“ท้องถิ่นเข้มแข็งด้วยการทำงานที่โปร่งใส”
เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี พ.ศ. 2554 พบว่า ประเทศไทยได้ 3.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 80 จากการจัดอันดับทั้งหมด 183 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 10 จาก 26 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย หากเทียบอัตราคะแนนแล้ว กล่าวได้ว่าคะแนนเรื่องความโปร่งใสและเรื่องภาพลักษณ์ในการคอรัปชั่นของประเทศไทยนั้นแทบไม่ถึงครึ่งของคะแนนเต็ม 10
วันนี้เลยนำแนวคิดและการดำเนินงานของนักวิชาการและตัวแทนเครือข่ายท้องถิ่นมาเล่าสู่กันฟัง
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวในเวทีเสวนาว่า“หัวใจสำคัญของการบริหารให้โปร่งใส เราต้องจัดการให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในท้องถิ่น และต้องจัดการอย่างต่อเนื่อง การและการมีส่วนร่วมในท้องถิ่นนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นในลักษณะของการยิงปืนนัดเดียวแล้วได้นกหลายตัว หรือคิดหวังในรูปแบบสำเร็จรูป ความโปร่งใสจะต้องมีจุดเริ่มต้น และต้องจัดการให้เป็นวงจรอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อจัดการอย่างต่อเนื่องแล้วจะทำให้เกิดพลังขึ้นในชุมชนอย่างมหาศาล”
นพดล ณ เชียงใหม่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บอกเล่าถึงรูปแบบการดำเนินการเพื่อความโปร่งใสในพื้นที่ของตนเองให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฟังว่า
“ผมมองว่าความล้มเหลวในเรื่องความโปร่งใสของหลายท้องที่นั้น เป็นเพราะเรานำระบบราชการในส่วนภูมิภาคมาใช้กับการปกครองและบริหารจัดการพื้นที่ เช่น หลายโครงการที่ถูกผันงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นนั้นไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถูกคอรัปชั่นงบประมาณจากหลากหลายหน่วยงานก่อนลงสู่ท้องถิ่น ซึ่งหลังจากที่ผมได้เข้ามาดำเนินการในส่วนนี้ ผมบอกชาวบ้านเลยว่า เราจะต้องสร้างนิสัยใหม่ๆ”
เพ็ญภัคร รัตนคำฟูนายกเทศมนตรีหญิงตำบลเกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในท้องถิ่นของตนเองให้ผู้เข้าร่วมเสวนารับฟังว่า
“ ที่เกาะคาของของเราจะมีการจัดเวทีลานปัญญาเพื่อรวบรวมความคิดดีๆ ของคนในสังคม ซึ่งชาวบ้านในชุมชนรวมทั้งเยาวชนจะมาร่วมกันสะท้อนปัญหาสาธารณะที่เกิดขึ้นในชุมชนของเรา โดยข้อสรุปที่ได้จากเวทีลานปัญญานี้จะนำไปสู่เวทีประชาคมของเทศบาลเกาะคา อาจจะมีการโหวตกันในท้องถิ่นว่า ประเด็นปัญหาอะไรที่เร่งด่วนต้องแก้ไขและหาทางออกร่วมกันอย่างเร่งด่วนที่สุดของคนในชุมชน เทศบาลก็นำประเด็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขเหล่านี้ไปสู่การแปรเป็นเทศบัญญัติเพื่อเร่งดำเนินการต่อไป ซึ่งโครงการต่างๆ เมื่อนำมาทำแล้ว ความภาคภูมิใจก็จะเกิดขึ้น เพราะกระบวนการและรูปแบบที่เราใช้ คือการมีส่วนร่วม ซึ่งจะถักทอเป็นพลังทางชุมชน ทำให้เกิดแนวทางการทำงานที่ครบทุกด้านและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันของคนในสังคมในชุมชนของพวกเราอย่างยั่งยืนต่อไป” นายกเทศมนตรีหญิงตำบลเกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปางบอกเล่าพร้อมร้อยยิ้ม
ที่มา : “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย” ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
ไม่มีความเห็น