อิบนุรุชดฺ และเซคิวลาริสม (Averroes and Secularism) : ทำไมต้องเขียน ?


อิบนุรุชดฺ และเซคิวลาริซม (Averroes and Secularism) : ทำไมต้องเขียน ?

เมื่อวานอาจารย์ดร.อินยาส หญ้าปรัง มหาวิทยาลัยรามกำแหง คอมเมนต์ที่ผมพาดพิงอิบนุรุชดฺ นักปราชญ์อิสลามในสมัยที่อิสลามรุ่งเรือง ในสเปน ว่าเป็นผู้วางรากฐาน "แนวคิดแบบเซคิวลาร์" ที่รุ่งเรืองอยู่ในปัจจุบัน และอยากให้ผมขยายความ ทั้งๆที่ท่านรู้ดีกว่าผมในเรื่องนี้ แต่อยากให้ผมเขียน อยากเห็นมุมมองของผม ผมนึกในใจว่าพร้อมทั้งเกาหัวไปพลางๆ นึกในใจว่า "เขาจะรับวิธีคิดนอกกรอบแบบผมกันได้หรือ ?"

ที่ผมต้องแตะเซคิวลาริสม ก็เพราะว่าผมเห็นความคิดเห็นที่หลากหลายมากในเรื่องจุดยืนของอิสลามที่มีต่อเซคิวลาริสม อุละมาอกระแสหลักส่วนใหญ่คิดว่าเซคิวลาริซม (secularism) ไม่ฟิตกับอิสลาม ที่ผ่านมาพรรคภราดรภาพมุสลิมได้ยอมรับกฏกติกาของประชาธิปไตย ลงสู่สนามแข่งขันทั่วโลกก็ว่าได้ แต่อิควาน (ภราดรภาพมุสลิม) มองประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือหรือเส้นทางที่จะเดินไปสู่รัฐแห่งชาริอะฮ (สังเกตว่าผมไม่ใช้คำว่ารัฐอิสลาม เพราะผมคิดว่ารัฐอิสลามเป็นแค่ frame of reference ที่เราในยุคนี้ไปไม่ถึง และผมเกรงอีกว่า ถ้ารัฐแห่งชาริอะฮที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแข่งขันกับรัฐเซคิวลาร์ไมได้ เพราะเราจัดการบริหารประเทศไม่เก่งพอ ก็อาจจะหาว่าอิสลามไม่เพอร์เฟค ในทัศนของผมรัฐอิสลามคือรัฐมุสลิมที่ทรัพยากรมนุษย์มีความเพียบพร้อมเมื่อใช้มาตรวัดอิสลามเข้าไปจับ และมีกลไกของรัฐที่วางบนกรอบเจตนารมณ์แห่งอิสลาม (มะกอศิด อัล-ชะรีอะฮฺ) ) อิควานปฏิเสธประชาธิปไตยในฐานะอุดมการณ์ แต่ยินยอมใช้กลไกและกติกาของประชาธิปไตยในการเข้าสู่อำนาจ

ในทางตรงข้ามอิควานและแนวคิดมุสลิ มสายอนุรักษ์ส่วนใหญ่มองว่า "เซคิวลาริซม (secularism)" เป็นภัยอันใหญ่หลวงต่ออิสลาม อิควานมองว่า เซคิวลาริซม เป็นอุดมการณ์ไม่ใช้เป็นเพียงวิธีการ (method or tool) และเป็นอุดมการณ์ที่ปล่อยให้โตในหัวใจของมุสลิม มันจะกัดกร่อนรากฐานความเชื่อของพวกเขา นำไปสู่ความอ่อนแอ และเสื่อมในที่สุด

แต่เมื่อมองพรรคการเมืองอิสลามที่ครองอำนาจในตุรกีขณะนี้ ซึ่งมุสลิมก็มองเอรดูกอน เป็นพระเอกของเราเช่นกัน กลับเป็นว่าพรรคอิสลามในตุรกีได้ยอมรับ เชิดชูอุดมการณ์อิสลามไปพร้อมๆกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย และใช้โมเดลรัฐเซคิวลาร์ ในการขับเคลื่อนไปสู่ออตโตมานใหม่ (Neo-Ottoman) ดูเหมือนว่า AKP Parties ในตุรกี ได้หลอมรวมอุดมการณ์ประชาธิปไตยและอิสลามเข้าด้วยกัน และใช้หลักคิดบางส่วนแบบเซคิวลาร์ในการสร้างพื้นที่ความประชาชนทุกกลุ่มที่มีอุดมการณ์และความเชื่อต่างกันให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

ยิ่งผมได้อ่านพบว่าปรมาจารย์ต้นคิดลัทธิเซคิวลาร์ มองว่า อิบนุรุชด เป็นผู้วางรากฐานให้พวกเขาแล้ว ผมยิ่งอยากดำดิ่งลึกลงไปค้นหาความจริงให้ชัดที่สุด

และนี่คือเหตุผลที่ผมต้องเขียน และต้องแชร์ พร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกท่าน
หมายเลขบันทึก: 541977เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2013 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2013 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท