เที่ยวไปได้ธรรม


              

              ฤดูฝนปีนี้ฉันเลือกเดินทางไปยังเมืองดอกบัวงาม อันเป็นเมืองแห่งธรรมอีกแห่งหนึ่ง ครั้งนี้ ฉันได้มีโอกาสไปที่วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นสถานที่พำนักของพระอริยสงฆ์รุ่นครูรูปหนึ่งในอดีต คือหลวงปู่ชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร) ทันทีที่ผ่านเข้าสู่ประตูวัด ความสุขและประทับใจก็เกิดขึ้นในใจ ด้วยเพราะทั่วทุกที่ที่มองเห็น เต็มไปด้วยสีเขียวครึ้มของต้นไม้น้อยใหญ่  บรรยากาศดูสงบร่มรื่น และร่มเย็น  อีกทั้งผู้คนที่ได้พบเห็น  ไม่ว่าจะเป็นผู้มาเยี่ยมเยือนเพื่อสักการะหลวงปู่ชา หรือผู้ปฏิบัติธรรม ต่างกระทำกิจต่าง ๆ ด้วยความสงบและสำรวม  ฉันเข้าไปกราบสักการะอัฏฐิของหลวงปู่ในเจดีย์พระโพธิญานเถร สวดมนต์นั่งสมาธิสักครู่เพื่อเป็นสักการะบูชา แล้วกลับออกมาด้านนอกด้วยใจที่อิ่มเอิบและปีติในคุณความดีของหลวงปู่มีต่อพระพุทธศาสนา   ฉันเดินนิ่งๆ กำหนดสติอยู่ใต้ร่มไม้สักพักหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้  แล้วออกเดินสังเกตุการณ์บริเวณโดยรอบ  สิ่งหนึ่งที่สังเกตุเห็น และน่าสนใจภายในวัดนี้ก็คือ ข้อธรรมต่าง ๆ ที่ติดอยู่ตามต้นไม้ในวัดจำนวนไม่น้อย ที่คาดว่าน่าจะคัดมาจากคำสอนของพระอาจารย์ที่สั่งสอนสงฆ์และคฤหัสถ์เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่  ถึงตรงนี้มีคำถามเกิดขึ้นในใจฉันทันทีว่า จะมีสักกี่คนหนอที่จะพิจารณาข้อธรรมที่หลวงปู่พร่ำสอนนี้ แล้วนำไปใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างจริงจัง  และจำนวนของคนที่จะนำไปใช้ กับคนที่คิดว่ามันยาก หรือทำได้ก็เป็นอรหันต์กันหมดแล้ว อย่างไหนจะมีเปอร์เซ็นต์มากกว่ากันหนอ  สำหรับฉันแล้ว จากที่ได้สัมผัสมาตลอดระยะเวลาของการเริ่มเดินเข้าสู่สายธรรมนั้น ยังเชื่อว่ามีคนอีกไม่น้อยทีเดียวที่ยังคงเห็นว่าการนำเอาข้อธรรมต่าง ๆ มาใช้ในการดำเนินชีวิตนั้นเป็นเรื่องยาก และเป็นไปได้ยาก  บ้างก็ว่าคร่ำครึ  บ้างก็ว่ามัวแต่ทำตัวเป็นคนดี จะก้าวไม่ทันคนอื่นในยุคนี้ และถูกเอาเปรียบได้ง่าย ฯลฯ  สรุป คือยังไม่เห็นประโยชน์ของธรรมะ  บางครั้งยังเคยได้ยินคนบางคนปฏิเสธการเข้าปฏิบัติธรรม หรือ ใช้ธรรมะในการดำเนินชีวิตด้วยวลีที่ว่า “ยังไม่ได้คิดจะบรรลุธรรม” หรือ “ยังไม่ถึงเวลา” หรือ “ไม่มีเวลา”  ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่ได้ยินประโยคเหล่านี้  ก็ให้นึกเสียดายแทนคนพูดนั้นทุกครั้งไป  ก็จะเพราะอะไรเล่า ก็เพราะเสียดายว่าเขาเริ่มปฏิเสธสิ่ง ๆ หนึ่งทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทดลองเลย ว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร  แท้จริงแล้วธรรมะอาจมีประโยชน์ต่อเขาก็ได้ หากเพียงเขาลองเปิดใจน้อมนำมาใช้สักข้อ โดยไม่ต้องสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ นา ๆ ไปก่อนที่จะได้ทดลองสัมผัสด้วยตัวเอง ในมุมมองของฉันนั้น ข้อธรรมของพระพุทธองค์นั้นล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะถ่ายทอดโดยใคร ไม่ว่าเราจะนำมาใช้เพียงข้อเดียวหรือหลายข้อก็ตาม  และการนำธรรมะมาใช้ในชีวิตนั้น  ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายอยู่ที่การบรรลุธรรมอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงเวลา หรือต้องตัดตัวเองออกจากสังคมที่เป็นอยู่เลย เพราะแท้จริงธรรมนั้นสามารถใช้ได้ในทุกที่ ทุกเวลา โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกตน หรือพัฒนาตนเองให้เกิดปัญญา เพื่อจะนำพาตัวเราข้ามพ้นห้วงแห่งทุกข์ไปได้นั่นเอง  และหากมิได้มุ่งหวังบรรลุธรรม หากแต่ยังปรารถนาใช้ชีวิตปกติอยู่ในทางโลก  การปฏิบัติธรรมหรือการนำเอาข้อธรรมต่าง ๆ นั้นมาใช้ ก็จะยังประโยชน์ให้ผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ดี และกลับจะยิ่งทำให้เราสามารถมีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น อยู่ในสังคมและเจริญก้าวหน้าได้ดีขึ้น ด้วยเพราะการปฏิบัติธรรมหรือการหมั่นน้อมนำเอาธรรมมาใช้อยู่เสมอนั้นหรือจะก่อให้เกิดปัญญาและการเจริญงอกงามของธรรมขึ้นในใจของเราเองและปัญญานั้นจะช่วยให้เราไม่เสียเปรียบเพรี่ยงพร้ำต่ออารมณ์สิ่งเร้าได้ง่าย แต่กลับเฉียบคมและว่องไวขึ้น เราจะสามารถตั้งรับกับสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญได้อย่างสุขุมรอบคอบขึ้น  คนที่สร้างเงื่อนไขเพื่อปฏิบเสธการเข้าสู่ทางธรรม ไม่ว่าโดยการปฏิบัติ หรือน้อมนำเอาธรรมมาใช้เหล่านั้น ล้วนเสียโอกาสอย่างยิ่ง เพราะยังไม่ได้เห็นความจริงนี้เหล่านี้  เพราะฉะนั้นอย่ามัวแต่ตั้งเงื่อนไขให้กับการน้อมนำเอาธรรมมาใช้ หรือปฏิเสธการปฏิบัติธรรมอยู่เลย  อุปมาจะเหมือนกับว่า ท่านจะรู้รสของผลไม้ได้อย่างไร หากยังไม่ได้ลิ้มลองด้วยตัวเอง

               สำหรับฉันแล้ว การปฏิบัติธรรม หรือการน้อมนำเอาข้อธรรมมาใช้นั้น  คงต้องขึ้นอยู่กับศรัทธาของบุคคลเป็นหลัก  หากมีศรัทธาที่ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดวิริยะ คือความพากเพียรที่จะกระทำขึ้นเอง  จากนั้น สติ สมาธิ ปัญญา ก็จะตามมาเอง  อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันให้ความสำคัญคือความเข้าใจอันถูกต้อง ในข้อธรรมและหลักการปฏิบัติ  ซึ่งอันนี้ต้องแน่ใจว่าไม่ผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และต้องไม่หลงงมงาย  ทางออกที่ดีอาจทำได้ด้วยการเลือกครูบาอาจารย์ที่ดี ที่เป็นที่ยอมรับจากสาธุชนทั่วไป และมีคำสอนอันตรวจสอบและอ้างอิงได้ตรงตามพระไตรปิฎกอันเป็นที่รวมและที่สุดของพระธรรมทั้งหลาย ทั้งนี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเปล่า และจะมากล่าวกันภายหลัง ว่าปฎิบัติธรรมแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย

               สำหรับการปฏิบัติธรรมนั้นก็สุดแท้แต่ว่าใครจะเลือกแบบไหน สายไหน  ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีมากมายหลายสำนัก  ซึ่งส่วนใหญ่ต่างกันที่เส้นทางเดิน แต่ก็ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน หากจะหลุดออกนอกลู่ทางไปอย่างเห็นได้ชัดเจนจริง ๆ  ก็ไม่ควรนำมาพิจารณา  แต่เท่าที่พบเห็น ฉันก็เห็นว่าจะแยกเป็นสายสมถะ และวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งจำกัดความคร่าว ๆ ได้ว่าสมถะนั้นคือการทำจิตให้สงบ ซึ่งขณะที่จิตสงบก็จะไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่มากระทบ  ส่วนวิปัสสนาฯ นั้นเป็นการทำจิตให้ตื่นรู้อยู่ตลอด คือรู้ตามความเป็นจริง แล้วแยกแยะโดยธรรมต่าง ๆ จนเกิดปัญญา สำหรับฉันเองเลือกการฝึกตนด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เดินจงกรม-นั่งสมาธิ ควบคู่ไปกับการศึกษาข้อธรรมจากพระไตรปิฎกโดยมีครูบาอาจารย์สั่งสอนอบรมให้ตามวาระโอกาส และอาศัยการอ่านหนังสือธรรม และฟังธรรมตามกาล  ที่สำคัญคือนำข้อธรรมมาใช้ในชีวิตอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส  และจากประสพการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เชื่อว่าในการปฏิบัติธรรมนั้น หากจะให้ได้ประโยชน์แท้จริง ...เมื่อทำสมาธิจนจิตตั้งมั่นดีแล้ว เราต้องนำเอาข้อธรรมต่าง ๆ มาคิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ หรือที่ทางธรรมเรียกว่า "โยนิโสมนสิการ" และเมื่อนั้นแหละจึงจะเกิดปัญญา ที่จะนำไปขจัดกิเลส ตัณหาต่างๆ ได้  แต่หากไม่รู้หลักเสียก่อน แล้วมุ่งแต่จะทำสมาธิให้จิตสงบเพียงอย่างเดียว  เมื่อคลายออกจากสมาธิ ก็จะไม่ได้ปัญญาที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาแต่อย่างใด ครั้นพอมีอะไรมากระทบก็วิ่งไปตามอารมณ์นั้น ๆ  โดยขาดสติปัญญาในการใคร่ควร หาสิ่งดีชั่ว ถูกผิด และหากไมรู้จักหรือจดจำข้อธรรมใด ๆ ไม่ได้เลย  จะเอาอะไรมาเป็นสิ่งแยกแยะอารมณ์ที่มากระทบได้ นอกจากปล่อยไปตามความชอบใจ (คืออารมณ์) ของตัวเอง  ซึ่งจะถูกบ้างผิดบ้างแล้วแต่อารมณ์จะพาไป บางครั้งก็ไปในทางกุศลบางครั้งก็ไปในทางอกุศล  ก็กลับกลายเป็นว่าใช้ชีวิตไปบนพื้นฐานของอารมณ์มากกว่าเหตุผลนั่นเอง   ถึงตรงนี้ทำให้ระลึกถึงคำสอนของพระอาจารย์ที่เคารพรูปหนึ่งที่มักจะเตือนสติเราด้วยคำถามที่ว่า “จะเอาถูกใจ หรือจะเอาถูกต้อง”   และนี่คือเหตุผลว่าทำไมฉันถึงให้ความสำคัญต่อข้อธรรมต่าง ๆ ที่ติดอยู่ตามต้นไม้ในวัดหนองป่าพงเมื่อได้พบเห็น เพราะหากไม่มีหลักธรรมไว้คอยยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่หมั่นเตือนตน  จิตของเราก็จะหลุดไปเป็นทาส และกวัดแกว่งไปตามอารมณ์ต่างๆ ได้ง่าย  เราจึงไม่ควรประมาท  และควรจดจำ ศึกษาข้อธรรมต่าง ๆ นั้นไว้บ้าง เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิต อย่างน้อยเราก็เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธมามะกะ หรือผู้ถือตนว่าเป็นว่ามีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะแล้ว  ดังนั้น ชีวิตชาวพุทธ ไม่ว่าจะหวังหรือไม่หวังบรรลุธรรม ก็ควรมีพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ในใจบ้าง เป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ  เพราะอย่างไรเสีย พระธรรมนั้นมิเคยให้โทษใด ๆ แก่ใครเลย มีแต่จะให้คุณแก่ผู้น้อมนำไปปฏิบัติเท่านั้น


หมายเลขบันทึก: 540009เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2013 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2014 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณทุกท่านสำหรับกำลังใจนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท