ผู้เสียหาย


  “ผู้เสียหายในคดีอาญา” หมายถึง ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดทางอาญาฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงหรือแท้จริง 

2. ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายโดยตรงหรือแท้จริง  

       โดยผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงหรือแท้จริง ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ

       (1) ต้องมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น      

       (2) ต้องมีฐานะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล 

       (3) ต้องได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญาตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นหรือโดยพฤตินัย ซึ่งอาจมีผู้ได้รับความเสียหายมากกว่าหนึ่งราย ในฐานะที่แตกต่างกัน 

       (4)  ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โดยศาลฎีกาเป็นผู้วางหลักเกณฑ์ คือ  

                 (ก) ต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม  

                 (ข) ต้องไม่ยินยอมให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

                  (ค) ต้องไม่กระทำการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

         ส่วนผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายโดยตรงหรือแท้จริง ตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 4, 5 และ 6   คือ

          (1) โดยความยินยอมของผู้เสียหายอย่างชัดแจ้ง

          (2) โดยอำนาจของกฎหมาย ได้แก่ กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5  คือ 

                 (ก)  ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือ ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล 

                 (ข) ผู้บุพการี  คือผู้สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ตามความเป็นจริง ส่วนผู้สืบสันดานได้แก่ ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมา ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ ตามความเป็นจริง สามีหรือภริยาในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้าย ถึงตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ต้องเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย หากไม่ชอบด้วยกฎหมายสามารถใช้วิธีมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 (7)  

                (ค) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคล ในความผิดซึ่งกระทำแก่นิติบุคคลนั้น 

        (3) โดยคำสั่งศาล ให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 6 ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์  ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้วิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถที่ไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถกระทำการตามหน้าที่ได้ รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้นๆ ซึ่งศาลจะต้องเป็นผู้แต่งตั้งเฉพาะคดี โดยทำการไต่สวนก่อน จะตั้งกันเองไม่ได้  กรณีของบิดาต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรผู้เยาว์ ส่วนมารดานั้นถือเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรผู้เยาว์ แม้มิได้จดทะเบียนสมรสก็ตาม

ผู้เสียหายมีสิทธิและหน้าที่  คือ

  (1) การร้องทุกข์ ดำเนินคดี 

  (2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ 

  (3) เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา 

  (4) ถอนฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา 

  (5) ยอมความในคดีอันเป็นความผิดส่วนตัว และ

  (6) ตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตน

         

หมายเลขบันทึก: 539447เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท