได้ไปเฉพาะ เสาร์-อาทิตย์ ส่วนเรื่องตาลอยคิดถึงบ้านไม่มีเลย

หอพักนักศึกษารัฐศาสตร์ มธ.ยุคแรก
       เป็นตึก 2 ชั้น นอนชั้นบน ห้องนอนเป็นห้องยาวจุ 80 กว่าเตียง เรียงกันเป็นแถวแต่ละเตียง ห่างกันประมาณศอกเศษ เป็นเตียงไม้ ตู้ใต้เตียง 4 ใบสำหรับเก็บของ ตรงกลางใต้เตียงเป็นช่องว่างสำหรับวางรองเท้า มีฟูกปูด้วยผ้าปูที่นอนสีขาว ขาวโพลนไปทั้งห้อง ดูสะอาดตา นอน สองอาทิตย์แรก เดือนแรกห้องนอนสะอาดมาก ที่นอนสีขาวในระดับเดียวกัน ทุกเตียงปูกันถึงขนาดเอาสตางค์โยนแล้วต้องกระเด้ง ความชำนาญในการปูที่นอนติดตัวไปถึงขนาด “วันส่งตัวเข้าหอ”ไม่ต้องให้ผู้เฒ่าผู้แก่มาปูที่นอนให้ เพราะไม่ถูกใจ ต้องปูเอง ซึ่งก็เป็นกรรมที่ต้องปูที่นอนจนทุกวันนี้ ในเดือนถัดๆ มาไม่ต้องพูดถึง แต่ละคนมีสมบัติมากขึ้นๆ ขนาดแอบเอาโต๊ะเรียนบางตัวไปตั้งไว้หัวนอนเพื่อจะได้ดูหนังสือใกล้ๆเตียงนอนก็มีไม่น้อย

       เตียงนอน  เป็นเตียงไม้ ซึ่งมหาวิทยาลัยซื้อมาใหม่ ทำให้เกิด “ผี” ในห้องนอนคือส่วนใหญ่ตอนเย็นจะเป็นตอนที่ทุกคนลงไปทำกิจกรรมในสนามข้างล่าง ห้องนอนจะมืดครึ้ม ใครขืนขึ้นไปตอนนั้นคนเดียวก็ดูพิลึกๆ ชอบกล
ประกอบกับตึกธรรมศาสตร์ใต้โดมเป็นตึกเก่า มีปรัมปรานิทานมาก ล้วนน่ากลัวๆ ทั้งนั้น วันหนึ่งเวลาโพล้เพล้ นักวิ่งร้อยเมตรคนหนึ่งก็ขึ้นห้องนอน ทันทีที่ย่างเท้าเข้าห้องนอน
  :ซึ่งมีผ้าขาวคลุมเตียง มองดูขาวสลัวเรียงกันยาวเหยียดอยู่นั้น ก็มีเสียงดัง “เป๊ก” ข้างหน้า แข็งใจเดินเข้าไปอีก ก็มีเสียง “เป๊ก” ข้างหลัง ประเดี๋ยวก็ “แป๊ก” ข้างๆ
สลับกันอยู่อย่างนั้น ถี่บ้าง ห่างบ้าง ทันใดนั้นก็มีเสียงห้าวต่ำดังขึ้นอย่างเยือกเย็นว่า “ผีมา ๆ ๆ” เล่นเอานักวิ่งร้อยเมตร เผ่นออกจากห้องด้วยสถิติความเร็วที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต (และก็คงจะทำอีกไม่ได้แน่นอนในชาตินี้) ประตูมุ้งลวดแทบพังด้วยแรงกระแทก เล่นเอาพรรคพวกปอดลอยไปตามๆ กัน กว่าจะค้นหาข้อเท็จจริงได้ก็หลายวัน
ก็จะอะไรเสียอีกล่ะ เตียงไม้มันใหม่ เมื่อหดตัวก็จะมีเสียงดังเป็นธรรมดา  ก็เท่านั้นเองแหล่ะ

      "ผีคน"   แต่เรื่องผีมิได้หยุดลงเท่านั้น ต่อมาถ้าใครนอนก่อน เวลาเคลิ้มๆ สะลึมสะลืออยู่ก็จะถูกผีหลอกกันอยู่เสมอมา รูปร่างของผี ในหอพักส่วนใหญ่จะขาวโพลนไปทั้งตัว ผีบางตัวก็มีหน้ากระดูกตาโบ๋  บางตัวตั้งแต่หัวจดเท้าขาวไปหมด วันหนึ่งมีการจับผีกันขึ้น เพื่อนคนหนึ่งกำลังนอนสะลึมสะลืออยู่ ไฟห้องนอนดับหมดแล้ว คงมีแสงสลัวจากไฟฟ้าริมถนนใต้ต้นโพธิ์สาดเข้ามาพอสางๆ เท่านั้น เพื่อนๆ อีกแปดสิบคนเข้าสู่นิทรารมณ์กันแล้ว ผีเริ่มออกอาละวาด โดยก้มหน้าไปชิดหน้าของเพื่อนที่นอน แล้วก็มีเสียงห้าวกระซิบแผ่วๆ ข้างหูว่า “ผี  ผี ผี ฉันมาเยี่ยมแก” 
ทันใดนั้นคนก็ฟัดกับผี กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันทั้งเชิงมวยปล้ำ และมวยสากล พักใหญ่ผีเล่นไม่ซื่อใช้ลวดลายของ “จระเข้ฟาดหาง”  เล่นห้องเครื่องและท้องของคนเข้าไปฉาดใหญ่ ทำเอาฝ่ายคนตัวโค้งตัวงอฟุบม้วนอยู่กับพื้น ร้อนถึงเพื่อนต้องนำคนส่งโรงพยาบาล เล่นเอาไม่รู้สึกตัวไปทั้งคืนและทั้งวัน แต่ก็น่าประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่ระหว่างไม่รู้สึกตัวนั้น คนสามารถพ่นภาษาอังกฤษได้ตลอดเวลา และสามารถพ่นออกมาได้เหมือนกับที่อาจารย์สอนในห้องเรียนเมื่อตอนกลางวันเกือบทุกคำพูด ขณะนี้ก็กลายเป็นผีไปแล้ว ส่วนคนกลายเป็นนายอำเภออยู่ทางภาคใต้ของประเทศ และก็เป็นนายอำเภอมือดีเสียด้วย ไม่เชื่อไปถามผู้ว่าราชการจังหวัด  รองผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานีดูเถอะ ความจริงเรื่อง “ผี ผี” ยังมีอีกมาก มีทั้งผีจริงและผีปลอม

      " เปรตครับ"   นอกจาก “ผีแล้ว” ในหอพักยังมีเปรตอีกมากมาย “เปรต” จะออกหากินเป็นเวลาๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเช้าและเย็น กลางวันมีบ้างประปราย  หน้าแล้งมีอากาศร้อนจะมีเปรตชุกชุม หน้าหนาวเปรตจะน้อยลง พวกเราชินชากับเปรตเสียแล้ว เปรตจะมีสองขา เมื่อห้องนอนอยู่ชั้นบน ห้องน้ำอยู่ชั้นล่าง เปรตเหล่านี้มักจะออกหากินระหว่างห้องนอนกับห้องน้ำ ขึ้นๆ ลงๆ อยู่แถวนั้น ลักษณะของเปรตจะต่างกัน เฉพาะส่วนสูง และอ้วน ผอม บางตัวสูง บางตัวเตี้ย บางตัวผอม แต่บางตัวอ้วน และบางตัวขาก็ลีบเล็ก บางตัวขาก็อ้วนใหญ่ตามพันธุ์ของเปรตแต่ละชนิด
เปรตเหล่านี้มักจะอาละวาดอยู่แต่ในหอพัก คนภายนอกมักไม่ค่อยเห็น แต่วันหนึ่งแขกสุภาพสตรีของพวกเราเจอเข้าจนได้เพราะวันนั้นประตูห้องรับแขกซึ่งตรงกับประตูห้องน้ำไม่ได้ปิด เธอยืนรอขอพบพวกเราอยู่ตรงประตูนั้นพอดี เปรต 4-5 ตัว มีผ้าเช็ดตัวพาดไหล่มือถือขันน้ำเดินคุยกันดังลั่นจากชั้นบนจะลงไปอาบน้ำ เธอคงรออยู่นานไม่รู้จะถามใคร จึงดีใจ กรากไปที่ประตูเพื่อจะถามถึงคนที่เธอต้องการพบ ทัศนียภาพของเปรตที่เธอเห็น
! เป็นเหตุให้เธอตกใจ กรีดร้องออกมาสุดเสียง ยกสมุดจดคำบรรยายขึ้นปิดหน้า วิ่งออกจากตึกไปนั่งหอบอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ละล่ำละลักว่า “หนูไม่รู้ ? หนูไม่รู้ ? " ไม่รู้ว่าเธออยากรู้อะไร

        "การนอน"รวมกันห้องละ 80 คนเศษ หรือ 80 เตียงเศษ เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากในชีวิต เราจึงมีวงดนตรีกล่อมให้หลับทุกคืน พวกเรามีพรสวรรค์สามารถเล่นดนตรีได้โดยไม่ต้องซ้อมไม่ต้องหัด ถ้าจะจัดเข้ากับดนตรีสากลแล้ว น่าจะเป็นวง “แจ๊ส” ที่มโหฬารทีเดียว น่าฟัง น่าฟังมาก มีโน้ตทุกตัว ตั้งแต่ “โด” ถึง “ซี” เราสามารถเล่นกันได้นานตั้งแต่ 6 ถึง 8 ชั่วโมง ทำนองเพลงที่เล่นมักจะใช้จังหวะ บีกิน เป็นต้นว่า

                 ครอก - ฟี้ - ครอก - ฟี - ครอก - ฟี่

                 ฟี้ - ฟี้ - ฟี้ - ฟี้ - ฟี้ - ฟี้ - ฟี้  - ฟี้ - ฟี้

                 ครืด - คราด - ครืด - คราด - ครืด - คราด

                ขลาก - ขลาก - ขลาก - ขลาก - ขลาก

                ฮืด - ฮื้อ - ฮืด - ฮื้อ - ฮืด - ฮื้อ - ฮืด - ฮื้

                ฟืด - ฟืด - ฟืด - ฟืด - ฟืด - ฟืด - ฟืด

                ฟูด - ฟูด - ฟูด - ฟูด - ฟูด - ฟูด - ฟูด

                                       ฯลฯ

       ถ้านักดนตรีทั้งหลายจะยืมทำนองไปลองเล่นดูได้ เป็นเพลงที่น่าฟังมาก ถ้ามีเครื่องดนตรีถึง 80 ชิ้น เหมือนของพวกเราเล่นรวมกันอยู่ในห้องโถงเดียวกัน และเล่นนาน 6-8 ชั่วโมง ยิ่งสนุกใหญ่ เสียดายที่ขณะนั้นไม่มีเทปอัดไว้ให้ฟัง ถ้าจะให้รวบรวมนักดนตรีมาเล่นให้ฟังอีกคงจะยาก เพราะนักดนตรีบางคนก็ลาไปแสดงวงอื่น ซึ่งไม่มีทางที่จะหวนกลับมาได้อีกเสียแล้ว

       เรื่องขโมยจะขึ้นหอพักนั้นยากมาก   เรามีเวรยามนั่งนกกันตลอดคืน ก่อนอาหารเย็นทุกคนจะพร้อมกันในชุดนอน กางเกงนอนขาว เสื้อนอนขาว เดินแถวไปห้องอาหาร หลังอาหารเย็นจะมีสีขาวเต็มพรืดไปทั้งสนามหน้าโดมหน้าหอพักบ้าง มีผู้คนผ่านมาทักเราว่า “เดี๋ยวนี้ ธรรมศาสตร์เรากลายเป็นโรงพยาบาลไปแล้วหรือ มีคนไข้เต็มไปหมด”  ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น บางคนยังรำพึงว่า  “บรรยากาศในตอนโพล้เพล้ ช่างเหมือนโรงพยาบาลปากคลองสานเสียนี่กระไร”  มิหนำซ้ำคนไข้บางคนยังมีอารมณ์โรแมนติก ถือกล้องส่องทางไกลมองค้นหาข้อเท็จจริงไปยังอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาเสียด้วย ค้นหาอะไรอยู่หรือ อ๋อ !! ไม่มีอะไรหรอกครับ หอพักนักเรียนพยาบาลของ ร.พ.ศิริราชยังไงครับ หลังจากพักผ่อนกันแล้ว เราก็เริ่มทบทวนวิชาการต่างๆ ตามความสมัครใจซึ่งพอจะแบ่งได้เป็นกลุ่มๆ ดังนี้

        กลุ่มหนึ่ง หัวค่ำดูหนังสือ ดูทีวีนิดหน่อย แล้วก็นอน

        กลุ่มหนึ่ง  หัวค่ำ เดินเล่นยามเย็นที่ท่าพระจันทร์ ดูทีวี ดูหนังสือ แล้วก็นอน

        กลุ่มหนึ่ง  หัวค่ำ ดูทีวี  ดึกดูหนังสือ แล้วนอน

        กลุ่มหนึ่ง  หัวค่ำ เดินเล่น แล้วก็นอน ตีหนึ่งตีสองดูหนังสือ ตีห้าตื่นไปเรียนหนังสือ

        กลุ่มหนึ่ง  หัวค่ำ รำพัด ดึกนอน เช้าตื่นดูหนังสือ ไปเรียน

        กลุ่มหนึ่ง  หัวค่ำ จับไก่ ดึกนอน เช้าตื่น กลางวันเรียนหนังสือ

        ดูออกจะมั่วๆ ดี คืนทั้งคืนจะไม่มีความมืดสนิทในห้องนอน พวกนั่งวิปัสสนาดูหนังสือบนเตียงนอนจะมีวิธีพลางไฟไม่ให้แสงไปรบกวนเตียงข้างๆ เป็นอย่างดี (ทำแบบไอ้โม่ง) เพราะมีกลุ่มดูหนังสือตั้งแต่ กลุ่มหัวค่ำ กลุ่มตอนดึก
กลุ่มหลังเที่ยงคืน  และกลุ่มเช้ามือ  ซึ่งจะหาดูความวิปริตผิดปรกติเช่นนี้ได้ยากมาก

        ห้องน้ำของเรา เดิมเป็นห้องน้ำเปิเมื่อเริ่มเข้าหอพักใหม่ๆ ส่วนใหญ่ยังเหนียมกัน  อยู่มาผ้าขาวม้าจึงยังพอมีประโยชน์ พวกรุ่นพี่และรุ่นน้องบางคนเท่านั้นที่ใจกล้า ต่อๆ มา คงขี้เกียจซักผ้าขาวม้าตาก หรือเป็นการสิ้นเปลืองผ้าข้าวม้าก็เหลือเดา จึงต้องทำใจให้กล้าขึ้น ในที่สุดก็ชินชากันไปเอง จะเรียกว่ากล้า หรือหน้าด้านขึ้นก็สุดแต่จะคิดเอาเอง ต่อมามหาวิทยาลัยคงจะเล็งเห็นว่า ห้องน้ำเปิดทำให้สถานการณ์หวาดเสียวต่อนักศึกษาคณะอื่น ที่กลับบ้านเย็น จึงให้งบประมาณมาสร้างห้องน้ำปิด แบ่งเป็นห้อง มีประตูปิดได้แต่ละห้อง แต่ก็ดูจะสายเกินแก้ เพราะเราเคยชินกับห้องน้ำเปิดเสียแล้ว จึงไม่ค่อยปิดประตูห้องน้ำอาบกัน มันร้อนครับท่าน ! คงจะเดากันได้ว่าเมื่อต้องอาบน้ พร้อมๆ กัน มันสนุกหวาดเสียวถึงใจพระเดชพระคุณขนาดไหน ยากที่จะลืมคุณลักษณะพิเศษของแต่ละคนได้

       ตอนเช้าเราจะได้ยินเสียงนกหวีดของ“ครูพร้อม” (ท่านเป็นครูพละของชาวธรรมศาสตร์มาหลายยุค หลายสมัย เราเรียกท่านว่า “ครู” ติดปาก) ปลุกให้ตื่น แต่งชุดกีฬา (กางเกงขาสั้นขาว เสื้อยืดขาว รองเท้าผ้าใบ และถุงเท้าขาว) ขาวไปทั้งตัว เข้าแถวออกกำลังกายกันทุกเช้า มีหลายคนแปรงฟัน ล้างหน้าไม่ทัน  เพราะเมื่อคืนดึกไปหน่อย
(ดูหนังสือครับ) เสร็จแล้วก่อนอาบน้ำ ทานข้าวเช้าจะเป็นกิจกรรมพิเศษของชาวรัฐศาสตร์แต่ละคน หลายคนจะไปอยู่บนต้นจำปี ริมน้ำเก็บดอกจำปี หลายคนรีบอาบน้ำอาบท่า ที่หอบสมุดหนังสือ แต่ทั้งพวกเจ้าจำปี และพวกหอบสมุดหนังสือจะไปพบกันที่ห้องบรรยายของคณะบัญชีแต่เช้าจองโต๊ะให้สาว สมัยนั้นที่นั่งไม่พอกับนักศึกษา มาสายหน่อยต้องยืนฟังที่ระเบียง แฟนๆ ของชาวรัฐศาสตร์จึงมีที่นั่งฟังบรรยายในทำเลดีๆ ตามต้องการ บ้างชอบอยู่ใกล้อาจารย์เพราะจะได้มีสมาธิฟังชัดเจน บ้างชอบอยู่ไกลจะได้หลบมุมคุยกัน มิหนำซ้ำบางคนจะจองที่นั่งให้ตัวเองไว้ด้วย เพราะเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์การบัญชี หลายคู่ถึงกับอยู่กินด้วยกันมีความสุขอยู่จนทุกวันนี้ และก็หลายคู่ที่ต้องขอไปอยู่กับคนอื่น กิจกรรมของชาวหอจึงไม่ว่างเลยนับแต่ตื่นขึ้นมาซ้ำถ้าจำปีมีน้อย ต้องตั้งนาฬิกาปลุกรีบไปเก็บแต่เช้ามืดก่อนเพื่อฝูง ดูช่างขยันกันจริง

       ตอนเที่ยง เราก็มีข้าวเที่ยงกิน ตอนเย็น เราก็มีข้าวเย็นกิน เพราะเราเสียค่าอาหาร ค่าซักผ้าเป็นเดือนไปแล้ว
ดูเหตุการณ์น่าจะเรียบร้อยดี เรามีโรงอาหารสะอาด สวยงาม แก้ว จาน ซ้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ วางเป็นระเบียบ น่ารัประทานอาหารยิ่งนัก  เราเพิ่มรสชาติของอาหารตามระบบของ “ไฮด์ปาร์ค” เมื่อท่านหนึ่งเอาเก้าอี้นั่งมายืน แล้วตะโกนคำว่า “เป็ดหนังหนา ปลาหนังเหนียว ใช่ไหม?” ก็จะมีลูกคู่รับต่อๆ กันไปว่า “ใช่  ใช่  ใช่”  “อาหารไม่พอใช่ไหม?”  ลูกคู่จะรับว่า “ใช่  ใช่  ใช่”  “อาหารไม่มีคุณภาพและปริมาณใช่ไหม ?” ลูกคู่ก็จะรับกันว่า “ใช่  ใช่  ใช่”  เราสนุกสนานกันมาก แต่แม่บ้านน้ำตาซึมจมูกแดง เมื่อพี่สาวแกร้องไห้ เราก็สงสารที่สำคัญคือ ไม่รู้ว่าพี่สาวแกจงใจหรือเหตุบังเอิญก็ตาม ในวิชานิติเวชวิทยา เมื่อข้ามไปดูการผ่าตัดศพสดๆ ที่โรงพยาบาลศิริราชวันใดกลับมาเป็นต้องมาเจอตือฮวน แล้วกลิ่นตับ ไต ไส้พุง มนุษย์ มันช่างเหมือนของหมูเสียนี่กระไร ใครทำใจเด็ดตักตือฮวนใส่ปาก เพื่อนผู้หวังดีจะจ้อกันทีเดียวว่า ตรงนั้นตรงนี้ เหมือนกับอะไรของศพ ในที่สุดก็ต้องปล่อยออกมา มิหนำซ้ำของเก่าดีๆ ก็จะตามออกมาด้วย มันลืมยากจริงๆ กลิ่นมนุษย์นี่

       อาจารย์กับชั่วโมงการเรียน   เราเริ่มหัดปรับตัวให้เข้ากับอาจารย์ผู้บรรยาย ในขณะนั้นเรามีอาจารย์ประจำเพียง 3 ท่าน นอกจากนั้นเป็นอาจารย์พิเศษ และท่านก็มีงานประจำของท่าน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ อาจารย์พิเศษแต่ละท่านก็ไม่เหมือนกัน บางท่านมาตรงเวลาเลิกตรงเวลา พวกเราก็ต้องรีบเข้าห้องเรียนเตรียมไว้ให้พร้อม อาจารย์มาถึงจะได้สอนทันที ใครที่รู้ตัวว่าจะสายก็รีบวิ่งกระหืดกระหอบ  เข้าไปนั่งซี่โครงบานในห้องเรียนอาจารย์บางท่านคงจะงานมาก หรือจราจรติดขัดจะมาสาย เราก็พอใจ เพราะจะได้คุยเฮฮกากระเซ้าเย้าแหย่กันบางท่านมาบ้าง ไม่มาบ้างเราก็ดีใจ ถ้าอาจารย์ท่านใดบอกล่วงหน้ามาบรรยายไม่ได้ ก็ถูกใจเราที่สุดเพราะเราจะได้วางแผนทำกิจกรรมนอกหลักสูตรได้ บางชั่วโมงถ้าเรา “ชักใบ” ให้อาจารย์แล่นออกนอกทางได้บ้างก็เหมือนกับเล่นละครนอกบท หายง่วงดี บรรยากาศของห้องเรียนจึงไม่ซบเขา แต่เราก็เกลียดชั่วโมงบ่ายมากที่สุด เพราะทำให้เราเคารพอาจารย์โดยไม่ตั้งใจกันบ่อย คำนับท่านแล้วคำนับท่านอีก ท่านอาจารย์ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นบรรยายเรื่อยไป

     เลิกเรียนยามเย็น    หลังจากฟังคำบรรยายซึ่งครึ่งหลับครึ่งตื่นมาตลอดวันแล้ว ยามเย็นเราได้พักผ่อนกัน เต็มเหยียดตามถนัด บ้างเล่นตะกร้อ บ้างซ้อมรักบี้ บ้างซ้อมบาสเกตบอล บ้างฟุตบอล บ้างเทนนิส บ้างขายขนมจีบ  บ้างจับไก่สนามหลวง บ้างไปกินขนมฟรีที่ที่พระจันทร์ บ้างข้ามฟากไปนอนป่วยที่ ร.พ.ศิริราช บ้างไปช่วยติววิชาการบัญชี บ้างทำความสะอาดใต้โคนจำปี โคนชงโค บ้างสีไวโอลิน บ้างถกกันเรื่องการเมือง(มีน้อยมาก) ฯลฯ มากมายจนแยกพวกไม่ถูก จะเจอกันอีกทีก็อาหารเย็น

       ชื่อพ่อแม่ คือนิคเนม    ที่แน่นอนที่สุดไม่ว่าจะรายการไหน บิดามารดาที่เคารพของเราจะมีโอกาสได้กล่าวขวัญถึงกันอยู่เสมอ บางทีทั้งๆ ที่กินนอนด้วยกันถึง 4 ปี ยังเรียกชื่อตัวกันไม่ค่อยถูก ถ้าเมื่อไรบิดาบังเกิดเกล้าของใครมาเยี่ยมที่หอพัก เป็นได้ฮือฮากันไปอีกหลายวัน พ่อผู้มาเยี่ยมมักจะต้องถามลูกว่า

        “เมื่อกี้เพื่อนของลูกเขาตะโกนเรียกใคร ชื่อเหมือนพ่อจัง พ่อเกือบจะชานรับไปแล้ว แต่เห็นเขาใช้อ้ายนำหน้า พ่อเลยนึกขึ้นมาได้ว่า คงเรียกเพื่อนกัน”

        ลูกชายสุดสวาทตอบอ้อมแอ้มๆ ว่า  “ครับคุณพ่อ เพื่อนเขาตะโกนบอกผมว่าคุณพ่อมาหาครับ”

        พ่อทำท่างงๆ  “อือ อือ ก็เหมือนพ่อเมื่อสมัยเด็กๆ แหละวะ”

       "ชกต่อยกันเป็นเรื่องธรรมดา" สุภาพบุรุษในหอพักก็มีทั้ง “ลมร้อน” และ “ลมเย็น” ประเภท “ลมร้อน” ก็มักจะยุติข้อพิพาทกันในขณะที่ร้อนๆ นั่นแหละ โครมครามๆ เดี๋ยวเดียวก็หยุด แล้วก็จับมือกัน ประเภท “ลมเย็น” สิแปลกดี
มีอยู่คู่หนึ่งเกิดปัญหาขุ่นใจกันตั้งแต่ตอนกลางวัน หลังจากเรียนหนังสือเล่นกีฬา รับประทานอาหารเย็น ดูหนังสือ สวดมนต์ แล้วก็เข้านอน เพื่อนๆ ทุกคนหลับสนิท ผ่านเที่ยงคืนไปแล้ว เสียงนาฬิกาปลุกเบาๆ ตอนตีสอง กระทาชายนายหนึ่งลุกขึ้นมา เดินไปปลุกอีกนายหนึ่งที่เตียงนอน ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันนัก ทั้งสองรีบใส่กางเกงกีฬา เสื้อยืด รองเท้าผ้าใบ และในห้องนอนที่เกือบมืดสนิทนั้นเอง ทั้งสองก็พากันเดนไปปลุกเพื่อนอีกคนหนึ่งจากเตียงใกล้ๆ
กัน “ปลุกทำไมโว้ย คนกำลังนอน” เสียงงัวเงียดังแผ่วจากผู้ที่กำลังหลับเป็นสุข   “ช่วยเป็นกรรมการหน่อยว่ะ” 
เสียงกระซิบขอร้อง “กรรมการอะไรวะ ดึกดื่นป่านนี้”  ผู้สงสัยก็ยังคงสงสัยอยู่ “อั๊วจะต่อยกันว่ะ”ทั้งคู่ชี้แจง “ต่อยอะไรกันวะ ดึกดื่นป่านนี้”  กรรมการพูดด้วยความประหลาดใจ “อั๊วชอบตกลงกันเงียบๆ ว่ะ ลงกันไปชั้นล่างกันเถอะ เดี๋ยวเพื่อนตื่น”  ทั้งสามคนกรรมการหนึ่งคนและคู่พิพาทอีกสองคน ก็พากันเดินลงมาชั้นล่าง ไปห้องพละ ต่อมาอีกหลายวันพวกเราจึงรู้ว่า “สุภาพบุรุษเที่ยงคืน” ได้ตกลงแก้ปัญหาของเขาด้วย “กำปั้นไม่มีรู” เรียบร้อยไปแล้วด้วยความยึดมั่นในระเบียบและกติกา กรรมการท่านก็ตัดสินด้วยความยึดมั่นในระเบียบและกติกา กรรมการท่านก็ตัดสินด้วยความเป็นธรรมที่สุดในขณะนี้ทั้งกรรมการและสุภาพบุรุษคู่พิพาท ต่างเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กันไปหมดแล้ว ตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งนั้น อยู่กระทรวงเดียวกันเสียด้วย และที่สำคัญก็คือ ทั้งสามคนยังเป็นเพื่อนรักกันเหมือนเดิม ต่อยกันแล้วจับมือกัน กินเหล้าด้วยกัน ไม่มีอะไรที่จะมาแยกเราไปจากกันได้

       สรุป   ชีวิตในมหาวิทยาลัยของชาวรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นช่วงเวลาของการศึกษาจริงๆ เราศึกษาทั้งทฤษฎีและประสบการณ์ ด้านทฤษฎีเราก็ศึกษากันอย่างกว้างขวาง แนวความคิด ปรัชญา หลักการและเหตุผลที่นำมาปฏิบัติจริงๆ อุปสรรคข้อขัดข้องตลอดจนวิธีการแก้ไข วิธีการศึกษาเหล่านี้จึงเป็น “เบ้า” ที่หล่อหลอมให้เราเป็นคนมี “ใจกว้าง” พร้อมที่จะยอมรับ “ข้อเท็จ” และ “ข้อจริง” ของสังคม เราพร้อมที่จะอยู่กับความจริงของสังคม และพยายามปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น ตามครรลองของทฤษฎีซึ่งปรับให้เข้ากันได้กับสถานการณ์ และความเป็นอยู่อย่างไทย ประสบการณ์ของเราในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นรุ่นหอพัก หรือไม่มีหอพักเราก็เข้ากันได้ ในขณะที่มีหอพักนั้น
ก็ยังมีหลายคนที่ยังเดินเรียนตกค้างก่อนเปิดหอพัก การอยู่หอพักหรือไม่อยู่ไม่ได้ทำให้เราแตกต่างกัน เรารักกันและเราก็อยู่อย่างรัฐศาสตร์ ลูกแม่โดมเหมือนกัน

        การศึกษาวิชารัฐศาสตร์ และประสบการณ์ของชีวิตนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เราได้เปรียบ เพราะเป็นการเปิดหูเปิดตามองโลกกว้างด้วยใจเป็นธรรม เรามีเสรีพอสมควรกับฐานะของนักศึกษา รัฐศาสตร์สอนให้เรายอมฟังความคิดเห็นของคนอื่น หลายครั้งเราต้องยอมรับว่า ความเห็นของเราไม่ถูกต้อง หรือถูกต้องสู้คนอื่นไม่ได้ รัฐศาสตร์สอนให้เราประพฤติปฏิบัติตน อยู่ในกฎเกณฑ์ของสังคม เมื่อยามอยากทำอะไรนอกลู่นอกทาง จิตใต้สำนึกที่เราสั่งสมจากการศึกษาและประสบการณ์ มักจะคอยเหนี่ยวรั้งมิให้เราทรยศต่อสังคมอยู่เสมอ เมื่อเราจบการศึกษา เราคิดว่าเรามีพื้นฐานพร้อมที่จะทำงานให้กับสังคม เข้าไปอยู่ในสังคมได้ แต่เมื่อเราออกมาทำงานในโลกกว้าง เราก็ต้องยอมรับว่า ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ ประสบการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ ที่เราพบ
ทำให้เรารู้สึกด้อยลงไป เราจึงต้องศึกษาต่อไป ยิ่งเรียนก็ยิ่งรู้ ตราบใดที่เราไม่อวดรู้ เราก็ต้องเรียนให้รู้ เมื่อเราศึกษาเรื่องของสังคมแล้ว เราไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมเรา เราก็อยู่ในสังคมด้วยความสุขสบาย สังคมแต่ละสังคมมีกฎเกณฑ์ไม่เหมือนกัน สังคมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่ออนาคตของชาติสังคมหนึ่ง จึงเป็นสังคมที่น่าศึกษายิ่ง


                                             

         การแต่งกายของนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ในช่วงปี 2497 - 2520

 

------------------------------




หมายเลขบันทึก: 544005เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ติดตามอ่าน...เรื่องราวน่าภาคภูมิใจและประทับใจมากนะคะ...ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท