การบริหารการเปลี่ยนแปลง ( CHANGE MANAGEMENT)


กล้าเป็นนายตัวเอง กล้าขจัดอุปสรรคและความกลัว กล้าที่จะก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะก้าวสู่ความเป็นอิสระของชีวิตที่ใฝ่ฝัน  การยอมจำนนจะทำให้คุณตกเป็นเบี้ยล่างไปตลอดชีวิต คุณต้องคิดสวนทาง มองโลกอย่างแตกต่าง รู้จักขัดขืนอย่างมีศิลปะ แล้วลงมือทำในสิ่งที่ใจคุณเรียกร้องจริงๆ เช่นการเป็นเจ้าของกิจการ (Business  Owner) ซึ่งก็คือ การปลุก"ยักษ์" ในตัวคุณขึ้นมานั่นเอง นี่เป็นเพียงหนทางเดียวที่จะทำให้คุณมีความสุขไปกับความสำเร็จที่พูดได้เต็มปากว่าเป็นของคุณ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ไม่มีใครหน้าไหนที่รู้จัก "ตัวคุณ" และ "โลกของคุณ" ได้ดีกว่าตัวคุณเอง! และถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงใคร สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนคือตัวเราเอง!

"การเปลี่ยนแปลง" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะเป็นใครคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นหากคุณมีวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ "โอกาส" ก็จะเป็นของคุณเสมอ  ในทางกลับกันหากคุณไม่สามารถรับมือได้คุณก็อาจจะพบช่วงเวลาวิกฤตในชีวิตของคุณได้เช่นกัน

3 ช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลง (Three Stages of the Change Process)

1.ช่วงละลายพฤติกรรม ( Unfreezing)

2.ช่วงเปลี่ยนแปลง (Transition)

3. ช่วงเยือกแข็งอีกครั้ง (Refreezing)

1.ช่วงละลายพฤติกรรม (Unfreezing) ช่วงนี้ต้องกระตุ้นทั้งทางบวกและลบ  กระตุ้นทางบวก(Positive motivation) เช่น ชี้แจงผลประโยชน์ที่จะได้รับ การเงิน ความสุข ชื่อเสียง การยอมรับ ตอบสนองความต้องการ  ชี้ให้เห็นโอกาสที่จะสำเร็จมีสูงขนาดไหน ไม่มีเทคนิคอะไรที่ซับซ้อน ขั้นตอนไม่วุ่นวาย  ชี้ให้เห็นว่าไม่ยากอย่างที่คิด สามารถทำได้ ชี้ให้เห็นว่าทำแล้วสะใจ สบายใจ หายแค้น ปลดเปลื้อง  กระตุ้นทางลบ (Negative motivations) ได้แก่ การที่รู้สึกว่าตนเองมีช่องว่างมีอะไรที่ยังไม่ครบรู้สึกขาดอะไรไป การกระตุ้นก็คงต้องยั่วให้เขาเห็นช่องว่าง เห็นความขาด ดังนั้นผมเรียกวิชาการส่งเสริมการตลาดว่าวิชากิเลโสโลยี หรือเทคโนโลยีด้านกิเลสและวิชาการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เน้นการกระตุ้นก็ต้องใช้วิชากิเลโสโลยี เช่นเดียวกัน

2.ช่วงเปลี่ยนแปลง(Transition) คนที่โดนเปลี่ยนแปลงหรือ เหยื่อจะสับสน มีความรู้สึกสั่นคลอน กังวลใจ ยังยึดติดกับความคิดเดิมๆ ความเคยชินเดิมๆ วิถีชีวิตเดิมๆ พฤติกรรมเดิมๆ  อยู่ๆค่อยๆปรับตัวกับความคิดใหม่ๆ ทางออกของแต่ละคนจะแตกต่างกัน เช่น หลอกตนเองให้สบายใจ ลองดูสักตั้ง หดหู่คือท้อแท้ ขี้กังวล กลยุทธ์ที่ใช้ได้แก่ ทำเป็นเฉยๆแกล้งทำเป็นไม่รู้โดยถือเสียว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนไปเขาจะชินและยอมรับไปเอง  กดดันชี้ให้เห็นว่าถ้าไม่ทำตามผลเสียชัดเจน  ให้กำลังใจ  พูดบ่อยๆเตือนบ่อยๆ  ค่อยๆเปลี่ยนแปลงก็ได้  อย่าเร่งจนเกินไปดูสติปัญญา อารมณ์ของเหยื่อด้วย ผู้บริหารที่แสดงความจริงจัง จริงใจ อุทิศตน (Commitment) จึงจะทำให้คนในองค์กรมั่นใจในการเปลี่ยนแปลงเรียกกันง่ายๆว่าผู้บริหารแบบ"กัดไม่ปล่อย" ที่สำคัญต้องตรวจสอบว่า การเปลี่ยนแปลงต้องไม่ไปกระทบ"ความต้องการ"ของเขา เช่นไม่กระทบรายได้ของเขากลับเป็นการเพิ่มรายได้หรือเสริมรายได้ ไม่กระทบสถานะทางสังคม กลับมีคนยกย่องเพิ่มมากขึ้น เป็นที่รักของผู้คน ไปเพิ่มความรัก ความเชื่อ และความสุขของครอบครัวที่มากขึ้น

3.ช่วงผนึกแข็ง(Refreezing) ถ้ามาถึงช่วงนี้ได้แสดงว่าสำเร็จแล้วคือเหยื่อได้เปลี่ยนแปลงกรอบความคิด เปลี่ยนวิธีคิดแล้ว ได้สร้างทักษะใหม่ๆแล้ว  แต่อย่าลืมว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงควรมี ระบบกำหนดมาตรฐานมารองรับ เช่นการอบรม มีการชี้แจงและขยายผลตลอดจนสร้างความรู้สึกว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก ต้องจำไว้ว่าไม่มีการหยุดนิ่ง เมื่อเปลี่ยนแปลงก็ต้องเปลี่ยนแปลงได้อีก "ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน" คนที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ก็จะเป็นแบบไดโนเสาร์คือสูญพันธ์ไป แต่พวกแมลงนั้นปรับตัวได้ดี

นิวรณ์ 5 กับพฤติกรรมในการเปลี่ยนแปลง

1. กามฉันทะ คือ ติดสุขหลงไหลในกามคุณ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิด ไม่อยากลำบาก อยากจะสบายๆ....ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คนที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอะไร เขามักจะตอบว่า "อย่างเดิมก็ดีอยู่แล้ว" "ขี้เกียจเปลี่ยนแปลง"  " จะทำให้ยากทำไม แค่นี้ก็พอกินอยู่แล้ว"

2.พยาบาท คือ การเครียดแค้น อาฆาต โกรธตัวเอง โกรธคนอื่น เมื่อแค้นมากก็ไม่ยอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แทนที่จะตั้งสติทำเพื่อความถูกต้อง ทำเพื่อชาติ กลับต่อต้านดื้อรั้น เพื่อความ"ถูกใจ"ของตนเอง  คนที่สติไม่มีกำลังมากพอจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ทำให้สติปัญญาลดลง

3.ถีนมิทธะ คือ หดหู่ ซึมเศร้า เบื่อ เซ็ง ง่วงนอน  ความเบื่ออาจจะเกิดจากปัญหาสุขภาพ ความขี้เกียจหรือไม่รู้จักตั้งสติ ต้องเอาอิทธิบาท 4 มาปราบ  คนที่ไม่ตั้ง "ความหวัง" ให้ชีวิตมักจะเป็นคนเฉื่อยชา

4.อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ฟุ้งซ่าน คิดมาก กังวล คือคิดแบบแตกปลาย คิดแบบเป็นวงวกกลับไปกลับมา คิดแบบไม่มีข้อสรุป คิดแบบประเด็นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คิดห่วงแต่อนาคตที่ยังมาไม่ถึง  คนคิดมากขี้กังวลมักจะไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น  คนคิดไม่เป็นคือคนที่คิดขณะจิตไม่ว่างไม่นิ่ง คนที่คิดเป็นคือคนที่คิดขณะที่จิตว่าง "ต้องมีสติแม้นในขณะที่คิด" "อย่าหลงความคิด" "อย่าใจลอยอย่าจมอย่าแช่ในอารมณ์ใด" "หัดถอนอารมณ์"

5.วิจิกิจจา คือ ลังเลใจ สงสัย กังวล "หนอนตำรา" ...เอาแต่คิด เอาแต่อ่านๆๆๆให้หายสงสัยแต่ไม่ลงมือปฏิบัติ  เอาแต่สงสัย รอแต่จะให้มั่นใจ 100% เงื้อง้าราคาแพง ผลัดวันประกันพรุ่ง เป็น "เจ้าสาวที่กลัวฝน"

นิวรณ์ 5 เกิดขึ้นเสมอๆกับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดนิวรณ์ คนๆนั้นจะมีข้ออ้างมากมาย เช่น ทำแล้วจะได้อะไร ไม่อยากทำ อยู่อย่างนี้ดีแล้ว(ติดสุข)  ไม่แน่ใจว่าทำแล้วจะดีจะเสียอะไร คิดไปเรื่อยๆไม่สรุป(ฟุ้งซ่าน และกังวล ลังเลสงสัย) ท้อแท้ เบื่อหน่าย แค่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงก็เซ็งแล้ว เคยทำแล้วทำไม่สำเร็จยังแค้นใจอยู่เลยไม่เอาแล้ว  คนเราจะมีความกลัว เช่น กลัวพบผู้คน ฯ ล ฯ

อิทธิบาท 4 คือ ตัวปราบนิวรณ์ 5  ได้แก่

ฉันทะ คือ ชอบใจที่จะทำ ยินดีที่จะทำ เกิดปิติ

วิริยะ คือ ขยันทำ แข็งใจทำ ตั้งสติ ทำงานด้วยจิตว่าง

จิตตะ คือ ตั้งใจทำ ทำจิตให้เป็นสมาธิ เอาสติไปทำงานแทนจิต "อย่าเอาจิตไปสั่งสมอง ให้ใช้สติสั่งสมอง"

วิมังสา คือ เข้าใจทำ ไม่ใช่ขยันทำแบบโง่ๆ มีการใคร่ครวญ มีการคิดแบบ PDCA

การบริหารการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องมีและเน้นเป้าหมาย ต้องมีความมุ่งมั่น(กัดไม่ปล่อย) ไม่สนใจประเด็นเล็กๆน้อยๆที่ไร้สาระ แต่มุ่งไปที่เป้าหมายหรือภาพรวม เข้าใจเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ การแยกแยะ ไม่มองอะไรมุมเดียวแง่เดียวมีคำตอบเดียวเสมอๆเถรตรง เน้นภาพรวมชนะ แพ้คือชนะ/ชนะ "ไม่จำเป็นต้องชนะเสมอไป" ต้องสื่อสารให้ชัดเจน อธิบายให้คนอื่นๆเข้าใจให้ได้ อย่า"งก" คำพูด วางมาดมากเกินไป เน้นท่าทางผู้ดี ตีหน้าหล่อ จนสื่อสารไม่รู้เรื่อง ลืมไปว่าคนมาจากหลายๆตระกูล การศึกษา สังคม ความเชื่อ ฯลฯ ควรให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม เราจะช่วยกันเปลี่ยนแปลงอย่างไรดี  การเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุดคือคน ดังนั้นหลักในการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารต้องสร้าง"ความไว้ใจ" "เคารพในความเป็นคนซึ่งกันและกัน" ผู้บริหารต้องลงมามีส่วนร่วมในทุกๆจังหวะหรือขั้นตอน วางคนให้เหมาะสมกับงาน ต้องรู้ระดับความรู้ ความสามารถของเขา  เตรียมเวลาไว้ส่วนหนึ่งเอาไว้ช่วยเหลือ อย่าหายตัวไปนาน รักษา"บารมี"(Charisma) และภาวะผู้นำเอาไว้ ให้ผู้อื่นเห็นว่าผู้บริหารคือผู้นำ ไม่ใช่ผู้สั่งๆๆๆ        ปัญหาต่างๆในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเกิดจาก  มือที่สามยุแยง ยั่วยุ วางยา โกหก ใส่ความ  มีคนขาดศีลธรรมปนอยู่ด้วย เช่น โลภ หวังและหวงผลประโยชน์ เห็นแก่ตัว  ข้อมูลเป็นพิษ เช่นผิดพลาด ข้อมูลเท็จ ล้าสมัย ไม่เพียงพอ เข้าใจผิด บอกมาไม่หมด ลืมบอก  ระบบการบริหารโครงการล้มเหลวเช่น  มีคนไม่เก่ง คนไม่ฉลาดปนอยู่มาก ขาดการติดตามผล และขาดการลงมือแก้ไข   ผู้บริหารและผู้ตามควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ปล่อยให้ "จิตเกิด" ยังไม่รู้จักการใช้ "สติ" ไปควบคุมสมอง ปล่อยให้จิตไปควบคุมสมอง

ความเชื่อผิดๆที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยาก

1. "ขยันเรียนให้เก่ง สอบได้ที่ดีๆ จะได้มีงานมั่นคง เงินเดือนสูงๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน"

2 ".มีองค์กรขนาดใหญ่และมั่นคง ดังนั้นถ้าเราได้ทำงานในองค์กรเหล่านี้ เราจะมั่นคง "   ความเชื่อแบบนี้เห็นได้ในรัฐวิสาหกิจ งานราชการ หรือองค์กรใหญ่ๆ นั่นคือ คนจำนวนมาก เมื่อเข้ามาทำงานในองค์กรเหล่านี้ เขาจะไม่ค่อยปรับตัว เขาเชื่อมั่นว่านี่แหละของตาย (มั่นคงมาก)

3."ฉันเป็นผู้ชำนาญการพิเศษ เป็นคนที่องค์กรต้องง้อ มีทักษะพิเศษ ยังไงก็ไม่ตกงาน"  เมื่อก่อนเราใช้แผ่นเสียง ต่อมาเราใช้เทป ตอนนี้เรามีแผ่นซีดี ดีวีดี  Kingston ในอนาคตเราจะมีอะไรมาแทนอีก เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

4." ปริญญาดีๆสูงๆสำคัญที่สุด เพราะหางานง่าย"  แต่ลืมไปว่าพอทำงานสักพักจะพบว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้สอนอะไรตั้งหลายอย่าง  มีคนจบปริญญาเอก สู้คนจบปริญญาตรีไม่ได้และกลายเป็นตัวตลกในองค์กร เพราะเรียนมาสูง แต่ขาดมนุษย์สัมพันธ์ ไม่รู้จักการสื่อสาร หลงตนเอง และเรียนมาลึกเกินไป นอกเหนือจากการโดนหมั่นใส้ และแกล้งไม่ให้ความร่วมมือ คนเรียนมาก บางทีรู้มาก โง่มาก เพราะระบบการศึกษาไทยล้มเหลว (พระพุทธทาส)

5. "ตำแหน่งฉันใหญ่แล้ว ฉันมั่นคงแล้ว"  ความเชื่อแบบนี้เห็นได้ ผู้บริหารที่ได้ตำแหน่งสูงและหลงตัวเอง คิดว่ามั่นคง พวกเขาลืมไปว่า "ยิ่งสูง ยิ่งหนาว"  มีคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบออกมามากมายจ่อคิวเรา หายใจรดต้นคอมากขึ้น คนรุ่นใหม่เก่งเทคโนโลยี เก่งภาษา เรียนจบ Inter มากขึ้น ดังนั้นจะประมาทไม่ได้

6." การวัดความสำเร็จ วัดกันที่ตำแหน่งใหญ่โต"  ความเชื่อแบบนี้เห็นได้ในกลุ่มคนที่เป็นคนกินเงินเดือน (Salary man) แสดงว่ายังไม่เข้าใจเรื่องธรรมะ  จะมีสักกี่คนที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ

7." คนที่มีความสามารถพอกัน ถ้าจะชนะกันอยู่ที่ดวง และจังหวะ"  ความเชื่อแบบนี้ไม่จริงแล้วครับ สมัยนี้ถ้าเก่งเท่าๆ กัน แพ้ชนะอยู่ที่การประชาสัมพันธ์ตัวเองครับ  อย่ารอดวงและโอกาส ขอให้วิ่งเข้าไปแสวงหาและการแสวงหาแรกๆคือ สร้างภาพ คนโบราณบอกไว้ว่า " ปากเป็นเอก เลขเป็นโท"  

8." ทำงานแบบชั่วไม่มี ดีไม่ปรากฏ ประคองตัวไปเรื่อยๆ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เงินเดือนก็คงขึ้นไปเรื่อยๆ" อย่าลืมการแข่งขันในโลกอนาคตจะมีมากขึ้น คงไม่มีการว่าจ้างแบบถาวร คนที่เงินเดือนขึ้นแต่ฝีมือไม่ขึ้นย่อมโดนดีดออกไปตามธรรมชาติ                                                                                                                                                        9." การเลื่อนขั้น ให้รางวัล โบนัสดีๆ สามารถดึงคนเก่งไว้ได้ในองค์กร"  ในอนาคตจะมีการซื้อตัว แย่งตัวกันมากขึ้น ต่อให้ให้รางวัลดีๆ ก็อย่านึกว่าลูกน้องเก่งๆ จะอยู่กับเราตลอดไป คนอื่นก็แย่งได้                                                 10." เกาะเจ้านายดีๆ สักคน ถ้าเขาได้ดี เขาคงเอาเราไปด้วยไม่ทอดทิ้งเรา"  ความเชื่อแบบนี้ประมาทมากๆ เพราะเจ้านายดีๆของเราอาจตายได้ บาดเจ็บพิการได้ แก่ได้ เบื่อเราได้ หลอกใช้งานเรา พอถึงเวลาเขาก็จากไปเอาตัวรอดคนเดียว                                                                                                                                                    11."ทำงานให้หนัก เจ้านายจะได้เห็นความดี" ความเชื่อแบบนี้เรียกว่า"ขยันแต่โง่" คนแบบนี้ที่ฮิตเลอร์ให้ฆ่าทิ้ง      12." ที่อายุ 50 ปี ทุกอย่างจะคงที่มั่นคง" ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ข้อแนะนำคือ พออายุ 40 ปี ให้เริ่มนึกถึงอาชีพที่ 2 แต่อนิจจาบางคนอายุ 50 ปี ยังไม่คิดอาชีพที่ 2 เลย เรียกว่าแก่อย่างงมงายก็อยู่กับอาชีพเดิม
*** สุดยอดการตั้งรับ การบริหารการเปลี่ยนแปลง คือ สติ***
การบริหารการเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะเป็นนายตัวเอง กล้าที่จะปลุกยักษ์ในตัว วิธีคิดแบบสวนทาง มองโลกให้แตกต่าง ปลดแอกจากทุกข้อจำกัดของชีวิต แด่ความปรารถนาของผู้คนนับล้าน ผู้ที่เฝ้าแต่คิดว่า "ขอเพียงแค่ฉันสามารถเป็นนายของตัวเองได้" เพราะพวกเขาเหล่านั้นได้รับสิ่งที่ไม่คุ้มค่าความสามารถของเขา พวกเขาถูกกักขังอยู่กับงานที่ไร้อนาคตและไม่น่าพอใจ พวกเขาไม่ต้องการทำงานเดิมซ้ำซากจำเจไปอีก 20 ปี พวกเขาไม่ต้องการทนอยู่กับการเป็นลูกจ้างหรือการเป็นพนักงานกินเงินเดือนจนกระทั่งเกษียณ  แต่! พวกเขาต้องการหรือคาดหวังว่า จะได้เป็นตัวของตัวเอง...ได้เป็นนายตัวเอง หรือเป็นเจ้าของกิจการ ... ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ...ขอให้คุณก้าวสู่ความเป็นอิสระของชีวิตที่ใฝ่ฝันซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณไปในทางที่ดีขึ้น ...ตลอดไป
บรรณานุกรมHugh  Macleod. (2554).ปลุกปีศาจในตัวคุณ: สำนักพิมพ์วีเลิร์นในเครือบริษัทวีเลิร์นจำกัด PAUL AND SARAN EDWARDS & PETER ECONOMY.( 2547). กล้าเป็นนายตัวเอง:สำนักพิมพ์ บี มีเดียในเครือบริษัท บี มีเดีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัดดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ , อัศวิน จักษุสุวรรณ. (2547). การบริหารคนดื้อ:บริษัท อริยชน จำกัด

 

 






      



คำสำคัญ (Tags): #change
หมายเลขบันทึก: 541986เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2013 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2013 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท