kmสุโขทัย
2556 วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย_km วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย_km วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย_km

การเลือกหัวข้อในการสร้างงานวิจัย


สรุปเทคนิคการเลือกหัวข้อในการสร้างงานวิจัย

จากการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ความรู้  ทักษะของผู้มีประสบการณ์ตรง  เพื่อค้นหาแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับ  “เทคนิคการเลือกหัวข้อในการสร้างงานวิจัย”  มาปรับใช้ในการพัฒนากระบวนการสร้างงานวิจัยของวิทยาลัย ฯ  นั้น  ได้รวบรวมความรู้ตามประเด็นความรู้ที่กำหนด  จากผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย  สถาบันการศึกษา  และบุคลากรของวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัยที่มีประสบการณ์ในการสร้างงานวิจัย  ซึ่งมีเทคนิคในการเลือกหัวข้อในการสร้างงานวิจัยในแต่ละบุคคล  สามารถกลั่นกรองเทคนิคดังกล่าวได้ดังนี้

ด้านตัวผู้วิจัย

๑.  ต้องเลือกหัวข้อเรื่องที่คิดว่าผู้วิจัยมีความสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก  ผู้วิจัยต้องมีพื้นฐานในเรื่องนั้น ๆ ค่อนข้างมาก หรือเป็นเรื่องที่ผู้วิจัยมีความถนัด  มีความสนใจ  หรือเป็นวิชาเอกของผู้วิจัย  เพื่อความสะดวกในการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพราะเป็นเรื่องที่เรารู้ดีที่สุด

๒.  เป็นเรื่องที่ผู้วิจัยมีความสุขในการทำ  ไม่เครียด  ดังนั้นเราจึงสามารถที่จะมีวิธีการค้นคว้าหาคำตอบ  ของหัวข้อนี้ได้อย่างสมบูรณ์

ด้านแหล่งข้อมูล

๑.  เป็นเรื่องที่ผู้วิจัยสามารถลงเก็บข้อมูลได้สะดวก  เช่น  แหล่งข้อมูลไม่อยู่ไกลเกินไป  หรือเข้าถึงยากจนเกินไป  หรือมีข้อมูลดิบน้อยไม่เพียงพอต่อการดำเนินการวิจัย

๒.  ผู้วิจัยควรพิจารณาเรื่องของข้อมูลบุคคล  ควรตรวจสอบเบื้องต้นว่าหัวข้อที่เราจะดำเนินการวิจัยนั้น  มีภูมิปัญญา มีผู้รู้ หรือว่ามีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่รู้เรื่องนั้น ๆ หลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่  เพียงพอในการสืบค้นข้อมูลหรือไม่  เพื่อที่จะไม่มีปัญหาเมื่อทำการศึกษาภาคสนามในช่วงของการสัมภาษณ์

๓.  เป็นเรื่องที่ผู้วิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลบุคคลได้สะดวก

ด้านเนื้อหา

๑.  เลือกตามที่แหล่งทุนหรือผู้ให้ทุนเป็นผู้กำหนด

๒.  เรื่องที่เลือกต้องอยู่ในวิสัยที่จะทำวิจัยได้โดยไม่มีผลกระทบอันเนื่องจากปัญหาต่าง ๆ เช่น  ด้านจริยธรรม  ด้านงบประมาณ  ด้านตัวแปรและการเก็บข้อมูล  ด้านระยะเวลาและการบริหาร ด้านการเมืองหรือหัวข้อใหญ่เกินไป  เกินความสามารถของผู้วิจัย 

๓.  เป็นเรื่องที่ผู้วิจัยสามารถวางแผนการดำเนินการวิจัยได้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง

๔.  หัวข้อที่เราดำเนินการวิจัยนั้น  ยังไม่มีการดำเนินการวิจัยมาก่อน  หากเป็นหัวข้อที่ใกล้เคียงกัน ผู้วิจัยก็ควรจะต้องตอบได้ว่า หัวข้อที่เราเลือกนำมาดำเนินการวิจัยนั้น ไม่ซ้ำซ้อนกับผู้วิจัยคนอื่น  ที่ดำเนินการวิจัยมาก่อนหน้าที่เราจะทำ

๕.  ควรเลือกหัวข้อที่จะสามารถดำเนินการวิจัยสืบเนื่องต่อไปอีกในอนาคตได้

๖.  เลือกหัวข้อโดยการอ่านจากเอกสารและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง  การอ่านตำราวารสาร  วิจัย  ปริญญานิพนธ์ บทความ  รายงานการวิจัย  ข้อเสนอแนะงานวิจัยของนักวิจัยท่านอื่น  แล้วนำมาต่อยอดหรือเป็นแนวทางในการทำงานวิจัยของตัวเองได้

๗.  ผู้วิจัยควรหลีกเลี่ยงการทำวิจัยเรื่องปัญหาที่เป็นข้อถกเถียงและยังหาข้อยุติไม่ได้

 

ด้านประโยชน์ที่ได้รับ

๑.  เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของชุมชนหรือเรื่องที่ต้องมีการศึกษาอย่างเร่งด่วน เช่น การศึกษาบ้านดนตรีที่มีผู้สืบทอดเหลือน้อยหรือกำลังจะหมดไป  เป็นต้น

๒.  เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ  มีประโยชน์คุ้มค่าแก่การลงทุน  เกิดความรู้ใหม่นำไปใช้ปฏิบัติหรือสร้างแนวความคิดใหม่ ๆ ได้  หรือแก้ปัญหาหรือพัฒนางานของตนเอง  แก้ปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียน  แก้ปัญหาหรือพัฒนาองค์กรและตอบโจทย์การประกันคุณภาพการศึกษาของหน่วยงานได้


หมายเลขบันทึก: 538899เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท