BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องธนิยสูตร ๕ (คาถาที่สอง)


เล่าเรื่องธนิยสูตร ๕ (คาถาที่สอง)

ในคาถาที่ ๒ นี้ นายธนิยะได้แสดงถึงผลของการบริหารจัดการและวิสัยทัศน์ของตนด้วยคาถาว่า...

เหลือบและยุงย่อมไม่มี โคทั้งหลายย่อมเที่ยวไปในประเทศ
ใกล้แม่น้ำซึ่งมีหญ้างอกขึ้นแล้ว
พึงอดทนแม้ซึ่งฝนที่ตกลงมาได้
แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

ขยายความได้ว่า สถานที่พักฝูงวัวชั่วคราวนี้ เป็นสถานที่เหมาะสมเพราะไม่มีแมลงร้ายเช่นเหลือบยุงเป็นต้นรบกวน หรือแม้จะมีขึ้นบ้างเพราะฝนตก ก็มีพวกคนงานใช้ดินร่วนและกิ่งไม้กำจัดได้ไม่ยาก สถานที่ริมแม่น้ำมหีนี้ก็มีหญ้าเขียวชะอุ่มมากมายและเพียงพอสำหรับพาวัวเที่ยวเลาะเล็มกินได้โดยไม่ลำบากเลย และแม้ฝนจะตกลงมา วัวของเราก็อาจอดทนได้ มิใช่เรื่องยุ่งยากอะไร ฉะนั้น จึงได้กล่าวท้าทายฝนว่า ถ้าต้องการจะตก ก็เชิญตกลงมาได้เลย

บทกลอนของนายธนิยะ แสดงออกถึงความมั่นใจในผลงานของตนเองว่าภารกิจนี้เป็นเรื่องง่ายๆ คัดค้านความยุ่งยากของการทำงาน ที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นในคาถาก่อน ดังนี้แล้ว พระบรมศาสดาจะทรงแก้อย่างไร เราก็มาดูคาถาของพระองค์ต่อไป....

ก็เราผูกแพไว้แล้ว ตกแต่งดีแล้ว
กำจัดโอฆะ ข้ามถึงฝั่งแล้ว
ความต้องการด้วยแพย่อมไม่มี
แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

อ่านเพียงคำแปลก็ยากจะเข้าใจว่าบทกลอนของพระองค์ทรงแก้บทกลอนของนายธนิยะอย่างไร จึงต้องไปทำความเข้าใจในคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งพอจะจับใจความมาขยายได้ทำนองว่า เมื่อพระองค์ตรัสถึง "แพ" นายธนิยะก็จะนึกได้ว่าริมแม่น้ำนั้น ยังมีแพของพวกเขาจอดพักอยู่ และเข้าใจเรื่องนี้ทันที เพราะการอพยพจากเกาะกลางแม่น้ำมหี มายังที่ดอนซึ่งพักอยู่ตอนนี้ต้องใช้แพตามจำนวนที่ต้องการ และขณะนี้แพก็ยังจอดพักอยู่เพื่อจะใช้ในอนาคตสำหรับเหตุการณ์ข้างที่คาดการณ์ไว้แล้วหรือคาดการณ์ไม่ถึง

เหตุการณ์ที่ว่าก็เช่น หลังฤดูฝนอาจอพยพกลับไปอยู่ที่เกาะ หรือฝนตกหนักเกินที่คาดคะเนไว้ เกิดน้ำท่วมใหญ่หรือน้ำป่าไหลหลาก ก็อาจต้องใช้แพเพื่ออพยพหรือแก้ปัญหาฉุกเฉินตามกรณี ดังนั้น การที่นายธนิยะบอกว่า ไม่ยุ่งยากลำบากอะไร จึงไม่สมเหตุสมผล พระบรมศาสดาทรงยกคำว่า "แพ" มาคำเดียวก็อาจหักล้างบทกลอนของนายธนิยะทั้งหมดได้ นั่นคือพระปรีชาญาณของพระองค์

แต่สำหรับพระองค์เอง "เราผูกแพไว้แล้ว ตกแต่งดีแล้ว" แพในที่นี้เป็นปริศนาธรรม คือหลักธรรมที่นำทางไปสู่การพ้นทุกข์ ทำนองเดียวกับแพที่นายธนิยะใช้ข้ามจากเกาะมาอยู่ที่ดอนก็คือพ้นทุกข์จากน้ำท่วม

"กำจัดโอฆะ" คำว่า โอฆะ แปลว่าห้วงน้ำหรือสายน้ำเป็นชื่อเปรียบเทียบซึ่งกิเลส ๔ ประการ กล่าวคือ
๑. กาโมฆะ ความใคร่ในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เปรียบดังห้วงน้ำ เพราะฉุดคร่าให้คนเราตกลงไปแล้วก็จมลง ยากที่ผุดขึ้นมาแล้วข้ามพ้นไปได้
๒.ภโวฆะ ความมีความเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม เปรียบดังห้วงน้ำ เพราะฉุดคร่าให้คนเราตกลงไปแล้วจมลง ยากที่จะข้ามพ้นไปได้
๓.ทิฏโฐฆะ ความคิดเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม เปรียบดังห้วงน้ำ เพราะฉุดคร่าให้คนเราตกลงไปแล้วจมลง ยากที่จะข้ามพ้นไปได้
๔. อวิชโชฆะ ความไม่รู้แจ้งเห็นจริงโดยประการทั้งปวง ก็เปรียบดังห้วงน้ำ เพราะฉุดคร่าให้คนเราตกลงไปแล้วจมลง ยากที่จะข้ามพ้นไปได้

จะข้ามพ้นโอฆะคือห้วงน้ำเหล่านี้ได้ ก็ต้องใช้แพคือหลักธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงค้นพบแพคือหลักธรรมเหล่านี้แล้วก็ข้ามพ้นไปได้ อีกทั้งทรงกำจัดห้วงน้ำคือกิเลสเหล่านั้นได้หมดแล้ว จะเห็นได้ว่าประเด็นนี้ พระองค์ทรงเปรียบเทียบได้ลึกซึ้งยิ่งนัก โดยเบื้องต้น พระองค์ทรงคัดค้านที่นายธนิยะพยายามแสดงออกว่ามิใช่เรื่องยุ่งยากอะไรเลย แต่พระองค์ตรัสเพียงคำว่า "แพ" ก็ชี้ให้เห็นปัญหาที่ยังต้องแก้ไข อีกทั้งคำว่าแพและห้วงน้ำ ยังแสดงให้เห็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาทุกข์ที่แท้จริง มิใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่อยไปเหมือนดังหน้าที่การงานของนายธนิยะ

 เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า "ข้ามถึงฝั่งแล้ว" คือทรงบรรลุธรรมแล้ว อีกทั้งทรงกำจัดกิเลสคือห้วงน้าได้แล้ว "ความต้องการด้วยแพย่อมไม่มี" นั่นคือ ไม่จำเป็นต้องขวนขวายพยายามต่อไป ดังนั้น "แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด" ทุกสิ่งทุกอย่างจึงมิใช่อุปสรรคอีกต่อไป

นายธนิยะ ฟังคาถาแก้จากกวีนักบวชลึกลับที่ยืนอยู่บนหลังคาแล้วแม้จะเข้าใจได้ถึงนัยอันลึกซึ้ง แต่ก็ยังไม่ออกมาจากกรท่อม เพราะยังมีมานะว่าตนเองก็แน่เหมือนกันอีก ทั้งใคร่จะฟังต่อ จึงแต่งแก้ไปอีกหนึ่งคาถา ซึ่งจะนำมาเล่าในตอนต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #ธนิยสูตร
หมายเลขบันทึก: 539614เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท