สมี สะหมี ศมี


                                                                 สมี สะหมี ศมี

                                                    นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

สมี (สะหมี) Samee คำเรียกพระภิกษุ ผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก บุคคลที่เป็นสมี จะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต

สมี สะหมี ศมี ต้นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง Sesbania Sesban Merr. ในวงค์ Leguminosae ดอกสีเหลืองมีประสีน้ำตาล ใบคล้ายใบโสน ใช้ทำยาในพิธีกูณฑ์ของพราหมณ์

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยนั้นคือช่วงที่เป็น ศาสนาพราหมณ์ โดยเข้ามายังประเทศไทยเมื่อใดนั้น ไม่ปรากฏระยะเวลาที่แน่นอน นักประวัติศาสตร์ส่วนมากสันนิษฐานว่า ศาสนาพราหมณ์นี้ น่าจะเข้ามาก่อน สมัยสุโขทัย โบราณสถานและรูปสลักเทพเจ้าเป็นจำนวนมาก ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนา เช่น  รูปสลักพระนารายณ์ 4 กร ถือสังข์ จักร คทา ดอกบัว สวมหมวกกระบอก เข้าใจว่าน่าจะมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 หรือเก่าไปกว่านั้น(ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ)
นอกจากนี้ได้พบ รูปสลักพระนารายณ์ทำด้วยศิลา ที่ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โบราณสถานที่สำคัญที่ขุดพบ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ / ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา / พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี / เทวสถานเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

ในสมัยสุโขทัย ศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ควบคู่ไปกับพุทธศาสนาในสมัยนี้มีการค้นพบเทวรูป พระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหม พระแม่อุมา พระหริหระ ซึ่งส่วนมากนิยมหล่อสำริด

นอกจากหลักฐานทางศิลปกรรมแล้ว ในด้านวรรณคดี ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ เช่น ตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ หรือแม้แต่ ประเพณีลอยกระทง เพื่อขอขมาลาโทษพระแม่คงคา ก็ได้อิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์เช่นกัน ในสมัยอยุธยา เป็นสมัยที่ศาสนาพราหมณ์เข้ามามีอิทธิพลทางวัฒนธรรมประเพณีเช่นเดียวกับสุโขทัย พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ทรงยอมรับพิธีกรรมที่มีศาสนาพราหมณ์เข้ามามีส่วน เช่น พิธีแช่งน้ำ พิธีทำน้ำอภิเษกก่อนขึ้นครองราชสมบัติ พิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีจองเปรียง พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญพระราชพิธีตรียัมปวาย โดยเฉพาะ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงนับถือทางเทวศาสตร์มาก ถึงขนาดทรงสร้างเทวรูปกุ้มด้วยทองคำทรงเครื่อง ลงยาราชาวดี สำหรับตั้งในการพระราชพิธีหลายองค์ ในพิธีตรียัมปวาย พระองค์ได้เสด็จไปส่งมหาเทพถึงเทวสถานทุกๆ ปี ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พิธีต่างๆ ในสมัยอยุธยา ยังคงได้รับการยอมรับนับถือจากพระมหากษัตริย์และปฏิบัติต่อกันมา ซึ่งมีดังนี้ คือ

1. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นการเทิดพระเกียรติขององค์พระประมุข พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดเกล้าฯ ให้ผู้รู้แบบแผนครั้งกรุงเก่าทำการค้นคว้า เพื่อจะได้สร้างแบบแผนที่สมบูรณ์ตามแนวทางแต่เดิมมา ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและเพิ่มพิธีสงฆ์เข้าไป

2. การทำน้ำอภิเษก พระมหากษัตริย์ที่จะเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติบรมราชาภิเษก จะต้องสรงพระมุรธาภิเษก และทรงรับน้ำอภิเษกก่อนได้รับการถวายสิริราชสมบัติตามตำราพราหมณ์ น้ำอภิเษกนี้ใช้น้ำจากปัญจมหานที คือ คงคา ยมุนา มหิ อจิรวดี และสรภู ซึ่งทำเป็นน้ำที่ไหลมาจากเขาไกรลาส อันเป็นที่สถิตย์ของพระศิวะ

สมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ใช้น้ำ 4 สระในเขตสุพรรณ คือ สระเกษ สระแก้ว สระคงคา และ สระยมุนา และได้เพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญในประเทศ 5 สาย คือ

- น้ำในแม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ แขวงนครนายก
- น้ำในแม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ เขตสระบุรี
- น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว เขตอ่างทอง
- น้ำในแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ เขตสมุทรสงคราม
- น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย เขตเมืองเพชรบุรี

3. พระราชพิธีจองเปรียง (เทศกาลลอยกระทง)
คือ การยกโคมตามประทีปบูชาเทพเจ้าตรีมูรติ กระทำในเดือนสิบสองหรือเดือนอ้าย โดยพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีในพระบรมมหาราชวัง พระราชครูฯ ต้องกินถั่วกินงาน 15 วัน ส่วนพราหมณ์อื่นกินคนละ 3 วัน ทุกเช้าต้องถวายน้ำมหาสังข์ ทุกวันจนถึงลดโคมลง

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดให้เพิ่มพิธีพุทธศาสนาเข้ามาด้วย โดยโปรดให้มีสวดมนต์เย็นแล้วฉันเช้า อาลักษณ์อ่านประกาศพระราชพิธี จากนั้นแผ่พระราชกุศลให้เทพยดาพระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ต่อไป จนได้ฤกษ์แล้วทรงหลั่งน้ำสังข์และเจิม เสาโคมชัย จึงยกโคมขึ้น ซึ่งเสาโคมชัยนี้ ที่ยอดมีฉัตรผ้าขาว 9 ชั้น โคมประเทียบ 7 ชั้น ตลอดเสาทาน้ำปูนขาว มี หงส์ติดลูกกระพรวน นอกจากนี้ มีเสาโคมบริวารประมาณ 100 ต้น ยอดฉัตรมีผ้าขาวสามชั้น

4. พระราชพิธีตรียัมปวาย (โล้ชิงช้า ณ เสาชิงช้า)เป็นพิธีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของพราหมณ์ เชื่อกันว่าเทพเจ้าเสด็จมาเยี่ยมโลกทุกปีจึงจัดพิธีต้อนรับให้ใหญ่โตเป็นพิธีหลงงที่มามานานแล้ว ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้จัดกันอย่างใหญ่โตมาก กระทำพระราชพิธีนี้ที่เสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ ชาวบ้านเรียกพิธีนี้ว่า "พิธีโล้ชิงช้า" พิธีนี้กระทำในเดือนอ้าย ต่อมาเปลี่ยนเป็นเดือนยี่

5. พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พืชมงคล)
แต่เดิมมาเป็นพิธีพราหมณ์ ภายหลังได้เพิ่มพิธีสงฆ์เข้าไปด้วย จึงทำให้ในพิธีแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ  พิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์เริ่มตั้งแต่การนำพันธ์พืชมาร่วมพิธี พระสงฆ์สวดมนต์เย็นที่ท้องสนามหลวง จนกระทั่งรุ่งเช้ามีการเลี้ยงพระ
พิธีจรดพระนังคัล เป็นพิธีของพราหมณ์ จะกระทำในตอนบ่าย

ความเชื่อในพระเป็นเจ้าตรีมูรติทั้ง 3 องค์ (พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ) ยังคงมีอิทธิพลควบคู่ไปกับการนับถือพุทธศาสนา ประกอบกับในโบสถ์ของชาวฮินดูมักจะตั้งพระพุทธรูปรวมกันกับรูปปั้นของมหาเทพ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องอวตารของพระวิษณุ ทำให้คนไทยที่นับถือพุทธศาสนา นิยมมาสวดอ้อนวอนขอพรและบนบานต่อมหาเทพ เช่น การบนบานต่อพระพรหม หลายคนก็เข้าร่วมพิธีกรรมของฮินดู จึงเรียกได้ว่ามีผู้คนจำนวนมากที่นับถือทั้งพุทธ ทั้งฮินดู ปนเปกันไปแบบ นิกายพุทธตันตระ


หมายเลขบันทึก: 542515เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2013 07:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2013 07:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากมายสำหรับความรู้ที่นำมาแบ่งปันกันจ้ะคุณหมอแดง

มารับความรู้ค่ะคุณหมอ ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท