วงกาหลอ


                                                      กาหลอ



                     กาหลอ เป็นวงดนตรีพิธีกรรมของภาคใต้ ซึ่งในอดีตใช้ทั้งงานมงคลและอวมงคล ปัจจุบันใช้เฉพาะ 
งานอวมงคล เครื่องดนตรีประกอบด้วย ปี่กาหลอ ๑ เลา ทน ๑ คู่ และฆ้องกาหลอ ๒ ใบ การประสมวงปี่กลองเช่นนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับวงปี่กลองของประเทศเพื่อนบ้าน 

                          การบรรเลงกาหลอ มีโรงแสดงโดยเฉพาะและ สร้างตามแบบแผนที่เชื่อต่อๆ กันมา เรียกว่าโรงฆ้อง มีเสา จำนวน ๖ ต้น ไม่ใช้ขื่อ หลังคามุงด้วยจากหรือทางมะพร้าว หรือวัสดุอื่นที่กันฝนได้ ส่วนพื้นไม่ยกสูง ปูด้วยไม้กระดาน ตั้งโรงตามแสงตะวัน เรียกว่า “ลอยหวัน” และมีการตั้งหิ้ง ครูหมอและผ้าเพดานไว้ในโรงแสดง ในวงดนตรีกาหลอ คนเป่าปี่เรียกว่า “หมอปี่” เป็นผู้นำทำนอง นายทนตีทน ตามจังหวะเพลงปี่ และนายฆ้อง ตีฆ้องตามจังหวะเพลงทน เพลงที่คณะกาหลอใช้บรรเลงนั้นมีหลายเพลง เช่น เพลงสร้อยทอง เพลงจุดไต้ เพลงสุริยัน เพลงคุมพล เพลงทองศรี เพลงแสงทอง เพลงนกเปล้า เพลงทอมท่อม เพลงตั้งซาก (ศพ) เพลงยายแก่ เพลงโก้ลม และเพลงซัดผ้า ฯลฯ ซึ่งเป็น เพลงบรรเลงทั้งหมด โดยไม่มีการขับร้องหรือการแสดงอื่นๆ ประกอบ 
ขนบการบรรเลงเพลงกาหลอเป็นไปตาม ความเชื่อ ได้แก่ ตอนไหว้ครูบรรเลงเพลงสร้อยทอง เพลงจุดไต้ เพลงสุริยัน เพลงคุมพล เวลานำศพเคลื่อนไปที่สามสร้าง (เชิงตะกอน) กาหลอ บรรเลงเพลงตั้งซาก เพลงขอไฟยายแก่ บรรเลงเพื่อขอไฟจากยายแก่มาจุดเผาศพ เพลงโก้ลม (เรียกลม) บรรเลงเพื่อขอลมให้มาช่วยพัดกระพือไฟให้ติดดีขึ้น เพลงสร้อย เพลงซัดผ้า จะบรรเลงตอนซัดผ้าข้ามโลงศพ ขณะจุดไฟเผาศพตอนกลางคืนใช้เพลงทองศรี ตอนเช้า ใช้เพลงนกเปล้า เพลงแสงทอง จำนวนเพลงที่ใช้บรรเลงของกาหลอแต่ละคณะมีความแตกต่างกันไปตามความเช่อื และครูที่ได้สั่งสอนกันมา เมื่อจบกระบวนการประโคมกาหลอ หัวหน้าวงจึงทำพิธีคว่ำฆ้อง แล้วเอาน้ำใส่ลงในฆ้อง เป็นเสมือน น้ำมนต์ที่นำไปใช้ปัดเสนียดจัญไรได้ หลังจากนั้นจึงจัดเก็บ หิ้งครูหมอและผ้าเพดาน จนเรียบร้อยแล้วจึงออกจากโรง เมื่อเสร็จสิ้นการแสดง 

                         ในอดีตวงกาหลอเป็นที่นิยมทั่วไปในภาคใต้ แต่ในปัจจุบันความนิยมลดลง เนื่องจากวงกาหลอเป็นวงดนตรีบรรเลงในพิธีกรรมที่มีข้อปฏิบัติและข้อห้ามที่เคร่งครัด มากมาย จึงทำให้มีข้อจำกัดในการบรรเลงและถ่ายทอด   ในอนาคตจึงมีโอกาสสูงมากที่วงกาหลอจะสูญหายไปจากสังคมและวัฒนธรรม

หมายเลขบันทึก: 539598เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท