Fake Guru
นาย พิชชานันท์ พิงคประเสริฐ

2546 ปีที่ได้เริ่มรู้จักกับคำว่า "เมืองไทยแข็งแรง"


จึงอยากจะเล่าประสบการณ์ที่ไปเกี่ยวข้องในการจัดทำระบบข้อมูลเพื่อการพัฒนางานเมืองไทยแข็งแรงมา จะเขียนบันทึกไว้ว่าที่ได้จับมันมาตั้งแต่ต้นนั้น มันมีจุดเด่นจุดด้อยตรงไหน ปัญหาของมันอยู่ที่อะไร กระบวนการ วิธีการปฏิบัติ เครื่องมือ การสื่อสารทำความเข้าใจ หรือตัวคนบุคลากรของเรากันแน่ แล้วคนในพื้นที่ทั้งผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและชาวบ้านเค้าคิดยังไง..

ผมเองได้รู้จักกับคำว่า "เมืองไทยแข็งแรง" เมื่อประมาณปี 2546 ในขณะที่นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข (แต่ก็เคยได้ข่าวว่าท่านวัลลภก็ได้ศึกษาและนำเสนอเรื่องนี้มานานแล้วที่กรมอนามัย เริ่มต้นของเรื่องน่าจะเป็นเรื่องของ "เมืองน่าอยู่" หรือ Healthy City นั่นเอง) และต่อมาก็ได้ยินข่าวว่ามีการพูดคุยกันว่าจะใช้คำว่า "เมืองไทยแข็งแรง" หรือ "เมืองไทยสุขภาพดี" ดี แต่ก็แว่วว่าทางผู้ใหญ่ต้องการให้ใช้คำว่า "เมืองไทยแข็งแรง" เหตุผลส่วนหนึ่งคิดว่ามันน่าจะครอบคลุมเรื่องราวในชีวิตมนุษย์เราๆ ท่านๆ ได้มากกว่ามิติทางด้านสุขภาพ ถ้าใช้คำว่า "แข็งแรง" ต่อท้าย น่าจะครอบคลุมทั้งในมิติอื่นๆด้วย ที่ไม่ได้จำเพาะแต่เรื่องสุขภาพของคนเราเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้ว ได้ฟังท่านนายแพทย์วัลลภ มากล่าวเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการในเรื่องเมืองไทยแข็งแรง ท่านก็บอกว่าให้ทับศัพท์คำว่า Healthy Thailand ไปก่อน เราก็ใช้คำว่า Healthy Thailand มาสักระยะ ท่านรัฐมนตรีว่าการสมัยนั้นคือท่านสุดารัตน์ ก็นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งให้ใช้คำว่า "เมืองไทยแข็งแรง" และกำหนดตัวชี้วัดหลายๆตัวขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินโครงการที่เป็นวาระแห่งชาตินี้ ก็เป็นอันว่าได้เรียกมันว่า "เมืองไทยแข็งแรง" มาตั้งแต่ตอนนั้นและจำได้ว่ามีวันหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขมีผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเดินทางมาลงนามสัญญาในความเป็นวาระแห่งชาติที่กระทรวงสาธารณสุขกันอย่างคึกคัก

บทบาทหน้าที่ของผมที่ได้รับมอบหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับ "เมืองไทยแข็งแรง" ในตอนนั้นจากผู้ใหญ่ก็คือ ท่านอดีตปลัดฯ ต้องการให้มีระบบข้อมูลที่สามารถรู้ได้ว่าในประเทศไทย แต่ละจังหวัด อำเภอ หรือตำบล นั้น มีความก้าวหน้าหรือการพัฒนาในเรื่องเมืองไทยแข็งแรงนี้อย่างไร จะรู้ได้ยังไงว่ามีหมู่บ้านไหนบ้างที่สามารถทำผ่านเกณฑ์ได้กี่ข้อ หมู่บ้านไหนไม่ผ่านเกณฑ์ที่ได้บรรจุในวาระแห่งชาติไว้ อันที่จริงในขณะนั้นตัวเองก็ยังงงๆ เพราะไม่ค่อยจะเข้าใจเหตุผลนักว่าผู้บริหารระดับนโยบายจะอยากรู้รายละเอียดยิบย่อยอย่างนี้ไปทำไม ก็กลายเป็นว่าเก็บเป็นข้อสงสัยเล็กๆ ไว้ในใจแล้วก็รับเรื่องนี้จากท่านนายแพทย์ณรงค์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานทำระบบข้อมูลต่อมาอีกที แต่ก่อนจะทำนั้นก็ได้พยายามศึกษาทั้งทางทฤษฎี เปิดตำรา อ่านเอกสารต่างๆ ตลอดจนสอบถามผู้รู้และศึกษาในเรื่อง balance scorecard และการบริหารงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์(performance based management) ตอนหลังมาถึงพอเข้าใจได้บ้างบางส่วนว่าท่านอดีตปลัดมีกุศโลบายที่แยบคายนัก ที่ให้เราเริ่มต้นทำระบบข้อมูลแบบนี้ และจากการศึกษาตลอดจนประสบการณ์ที่ได้รับผิดชอบทำระบบข้อมูลมา 3 ปีติดต่อกันก็พอจะรู้อะไรบ้างที่จะเป็นประโยชน์นำมาเขียนและเล่าให้ท่านที่สนใจได้รับรู้กัน

อันที่จริงแล้วในเรื่องของตัวชี้วัดที่ผมอยากจะเรียกมันว่า KPI. ตามที่ตำราและหลายๆคนเค้าเรียกกัน ก็คงจะแปลได้ว่าตัวชี้วัดที่เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะพาไปสู่ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จหรือเจ้า Critical Success Factor  ตามทฤษฎีที่เค้าว่าไว้ และที่จริงแล้วมันจะมีกี่อย่างไม่ว่าจะเป็น KRI. หรือ PI. ผมเองก็ขอเรียกรวมๆ กันไปว่า KPI. ก็แล้วกัน เพราะความรู้นั้นอาจจะมีน้อยในเรื่องการกำหนดประเภทของตัวชี้วัด แต่ก็ยังหลวมตัวได้มีส่วนช่วยในการร่าง/แก้ไขนิยามของตัวชี้วัดและกำหนดวิธีการวัดในเชิงปริมาณ ไปจนถึงทำหน้าที่วิทยากรในการชี้แจงเรื่องการจัดเก็บข้อมูลและการใช้ระบบมาทุกปี จนปี 2549 ระบบข้อมูลก็ไปเกี่ยวพันกับกระทรวงอื่นๆ เข้าให้อีก จึงอยากจะเล่าประสบการณ์ที่ไปเกี่ยวข้องในการจัดทำระบบข้อมูลเพื่อการพัฒนางานเมืองไทยแข็งแรงมา จะเขียนบันทึกไว้ว่าที่ได้จับมันมาตั้งแต่ต้นนั้น มันมีจุดเด่นจุดด้อยตรงไหน ปัญหาของมันอยู่ที่อะไร กระบวนการ วิธีการปฏิบัติ เครื่องมือ การสื่อสารทำความเข้าใจ หรือตัวคนบุคลากรของเรากันแน่ แล้วคนในพื้นที่ทั้งผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและชาวบ้านเค้าคิดยังไงเท่าที่เคยสัมผัสมา เพราะขณะนี้ผมเองก็ลาออกจากราชการแล้วทั้งที่ต้นปีนี้ถ้าส่ง อวช.ผ่านก็คงได้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการฯระดับ 7 แต่ก็ดันมาลาออกจากราชการเสียก่อนด้วยเหตุผลที่เบื่อหน่ายกับวัฒนธรรมการทำงานแบบข้าราชการ ประสบการณ์ที่ทำงานมาหลายปีก็คิดได้ว่าถ้านำมาเขียนบันทึกไว้ อาจจะเป็นสิ่งที่ได้ช่วยใครบางคนได้บ้างเล็กๆน้อยๆ ในฐานะที่มีประสบการณ์ผ่านงานและปัญหาของมันมาก่อนครับ

บันทึกครั้งหน้าจะเริ่มเล่าเรื่องว่าเมื่อปี 2547 ได้เริ่มทำงานอย่างไร เริ่มเรียนรู้และทำความเข้าใจกับมันอย่างไร แต่ละปีผ่านไปมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้าสนใจก็ติดตามอ่านกันนะครับ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 53850เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2006 04:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท