พัฒนาใจด้วย “อริยมรรค...”


คนเรากว่าจะได้ดีน่ะมันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ มันไม่ใช่ของกล้วย ๆ ความเพียรของเราน่ะเอามาช่วยกัน เพียรไม่ให้บาปมันเกิดขึ้นในทุกขณะจิต แล้วก็เพียรให้ความดีมันเกิดขึ้น ให้มันตั้งมั่น

การพัฒนาที่สำคัญ พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนพัฒนาใจ...

ทำอย่างไรเราถึงจะพัฒนาใจของเราได้...? ที่ผ่าน ๆ มาทุกท่านทุกคนไม่ได้พัฒนาใจเหรอ...! เราถือว่ายังไม่ได้พัฒนา ปล่อยให้ชีวิตจิตใจไปตามความเคยชิน ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญเป็นปัญหารีบด่วน ทุกท่านทุกคนต้องนำไปพินิจพิจารณา


ในชีวิตประจำวันของเรามันมีสิ่งที่ประกอบ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าหนทางที่ประเสริฐมีกับพวกเราทุก ๆ คน ๘ อย่าง ๘ ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ สัมมาวาจา การพูดจาชอบ สัมมากัมมันโต การทำการงานชอบ สัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายาโม มีความเพียรชอบ สัมมาสติ ความดำริชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ เราจะพัฒนาชีวิตของเราน่ะต้องเอาหนทางที่ประเสริฐคืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นสิ่งที่พัฒนา

ทุก ๆ ท่าน ทุก ๆ คนต้องมาพิจารณาตัวเองว่าได้เดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วหรือยัง หรือว่าเดินอยู่แต่ว่ามันน้อยเกิน คิดว่าคงจะน้อยเกินน่ะ เมื่อมันน้อยเกินเราจึงจำเป็นต้องปฏิบัติให้มันมาก ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ถึงจะเกิดขึ้นแก่เราได้

สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไม่ได้หมายถึงสมมุติสงฆ์นะ หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้นถึงจัดว่าเป็นสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามอริยมรรคแล้ว  ถึงจะสมาทานตัวเองเป็นพระสงฆ์ก็ไม่สามารถที่จะเป็นอริยสงฆ์ได้

การปฏิบัติตามอริยมรรคนี้เราดู ๆ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่เราก็ยังไม่ได้พากันประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ชีวิตของเราทุก ๆ คนก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแน่นอน “ความดับทุกข์ของมนุษย์เราทุกคนน่ะมันอยู่ที่เราปฏิบัติตามอริยมรรคทั้ง ๘ ประการนี้นะ...”  

เดี๋ยวนี้เรายังมองไม่เห็นน่ะ แต่พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ประเสริฐ ตรัสรู้แล้ว และก็เข้าใจหลักการวิชาการว่าผู้ที่จะเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ที่แท้จริงต้องเดินตามอริยมรรคทั้ง ๘ ประการนี้

ชีวิตของเราทุกคนน่ะมันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้ เราต้องเอาองค์ทั้ง ๘ ประการนี้มาใช้ให้มันเต็มที่เต็มกำลังเต็มร้อย...

เวลาเราเกี่ยวข้องกับอะไร พระพุทธเจ้าท่านให้เราตั้งใจเต็มที่ ต้องแก้ปัญหาให้มันถูกต้อง สมมุติว่าเราป่วยอย่างนี้ เราปวดหัวอย่างนี้ก็ต้องทานยาแก้ปวดหัว ปวดท้องก็ทานยาแก้ปวดท้อง ต้องเอาสิ่งนั้น ๆ มาใช้ให้ทันท่วงที

นี้นะ... สติของเรามันช้ามาก ปล่อยอะไรไปตามความเคยชิน แก้ปัญหาไม่ทันเหตุการณ์ กว่าจะรู้เนื้อรู้ตัวแล้วถูกกิเลสมันถล่มทลายจนหมดกำลังใจ หมดศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติว่าเราเป็นคนบุญน้อย วาสนาน้อย นี้สติของเรามันอ่อนนะ สติของเรามันช้านะ อย่างเช่นเรานั่งสมาธิอย่างนี้มันเผลอปรุงไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้เพราะว่าสติเรามันอ่อน อย่างเราเดินจงกรมเราเผลอปรุงแต่งไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้เพราะว่าสติมันอ่อน เราทำอย่างเพียรอยู่อย่างนี้แหละมันเผลอปรุงแต่ง พระพุทธเจ้าท่านให้เราต้องรู้เนื้อรู้ตัวเร็วกว่านี้ รู้อารมณ์เร็วกว่านี้ รู้สิ่งที่มันเกิดกับใจของเราให้มันรวดเร็วมากกว่านี้อีก ถ้าไม่อย่างนั้นจิตใจของเรามันจะไม่เจริญมันจะไม่ก้าวหน้า

ศีลคือความประพฤติของเรา ความประพฤติของเราต้องดี ไม่ขาดตกบกพร่อง ปฏิปทาของเราต้องสม่ำเสมอ คงเส้นคงวา ไม่ประมาท ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ไม่มีอนุโลม กิจวัตรข้อวัตรอะไรต่าง ๆ นี้เค้าเรียกว่าศีล ถึงเวลาทำวัตรก็ทำวัตร ถึงเวลาสวดมนต์ก็สวดมนต์ ถึงเวลานั่งสมาธิก็นั่งสมาธิ ถึงเวลาทำงานก็ทำงาน ถึงเวลาทำอะไรก็ทำตามเวลาทุกอย่างเค้าเรียกว่าศีลเค้าเรียกว่าความประพฤติ อยากทำเราก็ต้องทำ ไม่อยากทำเราก็ต้องทำ ศีลเราต้องมั่นคง ปฏิปทามั่นคง ถึงแม้มันจะตายก็ช่างมัน หมดลมหายใจก็ช่างมัน เพราะความเป็นสมณะหรือว่าความเป็นพระอยู่ที่ปฏิปทาอยู่ที่ศีลน่ะ


ศีลยังไม่พอต้องเอาสมาธิเข้ามาช่วย สมาธิเราต้องหนักแน่น ต้องแข็งแรง ต้องตั้งมั่น อันนี้มันดีแล้วมันถูกต้องแล้วไม่ต้องหวั่นไหวง่อนแง่นคลอนแคลน รู้ว่าอันนี้มันพูดไม่ได้เราก็ไม่ต้องพูด รู้ว่าอันนี้มันคิดไม่ได้เราก็ไม่ต้องคิด รู้ว่าอันนี้มันทำไม่ได้เราก็ไม่ต้องทำ

สมาธิมันต้องแข็งแรงมาก ฝึกทำใจให้สงบ ฝึกปล่อยฝึกวางอดีต พยายามตั้งมั่นในปัจจุบัน ถ้าเราไม่ตั้งมั่นน่ะชีวิตของเรามันจะล้มเหลว ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดเพราะเราเป็นคนที่สมาธิไม่แข็งแรงแข็งแกร่ง ปล่อยให้จิตใจของเราปรุงแต่ง ปล่อยให้จิตใจของเราโยกคลอนหวั่นไหว

การเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันของเราคือเจริญตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มันแข็งแรง ไม่แข็งแรงไม่ได้ “ธรรมะเป็นสิ่งที่ทวนโลกทวนกระแส” ทุกคนต้องจิตใจตั้งมั่นจิตใจแข็งแรง อย่าให้กิเลสมันหลอกเรา ต้องหนักแน่นให้ได้ เราฝึกอย่างนี้เราปฏิบัติอย่างนี้แหละเดี๋ยวใจของเรามันก็สงบเองเย็นเอง อดทนไว้มาก ๆ รับผิดชอบไว้ให้มาก ๆ

คนเรากว่าจะได้ดีน่ะมันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ มันไม่ใช่ของกล้วย ๆ ความเพียรของเราน่ะเอามาช่วยกัน เพียรไม่ให้บาปมันเกิดขึ้นในทุกขณะจิต แล้วก็เพียรให้ความดีมันเกิดขึ้น ให้มันตั้งมั่น

ชีวิตของเราทุกนั้นน่ะประเสริฐนะ แต่ถ้าเราไม่ได้เดินตามอริยมรรคมันไม่ประเสริฐหรอก อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ประเสริฐมาก ดีมาก ช่วยเหลือเราได้

จิตใจของเราต้องมีความเห็นถูกต้องเดี๋ยวจะถูกกิเลสมันหลอก เพราะเราเป็นคนเก่งเป็นคนฉลาด กิเลสมันก็เก่งก็ฉลาดน่ะ มันมีสิงในจิตของเราในสติปัญญาของเรา ให้เราเห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูก เหมือนเรายังไม่ถึงพระนิพพานน่ะพระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เชื่อพระพุทธเจ้าไว้ก่อน เชื่อพระธรรมไว้ก่อน เชื่อพระอริยสงฆ์ไว้ก่อนน่ะ เดี๋ยวทุกอย่างมันก็จะดีเอง เพราะว่าพระพุทธเจ้าคือพระพุทธเจ้า ถ้าท่านตรัสไว้แล้วมันต้องดีต้องถูกต้องทุกอย่าง เราอย่าเอาตัวเราไปตัดสิน ต้องเดินตามพระพุทธเจ้า

การประพฤติการปฏิบัติธรรมน่ะพระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนรู้นะว่าต้องการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ ผู้ที่เป็นโยมก็ปฏิบัติที่บ้านที่ทำงาน ผู้ที่เป็นพระเป็นเณรเป็นแม่ชีก็ปฏิบัติที่วัดแล้วแต่หน้าที่การงานของใครของมัน ถ้าเราจะไปเน้นตั้งแต่ทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิเดินจงกรมนั้นน่ะมันยังไม่เพียงพอ ต้องปฏิบัติตั้งแต่เราตื่นขึ้นจนนอนหลับ ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่


บางคนก็คิดว่าปฏิบัติเข้มงวดละเอียดถี่ยิบอย่างนี้ก็ย่อมอึดอัดแน่ซิ มันก็เครียดแน่ซิ...!

ความคิดอย่างนี้นะมันเป็นความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง อันนี้มันเป็นเรื่องจำเป็นเป็นสิ่งที่จำเป็นที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติ ความคิดอย่างนั้นมันไม่ใช่เรื่องธรรมะมันเป็นเรื่องของกิเลสที่ออกมาคิด กิเลสมันกลัวเราไปลิดรอนสิทธิของมัน มันไม่ได้ตามใจของมัน อย่าให้ระบบความคิดอย่างนี้มาครอบงำจิตใจของเรามีอิทธิพลครอบงำจิตใจของเรา

ความคิดอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เราอย่าไปสนใจ เราต้องปฏิบัติตั้งแต่เช้าจนนอนหลับนั่นหละ มีปิติมีความสุขทุกอย่างกับสิ่งที่มันเป็นธรรมะเป็นข้อวัตรปฏิบัติ สร้างความพอใจให้เกิดขึ้น เราอย่าให้กิเลสมันมาเผาจิตเผาใจของเรา

ถ้าเราปฏิบัติธรรมมันไม่เป็นเหมือนเราคิดหรอกนะ มีแต่ใจของเราสงบ มีแต่ใจของเราเย็น มีแต่เกิดสติเกิดปัญญา นี้มันเป็นความคิดเห็นผิด เป็นความเข้าใจผิด พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเข้าใจผิดนะ เมื่อเราเข้าใจผิดแล้วเราก็จะเลี้ยงความคิดที่ผิด ๆ ไว้  

เราต้องทวนความคิดทวนกระแส เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่ทวนกระแส เพราะความหลงเรามันมีมากตั้งหลายภพหลายชาติ เราจะมาผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ เพราะอันนี้มันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าเป็นปัญหารีบด่วน เราจะมาอาลัยอาวรณ์กับความสุขที่มันเป็นวัตถุ ความสุขทางเนื้อหนัง ความสุขที่มันหลอกลวงสัตว์โลกทั้งหลายให้ติดอยู่แต่ท่านผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้าอย่างพระอรหันต์หาข้องอยู่ไม่ เราคนหนึ่งนะกำลังเดินทาง ไม่ใช่เราจะมาลุ่มหลงอาลัยอาวรณ์

ทุกคนน่ะต้องการความสุขต้องการพระนิพพานแต่ไม่อยากประพฤติไม่อยากปฏิบัติ ไม่อยากฝืนไม่อยากทน ไม่อยากจะละ ไม่อยากจะทิ้ง

ทุกคนต้องใจหนักแน่นเข้มแข็งนะ ผ่านปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ใหญ่ ๆ ไปทีละเปาะ ๆ ทุกขณะจิต มันอาลัยอาวรณ์หัวใจมันสั่นอย่าไปสนใจมัน

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนอดทน พยายาม สมาธิแข็งแรงไว้ เราเกิดมาก็เกิดมาคนเดียว เวลาจากโลกนี้ไปก็จากไปคนเดียว เวลาเราเวียนว่ายตายเกิดก็คนเดียวนะ ถึงแม้คนอื่นมันจะเวียนว่ายตายเกิดก็เรื่องของเค้า เรื่องของเราก็ต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

เรื่องกายแข็งแรงนี้ไม่สำคัญ มันสำคัญที่จิตใจที่แข็งแรง จิตใจนี้สำคัญมาก จิตใจของเราต้องมีพลัง ไม่ท้อแท้ ไม่อ่อนแอ เกิดมาชาตินี้ถ้ามันจะตายก็ให้มันตายเพราะทำความดี ไม่ใช่ตายเพราะถูกกิเลสมันถลุงเพราะเราตามกิเลส มันทุกข์เรายังไม่พอ มันยังทุกข์ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลเพื่อนฝูง ทุกข์น่ะถ้าเราทำตามใจตามกิเลส ถึงคราวแล้วที่จะต้องประพฤติปฏิบัติที่จะต้องต่อสู้...


กำลังใจน่ะมันมีมาเป็นพัก ๆ นะ เดี๋ยวมันก็หายไป พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรามีเป็นพัก ๆ นะต้องมีตลอดกาล รู้อันไหนมันผิดไม่ต้องไปคิด รู้ว่าอันไหนมันผิดอย่าไปพูดอย่าไปทำ ต้องเดินหน้าอย่างเดียว งานนี้ถอยหลังไม่ได้มีแต่เดินหน้าอย่างเดียว ทิ้งทุกอย่างไปสู่จุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน

คนอื่นเค้าจะไม่ปฏิบัติก็ช่างหัวเขาเราไม่ต้องสนใจ เราสนใจตัวของเราเอง ถ้าเราแก้ไขปัญหาตัวเองได้ ปัญหาต่าง ๆ มันก็ไม่มี

งานนี้เราหนีไม่ได้ เราท้อแท้ท้อถอยไม่ได้ เราต้องตั้งใจพัฒนาจิตใจของเราเต็มที่ ถ้าเราเรียนทางโลกมันไม่จบ จะได้ปริญญากี่ใบมันก็ไม่จบ

เรามันคิดเหมือนปลาเหมือนนกนี่นะ นกมันก็ไม่รู้เรื่องปลา มันคิดว่าปลามันอยู่ในน้ำมันหายใจได้อย่างไร ปลามันก็คิดเรื่องนกไม่ได้ ว่านกมันอยู่บนอากาศบนบกทำไมมันไม่ตาย เราก็คิดเหมือนกันน่ะ ว่าถ้าไปพระนิพพานแล้วมันจะมีความสุขได้อย่างไร รูปสวย ๆ ก็ไม่มี สิ่งที่เอร็ดอร่อยก็ไม่มี เสียงเพราะ ๆ ก็ไม่มีน่ะพระนิพพาน มันจะมีความสุขมาจากไหน ความคิดของเรามันก็คิดได้แต่อย่างนี้น่ะถึงพากันเวียนว่ายตายเกิด มันถึงไม่อยากพากันไปพระนิพพาน มันไม่เข้าใจเหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านสลดสังเวชในการเวียนว่ายตายเกิดเพราะการเกิดทุกข์คราวมันเป็นทุกข์ร่ำไปไม่ว่าเกิดเป็นอะไรมันทุกข์ทั้งนั้น มีแต่พระนิพพานเป็นสิ่งที่ไม่มีทุกข์ดับทุกข์ได้

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "พระโสดาบันมีความสุขทางจิตใจมากกว่ามหาเศรษฐีที่เป็นปุถุชน"

ทำไมมันถึงสบายกว่าน่ะ...? เพราะความสุขความดับทุกข์ของคนมันอยู่ที่จิตใจสงบ ถ้าเราร่ำเรารวยแต่ใจไม่สงบมันก็เป็นทุกข์อย่างนั้นเพราะหัวใจเรามีแต่เปรต มันมีแต่ความอยากความต้องการ มันเผาเราอยู่ตลอด ยังไม่ตายก็โดนเผาจิตเผาใจ เรียกว่ายังไม่ตายก็ถูกเผาทั้งเป็นแล้วเรามาคิดดูน่ะถ้าเราเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงขึ้นไปอีกเราจะมีความสุขความดับทุกข์มากเท่าไหร่

วันนี้เป็นวันพระเป็นวันธรรมสวณะ เป็นวันแห่งการรักษาศีลฟังธรรมปฏิบัติธรรม ญาติโยมทั้งหลายได้พากันมาถือศีลฟังธรรมปฏิบัติธรรม เพื่อสืบทอดต่อยอดความดีให้กับตัวเอง สืบทอดต่อยอดพระศาสนาให้เป็นแบบอย่างของกุลบุตรลูกหลาน เป็นสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาล

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ พยายามยินดีพยายามพอใจในการรักษาศีลประพฤติปฏิบัติธรรม ปล่อยวางสิ่งภายนอกให้มันหมด ปฏิบัติให้เคร่งครัดอย่าให้ขาดตกบกพร่องด่างพร้อย สงบกายวาจาใจอยู่กับความสงบ ปล่อยวางสิ่งภายนอกให้มันหมดน่ะ เคยพูดมากเราก็ไม่พูด เรามีโทรศัพท์มือถือเราก็ปิดไว้ก่อน ลูกมันจะเป็นอย่างไรพ่อแม่จะเป็นอย่างไรก็พักผ่อนจิตใจไว้ก่อน

ฝึกปล่อยฝึกวาง ฝึกตัดสิ่งภายนอกทิ้งสิ่งภายนอกไป มีความสุขกับการเดินจงกรม มีความสุขกับการกวาดวัดกวาดศาลา ดูแลบ้านพัก ดูแลความสะอาดที่อยู่ที่อาศัย เรามีอะไรก็ปล่อยวางให้หมด เราเป็นเถ้าแก่ก็เอาเถ้าแก่ออกจากใจ มียศมีตำแหน่งก็เอาออกจากใจ มียศมีตำแหน่งเราก็ปล่อยวางหมด เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชายเราก็ปล่อยวางหมด ไม่เป็นผู้หญิงไม่เป็นผู้ชาย ไม่มีเพศแล้ว ต้องทำใจให้มีความสุขเกิดบุญเกิดกุศลเน๊อะ ทำใจให้มันสงบเต็มที่

บางทีเราเกิดมาเราก็ยังไม่ได้รับความสุขในความสงบ...

คนเราทุกคนต้องฝึกไว้นะ เวลาเจ็บไข้ไม่สบายเวลาป่วยมาจะได้เอาจิตใจที่ฝึกไปใช้ จะได้มีที่อยู่ที่อาศัยของจิตใจ ถ้าเราอยู่แต่กับสิ่งภายนอกโดยที่ไม่ฝึกจิตฝึกใจนั้นไม่ได้ไม่ถูกต้อง เรามาวัดมาอยู่วัดก็ถือโอกาสถือเวลาฝึกใจฝึกสมาธิ ให้มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติธรรมอย่างนี้แหละถูกต้อง เราทำดีแล้วถูกต้องแล้วประเสริฐแล้ว

เราพยายามมาเอาความสุขทางจิตทางใจให้มันสงบ ทางจิตทางใจมันปล่อยมันวาง เราไม่เอาความสุขทางร่างกาย ร่างกายของเรานี้แหละนั่งนานมันก็ปวดขา เดินนานมันก็เมื่อยล้า ยิ่งแก่ยิ่งเฒ่าก็ยิ่งมีโรคต่าง ๆ นานา มันช่วยเราได้เพียงที่เราเอาร่างกายมาสร้างความดีสร้างบารมีสร้างคุณธรรมเท่านั้นนะ ร่างกายของเรามันมีอายุจำกัด ต้องเอาเขามาสร้างความดีสร้างบารมีอย่างที่เรากำลังทำกันอย่างนี้แหละถูกต้อง


ตั้งใจให้ดี สมาทานใจของเราให้ดี เรามาอยู่วัดทำใจให้สงบ ตรวจตราดูตัวเองว่าตัวเองนี้มีความบกพร่องอะไรบ้าง ต่อไปนี้จะได้หยุด จะได้ละ จะได้เลิก จะได้ตัดกรรมตัดเวรมัน ไม่ใช่มาอยู่วัดแล้วกลับไปก็เหมือนเก่าเหมือนเดิม เคยบ่นเก่งเคยด่าเก่งเคยเป็นคนเจ้าอารมณ์กลับจากวัดไปก็เหมือนเดิมก็ถือว่าไม่ถูกต้องใช้ไม่ได้ เราก็ต้องหยุดมัน ใจของเรามันร้อนก็ให้ใจของเรามันเย็นนะ ลูกหลานเค้าจะได้มีความสุขว่าเดี๋ยวนี้พ่อแม่ผู้ปกครองของเค้าน่ะไม่เหมือนเก่า ใจดีมาก มีคุณธรรม เค้าก็จะได้มีความสุขในการทำการทำงานแล้วก็ทำความดีตามเรา  

การบรรยายพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันพระวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ วันนี้ก็เห็นสมควรแก่เวลาขอสมมุติยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ขอให้ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติตามอริยมรรคซึ่งเป็นหนทางอันประเสริฐ จงประสบพบซึ่งความสุขความเจริญความงอกงาม เข้าถึงมรรคผลพระนิพพานด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...


พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 540443เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2013 05:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2013 07:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท