กฎหมายโทรคมนาคม 6


๔.๔ หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลภายใต้ระบบการบริหารจัดการแบบการแข่งขันเสรี

หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลภายใต้ระบบการบริหารจัดการแบบการแข่งขันเสรี

         เมื่อมีการปฏิรูปอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันเสรีก็มีความจำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเสรีตามนโยบายของรัฐบาลและการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับความสำเร็จของนโยบายการเปิดให้มีการแข่งขันเสรีซึ่งภารกิจหลักขององค์กรกำกับดูแลที่จะต้องจัดทำเพื่อให้นโยบายการแข่งขันเสรีประสบความสำเร็จสามารถสรุปได้ ดังนี้

ตารางแสดงภารกิจขององค์กรกำกับดูแลที่ควรจะต้องจัดทำเพื่อสนับสนุนนโยบายการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม

ภารกิจขององค์กรกำกับดูแล

วัตถุประสงค์หลักในการกำกับดูแล

การแปรรูปกิจการโทรคมนาคมภาย

ในประเทศ

- การดึงดูดนักลงทุนสำหรับการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐาน

-การเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมและการกระตุ้นให้มี

สร้างสรรค์การให้บริการรูปแบบใหม่

- การแสวงหารายได้ให้กับรัฐจากกระบวนการแปรรูปกิจการ

การอนุญาตผู้ประกอบกิจการให้เข้ามา

แข่งขันในตลาดโทรคมนาคม

-การขยายพื้นที่การให้บริการเข้าไปสู่พื้นที่ที่ไม่มีการแข่งขัน

- การเพิ่มประสิทธิภาพของกิจการโทรคมนาคมผ่านกลไกการแข่งขัน

-การลดราคาค่าบริการและพัฒนาประสิทธิภาพการบริการ

- การกระตุ้นให้มีสร้างสรรค์การให้บริการรูปแบบใหม่

- การแสวงหารายได้ให้กับรัฐโดยกระบวนการให้อนุญาต

การสร้างกระบวนการกำกับดูแลที่โปร่งใส

-สร้างความเชื่อมั่นของรัฐและเพิ่มความสำเร็จในกระบวนการให้อนุญาต

-การแสวงหารายได้ให้กับรัฐโดยกระบวนการให้อนุญาตและการบริการประเภทใหม่ที่เกิดขึ้น

- สร้างความเชื่อมั่นในตลาดโทรคมนาคมเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน

การกำกับดูแลในเรื่องการใช้และการเชื่อมต่อโครงข่าย

-เพื่อขจัดอุปสรรคในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบกิจการ

- สนับสนุนให้มีการแข่งขันภาคการบริการประเภทการบริการเพิ่มมูลค่าบนโครงข่าย

การกำกับดูแลในเรื่องราคา

-ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบริการของผู้ประกอบกิจการที่เป็นเจ้าตลาด

-การปรับใช้กระบวนการคิดคำนวณราคาตามรูปแบบ ROR (Rate of Return) เพื่อป้องกันการตั้งราคาที่สูงเกินไป

- การป้องกันการปรับเปลี่ยนราคาที่ไม่เหมาะสม

การจัดตั้งกองทุนการให้บริการอย่างทั่วถึง

-การปรับใช้นโยบายการบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล

- การแก้ไขปัญหาในเรื่องความโปร่งใสและพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันประเภทการอุดหนุนการบริการข้ามภาคส่วน

การขจัดอุปสรรคทางด้านการแข่งขันสำหรับธุรกิจโทรคมนาคมระหว่างประเทศ

- การกระตุ้นให้มีการลงทุนในภาคโทรคมนาคมมากขึ้น

- การกระตุ้นให้มีการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมมากขึ้น

- การกระตุ้นให้มีการสื่อสารระหว่างกันในระดับระหว่างประเทศมากขึ้น

              เมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว แนวคิดการเปิดให้มีการแข่งขันเสรีกิจการโทรคมนาคมมักจะถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่ไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติเนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่ในปัจจุบันหลายประเทศได้ให้การยอมรับแนวคิดดังกล่าวและบางประเทศก็ได้นำไปบัญญัติไว้ในข้อตกลงการค้าหรือในระดับนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศ

๕. การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ

๕.๑ หลักการพื้นฐานในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม

หลักการพื้นฐานในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม

             แต่ละประเทศมีเทคนิคในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมที่แตกต่างกัน อันเนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น นโยบาย กลไกทางกฎหมาย คำวินิจฉัยที่เป็นบรรทัดฐาน วัฒนธรรมการทำงาน เป็นต้น อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์หลักในการกำกับดูแลก็เป็นไปเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐ ดังนั้น การศึกษาในภาคส่วนนี้จะมุ่งศึกษาหลักเกณฑ์ทั่วไปในการกำกับดูแลโดยไม่ได้มุ่งเน้นรูปแบบทางกฎหมายหรือรูปแบบการกำกับดูแลของประเทศใด ประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ

             การพิจารณาหรือการออกคำสั่งใด ๆ สำหรับการกำกับดูแลเป็นสิ่งที่จะต้องทำอย่างระมัดระวังและรอบคอบ  เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวย่อมมีผลกระทบกับหลายภาคส่วนและข้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาลและการตัดสินใจในแต่ละครั้งย่อมมีทั้งผู้ได้รับประโยชน์และผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์และไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า บางครั้งอาจจะมีการล็อบบี้ผลการตัดสินโดยคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบางครั้งองค์กรกำกับดูแลไม่สามารถสร้างความประนีประนอมหรือผสานผลประโยชน์ของทุกฝ่ายได้จึงไม่สามารถพิจารณาได้อย่างรวดเร็วซึ่งกระบวนการที่ล่าช้าดังกล่าวย่อมสร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมในท้ายที่สุด

   อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์พื้นฐานที่ดีสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่กรณีทุกฝ่ายได้ซึ่งองค์กรกำกับดูแลควรดำเนินการโดยอยู่บนหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

๑.    กระบวนการในการพิจารณาจะต้องมีความโปร่งใส (Transparency)

๒.  กระบวนการในการตัดสินใจจะต้องมีลักษณะที่เป็นกลาง ไม่มีอคติแก่ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง (  Objectivity)

๓.  กระบวนการในการพิจารณาจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้และประสบการณ์(Professionalism)

๔.  กระบวนการในการพิจารณาจะต้องมีประสิทธิภาพและสามารถนำผลการพิจารณามาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency)

๕.  กระบวนการในการพิจารณาจะต้องมีความเป็นอิสระ และสามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็น  อิสระให้คู่กรณีทุกฝ่ายได้เห็น (Independence)

 

๕.๒ การลดการกำกับดูแลลงหากสามารถบริหารจัดการโดยผ่านกลไกตลาดได้เพิ่มขึ้น

                        จากการศึกษาในหลายประเทศ พบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ การบริหารจัดการโดยอาศัยระบบตลาดที่มีการแข่งขันเสรี จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่าการบริหารจัดการโดยอาศัยระบบตลาดที่มีการแทรกแซงโดยรัฐ ซึ่งทันทีที่มีการแทรกแซงโดยรัฐที่เกินความเหมาะสมจะมีผลให้จุดเด่นของการแปรรูปและการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมหายไปหรือลดน้อยลงในทันที ดังนั้น การแทรกแซงของรัฐโดยผ่านการกำกับดูแลควรจะเป็นไปอย่างจำกัดที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแทรกแซงของรัฐในตลาดที่มีการแข่งขันและสิ่งที่ควรคำนึงถึงสำหรับองค์กรกำกับดูแลก็ควรเป็นไปเพื่อพัฒนาระบบของตลาดและระดับการแข่งขันในตลาด และเมื่อปรากฏต่อมาว่ามีการแข่งขันภายในตลาดเพิ่มมากขึ้น รัฐควรจะลดการแทรกแซงโดยผ่านการกำกับดูแลลงทันที

                        โดยส่วนใหญ่ระดับการแทรกแซงของรัฐโดยผ่านการกำกับดูแลมักจะเข้มงวดในระยะเริ่มแรกของการเปิดเสรีตลาดโทรคมนาคม ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจและความมั่นคงสำหรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น โดยรัฐมีหน้าที่ในการขจัดอุปสรรคในเข้ามาสู่ตลาดของผู้ประกอบกิจการรายใหม่และทำหน้าที่กระตุ้นให้มีการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบกิจการมากขึ้น และการกำกับดูแลในระยะเริ่มแรก ควรจะมุ่งเน้นไปยังผู้ประกอบกิจการรายเดิมที่อยู่ในตลาดและมีโครงข่ายเป็นของตนเองเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการรายใหม่สามารถเข้าร่วมใช้โครงข่ายหรือเข้าร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำเนินกิจการโทรคมนาคมได้ (Unbundled) และเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการรายเดิมทำการเปิดให้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายของตนกับโครงข่ายของผู้ประกอบกิจการรายอื่นเพื่อให้สามารถทำการเชื่อมต่อระหว่างกันได้ (Interconnection)

                      แนวโน้มในระยะหลังมีแนวคิดในการกำกับดูแลที่ปฏิบัติกับผู้ประกอบกิจการรายเดิมกับผู้ประกอบกิจการรายใหม่อย่างไม่แตกต่างกันซึ่งผลที่จะตามมาจากการกำกับดูแลรูปแบบใหม่นี้จะเป็นการเพิ่มการแทรกแซงโดยการกำกับดูแลในระยะยาวและเป็นการเพิ่มภาระเกินสมควรต่อผู้ที่ประกอบการรายใหม่และจะไม่สามารถดำเนินการกำกับดูแลในรูปแบบ Asymmetrical ได้ (การกำกับดูแลแบบการเลือกปฏิบัติเพื่อให้เหมาสมกับแต่ละสถานการณ์)

                        จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในการกำกับดูแลรูปแบบใหม่ (การกำกับดูแลโดยการปฏิบัติต่อผู้ประกอบกิจการทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน) องค์กรกำกับดูแลมักจะปฏิเสธการแทรกแซงกรณีที่มีข้อพิพาทในการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างผู้ประกอบกิจการรายเดิมและผู้ประกอบกิจการรายใหม่ เนื่องจากเห็นว่าผู้ประกอบกิจการทั้งสองรายควรจะมีอิสระในการเจรจาเงื่อนไขในการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างกันเองและท้ายที่สุดเป็นระยะเวลานานหลายปีกว่าที่องค์กรกำกับดูแลจะได้เรียนรู้ว่า โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบกิจการรายเดิมที่มีโครงข่าย PSTN ไม่มีมูลเหตุจูงใจที่จะเจรจาทำสัญญาเชื่อมต่อโครงข่ายกับผู้ประกอบกิจการรายใหม่ที่กำลังจะมาเป็นผู้แข่งขันกับตนในตลาดโทรคมนาคมในอนาคต”ซึ่งจากประสบการณ์ดังกล่าวนี้แทนที่ความเข้มงวดในการกำกับดูแลจะลดลงตามหลักการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ แต่การการเจรจาที่ล้มเหลวระหว่างผู้ประกอบกิจการจะนำไปสู่การแทรกแซงโดยการกำกับดูแลในปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อโครงข่ายในระยะยาว

                          หลักการในการเชื่อมต่อโครงข่ายมีลักษณะที่พิเศษกว่าการกำกับดูแลในภาคส่วนอื่นของกิจการโทรคมนาคมที่ระดับความเข้มงวดในการกำกับดูแลควรจะลดลงเมื่อระบบตลาดถูกนำมาใช้อย่างสมบูรณ์แล้ว แต่การกำกับดูแลในการเชื่อมต่อโครงข่ายถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการกำกับดูแลการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมและจากบทเรียนขององค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมทั่วโลกต่างเห็นพ้องกันว่าจำเป็นจะต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในเรื่องการเชื่อมต่อโครงข่ายซึ่งถือว่าเป็นข้อยกเว้นในเรื่องการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในกิจการโทรคมนาคม (การกำกับดูแลที่มีระดับการแทรกแซงน้อยที่สุด) อย่างไรก็ดี ระดับของการแทรกแซงโดยการกำกับดูแลควรจะมีความเข้มงวดมากน้อยเพียงใดนั้นสมควรพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลเป็นหลักและการเลือกใช้มาตรการก็ควรจะเป็นมาตรการที่ไม่สร้างภาระเกินสมควรสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกันจากการศึกษาของสหภาพยุโรปก็มีที่เห็นสอดคล้องกับแนวทางการลดการกำกับดูแลลงถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกิจการโทรคมนาคมมากที่สุด เช่น แต่เดิมบางประเทศในสหภาพยุโรปกำหนดให้การนำเข้าอุปกรณ์ปลายทางที่การใช้งานมีลักษณะของการนำมาติดกับโครงข่ายโทรคมนาคมจะต้องมีการขออนุญาตสำหรับการนำมาเชื่อมต่อกับโครงข่ายเสียก่อน ซึ่งต่อมากลุ่มประเทศเหล่านั้นได้ตัดสินใจยกเลิกการกำกับดูแลอุปกรณ์ปลายทางจากภาครัฐ แต่ได้กำหนดให้มีการตรวจสอบโดยกลุ่มอุตสาหกรรมกันเองและสหภาพยุโรปได้ออก The EU Directive on Radio and Telecommunication Terminal Equipment (1999) ที่กำหนดให้ผู้ผลิตมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัดและผลของการลดการการกำกับดูแลลงทำให้มีการประดิษฐ์และการแพร่หลายของเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว ขณะที่การกำกับดูแลกลายเป็นกระบวนการที่สร้างภาระหรือเป็นอุปสรรคในการแข่งขันแทน แต่ข้อควรระวังคือ กรณีศึกษาในสหภาพยุโรปอาจไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศได้ เช่น ในประเทศที่ไม่มีการติดตามผลการใช้คลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

๕.๓ การปรับปรุงมาตรฐานการกำกับดูแลให้เข้ากับมาตรฐานระดับภูมิภาคและระดับโลก

                ระบบเทคโนโลยีพื้นฐานและวิธีคิดในเชิงเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันหรือมีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนัก หากพิจารณาจากกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคม เช่น อุปกรณ์ Switchingอุปกรณ์ transmission อุปกรณ์ปลายทาง ซอฟท์แวร์ หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับโครงข่าย เป็นต้น มักจะมีเทคโนโลยีในการผลิตไม่แตกต่างกันมากนักและจำนวนผู้ผลิตที่แท้จริงก็มีไม่มากนักเช่นเดียวกันและกระแสของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมทั่วโลกก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ การเรียกร้องให้คุณสมบัติการใช้งานมีสูงขึ้น (รวมถึงอุปกรณ์ด้วย) แต่ต้องการจ่ายค่าบริการและค่าอุปกรณ์ในราคาที่ถูกลง ซึ่งกลไกของการค้าเสรีจะเป็นผู้ที่สร้างจุดสมดุลของความต้องการขายสินค้า/บริการกับความต้องการซื้อของผู้บริโภคให้เป็นไปโดยอัตโนมัติและผู้ที่ไม่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคก็จะไม่สามารถค้นพบจุดสมดุลดังกล่าวและก็จะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบกิจการรายอื่นในตลาดได้ในท้ายที่สุด

              ประเทศที่ตลาดโทรคมนาคมมีการแข่งขันเสรี พบว่าศักยภาพหรือความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีสูงมากและในภาคการผลิตผู้ให้บริการก็มีศักยภาพที่สูงมากเช่นเดียวกันซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลให้ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นและขนาดของตลาดโทรคมนาคมก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากระดับประเทศไปสู่ระดับทวีปและไปสู่ระดับโลก และในมิติของผู้ประกอบกิจการก็เติบโตตามไปด้วยเช่นเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อผู้ประกอบกิจการประสบความสำเร็จในระดับประเทศแล้ว ก็จะขยายฐานทางธุรกิจไปยังระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ องค์กรกำกับดูแลในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการกำหนดกติกาการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมก็ควรจะพิจารณาและปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับระดับอื่น ๆ ที่เหนือกว่าหรือใหญ่กว่าประเทศตามไปด้วยทั้งนี้ก็เพื่อสร้างเสริมความแข็งแกร่งสำหรับผู้ประกอบกิจการภายในประเทศเพื่อให้ออกไปแข่งขันในระดับโลกได้

                  องค์กรกำกับดูแลที่มีวิสัยทัศน์ที่คับแคบและสร้างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ประกอบกิจการของตนในตลาดระดับท้องถิ่นหรือในระดับประเทศอาจจะมีผลให้ผู้ประกอบกิจการของประเทศนั้นอ่อนแอและเสียเปรียบหากทำการประกอบกิจการในตลาดระดับทวีปหรือระดับโลกและการกำกับดูแลที่ผิดแผกไปจากมาตรฐานอาจจะส่งผลร้ายแรงถึงขนาดทำให้การแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมดำเนินไปอย่างด้อยประสิทธิภาพและล้มเหลวในท้ายที่สุด

                 กฎ ระเบียบสำหรับการกำกับดูแลบางประเภทถูกนำมาบัญญัติไว้ในข้อตกลงทางการค้าหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น  the WTO Regulation Reference Paper เป็นต้น หรือบางกรณีที่ข้อพิพาททางด้านโทรคมนาคมกลายเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นมา เช่น ในปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ขอหารือกับทางองค์กรการค้าโลกว่าประเทศเม็กซิโกไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง the Agreement on Basic Telecommunications โดยประเด็นที่ขอหารือมีสามประเด็น ดังนี้

๑.  การไม่เคารพข้อตกลงดังกล่าวอย่างเคร่งครัดในเรื่องการแข่งขันเสรีเป็นผลที่ต่อเนื่องจากกิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่ผูกขาดโดยรัฐมาอย่างยาวนานและบริษัท Telmex (บริษัทโทรคมนาคมของประเทศเม็กซิโก) ได้ใช้ความได้เปรียบของตนในฐานะที่ตนมีอำนาจเหนือตลาดทำการครอบงำตลาดและมีพฤติกรรมที่ต่อต้านการแข่งขัน

๒.   การไม่ปฏิบัติตามกรอบระยะเวลาในเรื่องการบริหารต้นทุนในการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายที่มีผลให้ผู้ประกอบกิจการรายใหม่ไม่สามารถทำการแข่งขันกันได้ โดยผู้ประกอบกิจการรายใหม่ไม่สามารถใช้และเชื่อมต่อกับโครงข่ายกับโครงข่ายของบริษัท Telmex เพื่อให้การบริการในระดับท้องถิ่น ในระดับทางไกลและในระดับระหว่างประเทศได้

๓.  องค์กรกำกับดูแลของเม็กซิโกไม่จัดให้ระบบโทรศัพท์ทางไกลจากประเทศอเมริกาไปสู่ประเทศเม็กซิโกเป็นระบบทางเลือกเนื่องจากระบบดังกล่าวมีต้นทุนสูงจึงทำให้ผู้ประกอบกิจการสัญชาติอเมริกันเสียเปรียบ

         ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่ากิจการโทรคมนาคมมิใช่กิจการที่ให้บริการภายในประเทศอีกต่อไป แต่เป็นกิจการของโลกที่ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระดับระหว่างประเทศทั้งในระดับทางการค้าและในระดับพลเมืองด้วยกัน

          องค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมภายในประเทศจึงควรจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบกิจการที่มีศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมภายในประเทศของตนพัฒนาศักยภาพเพื่อจะได้สามารถแข่งขันในตลาดระดับทวีปและในระดับโลกได้ โดยการปรับใช้หลักเกณฑ์ระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการเหล่านั้นคุ้นเคยกับกฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ในทางกลับกัน หากองค์กรกำกับดูแลไม่ปฏิบัติตามแนวทางการกำกับดูแลในระดับสากลก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อนในกิจการโทรคมนาคมของประเทศได้ในอนาคต

 การปรับใช้ระบบการแข่งขันเสรี

             แนวคิดในการเปิดเสรีให้มีการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมเป็นที่ยอมรับทั่วโลกแล้วว่ามีผลดีมากกว่าผลเสีย ขณะที่แนวโน้มกระแสของโลกปัจจุบันก็ยังอยู่ในกระแสการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในนานาประเทศ แต่การเปิดเสรีก็มีระดับของการเปิดให้มีการแข่งขันอย่างแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งในทวีปยุโรปและกลุ่มประเทศ OECD เป็นกลุ่มประเทศที่มีระดับในการเปิดเสรีมากที่สุดและจากข้อมูลของ ITU แสดงให้เห็นว่าในกลุ่มประเทศ OECD มีการเปิดให้มีการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมมากกว่าร้อยละ ๙๖ ของตลาดที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมทั้งหมดและกระแสการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมยังเกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของโลก ทั้งในทวีปอเมริกา ทวีปแอฟริกา ภูมิภาคยุโรปตะวันออกและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกด้วย

            จากข้อมูลของ ITU ในปี ค.ศ. ๑๙๙๙ แสดงให้เห็นว่ากิจการโทรคมนาคมที่มีการเปิดให้มีการแข่งขันเสรีมากที่สุดคือกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีถึงร้อยละ ๖๗ และการบริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีถึงร้อยละ ๗๒ ขณะที่กิจการโทรศัพท์พื้นฐานมีการเปิดเสรีน้อยที่สุดหรือในทางกลับกันยังมีการผูกขาดโดยรัฐอยู่ถึงร้อยละ ๗๓  อย่างไรก็ดี การให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานก็คงไม่สามารถต่อต้านกระแสการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมได้ในท้ายที่สุด ซึ่งแนวโน้มในอนาคตของกิจการดังกล่าวก็จะมีการเปิดให้มีการแข่งขันเสรีเช่นเดียวกัน

              หลักการพื้นฐานที่เป็นสาระสำคัญในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ก็คือ การรับประกันให้ตลาดมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลาและโครงสร้างของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจำเป็นจะต้องมีการทบทวนตลอดเวลาเพื่อสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่แตกต่างกับอุตสาหกรรมประเภทอื่นที่ไม่จำเป็นจะต้องมีการกำกับดูแลตลอดเวลา

วัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม มีดังนี้

๑.  สร้างหลักเกณฑ์ที่เป็นพื้นฐานที่โปร่งใสและชัดเจนเพื่อดึงดูดการลงทุนสำหรับคู่แข่งใหม่และผู้ประกอบกิจการที่มีอยู่เดิม (

๒.  เพื่อให้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายและการบริการที่มีประสิทธิภาพ และการแก้ไขข้อพิพาทในการเชื่อมต่อโครงข่าย 

๓.  เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบกิจการที่เป็นเจ้าตลาดคิดค่าบริการเกินความเหมาะสมและป้องกันมิให้ผู้ประกอบกิจการที่เป็นเจ้าตลาดใช้อำนาจเหนือตลาดเพื่อกีดกันการแข่งขันและป้องกันการอุดหนุนข้ามภาคส่วน 

๔.  เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบกิจการรายเดิมที่ครอบครองโครงข่ยโทรคมนาคมและเป็นเจ้าตลาดใช้ความได้เปรียบของตนเพื่อกีดกันผู้ประกอบกิจการรายใหม่ออกจากตลาดโทรคมนาคม 

๕.  ส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมทางการแข่งขันมีความเป็นสากลมากขึ้น 

           วัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลที่กล่าวถึงข้างต้นเปรียบเสมือนเป็นเป้าหมายหลักในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ดังนั้นหากการกำกับดูแลโดยไม่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวย่อมคาดหมายได้ว่าแนวโน้มของการเปิดให้มีแข่งขันเสรีจะล้มเหลวและไม่สามารถพัฒนากิจการโทรคมนาคมให้ได้ระดับมาตรฐานเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ได้



หมายเลขบันทึก: 541849เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 07:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท