อาจารย์คณะเกษตรฯ มข.อบรมเกษตรกร ใช้เชื้อรากำจัดโรคและแมลงศัตรูพริก


เชื้อราเขียวไตรโคเดอร์มา (Trichoderma harzianum) ป้องกันกำจัดเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่า ยอดไหม้ ยอดเปื่อย โรคกุ้งแห้ง และเชื้อราขาวบิวเวอร์เรีย (Beauveria bassiasna) กำจัดแมลงปากกัด ปากดูด

                        

        อาจารย์วีระ ภาคอุทัย อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาระบบการตัดสินใจและการจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกปลอดภัย จังหวัดแพร่ น่านและชัยภูมิ และอาจารย์ดร.เยาวรัตน์ ศรีวรานันท์ ผู้ร่วมโครงการฯ เป็นวิทยากรอบรม ขยายเชื้อราเขียวไตรโคเดอร์มา (Trichoderma harzianum) และเชื้อราเมตตาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) ในโครงการเตรียมความพร้อมแก่เกษตรกรผู้ปลูกพริกเพื่อเข้าสู่ระบบการผลิตที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน และเจ้าหน้าที่เพื่อจะได้เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ให้เกษตรกร จัดโดยองค์การบริหารส่วนตำบลกุดเลาะ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ โดยมีผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลกุดเลาะ อาทิ นายสุรพงษ์ ฟ้ารักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดเลาะ นายศรีวิชัย วงศ์เกษตรศักดิ์ และนายธีระศรีวิพัฒน์รองนายกอบต. นายวิเศษ แดงนกขุ่ม เลขานุการนายกอบต. นายไพฑูรย์ พฤกษพิทักษ์ ปลัดอบต. เจ้าหน้าที่อบต. รองผู้อำนวยการโรงเรียนเกษตรสมบูรณ์วิทยาคม และเกษตรกรจาก 11หมู่บ้าน รวม 113 คน เข้าร่วมอบรม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2556 ณ ห้องประชุมโรงเรียนเกษตรสมบูรณ์วิทยาคม อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

        อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวว่า อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่ที่โครงการวิจัยพัฒนาระบบการตัดสินใจและการจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกปลอดภัย จังหวัดแพร่ น่านและชัยภูมิ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ให้ทำการวิจัยพริกปลอดภัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา เนื่องจากอำเภอเกษตรสมบูรณ์ มีพื้นที่เพาะปลูกพริกประมาณ 3,000-4,000 ไร่ เป็นแหล่งปลูกพริกฤดูแล้งหลังฤดูกาลทำนาที่มีความสำคัญระดับประเทศ โดยอาศัยข้อได้เปรียบที่มีแหล่งน้ำจากลำน้ำพรม ทำการเกษตรได้ทั้งปี พันธุ์พริกที่เกษตรกรปลูกส่วนมากเป็นลูกผสมที่ตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรมีความเข้าใจกับเงื่อนไขที่สำคัญในการปลูกพริกที่จะทำให้ได้คุณภาพ ความปลอดภัย ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง รายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น และคณะผู้วิจัยได้จัดทำคู่มือการจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกสดปลอดภัยขึ้น เพื่อใช้ประกอบในการฝึกอบรม และใช้เป็นคู่มือในการปลูกพริกเกษตรระบบปลอดภัยต่อไป ทำให้มีส่วนสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกพริกจังหวัดชัยภูมิ ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการผลิตดีที่เหมาะสม (GAP) มากขึ้น โดยเฉพาะตำบลกุดเลาะได้กลายเป็นแหล่งรวบรวมพริกปลอดภัยที่เกษตรกรสามารถขายพริกได้ในราคาที่สูงกว่าพริกที่ไม่ได้ผ่านระบบ GAP ถึง 5-8 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเกษตรกรต้องมีความรู้ มีการนำข้อมูลที่เกี่ยวกับราคาพริก ปริมาณพื้นที่ปลูกพริกของจังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ มาประกอบวางแผนการผลิต ก่อนทำการปลูกพริก นำระบบการเตรียมความพร้อม การป้องกันโรคและแมลง มีการตรวจสอบสภาพความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของดิน การปรับปรุงบำรุงดิน การทำปุ๋ยคอกหมักแห้ง การทำน้ำหมักชีวภาพ การขยายเชื้อราเขียวไตรโคเดอร์มา (Trichoderma harzianum) ที่ใช้ป้องกันกำจัดเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่า ยอดไหม้ ยอดเปื่อย โรคกุ้งแห้ง การขยายเชื้อราขาวบิวเวอร์เรีย (Beauveria bassiasna) และเชื้อราเมตตาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) ที่ใช้กำจัดแมลงปากกัดปากดูด เช่น เพลี้ยไฟ ไรขาว แมลงหวี่ขาว แมลงวันพริก หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้ผัก เป็นต้น เกษตรกรต้องรู้จักระบบการเจริญเติบโตของพริกในแต่ละช่วงอายุมีความต้องการอะไร การดูแลรักษา การตัดแต่งกิ่งแขนง การใส่ปุ๋ยเคมี  ปุ๋ยหมัก ตามระยะเวลาและตามความต้องการของพริก การใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นการเว้นระยะเวลาการฉีดพ่นสารเคมีเพื่อไม่ให้มีสารเคมีกำจัดโรคและแมลงตกค้างเกินกว่าที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด การจดบันทึกข้อมูล การรวมกลุ่ม การแบ่งปันความรู้แก่เกษตรกรทั่วไป
        อาจารย์วีระ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนั้นแล้ว ยังก่อให้เกิดการจ้างแรงงาน ทำให้เกษตรกรมีงานทำโดยเฉพาะการรับจ้างเก็บพริก กิโลกรัมละ 5-15 บาท แล้วแต่ราคาพริกที่เกษตรกรขายได้  พริกของอำเภอเกษตรสมบูรณ์เป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ โดยพริกอำเภอเกษตรสมบูรณ์จะออกสู่ตลาดหลังจากพริกจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษ ที่ออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม ดังนั้นถ้าหากมีการนำข้อมูลการปลูกพริกของจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษมาเป็นข้อมูลร่วมตัดสินใจในการปลูกพริกฤดูแล้งของจังหวัดชัยภูมิ จะทำให้เป็นประโยชน์มาก เช่นปีนี้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งประเทศมีผลทำให้เกษตรกรที่ปลูกพริกตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคมได้รับความเสียหายผลผลิตต่อไร่ลดลงประมาณร้อยละ 60 มีผลทำให้ปริมาณผลผลิตพริกออกสู่ตลาดน้อยลงทำให้ราคาพริกที่เกษตรกรตำบลกุดเลาะที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 30-40 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 50-80 บาท เกษตรกรปลูกพริกเดือนธันวาคมถึงมกราคม ช่วงเก็บเกี่ยวประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนของทุกๆปี  มีผลผลิตประมาณ 600-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเฉลี่ยประมาณ 1,500 กิโลกรัม หรือมีรายได้จากการขายพริกประมาณไร่ละ 100,000 บาท หากเกษตรกรรายใดมีระบบการจัดการบำรุงรักษาดีก็จะมีรายได้จากการขายพริกมากกว่าไร่ละ 100,000 บาทขึ้นไป
        อาจารย์วีระ กล่าวฝากแนวทางการวิจัยไว้ด้วยว่า หากนำผลงานวิจัยที่ทำในพื้นที่ไปแก้ไขปัญหาของเกษตรกร พัฒนาขึ้นเป็นองค์ความรู้ขยายผลไปใช้แก้ไขปัญหาในพื้นที่อื่น เช่น จังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ก็จะเป็นการช่วยสนับสนุน การคัดกรอง กิจกรรมหรือโครงการที่เป็นการแก้ไขปัญหาของชุมชน ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นกิจกรรมทำได้จริงมีผลลัพธ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นและวัดผลได้ ขึ้นเป็นโครงการพัฒนาของท้องถิ่น ทั้งอบต. เทศบาล และจังหวัด ต่อไป
        ในท้ายสุด อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวว่า ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาลี ตั้งระเบียบ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้อนุเคราะห์หัวเชื้อราขาวบิวเวอร์เรีย (Beauveria bassiasna) และเชื้อราเมตตาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) รองศาสตราจารย์ ดร.นุชรีย์ ศิริ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้จัดฝึกอบรมการขยายและการใช้เชื้อชีวินทรีย์ และให้ความอนุเคราะห์การใช้อุปกรณ์ในการขยายหัวเชื้อรา เพื่อนำไปเผยแพร่แก่เกษตรกรต่อไป

        อาจารย์วีระ ภาคอุทัย ข้อมูลข่าว/ภาพ
        กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

                        

                        

                        

                        

                        

หมายเลขบันทึก: 541348เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะคุณกิตติศักดิ์ ...ขอชื่นชมโครงการที่ดีมากๆนะคะ...เพราะพริกเป็นพืชผักที่คนไทยกินกันทุกครัวเรือน มีอยู่ในอาหารเกือบทุกชนิด...และนิยมกินกันสดๆเป็นน้ำพริกหลายประเภท...ความปลอดภัยจากสารเคมี เชื้อรา และความมีมาตรฐานในการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว การขนส่งจนถึงการวางจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญนะคะ...ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท