BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องธนิยสูตร ๑๐ (เมื่อฝนตก)


เล่าเรื่องธนิยสูตร ๑๐ (เมื่อฝนตก)

 ฝนได้ตกเต็มทั้งที่ลุ่ม ทั้งที่ดอน ในขณะนั้นเอง นายธนิยะ
 คนเลี้ยงโคได้ยินเสียงฝนตกอยู่ ได้กราบทูลเนื้อความนี้ว่า
 เป็นลาภของข้าพระองค์ไม่น้อยหนอ ที่ข้าพระองค์ได้เห็น
 พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุ ข้าพระองค์ขอถึง
 พระองค์ว่าเป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหามุนี ขอ
 พระองค์ทรงเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ทั้งภริยาทั้ง
 ข้าพระองค์เป็นผู้เชื่อฟัง ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต
 ข้าพระองค์เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชาติและมรณะจะเป็นผู้กระทำซึ่ง
 ที่สุดแห่งทุกข์ได้ ฯ    

ในพระไตรปิฏกมีคาถาประพันธ์เพียงแค่นี้ ซึ่งประมวลความได้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสคาถาสุดท้ายจบลง ฝนก็ได้ตกลงมา นายธนิยะพร้อมกับภรรยาก็ออกมาจากกระท่อมทูลขอบวชกับพระบรมศาสดา ส่วนรายละเอียดในคัมภีร์อรรถกถานั้นบ่งชี้ไว้หลายนัย

ผู้เขียนยกอ้าง "คัมภีร์อรรถกถา" มาตลอด บางท่านที่ไม่รู้อาจสงสัย จึงขอถือโอกาสนี้เฉลยไว้ หลักฐานทางพระพุทธศาสนานั้น พระไตรปิฏกถือว่าเป็นคัมภีร์หลักที่พระภิกษุสงฆ์ได้จัดรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่แล้วท่องจำไว้ในคราวสังคายนาครั้งแรกหลักจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ๓ ส่วนเรื่องราวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น โดยมากไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฏก แต่พระสงฆ์และคนทั่วไปในยุคนั้นย่อมรับรู้กันทั่วไป เพราะอยู่ทันยุคสมัย เมื่อกาลเวลาผ่านมา คนที่อยู่ทันยุคสมัยก็ค่อยๆ หมดไป จะเป็นเพียงเรื่องราวที่เล่าต่อๆ กันมาทำนองเป็นประวัติศาสตร์ ผู้ที่เข้าใจและจดจำเรื่องราวในพระไตรปิฎกเป็นพิเศษหมวดใดเรื่องใดก็กลายเป็นผู้ชำนาญการในเรื่องนั้น และผู้ชำนาญการในเรื่องนั้นๆ นี้เองเริ่มเขียนอธิบายเพิ่มเติมในส่วนที่ตนเองเข้าใจ เรียกกันว่า "คัมภีร์อรรถกถา" ซึ่งบางเรื่องก็มีหลายคนเขียนตรงกันบ้างแย้งกันบ้าง รวมเรียกชื่อว่า "พระอรรถกถาจารย์ "

สมัยแรกนั้นต่างคนต่างเขียน หรือรวมกลุ่มกันเขียน เล่มใดที่ได้รับการยอมรับก็มีการคัดลอกสืบต่อมา เล่มใดที่ไม่ได้รับการยอมรับก็ย่อมสูญหายไปตามกาลเวลา และถ้าเรื่องเดียวกัน มีเขียนอธิบายไว้หลายเล่ม ต่อมาก็มีผู้ชำนาญการรวมเป็นเล่มเดียว โดยในส่วนที่เหมือนกันก็คงไว้ ในส่วนที่ต่างกันก็แยกประเด็นไว้ คัมภีร์อรรถกถาที่เขียนอธิบาย "ธนิยสูตร" ก็เป็นมาทำนองนี้

กลับมาว่าเรื่องเดิมต่อไป ในพระไตรปิฏกบอกแต่เพียงว่า "ฝนได้ตกเต็มทั้งที่ลุ่ม ทั้งที่ดอน ในขณะนั้นเอง นายธนิยะ  คนเลี้ยงโคได้ยินเสียงฝนตกอยู่ ... " นั่นคือ เมื่อฝนตก นายธนิยะก็มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับภรรยาเพื่อทูลขอบวช แต่ในคัมภีร์อรรถกถาขยายความเพิ่มเติมไว้เป็นลำดับดังนี้

ประการแรกบอกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสคาถาสุดท้ายจบลง นายธนิยะพร้อมภรรยาและลูกสาวอีกสองคน ได้บรรลุธรรมเบื้องต้นคือโสดาปัตติผล ประเด็นนี้เข้าใจไม่ยาก เหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าในฐานะกวีลึกลับยืนบนหลังคากระท่อมของนายธนิยะแล้วโต้กลอนตามที่เล่ามานั้น ย่อมมิใช่นายธนิยะและภรรยาเท่านั้นที่ได้ฟัง บรรดาลูกและบริวารของเขาที่อยู่ในกระท่อมเดียวกันหรือกระท่อมอื่นๆ ที่ไม่ไกลออกไปจะต้องได้ยิน และคงจะตั้งใจฟังอย่างเอาใจจดจ่อว่าเหตุการณ์จะดำเนินต่อไปอย่างไร แต่คนอื่นๆ คงจะมีปัญญาบารมีไม่พอ มีเพียงแต่เขาพร้อมภรรยาและลูกสาวอีกสองคนเท่านั้นที่ได้บรรลุธรรมเบื้องต้น

ประการต่อมา เมื่อได้บรรลุธรรมแล้ว นายธนิยะก็เข้าใจได้เลยว่า นักบวชลึกลับบนหลังคาจะต้องเป็นพระบรมศาสดาของเราแน่นอน เพราะตั้งแต่อเวจีนรกไปจนถึงภวัคพรหม ไม่มีใครที่สามารถจะบันลือสีหนาทเหมือนดังเช่นนี้ได้ จากประเด็นนี้ ผู้เขียนคิดว่า นายธนิยะคงจะเคยเห็นหรือเคยได้ยินเรื่องราวของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาแล้ว เพียงแต่มิได้สนใจหรือใกล้ชิดกับพระศาสนา เทียบบางคนยุคปัจจุบัน บ้านอยู่ไม่ไกลจากวัดเท่าไหร่นัก ก็ใส่บาตรบ้างบางครั้ง ไปวัดบ้างเวลามีงาน พอจะรู้ว่าวัดใกล้บ้านนั้นใครเป็นสมภารวัดเท่านั้น แต่มิได้เข้าไปคลุกคลีหรือสนใจอะไรนัก นายธนิยะก็คงจะเป็นไปทำนองนี้ เพียงแต่ยุคสมัยแตกต่างกันมากเท่านั้น

ประการต่อมา พระพุทธเจ้าทรงเปล่งพระรัสมีออกไป ซึ่งเรียกกันว่าฉัพพัณณังสีคือแสงมี ๖ สี โดยแสงเหล่านี้สว่างไปทั่วแล้วก็ลอดช่องเล็กช่องน้อยเข้าภายในกระท่อมที่นายธนิยะพักอยู่ โดยพระองค์มีพระประสงค์ว่า "บัดนี้ เชิญท่านออกมาดูตามสบาย" และเมื่อนายธนิยะออกมา ฝนก็เริ่มตกตอนนี้เอง

เมื่อมาถึงจุดนี้ คัมภีร์อรรถกถาเพิ่มเติมว่า แต่อาจารย์บางท่านบอกว่า (นี้คือเรื่องราวที่แตกต่างออกไป) ดวงอาทิตย์เริ่มโผล่ขึ้นมา นั่นก็คือ ตอนนี้เวลารุ่งสางใกล้สว่างแล้ว เริ่มเห็นแสงจากดวงอาทิตย์ นายธนิยะได้ยินเสียงฝนที่เริ่มตกลงมา อีกทั้งเกิดความปิติโสมนัส จึงกราบทูลพระพุทธเจ้า...

ตามนัยที่เล่ามาทั้งหมด ก็อาจประมวลได้ว่า นายธนิยะกับพระพุทธเจ้าตอบโต้บทกลอนกันจนเวลารุ่งสาง ฝนก็เริ่มตกลงมา เขาได้บรรลุธรรม จึงออกจากกระท่อมมาทูลขอบวช เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติตตามตอนต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #ธนิยสูตร
หมายเลขบันทึก: 539787เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท