เบญจขันธ์...


  พระพุทธเจ้าผู้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้มีพระปัญญาธิคุณ  พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ท่านสั่งสอนกุลบุตรที่บวชมาแล้วต้องพิจารณาร่างกาย ทรงวางพระวินัยไว้ว่า อุปัชฌาย์ใดไม่สั่งสอนกุลบุตรที่มาบวชในการพิจารณาร่างกายก็ต้องอาบัติ แสดงว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นภาคบังคับ...


  การพิจารณากายเป็นเรื่องของรูปที่เราเข้าไปยึดไปถือว่าเป็นตัวเราเป็นของ ๆ เราและก็เป็นคนอื่น ข้อวัตรปฏิบัติตรงนี้เราต้องภาวนาพิจารณาทุก ๆ วันเพื่อความต่อเนื่อง เพื่อให้จิตให้ใจของเรามันเห็นตามความเป็นจริง เห็นตามพระพุทธเจ้า เพื่อให้เกิดสติ ให้เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เพื่อสร้างเหตุสร้างปัจจัย สร้างอินทรีย์บารมีให้กับตัวเอง

  พระพุทธเจ้าท่านก็ยังให้เราพินิจพิจารณาในเรื่องของเวทนา... เพราะว่าเวทนานี้สำคัญมาก จำพวกที่ติดที่ยึดที่ถือส่วนใหญ่ติดในเวทนา ได้แก่ พวกที่ร่างกายของเราเป็นสุขเป็นทุกข์ เราบริโภคอาหารอร่อย ติดในจำพวกเหล้า เบียร์ บุหรี่ หรือพวกความสุข สนุก สะดวกสบาย เวทนามันเป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องภายในกายของเรา ภายในจิตใจของเรา ถ้าเรามีสติช้าปัญญาไม่เร็ว สมาธิไม่แข็งแรง มันจะละไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ละได้ยาก

ต้องอาศัยสมาธิ... มันต้องมีความแข็งแรง มีความอดความทน มันต้องมีสติ สมาธิ ปัญญา เพื่อจะเข้าไปยังยั้งเพื่อให้มันติด มันคิด มันปรุง มันแต่ง เพื่อจะไม่ให้ความสำคัญของความรู้สึกที่เป็นเวทนา ให้ถือว่าเวทนาที่เป็นสุขก็เป็นเพียงเวทนา ทุกข์หรือเฉย ๆ ก็เป็นเพียงเวทนา

เราพยายามมีสติ มีสมาธิ ไม่เข้าไปคิดเข้าไปปรุงแต่ง เพราะความคิดความปรุงแต่งนี้เป็นทุกข์ที่สุดในโลก “มันจะเป็นสุขเราอย่าเข้าไปปรุงแต่ง มันจะเป็นทุกข์เราก็อย่าเข้าไปปรุงแต่ง หรือมันเฉย ๆ เราก็อย่าเข้าไปปรุงแต่งภายในจิตใจ” เราพยายามสงบไว้ นิ่งไว้ ปล่อยวางไว้ อย่าให้จิตใจมันเคลื่อนไหว  พยายามฝึกปล่อยฝึกวาง อย่าไปสนใจ สร้างสติ สร้างสมาธิให้แข็งแรง แข็งแกร่ง

คนเราน่ะปัญญามากก็ฉลาดมาก ถ้าสมาธิไม่พอความแข็งแรงไม่พอภายในจิตใจมันก็ไม่สามารถละกิเลสได้ เพราะว่ามันขาดสมาธิ

เราจำเป็นต้องบำเพ็ญสมาธิ ฝึกจิตใจไม่ให้หลงในความสุข ในความทุกข์ ให้ยินดี ให้มีความสุขความดับทุกข์กับการปล่อยวางเวทนา

“ตัวมันติดตัวมันยึดที่แท้จริงคือตัวเวทนา...”

เวทนามันเกิดขึ้นแก่ใจของเรา เราอย่าไปสนใจ เราอย่าให้ความสำคัญ ขอให้เพียงเรารู้ว่ามันเป็นเวทนา มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปมันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ นี้มันเป็นธรรมชาติของขันธทั้ง ๕...

เราอย่าไปตั้งความหวังว่าเราต้องมีความสุข เราต้องไม่แก่ เราต้องไม่เจ็บ เราต้องไม่ตาย เราต้องร่ำรวย มียศถาบรรดาศักดิ์ ถ้าเราไปตั้งไว้อย่างนั้นจิตใจของเรามีปัญหาแน่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ได้เป็นไปตามใจเราหมดทุกอย่าง “ที่แน่นอนก็คือความไม่แน่นอน” คือแน่นอนว่าเราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย และก็พลัดพรากเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด


พระพุทธเจ้าท่านให้นักปฏิบัติผู้ที่หวังจะไปนิพพานน่ะให้กลับมาหาตัวเอง กลับมาแก้ไขตัวเอง ทั้งการพิจารณาร่างกาย ทั้งการพิจารณาเวทนาและฝึกปล่อยฝึกวางเวทนา ให้มีความสุข ให้มีความดับทุกข์ในจิตในใจตลอดเวลา

เรานั่งสมาธิเราก็มีหน้าที่หายใจออกหายใจเข้าให้มันสบาย อย่าไปต้องการอะไร ลมมันหยาบก็รู้ ละเอียดก็รู้ มันหมดลมหายใจก็รู้ เราอย่าไปตั้งในใจของเราว่า เราต้องเป็นสมาธิอย่างโน้นอย่างนี้ เราไม่ต้องเจ็บไม่ปวดอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าเราไม่อยากให้มันเจ็บมันปวดมันยิ่งเจ็บยิ่งปวด ถ้าเราอยากให้มันสงบมันยิ่งไม่สงบ หน้าที่ของเราเพียงแต่เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าสิ่งนี้มีสิ่งนั้นก็ต้องมี ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากเหตุจากปัจจัย

เราทำไปเรื่อย ๆ เราทำอะไรอยู่ก็ให้ใจอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ให้อยู่กับการอยู่กับงาน ให้อยู่กับกาย อย่าไปคิดว่าทำแค่นี้นะ เราทำแค่นี้เองเดี๋ยวทำไปมันก็เป็นของมันเอง “เราทำอย่างนี้เป็นหนทางที่จะไปพระนิพพาน...”

บางคนอาจจะคิดว่าทำอย่างนี้มันทุกข์มากทุกข์หลาย เพราะว่าไม่ได้ตามใจตัวเอง มันขัดใจตัวเอง...

ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ทวนโลกทวนกระแส  เป็นสิ่งที่ไม่ตามใจใคร เป็นทางสายกลาง มีศีลเป็นที่ตั้ง มีสมาธิเป็นบาทฐาน มีปัญญาเป็นทางดำเนิน เราปฏิบัติไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวมันก็สบายเอง อย่าได้ท้อแท้ท้อถอย...

ให้มีความสุขในการปฏิบัติธรรม ให้พอใจในการปฏิบัติธรรม

ความสุขของคนเรามันอยู่ที่รู้จักพอ... พอใจที่จะรักษาศีล พอใจที่จะนั่งสมาธิ พอที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม พอใจที่จะแก้ไขที่เราติดความสุขสะดวกสบาย เราเป็นคนดีต้องแก้ไข เพราะเราเกิดมาเพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อแก้ไขตัวเอง ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐที่เกิดมาเป็นมนุษย์

เป็นมนุษย์ประเสริฐอยู่ที่ปฏิบัติธรรม ฝึกตัวเอง พัฒนาตัวเอง ไม่หลงใหลในสุขในกามคุณทั้ง ๕ รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ

คนเราเกิดมาไม่ถึง ๑๐๐ ปีส่วนใหญ่ก็จากไป ไม่มีใครเอาลาภ ยศ สรรเสริญ แก้วแหวนเงินทองไปด้วยได้ พระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสว่า อย่าพากันมาหลง ให้พากันปฏิบัติ อย่าประมาท ให้รักษาศีล ๕ ให้ดี ๆ รักษาศีล ๘ ให้ดี ๆ รักษาศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ให้ดี ๆ ทำข้อวัตรปฏิบัติให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท อย่าได้ไปมองคนอื่นเค้าว่าคนนั้นค้ายังไม่ปฏิบัติ คนนี้เค้าก็ยังไม่ปฏิบัติ นี่มันเรื่องอะไร เราปฏิบัติอยู่คนเดียว ทุกข์อยู่คนเดียว ไม่ได้บริโภคความสุข ไม่ได้บริโภคลาภยศสรรเสริญกับเขาเลย


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราคิดอย่างนั้น เพราะเราเกิดมาก็เกิดมาคนเดียว เราแก่ เราเจ็บ เราตายเราก็แก่เจ็บตายคนเดียว เราต้องคิดให้มันเกิดกำลังใจแก่เรา ความคิดอย่างนี้เราอย่าคิด ถือว่าเป็นบาป มันบั่นทอนกำลังใจ

สิ่งภายนอกมันก็ดีอย่างหนึ่งเพื่อให้เราฝึกจิตใจ ให้เราหนักแน่น ให้เราเข้มแข็ง ถ้าไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีเกิดแก่เจ็บตาย ไม่มีลาภยศสรรเสริญ ไม่มีสิ่งที่มายั่วยวนก็ไม่มีโอกาสที่เราจะได้สร้างความดีได้สร้างบารมี

สิ่งภายนอกนั้นมันดีแล้วและสิ่งภายในจิตใจ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันก็ดีแล้ว เพื่อให้เราได้สร้างความดี สร้างบารมี  ให้ถือว่าเรายืนหยัดได้ สิ่งเหล่านี้มันจะหมดก็เมื่อเราตายแล้ว เมื่อเรายังไม่ตายสิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ตลอด เราอย่าไปสนใจมัน ให้สร้างบารมีไปเรื่อยๆ

สิ่งภายนอกมันไม่มีปัญหาถ้าใจของเราไม่มีปัญหา...

ที่เราเข้าใจทุกวันนี้ว่าโลกเป็นอย่างโน้น คนเราเป็นอย่างนี้มันจึงมีปัญหา เราไปคิดแต่เรื่องภายนอกมันมีปัญหา แต่ที่แท้จริงใจของเราเองมีปัญหา โลกนี้เค้าก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นของเค้าอยู่อย่างนั้น “สิ่งที่มีปัญหาคือหัวใจของเราเอง...”

พยายามมาแก้ที่ตัวเรา เราอย่าได้ไปหมกมุ่นครุ่นคิดในสิ่งที่มันไม่ดี เราอย่าไปคิดว่าคนอื่นเค้าไม่รู้ไม่เห็นก็นึกคิดไปเรื่อย มันเล่นงานทั้งความคิด เวทนา สัญญาอีก มันปรุงมันแต่ง มันมีความหลง เราอย่าไปวุ่นวายกับมัน ให้เราหยุด เรานิ่ง ให้เรารู้จักว่า “นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง” สุขอื่นก็สู้ความสงบไม่ได้ไม่มี

ให้เราเอาอย่างพระพุทธเจ้า...

พระพุทธเจ้าท่านไม่ทำตามสิ่งเหล่านี้ท่านจึงสบายที่สุดในโลก อยู่โคนไม้ก็สบาย อยู่ที่ไหนก็สบายไปหมด เพราะท่านมีนิพพานในจิตในใจ

หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้นำทาง ผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ท่านอย่าได้มีสักกายะทิฏฐิ ถือเนื้อถือตัว เอาตัวเองเป็นใหญ่ ไม่นำตัวเข้าสู่ธรรมวินัย จะได้เป็นผู้ประเสริฐที่ในชาตินี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้พบพระพุทธศาสนา ให้มีความสุขแล้วก็บรรลุถึงมรรคนิพพานด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...


พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

วันศุกร์ที่ ๑๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔


หมายเลขบันทึก: 541876เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท