รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กับ ศาสตราจารย์ ม.จ.ลักษณเลิศ ชยางกูร


จากความทรงจำ : ศาสตราจารย์ ม.จ.ลักษณเลิศ ชยางกูร

(ศาสตราจารย์ ม.จ.ลักษณเลิศ ชยางกูร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 15 ปี : มงคลการพิมพ์ 101 ถนนตานี บางลำพู พระนคร พ.ศ. 2507 (ไม่ระบุหน้า))

ผู้จัดทำหนังสือสำหรับตีพิมพ์ ในงานฉลองครบรอบ 15 ปี แห่งการจัดตั้งคณะรัฐสาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาหาข้าพเจ้าไม่รู้กี่หนต่อกี่หน ขอให้เขียนเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง เพื่อเป็นที่ระลักในงานนี้ ข้าพเจ้าเองมีเวลาเตรียมตัวน้อย แต่จะขัดความประสงค์ของศิษย์ไม่ได้ จึงรับปากว่าจะเขียนให้ทันวันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน ศกนี้ ก่อนหน้าที่จะลงมือเขียนก็ยังนึกเรื่องไม่ออก พอใครๆ มาหาก็ถามถึงเรื่องความทรงจำของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงนึกขึ้นได้ถึงละครเรื่องหนึ่ง ชื่ออะไรจำไม่ได้แต่มีคติแฝงอยู่ในเรื่องนั้น คตินั้นเป็นอย่างไร ขอเชิญท่านผู้อ่าน อ่านคำกลอนในบทละครนั้น ซึ่งข้าพเจ้าจำได้ดังต่อไปนี้

กูรับราชการพระผ่านเกล้า

จะช่วยเจ้าอย่างไรไม่ตระหนัก

ราษฎรร้อนรนยากจนนัก

กูไม่ยักเชื่อมันอย่าฝันเพ้อ

ไม่เร่งรัดอัตราภาษีเจ้า

กูจะเอาอะไรไปเสนอ

ถึงคราวราษฎรนอนรวยเฟ้อ

ก็ไปเออออเพิ่มเติมหรือไร

ถ้าช่วยเจ้าเบาอกกูตกหนัก

หน้าไหนจักช่วยข้าก็หาไม่

ใครรอดตายกูไม่ห้ามตามแต่ใจ

กูทำตามหน้าที่ไม่มีงด

เชิญนักปกครองจงพิจารณาดูถ้อยคำนั้นเถิด และวิพากษ์พิจารณ์ไปตามอัธยาศัยก็แล้วกัน

นตฺถิ พาเล สหายตา

ความเป็นสหายไม่มีในหมู่พาล

-------------------------


รำลึกถึงฝ่าบาท : นายสมหมาย ฉัตรทอง

เมื่อเพื่อนรัฐศาสตร์ มธ. 11 เข้าเป็นนักศึกษาชั้นปริญญาตรีปีที่ 1 ต้องเรียนวิชา ประวัติศาสตร์สากล อาจารย์ผู้บรรยายคือ ศาสตราจารย์ พ.ต. หม่อมเจ้าลักษณเลิศ ชยางกูร คุณวุฒิจบการศึกษาจาก MILLITARY ACADMY OF H.T.M. THE TSAR NICHOLAS ประเทศรัสเซีย(ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์) และจบการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกไทย ฝ่าบาทเป็นอาจารย์ประจำตั้งเริ่มเปิดคณะรัฐศาสตร์ มธ. ปี พ.ศ. 2491 และเป็นคณะกรรมการประจำคณะรัฐศาสตร์รุ่นแรกๆ ทีเดียว วิชาของฝ่าบาทมีตำราประกอบการสอนหาซื้อได้ที่แผนกคำสอนในราคาประหยัด(50 ปี ผ่านมาผมยังเก็บไว้อยู่ครับ) การสอนของฝ่าบาทสอบแบบสบายๆ ทุกคนได้เรียนแล้วมีความสุขไม่ต้องคอยจดจนมือหงิก ส่วนใหญ่ฝ่าบาทจะบรรยายเรื่องนอกตำราให้พวกเราฟังอย่างสนุกสนาน แล้วเอาวิชาการมาพูดท้ายชั่วโมง จากนั้นก็แนะนำให้ไปอ่านตำราคำสอนและหนังสืออ่านประกอบ ถึงเวลาสอบไม่เคยมีคนสอบตกนอกจากส่งสมุดสอบเปล่าไม่ยอมเขียนอะไร ฝ่าบาทไม่รู้จะช่วยอย่างไร วิชาของฝ่าบาทผมยังได้ตั้ง 80 คะแนนแน่ะ สอบซ่อมครั้งที่ 2 นะ(แฮ่ๆๆ) เพราะต้นปีหลงระเริงแบบปลาน้ำใหม่ สอบได้ทั้งหมด 2 วิชา พอสอบภาค 2 แก้ตัวได้เกือบหมดเหลือวิชาของอาจารย์หลวงแพ่งฯ วิชาเดียว

ตกกี่วิชาก็เลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นปริญญาตรีปีที่ 2 ได้ (แล้วสอบซ่อมแก้ตัวเอา) ต้องไปพบวิชาของฝ่าบาทอีก ชื่อวิชาการปกครองและวิวัฒนาการในเอเชียอาคเนย์ พวกเรารู้แนวการสอนของฝ่าบาทแล้วรีบไปหาซื้อตำราที่แผนกคำสอนมาอ่านแล้วตั้งใจฟังฝ่าบาท เวลาสอนสำคัญที่ชั่วโมงสุดท้าย ฝ่าบาทจะชี้ประเด็นสำคัญแล้วจดจำไว้
เวลาสอบเขียนให้ได้มากพอสมควร เที่ยวนี้ผมสอบวิชาของฝ่าบาทครั้งเดียวผ่านได้ 77 คะแนน

เนื่องจากฝ่าบาทเป็นอาจารย์ประจำ จึงขับรถ Woulsaley ส่วนตัว มาถึงคณะรัฐศาสตร์แต่เช้าทุกวัน
บุคลิกชอบสูบไปป์ จะอยู่คลุกคลีกับนักศึกษาเป็นที่รู้จักของนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ถึงรุ่นที่ 20 เมื่อพวกเราจบการศึกษากันแล้วไม่ได้ข่าวคราวของฝ่าบาทอีกเลย เพื่อฟื้นความจำในอดีตขอนำภาพฝ่าบาทร่วมสมัยมาให้เพื่อนชื่นชมเพื่อรำลึกถึงฝ่าบาทและส่งกระแสจิต ไปกราบคารวะฝ่าบาทในสรวงสวรรค์ ณ โอกาสนี้ด้วย



-------------------------------





หมายเลขบันทึก: 543508เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2016 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รถทรงท่านใช้รถ woulsaley ไม่ใช่รถเบนส์ ในไทยไม่มีขาย ที่อังกฤษยังมีจำหน่ายอยูา

กราบขอบพระคุณอย่างสูง ที่ทักท้วงให้แก้ไขได้แก้ไขเรียบร้อยแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท