แนวโน้มธุรกิจพลังงานทดแทน


ธุรกิจพลังงาน

ปัจจุบันพลังงานทดแทนเป็นที่สนใจและได้รับความใส่ใจมากขึ้น ทั้งนี้สาเหตุก็อันเนื่องมาจากพลังงานที่ใช้อยู่กำลังจำหมดไปในอีกไม่ช้า และการนำมาใช้ต้องแลกกับต้นทุนที่สูงกว่าแต่ก่อน ตลอดจนถึงการพยายามประชาสัมพันธ์แนะนำพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น 

งาน Innomart Technomart 2012 จากความร่วมมือของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการสัมมนาในหัวข้อ “พลังงานทดแทนธุรกิจที่น่าลงทุน” ซึ่งชี้ให้เห็นแนวโน้มธุรกิจด้านพลังงานทดแทนที่น่าสนใจและมีโอกาสทำกำไรได้สูง พลังงานที่น่าสนใจมีดังนี้

พลังงานลมและแสงอาทิตย์

  พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความสนใจมากในปีที่ผ่านมา เนื่องจากการกระตุ้นธุรกิจจากภาครัฐด้วยการอุดหนุนราคาส่วนต่างการรับซื้อไฟฟ้าหรือที่เรียกกันว่า Adder ซึ่งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มที่ได้รับเงินส่วนต่างสูงอันดับต้นๆ ของจำนวนพลังงานทดแทนหลายชนิดจากภาครัฐนอกจากนี้ภาครัฐยังได้ปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเป็น 25% ใน 10 ปี โดยเพิ่มเพดานการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 500MW เปลี่ยนเป็น 2,000MW และพลังงานลมจากที่กำหนดไว้ไม่เกิน 800MW เปลี่ยนเป็น 1,200MW

พลังงานชีวมวลและก๊าซชีวภาพ

  พลังงานจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพก็เป็นพลังงานอีก 2 ชนิดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปีที่ผ่านมาทั้งนี้เนื่องจากสามารถหาวัตถุดิบในการผลิตได้ง่าย โดยเฉพาะชุมชนการเกษตรโดยใช้ชานอ้อย แกลบ เป็นต้น และจากการปลูกไม้โตเร็วที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานชีวมวล ทำให้มีกำลังการผลิตที่มากเกินไป ภาครัฐจึงมีการปรับแผนจากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 3,700MW ลดลงเหลือ 3,630MW ส่วนก๊าซชีวภาพเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเนื่องจากวัตถุดิบหาง่าย ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากขยะและยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาขยะอีกด้วย อีกทั้งกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน เทคโนโลยีอีกพร้อมใช้งาน การลงทุนไม่สู ภาครัฐจึงปรับเพิ่มจากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 120MW ขึ้นมาที่ระดับ 600MW

พลังงานจากขยะ

  ขยะนอกจากเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นพลังงานก๊าซชีวภาพแล้ว ยังสามารถนำมาผลิตพลังงานได้โดยตรงอีกด้วย โดยภาครัฐยังกำหนดไว้ตามแผนเดิมคือ 160MW เฉพาะขยะจากการสังเคราะห์เช่น พลาสติก เป็นต้น โดยรัฐบาลมีการผลักดันให้มีการผลิตพลังงานจากขยะเนื่องจากปริมาณขยะโดยเฉลี่ยสูงถึงราว 40,000 ตันต่อวัน ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 500MW และนอกจากนี้ขยะพลาสติกก็สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันได้ โดยการสกัดปิโตรเลียมที่อยู่ในพลาสติก และสามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์ดีเซลในอุตสาหกรรมได้ แต่หากต้องการใช้กับยานพาหนะจะต้องทำให้มีความบริสุทธิ์มากขึ้น  โดยรัฐบาลมีการประกันราคารับซื้อน้ำมันชนิดนี้จากผู้ผลิตรายย่อยด้วย

เอทานอลและไบโอดีเซล

  น้ำมันที่ใช้ในรถยนต์ปัจจุบันมีการผสมเชื้อเพลิงอื่นเข้าไปทั้งน้ำมันเบนซิน เช่น แก๊สโซฮอล์ E10-E85 และน้ำมันดีเซล หรือที่เรียกกันว่าไบโอดีเซลซึ่งเป็นการผสมเอทานอลลงไปในน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเอทานอลได้จากผลผลิตทางธรรมชาติเช่นอ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น โดยปัจจุบันเอทานอลที่ใช้มากที่สุดได้จากกากน้ำตาลหรือโมลาส ส่วนไบโอดีเซลผลิตจากปาล์มน้ำมัน

  พลังงานทดแทนทั้งหมดที่กล่าวมา ไบโอดีเซลมีแนวโน้มความต้องการของตลาดมากที่สุด เนื่องจากไบโอดีเซลสามารถผลิตได้จากวัตถุดิบหลายชนิดไม่ได้จำกัดเพียงปาล์มน้ำมันเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องมาจากวิกฤติปาล์มน้ำมันขาดตลาดในปลายปี 2553 ทำให้มีการคิดค้นวิธีผลิตไบโอดีเซลจากพืชชนิดอื่นๆ เช่น บู่ดำ, การใส่สารเติมแต่งจนได้น้ำมัน ED95, การผลิตน้ำมันดีโซฮอล์, การผลิตน้ำมัน BHD เป็นต้น



หมายเลขบันทึก: 539257เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2013 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากที่ให้การเรียนรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท