ชาวหนองบัวร่วมแรงร่วมใจพัฒนาสร้าง รร.หนองบัว-รร.หนองบัว(เทพวิทยาคม) โดยไม่ใช้งบประมาณราชการ


ประวัติการก่อสร้าง โรงเรียนหนองบัว   อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

       โรงเรียนหนองบัว ก่อสร้างขึ้นด้วยเงินของพ่อค้าประชาชน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้ร่วมแรงร่วมใจกันให้สิ่งของ สละเงิน และแรงงาน ก่อสร้างขึ้นในรูปของการพัฒนาท้องถิ่น สร้างเป็นอาคารไม้ ชั้นเดียว
หลังคามุงสังกะสี ตัวอาคารกว้าง 10 เมตร 20 เซนติเมตร ยาว 24 เมตร 68 เซนติเมตรแบ่งเป็นห้องเรียนได้ 3 ห้อง ห้องพักครู 1 ห้อง สร้างในเนื้อที่ 24 ไร่เศษ อันเป็นเนื้อที่เดียวกันกับ โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม ดังปรากฏในแผนที่สังเขปนั้นแล้ว

       โรงเรียนนี้ก่อสร้างขึ้นด้วยจิตศรัทธาดังกล่าวข้างต้นประชาชนได้เร่งรีบและดำเนินการก่อสร้างโดยรีบด่วนเพื่อที่จะให้บุตรหลานของพวกเขาได้ศึกษาให้ทันปีการศึกษา 2503 จึงพร้อมใจสละทรัพย์สละแรงงาน คิดเป็นราคาปลูกสร้าง 71.655 บาท พร้อมกันนั้นเจ้าอาวาส และคณะกรรมการวัด ก็ได้ให้ที่ดินสร้างตัวอาคาร และทำสนาม เพื่อให้ได้ทันเรียนวันเปิดภาค 17 พฤษภาคม 2503 การก่อสร้างต่างๆ ก็สำเร็จสมความปรารถนาของพ่อค้า ประชาชน

        เนื่องด้วยอาคารเรียนและสถานที่ปัจจุบันยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร พ่อค้า ประชาชนจึงดำริจะย้ายตัวโรงเรียนไปอยู่บ้านหนองคอก ซึ่งอยู่ห่างจากที่ปัจจุบันนี้ประมาณ 1 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ณ ที่นี้ทางอำเภอได้จัดสรรหาให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ก่อนที่จะจัดสร้างอาคารปัจจุบัน แต่เหตุที่ไม่ก่อสร้าง ณ ที่หนองคอกตั้งแต่ตอนแรกนั้น เพราะมีอุปสรรคในเรื่องการคมนาคม น้ำใช้น้ำดื่ม ขณะนี้สถานที่ใหม่ได้ปรับปรุงให้มีทางคมนาคมและสระน้ำ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ทางโรงเรียนที่จะย้ายไปอยู่ใหม่แล้ว ดังนั้นโครงการของโรงเรียน ที่จะย้ายไปอยู่ ณ ที่ใหม่นี้กำลังดำเนินการอยู่ ฉะนั้นแผนที่สังเขปของโรงเรียนจึงยังมิได้เขียนลงในด้านหลังของประวัติโรงเรียนนี้ แต่ได้เขียนลงในกระดาษแก้วแทนเป็นการชั่วคราวก่อน ต่อเมื่อโรงเรียนได้ย้ายไปที่ใหม่แล้ว จะได้ทำแผนที่สังเขป แสดงที่ตั้ง บริเวณโรงเรียน และเขตติดต่ออันแน่นอน รายงานมาให้เป็นหลักฐานต่อไป

                   

                       -----------------------------------------------------------------------



รายละเอียดการสร้าง  โรงเรียนหนองบัว ที่จดบันทึกไว้ ในสมุดหมายเหตุโรงเรียนเมื่อ  50 ปี

ประวัติของการสร้างโรงเรียนมีดังนี้

        เริ่มประชุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2502 มีท่านนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ ประชุมราษฎรทั้ง 2 ตำบล(ตำบลหนองบัว และหนองกลับ) เพื่อปรึกษาว่าในการสร้างโรงเรียนนี้จะจัดอย่างไร ผลการประชุมแล้ว  กำนันผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 ตำบล พร้อมด้วยคณะกรรมการศึกษาได้ร่วมมือตกลงในการออกตัดไม้ในป่าหนองบัว สร้างโรงเรียน 2 หลัง เป็นโรงเรียนประชาบาลแบบ 002 ขึ้น 1 หลัง และแบบ 004 ขึ้น 1 หลัง ออกตัดไม้เรียบร้อยแล้ว พอถึงกำหนดวันที่ 5 พฤศจิกายน 2502 ยกเสาอาคารเรียนขึ้นทั้ง 2 หลัง ในบริเวณเดียวกัน เพราะเนื้อที่ของโรงเรียนมีประมาณ 20 ไร่
ที่ดินเป็นของวัดซึ่งมอบให้เป็นที่ก่อสร้างโรงเรียน ระยะนี้อาคารเรียนมีรวมด้วยกันทั้งสิ้น 4 อาคาร อาคาร 2 ชั้น 3 อาคาร

      ประวัติของการทำงานร่วมมือในการก่อสร้าง  พอจำได้ดังนี้

      เวลา 10.00 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม 2502 นายวิบูลย์ พลไพรินทร์ ขอร้องให้นายอำเภอนัดผู้ใหญ่บ้าน กำนันทั้ง 2 ตำบล ประชุมราษฎรๆ ที่มาประชุมในวันนี้ทั้ง 2 ตำบล ประมาณ 1.000 คนเศษ  ปรากฏว่าที่ประชุมปรึกษาหารือในวันนี้ ขอร้องราษฎรจัดการเลื่อยไม้ เอาแบบแปลนโรงเรียนของโรงเรียนวัดกระดานหน้าแกลมาดูเป็นตัวอย่าง มอบให้นายประสิทธิ์ เอี่ยมโอษฐ์ ครูโรงเรียนหนองบัว ได้เรียนวิชาช่างไม้ปลาย คัดตัวไม้ในแบบแปลนแล้ว โดยแบ่งให้กับหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ในตำบลหนองบัว ตำบลหนองกลับ เพื่อออกตัดไม้ เริ่มวันแรม 4 ค่ำ ของวันที่ 18 ตุลาคม 2502 ออกตัดไม้และเลื่อยไม้แล้วลากมาส่งที่โรงเรียน ข้าพเจ้าได้ให้ นายเฉลิม หุตะมาน  และ นาย...(อ่านไม่ออก)... เป็นผู้จัดการรับไม้ ตามหน่วยของผู้ใหญ่บ้าน ในการออกตัดไม้ของชาวบ้านทั้ง 2 ตำบล เพียง 15 วันเท่านั้น ตัวไม้ที่ต้องการจะปลูกสร้างอาคารทั้ง 2 หลัง เพียงพอกับความต้องการระหว่างที่ไปตัดไม้มาทำการเลื่อยโดยมีเวลา 15 วัน ได้ให้ช่างภาพถ่ายภาพของหน่วยหมู่บ้านต่างๆ ถ่ายไว้เพื่อเป็นประวัติของการก่อสร้างโรงเรียนแล้ว
จนได้ไม้ครบจำนวนที่ต้องการ

       พอเวลา 07.00 น. ของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2502 นายกลอย พรมอ่อน อดีตผู้ใหญ่บ้านตำบลหนองกลับ
มาเป็นผู้เรียกขวัญเสา และใช้เครื่องทำไฟของวัดโฆษณาโดย นายเฉลิม หุตะมาน  เป็นโฆษกในการบอกประกาศนับตั้งแต่ตอนเช้าวันที่ 5 พฤศจิกายน 2502 นี้ ปรากฏว่าพี่น้องชาวบ้านหนองกลับยกเสาอาคารชั้นเดียวเสร็จและมุงหลังคาสังกะสีเรียบร้อย มีกระทั่งผู้หญิงและผู้เถ้าผู้แก่ช่วยเหลือเต็มมีฝีมือทันที ส่วนทางด้านหนองบัวเพียงแต่ยกเสาขึ้นเท่านั้นไม่สามารถจะทำอะไรได้มาก เพราะอาคาร 2 ชั้น งานก็มากแต่ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นติดคอสองเครื่องบนสำเร็จไปพอสมควรทันที การทำงานของพี่น้องทั้ง 2 ตำบล ทำไปได้ประมาณ 1 อาทิตย์ก็หยุดเพราะพี่น้องชาวหนองกลับ-หนองบัวต้องออกไปเกี่ยวข้าวในนาก่อน       ฉะนั้นงานปลูกสร้างโรงเรียนหยุดลงชั่วคราว ทางบ้านหนองกลับมาเสร็จฝาอาคารเรียนตีแต่ยังไม่เสร็จ ประตูหน้าต่างไม่ได้ทำให้เรียบร้อย

      ทางบ้านหนองบัวได้แต่ติดเครื่องบน  และตั้งลูกตั้งบ้างเล็กน้อย งานยังค้างอยู่มาก

      งานต่อไปพวกครูหนองบัว-หนองกลับ ช่วยกันทำต่อ เฉพาะอาคาร 2 ชั้น โดยมุงสังกะสี และระดับพื้นข้างล่างต่อจนเสร็จเรียบร้อย ส่วนข้างบนยังปล่อยทิ้งไว้ก่อนเพื่อรอชาวบ้านทำต่ออีก

      พอลุวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2503 นายวิบูลย์ พลไพรินทร์ วางโครงการในการทำโรงเรียนใหม่ดังนี้

  ตำบลหนองบัว อาคาร 2 ชั้น แบ่งเป็นหมู่บ้านกัน

      -หมู่ที่ 8-1   ทำห้อง ต.อ. พร้อมทั้งประตู หน้าต่าง เสร็จและปรับพื้นด้วย ผญ.แหวน บุญบาง และ

                        ผญ.ผิน รักนา

      -หมูที่ 2-7   ทำห้องเรียนที่ 2 รองจากห้องต.อ.ลงมา งานเสร็จทั้งหมดเหมือนกัน ผญ.เลี่ยม สกุลมา

                        ผญ.เหรียญ โลหะเวช

      -หมู่ที่ 5  ทำช่องบันไดขึ้นชั้นบน ทำประตูหน้าต่าง และปรับพื้นชั้นล่างด้วย ผู้ใหญ่บัตร รับผิดชอบ

      -หมู่ที่ 4-6  ทำห้องเรียนทางด้านตะวันตก พร้องทั้งประตูหน้าต่างเสร็จ ผู้ใหญ่นวล กับ กำนันเชิญ

ตำบลหนองกลับ  อาคารชั้นเดียว   จัดทำเป็นห้องๆ ดังนี้

      -หมู่ที่ 6   ทำห้องทางตะวันออกเสร็จเรียบร้อย  ผญ.ลัพธ์  ศรสุรินทร์

      -หมู่ที่ 2  ทำห้องเรียนรองลงไป  ผู้ใหญ่เขียน  (จัดการทำ)

      -หมู่ที่ 5  ทำห้องสุดท้าย  ผญ.ชัย  แหลมเทียน

      -หมู่ที่ 1-4   ทำห้องรองสุดท้าย โดยกำนันเขียน  พวงจำปา เป็นผู้ควบคุมในการจัดการ กับผู้ใหญ่น้อย

      ปรากฏว่าผลงานทั้งนี้โดยการควบคุมของ นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ และนายวิบูลย์ พลไพรินทร์ ผู้เสนองาน
ปรากฏว่างานเสร็จเรียบร้อยทุกประการ แต่ทางโรงเรียนหนองบัว ลูกกรงข้างล่างข้างบนยังไมได้จัดทำ นายวิบูลย์
พลไพรินทร์ ครูใหญ่ ได้ขอความร่วมมือจากครูชายทั้งหมด 20 คน แบ่งงานกันทำปรากฏว่าวันเดียวเรียบร้อย

       พองานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้รับเด็กเข้าเรียนหนังสือเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2503 โดยแบ่งชั้นไว้ดังนี้ ป.3 ข้างล่าง ป.4 ชั้นบน

   เพิ่มเติมอีก สังกะสี นอต ตะปู ชาวตลาดหนองบัวเป็นผู้บริจาค

     1.นายย่งเจียง แซ่เอี๊ยะ  ออกค่าตะปู คิดเป็นเงิน  1,300  บาท

     2.นายวัลลภ ศิริยศ         ออกคิดเป็นเงิน               900  บาท

ส่วนสังกะสีมีผู้บริจาคดังนี้

    1.โรงสีไฟล่อฮวดเส่ง  คิดเป็นเงิน  1.100  บาท       2.โรงสีไฟย่งโงหมง  คิดเป็นเงิน  1.100  บาท

    3.โรงสีไฟย่งถ่าย        คิดเป็นเงิน  1.100  บาท       4.นายตง แซ่เล้า        คิดเป็นเงิน    550  บาท

    5.เถ้าแก่น้อย แซ่จึง     คิดเป็นเงิน    660  บาท       6.เถ้าแก่โค้ว แซ่โค้ว  คิดเป็นเงิน    660  บาท

    7.เถ้าเต็ง แซ่เอี๊ยะ       คิดเป็นเงิน    660  บาท        8.เถ้าแก่เป็งเจี่ย แซ่ลิ้ม  คิดเป็นเงิน 660  บาท

    9.เถ้าแก่เอี้ยวเต็ง แซ่ลิ้ม คิดเป็นเงิน 660  บาท       10.เถ้าแก่เค็งฮะ แซ่อึ้ง  คิดเป็นเงิน  660  บาท

   11.เถ้าแก่โบ้ว แซ่โค้ว  คิดเป็นเงิน    440  บาท       12.เถ้าแก่คิมเก่ง แซ่ลิ้ม  คิดเป็นเงิน  440  บาท

   13.เถ้าแก่อ๋า แซ่ลิ้ม      คิดเป็นเงิน    440  บาท       14.เถ้าแก่ลิ้มตี้ แซ่โค้ว    คิดเป็นเงิน  440  บาท

   15.เถ้าแก่เซียมลิ้ม แซ่ซื่อ คิดเป็นเงิน 440  บาท     16.นายเกียงฮี แซ่ตั้ง       คิดเป็นเงิน  440  บาท

   17.นายบักค้วง แซ่ตั้ง    คิดเป็นเงิน    440  บาท     18.นาง(อ่านไม่ออก)แซ่ลิ้ม คิดเป็นเงิน 440 บาท

   19.นายเอี้ยวสุย แซ่ลิ้ม  คิดเป็นเงิน    440  บาท      20.นายบุ้นกวง แซ่จึง      คิดเป็นเงิน  440  บาท

ส่วนผู้อุทิศเป็นเงินอีกมี ดังนี้

    1.นายผล แสงสว่าง กำนันต.ธารทหาร เงิน 770  บาท  2.รายฮั่งคิ้ม แซ่ลิ้ม  เงิน    600  บาท

    3.นายฮั้งล้ำ แซ่ลิ้ม  เงิน          600  บาท              4.นายหลุย ปานขลิบ  เงิน   500  บาท

    5.กำนันเขียน พวงจำปา  เงิน   500  บาท              6.นายบ่งจิว แซ่จึง  เงิน    300  บาท

     และยังมีผู้อุทิศเงินรวมทั้งหมด 103 ราย คิดเป็นเงินรวมทั้งหมด 12,057.50  บาท(หนึ่งหมื่นสองพันห้าสิบเจ็ดบาทห้าสิบสตางค์) ส่วนเงินเหล่านี้ไม่ได้รวมกับเงินค่าสังกะสีที่แจ้งไว้แล้วนั้น

    มีผู้บริจาคอุทิศ

        รายที่ 1.  เงิน   200  บาท

        รายที่ 2.  เงิน   100  บาท

        รายที่ 3  เงิน   50  บาท


                                                           ---------------------------------------------


[1]ถ่ายทอดตามตัวอักษรที่บันทึกไว้ด้วยลายมือเขียนไม่ปรากฏชื่อเจ้าของลายมือ








หมายเลขบันทึก: 540869เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2013 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2013 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท