ระดับความเข้มข้นในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กิจการโทรทัศน์และวิทยุ


                  ระยะหลังๆ มักจะมีข่าวในเรื่องการกำกับดูแลเนื้อหารายการทีวี นับตั้งแต่เรื่องการงดออกอากาศละครทีวีเหนือเมฆ การออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทยตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ” และปัจจุบันคือ ละครทีวีเรื่องฮอร์โมน โดยเฉพาะอย่างหลังนั้น มีข่าวว่า กสทช. ในฐานะองค์กรผู้มีอำนาจโดยตรงอาจจะเข้าทำการเซ็นเซอร์บางฉากบางตอนหรืออาจจะเรียกทางผู้ผลิตรายการไปคุย ซึ่งในเรื่องนี้เมื่อพิจารณาถึงอำนาจของ กสทช.แล้ว อาจจะมีประเด็นในเรื่องความสับสนของการใช้อำนาจกำกับดูแล

                จึงอยากจะนำเรื่องระบบการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการวิทยุมาอธิบายคร่าวๆ ให้เพื่อนๆ เข้าใจมากขึ้น โดยระบบการกำกับดูแลจำแนกได้คร่าวๆ 4 รูปแบบ กล่าวคือ

1. การกำกับดูแลแบบที่เป็นการควบคุมเต็มรูปแบบ (full regulation) เป็นการกำกับดูแลโดยใช้อำนาจจากหน่วยงานของรัฐที่ทำการแทรกแซงกิจการของเอกชน (ซึ่งอีกด้านหนึ่งย่อมเป็นการจำกัดเสรีภาพของเอกชน) โดยส่วนใหญ่การใช้อำนาจของรัฐประเภทนี้จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย (จากมุมมองของรัฐ) และมักจะถูกนำมาใช้เมื่อไม่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ข้อมูล ข่าวสารบางประเภท ซึ่งบางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องที่เห็นพ้องต้องตรงกันของคนในสังคม เช่น เรื่องลามกอนาจารหรือเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เป็นต้น ดังเห็นได้จากในยุคสมัยหนึ่งที่มีการเซ็นเซอร์การเผยแพร่งานที่เกี่ยวกับแนวคิดคอมมิวนิสต์

2. การกำกับดูแลร่วมกัน (Co-regulation) เป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน (ที่เกี่ยวข้อง) ในการร่างกฎเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลภายในกิจการของตน โดยสาระสำคัญของการกำกับดูแลรูปแบบนี้จะมอบหมายให้กลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนั้นๆ เป็นผู้จัดทำกฎระเบียบต่างๆ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและบังคับระหว่างกันเอง โดยหน่วยงานของรัฐจะทำการรับรองกฎระเบียบดังกล่าวและรัฐทำหน้าที่บังคับการให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่จัดทำขึ้น

3. การกำกับดูแลตนเอง (Self-regulation) การกำกับดูแลรูปแบบนี้ รัฐมอบหมายให้เอกชนจัดทำกฎระเบียบเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของตนและให้เอกชนเป็นผู้บังคับการให้เป็นไปตามกฎระเบียบนั้นๆ ด้วยตนเอง ซึ่งการกำกับดูแลรูปแบบนี้หากมีการละเมิดกฎระเบียบ (แต่ไม่ถึงกับผิดกฎหมาย) ก็จะถูกลงโทษโดยกลุ่มอุตสาหกรรมเอง เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในบางประเทศหากให้บริการได้มาตรฐานตามที่กลุ่มผู้ให้บริการรับรองก็จะได้รับตราหรือเครื่องหมายเพื่อรับรองคุณภาพ ขณะที่ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบก็จะไม่ได้ตราหรือเครื่องหมายดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดตราหรือเครื่องหมายดังกล่าวจะมีผลต่อความเชื่อถือในทางธุรกิจและต่อผู้ใช้บริโภคได้ เป็นต้น หรือเมื่อมีการละเมิดกฎหมาย ผู้ผลิตเนื้อหาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องย่อมต้องรับผิดต่อกฎหมายอยู่แล้ว เช่น หากมีการฉายละครที่มีฉากเลิฟซีนและฉากเลิฟซีนนั้นถูกจัดว่าเป็นภาพลามกอนาจาร ทางด้านผู้ผลิตรายการย่อมต้องรับผิดตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว แต่ทางหน่วยงานของรัฐไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาเนื้อหาก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ และไม่สามารถห้ามการเผยแพร่ได้  

4. การกำกับดูแลแบบไม่มีการกำกับดูแล (unregulation) เป็นการกำกับดูแลที่ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการประกอบกิจการโดยเฉพาะแต่ใช้กฎหมายทั่วไปเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายในหมวดคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งการกำกับดูแลรูปแบบนี้สรุปได้ว่าจะไม่มีการควบคุมการกระทำก่อน แต่จะใช้มาตรการทางกฎหมายที่เป็นการควบคุมในภายหลังเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงไม่มีข้อห้ามหรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

                       และจากข่าวสารที่ กสทช. ต้องการเซ็นเซอร์บางฉากบางตอนของละครทีวีหรือการเรียกผู้บริหารหรือผู้ผลิตรายการไปคุยในเชิงป้องปรามนั้น อาจจะถือได้หรือไม่ว่า กสทช. ใช้อำนาจในการกำกับดูแลแบบเต็มรูปแบบ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมเนื้อหา และอาจจะถือได้หรือไม่ว่าเป็นการแทรกแซงกิจการของเอกชนและกระทบกระเทือนกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ขณะที่ในปัจจุบัน นโยบายของ กสทช. ในเรื่องกิจการโทรทัศน์นั้น มุ่งเน้นที่จะใช้การกำกับดูแลในรูปแบบ “การกำกับดูแลตนเอง” ซึ่งยกอำนาจในการกำกับดูแลเนื้อหาให้กับทางสถานีและทางสถานีจะเป็นผู้รับผิดชอบเองเมื่อมีการปล่อยเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมาย  ดังนั้น หากนโยบายการกำกับดูแลของ กสทช. ยังไม่สอดคล้องกับทางปฏิบัติของตน ทางด้านผู้ผลิตรายการในยุคทีวีดิจิตัลคงจะต้องทำงานหนักสำหรับการทำความเข้าใจความคิดของ กสทช.  


หมายเลขบันทึก: 543987เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท