เวชศาสตร์ครอบครัวนั้นสำคัญไฉน


เวชศาสตร์ ครอบครัว คือ สาขาการแพทย์เฉพาะทางแขนงหนึ่งที่รวมความรู้ทางการแพทย์และสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดูแลสุขภาพของครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมที่ประกอบด้วยความผูกพัน, ความรัก, การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ตลอดจนความสัมพันธ์ของบุคคลภายในครอบครัว (มีหลักการเหมือนกันทั่วโลก)

เวชศาสตร์ครอบครัว นั้นเกิดขึ้นมาโดยปรัชญาที่อาจแตกต่างจากการแพทย์วิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ ที่อาจละเลยความเป็นมนุษย์, ศิลธรรมจรรยาของผู้ป่วยและแพทย์ เกิดการปฏิรูปและปรับปรุงให้มี Family medicine และ Family practice พัฒนาขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของโลก

เวชศาสตร์ครอบครัว มิได้เกิดจากบุคคลในวงการแพทย์จัดตั้งขึ้นเอง แต่สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและ ปรารถนาของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนทั่วไปรอคอยอัศวินม้าขาว คือ ระบบทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง, เป็นกันเองและมีความเข้าใจระบบสาธารณสุขเพื่อมาทดแทนการแพย์ที่แตกแขนงมาก เกินไป ไม่เป็นกันเอง ซึ่งพบได้ในแพทย์ที่มีจิตใจเป็นเหมือนเครื่องยนต์อันทันสมัย ดังนั้นการแพทย์ในยุคนี้จึงต้องเป็นผลรวมของความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสามารถติดตามเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีบรรยากาศที่รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์และจิตใจเอื้ออาดูรแก่กัน ถ้าจะมองวงการแพทย์ในปัจจุบันก็จะเห็นว่าแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มักจะขาดบรรยากาศของความเป็นมนุษย์ ในขณะที่แพทย์ใน Primary care มักขาดความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เวชศาสตร์ครอบครัวจึงเป็นสาขาวิชาที่เสริมจุดอ่อนทั้ง 2 นี้

เวชปฏิบัติครอบครัว (Family Practice) หมายถึงการทำเวชปฏิบัติโดยอาศัยหลักการของเวชศาสตร์ครอบครัวต่อบุคคลและครอบ ครัว 15% ของปัญหาที่พบในการทำเวชปฏิบัติครอบครัวเป็น ปัญหาที่ไม่อาจจะเลี่ยงความพิการหรือความตายได้ รูปแบบที่แพทย์ครอบครัวจะใช้ในการช่วยเหลือดูแลสุขภาพให้คงอยู่หรือมิให้มี ความพิการเพิ่มขึ้นรูปแบบนี้เรียกว่า “Medical Model” ส่วนอีกกว่า 80% ของเวชปฏิบัติครอบครัว มักจะเป็นปัญหาที่หายเองได้, ป้องกันได้ หรือเป็นปัญหา psycho-social การทำเวชปฏิบัติแบบนี้จะต้องอาศัยความสัมพันธ์ของแพทย์และผู้ป่วย เป้าหมายมิใช่เพียงผลการรักษาอย่างเดียว เราต้องคำนึงถึงผลด้านอื่น ๆ ของผู้ป่วยด้วย เช่น ความรู้สึกสบาย, ความพึงพอใจ รูปแบบนี้เรียก “Relation Model”

เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) ถูกใช้สับสนกับคำว่าเวชปฏิบัติปฐมภูมิ (Primary care), เวชปฏิบัติทั่วไป (General practice) และเวชปฏิบัติครอบครัว (Family Practice) ความไม่เข้าใจนี้เองที่ทำให้ในหลักสูตรแพทยศาสตร์บางแห่งจึงไม่มีการเรียน การสอนเวชศาสตร์ครอบครัว โดยรายละเอียดอยู่ในตารางข้างล่างนี้:

เวชปฏิบัติทั่วไป (General Practitioner) คือ แพทย์ที่ให้บริการดูแลรักษาสุขภาพบุคคลและครอบครัว และทำหน้าที่ประสานกับแพทย์สาขาอื่น ๆ โดยการดูแลสุขภาพจะเป็นแบบ Primary และ continuing comprehensive และดูแลปัญหาสุขภาพทั้งทางภาย, พฤติกรรมและสังคม

การอบรม GP ในปัจจุบันเป็นการฝึกอบรมในสาขาเฉพาะทางหลาย ๆ สาขารวมกัน มิได้ให้ความสำคัญของบุคคลและครอบครัวมากนัก ไม่มีการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นครอบครัว

เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นสาขาวิชาเฉพาะทางหรือไม่

เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นสาขาวิชาเฉพาะทางที่ยอมรับกันในหลาย ๆ ประเทศมานานแล้ว และควรจะได้ยอมรับเป็นสากลทั่วโลก โดยทางสมาคมแพทย์ครอบครัว ควรจะผลักดันให้เป็นจริงโดยเจรจากับทางรัฐบาลและโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ เพื่อให้สนับสนุนตามข้อตกลงของ WONCA

 หลักสำคัญทางเวชศาสตร์/เวชปฏิบัติครอบครัว คืออะไร

ดังที่กล่าวมาแล้ว เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นสาขาวิชาแพทย์เฉพาะทางแขนงหนึ่ง มีหลักการเหมือน ๆ กันทั่วโลก มีสมาคมแพทย์ (WONCA - The World organization of Family Doctor) และวารสารของตนเอง (American Family Physicians, และอื่น ๆ)

ปัญหาที่สำคัญในขณะนี้ คือ ขาดการประชาสัมพันธ์และแนะนำบทบาทหน้าที่ของแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวให้แพร่ หลายทั้งในวงการสาธารณสุขและประชาชนทั่วไป ขาดการรวมกลุ่มของแพทย์ที่สนใจในเวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อทำให้สาขาวิชาเข้ม แข็งขึ้น สามารถมีบทบาทในวงการสาธารณสุขของประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือ แผนรองรับจากทางรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นระบบบริการสุขภาพที่ควรจะปรับให้เหมาะสม ยิ่งขึ้น ตำแหน่งและขั้นของวิชาชีพเวชศาสตร์ครอบครัวที่จะทำให้แพทย์เวชปฏิบัติครอบ ครัวสามารถอยู่ได้อย่างมีเกียรติ, มีศักดิ์ศรีและมีรายได้ที่ไม่แพ้หรือดีกว่าแพทย์สาขาอื่น

เวชปฏิบัติครอบ ครัว (Family Practice) เป็นการทำเวชปฏิบัติโดยอาศัยหลักการของ Family Medicine ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามภูมิประเทศ ขนบประเพณี ศาสนา และอื่น ๆ ผู้ที่ทำเวชปฏิบัติครอบครัวไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ครอบครัว (Family physicians) เท่านั้น จะเป็นแพทย์แขนงอื่นก็ได้ ถ้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ :

  1. เป็นแพทย์ที่ดูแลแต่แรก และให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการบริบาลสุขภาพ (Care on first contact basis)
  2. Continuing care
  3. Comprehensive care
  4. Integrated or total care
  5. Accessible care
  6. Consultation and Referral system

เวชศาสตร์/เวชปฏิบัติครอบครัว ดูแลคนไข้/ประชาชนอย่างไร

แพทย์ครอบครัวจะดูแลผู้ป่วยในฐานะส่วนหนึ่งของครอบครัวและจะดูแลสุขภาพใน รูปขององค์รวม (Holistic) ทั้งด้านสุขภาพกาย, สุขภาพจิต และสุขภาพสังคมแวดล้อม และให้บริบาลทั้งด้านการป้องกัน, การรักษาและการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย โดยเริ่มจากตัวผู้ป่วยเป็นจุดเริ่มเพื่อเข้าถึงครอบครัวและอาจไปถึงชุมชนที่ ผู้ป่วยอาศัยอยู่ เนื่องจากทุกอย่างที่กล่าวมาแล้ว มักจะมีผลต่อตัวผู้ป่วยเองและโรคภัยไข้เจ็บของผู้ป่วย อาจมีผลกระทบต่อครอบครัว และชุมชน เช่นกัน


ระบบสาธารณสุขจะดีขึ้น จริงหรือ ถ้ามีแพทย์ครอบครัวมากขึ้น

สุขภาพดีถ้วนหน้า (Health for all) ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ซึ่งได้จากการสรุปผลการประชุมที่ Alma Alta ในสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1978 มีหลักสำคัญ คือ:

  1. การเสมอภาค (Equity)
  2. การส่งเสริมสุขภาพ (Health promotion)
  3. การส่งเสริมชุมชน (Community)
  4. การให้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ (participation)
  5. การให้มีความร่วมมือกันทุกฝ่าย (Multisectoral co-operation)
  6. การให้มีการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ (primary health care)
  7. การให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศ (International - cooperation)

เป้าหมายและความสำเร็จของสุขภาพดีถ้วนหน้าในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายต่าง ๆ ที่นำมาใช้ และที่สำคัญคือ มีการนำ Primary care มาใช้มากน้อยเพียงใด และแพทย์/บุคคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องมีความรู้มากน้อยเพียงใดเกี่ยวกับ ปัจจัยประกอบต่าง ๆ เช่น ความยากจน, ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ, มาตรฐานของที่อยู่อาศัย, การบริโภคสุราและบุหรี่, ภาวะโภชนาการ และข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยเหล่านี้ในบริเวณที่รับผิดชอบจะหาได้จากที่ใด

เนื้อหาวิชาใดบ้างที่แพทย์ครอบครัวควรจะต้องเรียนรู้

นอกเหนือจากวิชาการแพทย์แขนงต่างๆ และการสาธารณสุขแล้ว แพทย์ครอบครัวควรจะต้องเรียนรู้เรื่องทางสังคมศาสตร์ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงการสังคมและผลกระทบของสังคมต่อครอบครัวและสุขภาพ ความรู้เรื่องครอบครัวและการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวในระยะ ต่าง ๆ เช่น เมื่อมีบุตรคนแรก หรือเมื่อมีผู้เจ็บป่วยรุนแรงในครอบครัว

แพทย์ครอบครัวต้องเรียนรู้พฤติกรรมศาสตร์ การสื่อสารติดต่อและการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและครอบครัว และต้องมีความสามารถทำครอบครัวบำบัดเบื้องต้นได้ (Family therapy)

สรุปเนื้อหาที่แพทย์ครอบครัวจะต้องเรียนรู้

1.ต้องเรียนรู้ความสำคัญของอาการ, ปัญหา, ภาวะหรือโรคภัยไข้เจ็บที่ผู้ป่วยมาปรึกษา

วิชาที่ต้องเรียน รู้ :- วิทยาศาสตร์พื้นฐาน, พฤติกรรมศาสตร์, วิทยาศาสตร์ทางห้องปฏิบัติการ, ความรู้ทางคลินิกของแพทยศาสตร์สาขาต่าง ๆ และเวชปฏิบัติทั่วไป, วิวัฒนาการของการเกิดโรค, ระบาดวิทยาและขบวนการวินิจฉัย ทักษะที่ต้องรู้ :- การสัมภาษณ์, การแก้ปัญหา, การตัดสินใจ และความสามารถในการทำหัตถการต่าง ๆ

2.เฉพาะตัวผู้ป่วย วิชาที่ต้องเรียนรู้ :- พื้นฐานขนบธรรมเนียมประเพณีของผู้ป่วย (มนุษย์วิทยา), มนุษย์พฤติกรรมศาสตร์, จิตวิทยา, สังคมศาสตร์และจิตเวชศาสตร์, พัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ทั้งในแง่ชีววิทยา, จิตวิทยาและสังคมวิทยา ทักษะที่ต้องรู้ :- ความสามารถในการสัมภาษณ์และสื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัว, ความสามารถในการจูงใจและสอน เช่น การประชาสัมพันธ์, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและจิตบำบัด

3.ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและชุมชนพื้นฐาน (ครอบครัว, เพื่อนฝูง ฯลฯ)

วิชาที่ต้องเรียน รู้ :- จิตวิทยาครอบครัว, สังคมศาสตร์, มนุษยศาสตร์, จิตพลศาสตร์, พันธุกรรมศาสตร์และระบาดวิทยา, อนามัยโรงเรียน, อาชีวะอนามัย, ชุมชนพลศาสตร์, ระบบการบริหารจัดการและขุมพลังต่าง ๆ ทักษะที่ต้องรู้ :- การสัมภาษณ์, การสื่อสารประเภทเดี่ยวและประเภทกลุ่ม, ทักษะในการนำความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในการป้องกันและรักษาผู้ป่วยและครอบครัว

4.สิ่งแวดล้อมและภูมิกายภาพ

วิชาที่ต้องรู้ :- สาธารณสุขศาสตร์, มลภาวะ, กัมภาพรังสีและภยันตรายอื่น ๆ ในสิ่งแวดล้อม, มาตรฐานของที่อยู่อาศัย เป็นต้น

5.ความสัมพันธ์ ระหว่างการบริบาลสุขภาพกับองค์กรต่าง ๆ ในสังคม วิชาที่ต้องรู้ :- ระบบการบริบาลสุขภาพ, การเปลี่ยนแปลงของสังคมและผลต่อสุขภาพและการบริการทางการแพทย์, ขุมพลังในชุมชนและองค์กรต่าง ๆ

6.การบริหารจัดการ ทางการแพทย์ วิชาที่ต้องรู้ :- การบริหารธุรกิจและการนำมาใช้ในการทำเวชปฏิบัติครอบครัว, ขุมพลังและแหล่งบริการทางการแพทย์ในชุมชน, การประเมินผลงาน, กลุ่มสัมพันธ์ ทักษะที่ต้องมี :- สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างดีและราบรื่น

7.การวิจัยและการ ประเมินงาน อาจจะไม่จำเป็นมากนักแต่จะช่วยให้การทำเวชปฏิบัติดูดีน่าสนใจขึ้นและมี ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วิชาที่ต้องรู้ :- วิธีการสำรวจระบาดวิทยา, วิธีการทางชีววิทยาและสังคม, สถิติ ทักษะที่ต้องมี :- ความใฝ่รู้หรือช่างสังเกตุ, ความสามารถที่จะตั้งคำถามว่า “ทำไม” และขบวนการคิดแบบมีระบบและเหตุผล

8.ต้องรู้จักตัว เอง ต้องเข้าใจจิตพัฒนาของตนเอง,ทัศนคติของตนเอง, biases, ปฏิกิริยาความสัมพันธ์ต่อคนไข้, ต่อครอบครัวตนเอง, ต่อผู้ร่วมงานและแรงจูงใจของตนเองต่องานที่ทำ ทักษะที่ต้องมี :- พฤติกรรมที่สนใจผู้ป่วยของตนเอง, การยอมรับ biases ของตนและแรงจูงใจต่าง ๆ

 สถานบริการสุขภาพระดับใดและที่ใด ที่แพทย์ครอบครัวจะมีบทบาทหน้าที่ได้

แพทย์ครอบครัวสามารถให้การดูแลสุขภาพในระดับ primary care และ secondary care ในบางสาขาที่ตนถนัดและสนใจ ดังนั้นสถานพยาบาลที่แพทย์ครอบครัวสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ดี จึงเป็นได้ทั้งคลินิคผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล, คลีนิคส่วนตัว, โรงพยาบาลอำเภอและโรงพยาบาลจังหวัด

ระบบการแพทย์ในปัจจุบันนี้เป็นระบบที่ยอมรับว่าแตกแขนงและแพทย์ไม่มีความ เป็น “มนุษย์” เท่าที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้ป่วยรายหนึ่ง ๆ จะต้องใช้แพทย์แตกแขนงสาขาหลายท่านมาดูแล ซึ่งบางครั้งต่างก็ดูเฉพาะเรื่องปัญหาที่ตนเองฉนัด ไม่มีการประสานงานกันที่ดี ทั้ง ๆ ที่เกือบ 90% ของผู้ป่วยมักจะเป็นโรคที่ไม่ยุ่งยากมากนัก ดังนั้นถ้ามีแพทย์ที่ได้รับการอบรมมาอย่างดีในรูปแบบของเวชศาสตร์ครอบครัว หรือที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถจะให้การบริบาลในฐานะแพทย์เจ้าของไข้และแพทย์ครอบครัว เมื่อมีปัญหาซับซ้อนหรือโรครุนแรงจนไม่สามารถดูแลต่อได้ก็จะส่งปรึกษากับ แพทย์เฉพาะทางที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยอย่างถูกต้อง โดยมีข้อมูลที่ให้การดูแลรักษาเบื้องต้นแนบไปด้วย ทำให้ไม่เสียเวลาของทั้งผู้ป่วยและแพทย์เฉพาะทางผู้รับปรึกษา ซึ่งถ้าแพทย์เฉพาะทางดูแลรักษาจนควบคุมได้ดีก็จะส่งคืนแพทย์เจ้าของไข้เพื่อ ดูแลต่อไป

การมีแพทย์เจ้าของไข้และแพทย์ครอบครัว รวมทั้งระบบปรึกษาและส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของประเทศลดลงเป็นอย่างมาก โดยประชาชนทุกคนจะได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ครอบครัว

เวชศาสตร์ครอบครัวในประเทศไทย เป็นอย่างไรในขณะนี้

เวชศาสตร์ครอบครัวอาจเป็นคำที่ใหม่ต่อผู้คนหรือแม้แต่แพทย์เอง ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว เรามีแพทย์ครอบครัวซึ่งดูแลรักษาในนิยามของเวชศาสตร์ครอบครัวมาตั้งแต่สมัย คุณพ่อคุณแม่ยังหนุ่มสาวอยุ่ โดยแพทย์สมัยนั้นจะดูแลรักษาทั้งครอบครัว และรู้จักสมาชิกของแต่ละ ครอบครัวเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากการแพทย์สมัยใหม่เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้แพทย์หันไปสนใจในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเลือกเรียนหรือสนใจเฉพาะโรคมากขึ้น ทำให้แพทย์ที่เคยทำเวชปฏิบัติแบบแพทย์ครอบครัวลดน้อยถอยลง แต่เราอาจจะยังพบแพทย์รูปแบบเดิม ๆ ได้ตามต่างจังหวัดหรือชุมชนบางแห่งแต่แพทย์เหล่านี้ ถ้ามิได้ฝึกอบรมมาอย่างดีก็มักจะขาดความรู้ความชำนาญทางวิชาการและเทคโนโลยี สมัยใหม่ ขณะที่แพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น ๆ มักจะดูแลรักษาเฉพาะโรค มิใช่บุคคลทั้งคน การติดต่อสื่อสาร, ความสัมพันธ์กับผู้ป่วยและครอบครัวก็มักจะไม่ค่อยดี

แพทย์ระดับ 5 ดาวของประชาชน ควรจะมีคุณสมบัติดังนี้ :-

1.เป็นผู้ให้ บริบาล (Care provider) โดยถือว่าผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและชุมชน และให้การบริบาลที่มีมาตรฐานสูง (ยกเว้นโรคหรือการบาดเจ็บที่รุนแรง, โรคเรื้อรังและความพิการ) และให้การป้องกันโรคแก่บุคคลโดยอาศัยความสัมพันธ์ที่วางใจกันมานานและคุ้น เคยกับครอบครัว

2.เป็นผู้ตัดสิน (Decision maker) โดยเป็นผู้พิจารณาเลือกเทคโนโลยีที่ถูกจรรยาแพทย์, คุ้มค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนการดูแลรักษา

3.เป็นผู้ติดต่อ ประสาน (Communicator) สามารถอธิบายให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพและการดำรงชีวิตที่ปลอดภัย แข็งแรง ซึ่งทำให้บุคคลและกลุ่มชนเกิดการตื่นตัวในด้านการรักษาและป้องกันสุขภาพของ ตนเอง 4.เป็นผู้นำชุมชน (Community Leader) เป็นผู้ที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคความเชื่อของผู้คนที่ทำงานด้วย และเพื่อก่อให้เกิดสุขภาพที่ดี ในตัวบุคคลและชุมชนอีกทั้งกระตุ้นให้ชุมชนเริ่มกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ 5.เป็นสมาชิกกลุ่ม (Team member) ซึ่งสามารถทำงานอย่างราบรื่นได้ทั้งกับบุคคลและ องค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบสุขภาพ เพื่อสนองความต้องการของผู้ป่วยและ ชุมชน

เอกสารอ้างอิง

  1. “ Family Medicine will require specially trained physicians, not physicians half trained in a number of specialties” (Haggerty RJ General Practice: Extinction or Rebirth Med Alumni Bul. 1964 : 23-28.)
  1. Family Medicine - Principle and applications, JACK H. MEDALIE, M.D., M.P.H., The Williams wilkins Company/Baltimore, 1978.
  2. แนะนำเวชศาสตร์ครอบครัว, ศ.นพ.ม.ร.ว.ธันยโสภาคย์ เกษมสันต์ ในหนังสือเวชปฏิบัติ’38 ประกอบการอบรมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ครั้งที่ 24 วันที่ 27 พฤศจิกายน - 8 ธันวาคม 2538 ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. Making Medical Practice and Education more relevant to People’s needs : The Contribution of the Family Doctor, From the joint WHO-WONCA conference in Ontario, Canada, November 6-8, 1994.
  4. Principles and Practice of Primary care and family Medicine, Asia-Pacific Perspectives, John Fry and Nat Yuen, Radcliffe Medical Press-Oxford and New-York, 1994.
  5. Southeast Asian Regional Conference on Medical Education, February 7-9, 1996, Jomtien, Pattaya, Thailand, Program & Abstracts.
  6. Family Medicine, A guide book for Practitioners of the art, David B Shires & Brian K.Henneu, McGraw-Hill Book Company, 1980.
  7. The text book of Family Practice. 3rd edition; Robert E.Rakel, W.B.Sunders Company, 1984.



คำสำคัญ (Tags): #เวชศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 537905เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2013 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2013 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท