เรียนรู้จากกการกระทำ 5 ชาตรี สำราญ


ให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมทีละขั้น ทีละตอน ผู้เรียนจะสามารถมองเห็นความสามารถของตนที่ซ่อนอยู่ในตน แล้วค่อยๆ ดึงออกมาใช้ทีละนิดๆ จนมั่นใจว่า “ใช่แล้ว นี่แหละ คือ เรา”

5 หยิบฝัน ปั้นดาว

(ตอนที่1)

  การที่เราจะสอนให้ผู้เรียนรู้จักตนเองนั้นผู้สอนจะต้องไม่สอนแบบเดิมๆ คือ แบบบอกเนื้อหาให้ผู้เรียนไปท่องจำผู้สอนจะต้องคิดค้นหากิจกรรมมาสร้างเรื่องราว ให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมทีละขั้นทีละตอน ผู้เรียนจะสามารถมองเห็นความสามารถของตนที่ซ่อนอยู่ในตน แล้วค่อยๆ ดึงออกมาใช้ทีละนิดๆจนมั่นใจว่า “ใช่แล้ว นี่แหละ คือ เรา

  สำหรับเนื้อหาวิชาก็เช่นกัน เมื่อผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมไปสรุปบทเรียนตามขั้นตอนย่อยๆ ไป เนื้อหาวิชาการก็จะปรากฏขึ้นมาทีละนิดๆในดวงใจผู้เรียน เมื่อจบบทเรียนความรู้ของผู้เรียนก็จะสมบูรณ์ขึ้น เต็ม ขึ้น

  การสอนแบบนี้ ครูผู้สอนต้องเตรียมเรื่องสอนแบบเป็นเรื่องหรือสถานการณ์เรื่องราว (Story Line)ซึ่งผู้เรียนจะสามารถดึงความถนัดของตน ออกมาใช้ในการค้นหาความรู้ในกิจกรรมนั้น ๆได้ด้วยตนเอง ครูผู้สอนจะต้องกระตุ้นผู้เรียนด้วยคำถามที่เร้าใจผู้เรียนให้ใคร่รู้คำตอบความอยากรู้ของผู้เรียนทำให้เกิด ฉันทะ (ความตั้งใจ) วิริยะ(ความเพียร) ที่จะปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ จนกระทั่งได้รู้เรื่องราวนั้นๆแล้วผู้เรียนจะเกิด ปิติ หรือ จิตตะ คือพึงพอใจและเข้าใจต่อบทเรียนนั้นๆ เป็น วิมังสา คือแจ้งใจในบทเรียนหรือเนื้อหาที่เรียนรู้

  ความสำคัญของการสอนให้ผู้เรียนรู้จักค้นหาความถนัดของตนเองนั้นผู้สอนจะต้อง สร้างสถานการณ์เรื่องสอนหลากหลาย เรื่องราวแต่ละเรื่องที่ผู้เรียนเข้าไปเรียนรู้พวกเขาจำเป็นจะต้องดึงความถนัดของตนออกมาใช้ควบคู่ไปกับทักษะกระบวนการที่บทเรียนกำหนดไว้ตรงนี้แหละคือ จุดสำคัญของการจุดประกายให้ผู้เรียนค้นพบตนเอง

  บทเรียนแต่ละบทผู้สอนจะต้องสร้างปมปัญหาให้ผู้เรียนใช้ความสามารถแก้ไขปัญหานั้นๆสถานการณ์อย่างนี้จะช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสค้นพบตนเอง และสาระวิชาการบทเรียนแบบนี้จะเน้นให้ผู้เรียนใช้ ทักษะกระบวนการ เดินทางไปสู่ความพึงพอใจต่อวิธีการเรียนรู้(LearningHow to Learn) จนสามารถค้นพบวิธีการเรียนรู้

  เมื่อปี พ.ศ.2536 ศน.สมชัย แซ่เจียร่วมกับคณะครูโรงเรียนบ้านสันมะเค็ดและครูในอำเภอเวียงป่าเป้าบางคนเรียนรู้ป่าชุมชน เป้าหมายอยู่ที่การสร้างจิตอนุรักษ์ป่าเพราะภูเขาในอำเภอเวียงป่าเป้ากลายเป็นภูเขาหัวโล้น ป่าไม้ถูกทำลาย กลางคืนจะเห็นแสงไฟที่เกิดจากการเผาป่าคณะผู้สอนตั้งคำถามว่า “ต้นสันมะเค็ดเป็นอย่างไร หายไปไหน ทำไม” คำถามง่ายๆที่ผู้เรียนต้องใช้เวลาในการสืบค้นจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนวันแล้ววันเล่าที่เห็นชัดเจนคือเกิดคำถามต่อๆ ไปมากมาย ใช้เวลาเรียนต่อเนื่องหลายปี เพราะบทเรียนนี้ คำถามง่ายๆอย่างนี้ ส่งผลให้ปลุกสำนึกชุมชนผู้คนในหมู่บ้านออกมาร่วมเรียนรู้กับชุมชนและโรงเรียน ร่วมกันปลูกป่าร่วมกันสร้างป่าชุมชน บทเรียนอย่างนี้ควรมีในทุกๆ โรงเรียนทุกชุมชน

  ใน มองต่างมุมอย่างเข้าใจ (สื่อพลัง ปีที่ 20ฉบับที่ 1 กรกฎาคม – กันยายน 2555) กล่าวว่า

  “ครูจะต้องฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีเรียนรู้จากการตั้งคำถามและการแก้ไขปัญหา หัวใจสำคัญคือคำถามและปัญหาที่จะนำมาให้เด็กเรียนรู้นั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กับชีวิตจริง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจและเข้าถึงความหมายของการเรียนรู้ที่เป็นไปเพื่อการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติการจริงกับกลุ่มเพื่อน ได้เห็นผลที่เกิดขึ้นจริงโจทย์ชัดดี จะไม่ได้มาจากหนังสือแต่จะมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ เช่นจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่าง”

  บทความบทนี้สอดรับกับผลที่เกิดจากการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านสันมะเค็ดอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย (เมื่อปี พ.ศ.2536 – 2540)นักเรียนมีพฤติกรรมใคร่รู้ใคร่เรียน ตั้งคำถามเก่ง ตั้งคำถามแล้วต้องค้นหาคำตอบมาจนได้ผมว่า เด็กๆ เหล่านั้นเกิดจิตวิจัยเพราะทุกคำตอบที่ได้มาเขาจะต้องตรวจสอบครั้งแล้วครั้งเล่าและชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลร่วมกิจกรรมและร่วมตรวจสอบคำตอบที่ได้มาจากข้อมูลต้องพิสูจน์ซ้ำจนแน่ใจว่าใช่แล้วจึงเชื่อและเวลาพวกเขาจะแก้ปัญหาอะไร เขาจะคิดแบบนักวิจัย นี่คือคนมีจิตวิจัย

  มีเรื่องน่าคิดนิดหนึ่งคือเมื่อมีครูและผู้คนภายนอกเข้าไปศึกษาวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านสันมะเค็ดต่างก็ถามหากันว่า แล้วป่าชุมชนอยู่ที่ไหนเพราะในระยะแรกเริ่มบ้านสันมะเค็ดไม่มีต้นไม้ใหญ่ ไม่มีป่า มีแต่ที่โล่งภูเขาหัวโล้น ผู้เข้าไปดูงานมักจะคิดว่า ถ้าเรียนเรื่องป่าแล้วต้องเรียนในป่านั่นก็ถูกแบบหนึ่ง แต่บทเรียนครั้งนี้คณะผู้จัดกิจกรรมมีเป้าหมายปลูกป่าในหัวใจผู้เรียนทุกคนทั้งเด็กและผู้ปกครองเพราะฉะนั้นป่าที่มีคือป่าในความคิด ป่าในฝัน ป่าในหัวใจ และเป็นป่าที่ในที่สุดห้าหกปีต่อมาก็ปรากฏมีขึ้นในหมู่บ้านสันมะเค็ดความสำเร็จของบทเรียนนี้คือ ชาวบ้านรักป่า ร่วมกันปลูกป่า และดูแลรักษาป่านี่คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่บรรลุเป้าหมาย

  การเรียนรู้แบบนี้ครูจะต้องไม่ยึดสาระวิชาเป็นตัวตั้งไม่นำมาตรฐานการศึกษาหรือตัวชี้วัดมากำหนดล่วงหน้าว่า “จะต้องเรียนผ่านเนื้อหาใดตัวชี้วัดใด แต่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนไปสืบคืนข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้มากๆแล้วร่วมกันจำแนกกลุ่มข้อมูล อภิปรายสรุปเป็นความรู้ที่ผู้เรียนรู้ตรงนี้แหละครูสามารถมองเห็นว่า ผู้เรียนผ่านการเรียนรู้ตัวชี้วัดใดบ้าง ข้อมูลเหล่านั้นจะบอกให้รู้ซึ่งดูได้จากหนังสือเล่มเล็ก หรือ หนังสือตำราเรียนที่ผู้เรียนเขียนดูได้จากการแสดงพฤติกรรมระหว่างเรียน ระหว่างทำงานกับกลุ่มเพื่อนระหว่างการเรียนรู้กับแหล่งเรียนรู้ต่างๆ หรือจากการนำเสนอผลงานที่ตนเรียนรู้ แล้วจัดทำนำเสนอ

  การเรียนรู้แบบนี้ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งกว่าการเรียนรู้แบบปกติธรรมดาที่สอนกันอยู่ทั่วๆไป เพราะผู้เรียนเรียนรู้ได้ 3 ระดับคือ

  1.เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวนั้น (LearnAbout)เป็นการเรียนรู้เพื่อที่จะค้นพบสภาพและลักษณะของสิ่งนั้นๆ โดยการสืบถาม สอบสวน สืบค้นจนรู้จักสิ่งนั้นๆ

  2.เรียนรู้จากสิ่งนั้นๆ (LearnIn) เรียนรู้เป็นสื่อ หรือสิ่งที่เรียนรู้นั้นเป็นสื่อให้เรานำวิธีการเรียนรู้ (LearningHow to Learn)จนค้นพบวิธีการเรียนรู้ที่แท้จริง และรู้จริงในเรื่องที่เรียนรู้ เรียกว่า รู้จริง

  3.เรียนรู้ เพื่อสิ่งนั้นๆ (LearnFor) ข้อนี้สำคัญมากเพราะเมื่อผู้เรียนเรียนรู้เรื่องราวสิ่งที่เรียนรู้ จนรู้จัก รู้จริงแล้วผู้เรียนจะพัฒนาจิตใจตนเองจนเข้าถึงสิ่งนั้นๆจะรู้สึกรักและหวงแหนสิ่งนั้น จนถึงขั้นจัดกิจกรรมอนุรักษ์หรือเข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งนั้น เพราะเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น เรียกว่า รู้แจ้ง

  AboutIn For ไม่ใช่สอนแบบแยกส่วนแต่ผู้สอนจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนใช้ทักษะกระบวนการเข้าไปเรียนรู้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นขั้นabout เมื่อผู้เรียนเพลินไปกับการเรียนรู้ เขาก็จะ Inในเรื่องนั้นๆ แล้วจิตใจของเขาก็จะเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรียนรู้จะเกิดจิตอนุรักษ์ และจัดกิจกรรม เพื่อ (for) รักษา หรือสืบต่อสิ่งนั้นให้ยั่งยืนต่อไป

  ผมเห็นว่าขั้น In กับ For นี่แหละสำคัญมากเพราะจะช่วยให้ผู้เรียนรู้จักตัวตนของตนได้

หมายเหตุ

หยิบฝัน ปั้นดาว เขียนภายหลังจากออกจากห้อง I.C.U. ได้ 2 วัน รีบเขียน เพราะกลัวจะไม่ได้เขียน

 ชาตรี  สำราญ


อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 543567เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท