จิตวิญญาณของการโค้ช: โค้ชคือกระจกบานใสของโค้ชชี่


จิตวิญญาณของการโค้ช: โค้ชคือกระจกบานใสของโค้ชชี่

บทความโดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

มีหลายคนตั้งคำถามกับดิฉันว่า คนที่เป็นโค้ชควรมีคุณสมบัติอะไรบ้าง? เพราะตอนนี้มีคนเรียกตนเองว่าโค้ชจำนวนไม่น้อย แล้วแบบไหนที่ใช่โค้ชที่แท้จริง

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ดิฉันขอตั้งคำถามกลับไปว่า แล้วคิดว่า ทำไมคนต้องการโค้ช? คำตอบคือ เพราะ ‘เส้นผมมักบังภูเขา’ คือคนไม่สามารถเห็นตนเองได้ครบทุกด้าน หรืออาจปฏิเสธที่จะมองเห็นตนเอง โค้ชจึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นกระจกใสสะท้อน (Reflect) ให้ผู้อื่นเห็นตนเองได้อย่างชัดเจนที่สุด ประเด็นนี้ถือเป็นจิตวิญญาณ (Spirit) หรือแก่นแท้ของการโค้ช และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงตนเอง หรือที่เรียกว่าการทำให้เกิดสภาวะของ ‘การตระหนักรู้’ (Create Self-Awareness) ให้แก่โค้ชชี่ เพราะผู้รู้ความจริง และยอมรับความจริืงเท่านั้น จึงจะมีโอกาสที่จะก้าวข้ามปัญหาอุปสรรค ดึงตัวเองให้หลุดพ้นจากกับดัก และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย ความสุข และความสำเร็จที่วาดฝันไว้ และสภาวะแห่งการตระหนักรู้จะเกิดขึ้นจากการตื่นจากภายในตนเอง หรือที่เรียกว่าเกิด Insight ภายใต้การมองเห็นของตนเอง ด้วยตนเอง หาใช่ผู้อื่นมาบอกให้ หรือชี้นำให้

ลองจินตนาการถึงเวลาที่เราส่องกระจกบานใส แล้วเราเห็นตนเองในกระจกว่า เรามีสิวบนใบหน้าในตำแหน่งใดบ้าง จำนวนเท่าไร ตอนเห็นครั้งแรกคงตกใจ ไม่สบายใจ และเครียด แต่อย่างน้อย เราก็ตระหนักรู้ว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น และมันสำคัญกับเรา ถ้าเราไม่แก้ไข มันจะส่งผลถึงบุคลิกภาพ และการติดต่อเจรจาธุรกิจของเรา ทำให้้เราสูญเสียความมั่นใจในตนเอง การตระหนักถึงความสำคัญ และผลกระทบถือเป็นส่วนหนึ่งของการเกิด Insight และหากสามารถตระหนักรู้ต่อไปได้ว่าแทนที่เราจะมานั่งวิตกกังวลทั้งวัน สู้มองไปข้างหน้า และแสวงหาแนวทางแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกดีกว่า เพราะยิ่งคิดยิ่งไม่มีความสุข และความสุขคือสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่หรือ นี่คือ อีกรูปแบบหนึ่งของการเกิด Insight ตระหนักในความเป็นจริง ตระหนักถึงสิ่งที่เราต้องการ และพร้อมก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง พร้อมกับความคิดใหม่ๆ และวิธีจัดการที่สร้างสรรค์

ในทางตรงกันข้าม หากกระจกบานที่เราส่องนั้นไม่ใสพอจะเกิดอะไรขึ้นกับเีรา? เรามองไม่เห็นสิว เพราะกระจกนั้นมัว หรือมีฝุ่นเกาะหนา กระจกบานนั้นไม่สามารถสะท้อนความจริงได้ เราไม่เห็นสิวอุดตันที่ซ่อนอยู่ เพราะกระจกสะท้อนกลับมาเช่นนั้น แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาคืออะไร ไม่มีการตื่นรู้อะไรเลย ไม่เห็นความจริงใดๆ ไม่ตระหนักว่าต้องเปลี่ยนแปลงใดๆ แล้วเราต้องการกระจกบานใสหรือบานที่ขุ่นมัวมาทำหน้าที่สะท้อนตัวตนของเราให้ แก่เรากันแน่ นี่คือคำถามที่เราต้องถามกับตนเองค่ะ พรุ่งนี้ ติดตามตอนต่อของ The Spirit of Coaching แล้วเราจะรู้ว่า ‘การเรียนรู้ที่จะปล่อยวางสิ่งที่ตนรู้ คือการเรียนรู้ขั้นสูงสุด’


หมายเลขบันทึก: 538204เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่ได้แบ่งปันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท