รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กับอาจารย์พระยาสุนทรพิพิธ


      

เป็ด-เป็ด-เป็ด

(พระยาสุนทรพิพิธ วารสารรัฐศาสตร์ ปี 2505โรงพิมพ์เจริญผลการพิมพ์ 152 ถนนพระรามที่ 1 กรุงเทพฯ      พศ.2505(ไม่ระบุหน้า))


        มีคำกล่าวว่า “นักปกครองมีความรู้เสมือนเป็ด” ไฉนจึงกล่าวเช่นนี้ ? มีคำเฉลยว่า เป็ดแม้จะมีเสียงขันดัง “ก้าบ-ก้าบ-ก้าบ” ฟังไม่ไพเราะเหมือนดังเสียงไก่ขัน  ซึ่งดัง ” เอ๊กอี เอ๊ก-เอ๊ก”  ก็ดี แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นเข้าก็ต้องเอาเป็ดขันแทนไก่บ่อยๆ เป็ด แม้จะบินจรเที่ยวไปในอากาศไม่ได้อย่างนก แต่เมื่อถึงคราวมีเหตุการณ์ขึ้น เป็ดก็สามารถบินได้เป็นพักๆ เป็นระยะๆ มิใช่จะบินไม่ได้เสียทีเดียว เป็ดอยู่ใต้น้ำไม่ได้ดั่งปลา แต่เป็ดก็อยู่บนน้ำได้สบาย และดำผุดดำว่ายเล่นก็ได้ ปลาเสียอีกไม่สามารถอยู่บนบกได้เช่นเป็ดส่วนไก่และนกนั้นลองไปลอยคอเล่นในน้ำเช่นเป็ดบ้างสิ ! แล้วจะกลับขึ้นบกได้ไหม

      คำกล่าวเปรียบเทียบนี้พูดกันง่ายๆ ตรงๆ ก็คงเป็นอย่างนี้ “ นักปกครองมิใช่ผู้เชี่ยวชาญวิชาใด วิชาหนึ่งเป็นเฉพาะ เพราะนักปกครองไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางวิชาการ แต่นักปกครองต้องรู้หลักวิชาการทั่วๆ ไป ให้สามารถมีความเข้าใจกิจการด้านต่างๆพอที่จะอำนวยการบริหาร หรือบัญชาการได้ ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหรือหัวหน้า”  ถ้านักปกครองเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นเฉพาะเสียอีก อาจทำให้คุณค่าของนักปกครองเอนเอียงถดถอยลงไปได้ง่าย และด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งนี้เพราะความเชี่ยวชาญในวิชาเฉพาะนั้นจะเป็นเครื่องบันดาลความคิดจิตใจให้เสียดุลไป
       มีคำกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า “ หน้าที่ของนักปกครองเป็นเสมือนกระโถนท้องพระโรง”
หมายความว่า
เป็นกระโถนใบใหญ่ กระโถนกลาง ซึ่งต่างคนต่างก็นำสิ่งต่างๆ มาใส่ไม่เลือกว่าจะเป็นสิ่งเป็นส่วนอย่างใดๆ และในทางนิตินัยก็มีกฎหมายบัญญัติครอบจักรวาลไว้ว่า “ราชการใดๆ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นหน้าที่ของใคร ก็ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของอำเภอ”
     โดยประการฉะนี้ นักปกครองจึงต้องมีความรู้รอบตัวเป็นสำคัญอย่างที่เรียกกันว่า “สิปป์ปัญโจ” (ศิลปท้งห้า ?) ทำอะไรทำได้ ทางราชการสั่งอะไรมา ราษฎรทั้งหลายเป็นอะไร ต้องการอะไร ต้องการอย่างใด เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นที่ไหนๆ ฯลฯ ตกเป็นหน้าที่ของนักปกครอง และนักปกครองจะต้องรับปฏิบัติทั้งสิ้น ในฐานะที่เป็นกระโถนท้องพระโรง

      ฉะนั้นนักปกครองจึงต้องมีความรู้เสมือนเป็ด ขันก็ได้ ว่ายน้ำก็เป็น บินก็ยังไหว ถ้าเชี่ยวชาญแต่การขันเหมือนไก่
หรือการบินเหมือนนก และการดำน้ำเหมือนปลา เป็นเฉพาะวิชาเช่นนั้นแล้ว ก็ย่อมไม่เหมาะแก่การเป็นกระโถนท้องพระโรง

       ความจริงความเชี่ยวชาญของนักปกครองก็จำต้องมีและจะขาดเสียมิได้ความเชี่ยวชาญนั้นก็คือ องค์คุณธรรมในการปกครองคนและบังคับบัญชาการงาน  อันเป็นทางนำไปสู่ความสัมฤทธิ์ผล และแสดงให้ประจักษ์ซึ่งความสามารถ คุณธรรมสองประการนี้จะเกิดขึ้นได้จากความรู้ในวิชาการหลายอย่างรวมทั้งศีลธรรม วัฒนธรรม ตลอดถึงความประพฤติ การปฏิบัติของตนเอง  แต่ประการสำคัญที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับ  “จิตใจ” ที่มอบไว้กับหน้าที่ เมื่อเกิดบุคลิกลักษณะอันเป็นคุณธรรมพิเศษเป็นเครื่องแสดงว่า “ วิญญาณนักปกครอง” ได้เข้าสวมจิตใจแล้ว นั่นแหละคือนักปกครองที่แท้จริง หากผู้ปกครองคนใดยังขาดเสียซึ่งวิญญาณนักปกครองก็หาใช่นักปกครองที่แท้จริงไม่ คงเป็นเพียงแต่ “ ผู้ทำการปกครองเท่า “ นั้น


                                           ----------------------------




หมายเลขบันทึก: 543505เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2013 11:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท