ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก อย่างไรไม่ให้กระทบต่อความรู้สึกของชุมชน


การศึกษาเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง หากประเทศใดมีการจัดการศึกษาที่ดี ก็จะส่งผลให้มีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (2552-2561) ภายใต้วิสัยทัศน์”คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณคุณภาพ” โดยมีประเด็นหลัก 3 ประเด็น คือ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาและ  การเรียนรู้ของคนไทย  การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารและการจัดการศึกษา(กระทรวงศึกษาธิการ,2553)

    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีโรงเรียนในสังกัด 32,879  แห่ง  เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน ตั้งแต่ 120  คนลงมา มีจำนวนมากถึง 13,882  แห่ง  คิดเป็นร้อยละ 43.73  และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี อันเป็นผลเนื่องมาจากอัตราการเกิดลดลง และความนิยมของผู้ปกครองที่ต้องการส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนในเมืองเนื่องจากการคมนาคมสะดวก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,2555)

    สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 (2556) พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีคุณภาพและมาตรฐานต่ำกว่าโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ เนื่องจากความ  ขาดแคลน ทั้งงบประมาณ วัสดุ ครุภัณฑ์  อุปกรณ์การเรียนการสอน รวมทั้งขาดแคลนครู  ครูไม่ครบ  ชั้นเรียน  ขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ประกอบกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ โดย ฯพณฯ พงศ์เทพ  เทพกาญจนา  ประกาศยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียน ตั้งแต่ 60 คนลงมา ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของชุมชนแบ่งเป็นสองฝั่ง ว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือเป็นการทำลายการศึกษา แต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ก็ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยไม่มีนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่จัดให้มีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กกับโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยกัน หรือ ควบรวมกับโรงเรียนขนาดกลาง หรือควบรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่อยู่ใกล้เคียงและการคมนาคมสะดวก ทั้งนี้ ได้ดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1  ปีการศึกษา 2556 ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียน ตั้งแต่ 25 คน ลงมา ระยะที่ 2  ปีการศึกษา 2557  ควบรวมโรงเรียน ขนาดเล็ก ที่มีนักเรียน ตั้งแต่ 40 คน ลงมา  และ ระยะที่ 3  ปีการศึกษา 2558  ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก  ที่มีนักเรียน ตั้งแต่ 60 คน ลงมา  โดยจัดให้มีการประชุมจัดทำประชาพิจารณ์ของชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล  นายกองค์การบริหารส่วนตำบล คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ประชาชนในชุมชนและผู้ปกครองนักเรียนทุกคน รวมทั้งพระสงฆ์วัดใกล้โรงเรียน หากยินดีเข้าร่วมโครงการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก รัฐบาลจะสนับสนุนค่าพาหนะให้นักเรียน คนละ 10-20 บาท /วัน ตามระยะทางที่มา ทั้งนี้ การควบรวมโรงเรียนในครั้งนี้สมารถกลับไปโรงเรียนเดิมได้เมื่อมีนักเรียนเพียงพอตามที่กำหนด แต่หากปีการศึกษาใดไม่มีนักเรียนในเขตบริการมาสำรวจในปีการศึกษาต่อไปก็จะดำเนินการยุบโรงเรียน  โดยนำวัสดุ ครุภัณฑ์ไปใช้ในโรงเรียนที่ไปควบรวม หรือโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนอาคารสถานที่ ท้องถิ่นสามารถขอใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหมู่บ้าน หรือแหล่งเรียนรู้ชุมชนก็ได้  แต่ถ้าหากว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีมติไม่ยุบหรือไม่ควบรวมกับโรงเรียนอื่น ด้วยเหตุอยู่ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก หรือโรงเรียนที่ชุมชนต้องการให้คงอยู่ต่อไป ก็ให้พัฒนาเป็นโรงเรียนจิ๋วแต่แจ๋ว โดยกำหนดให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จากคะแนน O-Net  ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ต้องสูงขึ้น ร้อยละ 5 ในปีการศึกษา 2556 ตามนโยบายเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

    การดำเนินการยุบโรงเรียนหรือการควบรวมโรงเรียน ถ้าทำไปตามลำดับขั้นตอน ประชุมชี้แจง ประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนเข้าใจในนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของรัฐบาล และสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ทำแบบไฟไหม้ฟาง เช่น ค่าพาหนะ  ก็สามรถดำเนินการได้เป็นอย่างดี แต่หากรัฐบาลมีนโยบายไม่สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ก็จะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง ซึ่งอาจจะกระทบทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับ สพฐ.ตลอดทั้งระดับกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นปัญหาระดับประเทศต่อไป


หมายเลขบันทึก: 541325เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท